ช่วงนี้โรงเรียนไทยส่วนใหญ่เริ่มเปิดเทอมแล้ว นอกจากภาพการไปส่งเด็ก ๆ ที่มีภาพกอด หอมแก้ม กราบสวัสดี ช่วงนี้เรายังได้เห็นภาพ “เดอะแบก” หรือการหอบหิ้วหนังสือ สมุด อุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ พะรุงพะรังเต็มกระเป๋าไป-กลับโรงเรียนด้วย
นี่ไม่ใช่ภาพความน่ายินดี แต่เป็นภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ เพราะมีกรณีเด็กชั้น ม.3 แบกกระเป๋านักเรียนหนัก 10-12 กิโลกรัม เดินทางไป-กลับโรงเรียน จนเกิดอาการกระดูกสันหลังคดงอ ขณะที่เด็กหลายคนก็แบกกระเป๋านักเรียนหนักเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีอาการ ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูล “กระเป๋านักเรียนหนัก อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี”
ทำไมกระเป๋านักเรียนหนัก ?
ยังคงโทษกันไปมาว่าสาเหตุที่ทำให้กระเป๋านักเรียนหนัก เป็นเพราะใครกันแน่ เด็กนักเรียนบางคนยอมรับว่าไม่อยากจัดตารางสอน จะด้วยขี้เกียจหรือกลัวหยิบหนังสือเรียนผิด จึงขนมาครบเลย บางคนพกมาถึง 10 เล่ม
ส่วนผู้ปกครองก็โทษครูและโรงเรียน ว่าไม่วางแผนการสอน บางโรงเรียนมีตู้ล็อกเกอร์ให้เก็บหนังสือ แต่ไม่ยอมเปิดให้นักเรียนใช้ หลายวิชานอกจากหนังสือ ยังมีเอกสารประกอบการสอนแยกอีก มีสมุดจดอีก บางคนก็โทษครูว่าไม่แจ้งก่อนว่าต้องนำหนังสือเล่มใดมาบ้าง เพราะหากลืมนำหนังสือมาก็ถูกทำโทษ จึงต้องขนมาหมด
กระเป๋านักเรียนหนัก ส่งผลกระทบอย่างไร ?
กระเป๋านักเรียนหนัก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกาย ในส่วนของกระเป๋าเป้สะพายหลัง มีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า ส่งผลให้กล้ามเนื้อทราปิเซียส (Trapezius) หรือกล้ามเนื้อบ่าทำงานหนัก เพราะต้องรับน้ำหนักจากการเกร็งและการกดทับของกระเป๋า ในส่วนของกระดูกจะเป็นกระดูกสะบักหลังกับไหปลาร้า แต่กระดูกอาจไม่ส่งผลโดยตรงมากนัก เนื่องจากกระดูกบริเวณนี้มีกล้ามเนื้อบ่าขนาดใหญ่คลุมอยู่ ซึ่งในเด็กอายุ 5-10 ขวบ กล้ามเนื้อของเด็กมีความยืดหยุ่นค่อนข้างดี ผลกระทบจึงอาจเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนกระเป๋าถือที่มีน้ำหนักมาก จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อแขนไหล่และกล้ามเนื้อบ่าจนถึงคอ ทำให้กล้ามเนื้อแขนข้างที่ใช้เป็นหลักทำงานหนักมากกว่า อีกทั้งน้ำหนักกระเป๋าทำให้เด็กถูกดึงตัวไปข้างหนึ่ง คอของเด็กจะเอียงต้านไปทิศตรงข้าม ทำให้ส่งผลกระทบถึงคอ เกิดอาการเมื่อยล้า และเป็นสาเหตุของอาการกล้ามเนื้ออักเสบชนิดเรื้อรัง
ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบทางใจอย่างปฏิเสธไม่ได้ หากร่างกายป่วย หรือต้องทนทรมานจากการแบกกระเป๋าหนัก เมื่อไม่อยากแบกกระเป๋า จิตใจก็ทุกข์ ไม่อยากไปโรงเรียน นำไปสู่ประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่ลดลง ตลอดจน ยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น ตกสะพานลอย ตกบันได เป็นต้น
อาการกระดูกสันหลังคดงอ เป็นอย่างไร ?
เด็ก ๆ ได้รับผลกระทบจากการแบกกระเป๋านักเรียนหนักแตกต่างกันไป แต่บางรายรุนแรงถึงขั้นกระดูกสันหลังคดงอ ซึ่งเป็นการคดงอหรือบิดเบี้ยวของกระดูกสันหลังไปด้านข้าง ทำให้ร่างกายเสียสมดุล
สามารถสังเกตจากลำตัวของเด็กจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อเด็กยืนหันหลังจะสังเกตเห็นความสูงของระดับหัวไหล่ ความนูนของกระดูกสะบัก ระดับแนวกระดูกสะโพกที่ไม่เท่ากัน รวมถึงหน้าอก ซี่โครงด้านใดด้านหนึ่งยื่นออกมาด้านหน้า หรือให้เด็กยืนเท้าชิดกัน และให้ก้มตัวมาทางด้านหน้า ใช้มือ 2 ข้างพยายามแตะพื้น จะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ ผู้มีอาการกระดูกสันหลังคดงอ จะมีอาการปวดหลัง รวมทั้งมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ อาทิ แนวสะโพกเอียง, รูปร่างพิการ, ปวดหลัง, มีปัญหาทางระบบหายใจ หอบเหนื่อยง่าย ปอดบวม ปอดอักเสบ ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
สำหรับโรคกระดูกสันหลังคด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็กอายุ 10-15 ปี หากคดไม่มากจะไม่รู้สึกเจ็บ ไม่ต้องรักษา แต่หากคดมากคือ มีมุมคดมากกว่า 40 องศา อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด ผู้เป็นโรคนี้ร้อยละ 80 ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ ส่วนที่ระบุสาเหตุได้ พบมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ท้าวแสนปม ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น เด็กสมองพิการ โปลิโอ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากเป็นแล้วและได้รับสิ่งกระตุ้นให้เป็นหนักขึ้น เช่น หิ้วกระเป๋าที่หนักเป็นเวลานาน ๆ และเป็นประจำ จะเป็นการกระตุ้นให้กระดูกคดงอมากยิ่งขึ้น
ฉะนั้นแนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตอาการของเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุ 10-13 ปี หากกระดูกสันหลังผิดรูป ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน ควรพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อตรวจยืนยันและให้การรักษาต่อไป
น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมคือ ?
น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสม จะต้องไม่เกินร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัว เช่น เด็กมีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม ควรแบกกระเป๋านักเรียนหนักไม่เกิน 2-4 กิโลกรัม เท่านั้น
แนะนำผู้ปกครองดูแลน้ำหนักกระเป๋านักเรียน ไม่ให้เกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว
- ชั้น ป. 1-2 แบกไม่เกิน 3 กิโลกรัม
- ชั้น ป. 3-4 แบกไม่เกิน 3.5 กิโลกรัม
- ชั้น ป. 5-6 แบกไม่เกิน 4 กิโลกรัม
ทั้งนี้ แนะนำสะพายด้วยไหล่ทั้ง 2 ข้าง ภายในกระเป๋าจัดสิ่งของให้สมดุล ไม่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง และหากกระเป๋านักเรียนหนัก หรือต้องแบกเป็นเวลานาน แนะนำให้เปลี่ยนจากกระเป๋าสะพายหลังเป็นกระเป๋าลาก
5 วิธีจัดการกระเป๋านักเรียนไม่ให้หนัก ?
1. จัดตารางสอน นอกจากช่วยลดน้ำหนัก ยังทำให้รู้ว่าวันนี้เราจะเรียนวิชาอะไร ห้องไหน
2. ผลัดกันเอาหนังสือมาเรียน เมื่อนั่งเรียนเป็นคู่อยู่แล้ว ลองใช้วิธีตกลงกับเพื่อน สลับการเอาหนังสือมาเรียนก็ดีไม่น้อย แต่วิธีนี้อาจใช้ลำบากกับคนที่ต้องการจดบันทึกช่วยจำบนหนังสือ
3. แบ่งน้ำหนัก จากกระเป๋า 1 ใบ อาจเพิ่มเป็นกระเป๋าเคียงอีก 1 ใบ ช่วยกันกระจายน้ำหนัก
4. เอาสิ่งของที่ไม่จำเป็นออก ลองเปิดทุกซอกทุกมุมเช็กดู อะไรที่ไม่ใช่อุปกรณ์จำเป็นลองเอาออก อาจช่วยลดน้ำหนักได้ไม่มากก็น้อย
5. ถ่ายเอกสารเฉพาะบทที่เรียน วิธีนี้อาจต้องใช้ต้นทุนคือ ค่าถ่ายเอกสาร แต่ช่วยลดน้ำหนักกระเป๋านักเรียนได้แน่นอน
ไม่เพียงปัญหาเชิงปัจเจก นี่ยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย เมื่อปี 2562 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยออกหนังสือเวียนกำชับให้ทุกโรงเรียน ควบคุมน้ำหนักกระเป๋านักเรียนให้อยู่ในมาตรฐาน ไม่เกินร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัวเด็ก
พร้อมให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันดูแลจัดตารางสอนให้เหมาะสม ลดภาระการแบกกระเป๋าหนัก ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ให้ทำเป็นล็อกเกอร์ หรือตู้เฉพาะ เพื่อเก็บหนังสือเรียน
กระทั่งเปิดเทอมนี้ ก็ยังปรากฏภาพและข่าวว่าเด็กนักเรียนไทย เป็น “เดอะแบก” ให้ได้เห็นอยู่เรื่อย ๆ
ต่างประเทศมีปัญหากระเป๋านักเรียนหนักหรือไม่ ?
มี ปัญหากระเป๋านักเรียนหนักพบในหลายประเทศ นักวิชาการในต่างประเทศบางคน มองว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เป็นโอกาสให้เด็กได้ออกกำลังกาย ?
ขณะที่บางประเทศมองว่าเรื่องนี้คือปัญหา พร้อมมีมาตรการจัดการ อย่าง “เอสโตเนีย” นำระบบดิจิทัลมาใช้ในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ระบบการศึกษาดิจิทัล เขาใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษาดิจิทัล (e-Schoolbag) ด้วยการให้นักเรียนทุกระดับชั้น ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน สามารถใช้สื่อการเรียนรู้ดิจิทัลได้ฟรี นอกจากช่วยลดน้ำหนักกระเป๋า ยังช่วยให้การเรียนน่าตื่นเต้นขึ้น นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและทุกที่เพียงมีอินเทอร์เน็ต จึงแทบไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด เพราะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว
“เอสโตเนีย” ถือเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีลำดับต้น ๆ ของโลก มีผลการทดสอบ PISA (การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) ในปี 2018 อยู่ในกลุ่มที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกและดีที่สุดในยุโรป
ขณะที่ประเทศไทย เคยมีข้อเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้ใช้อีบุ๊ก (E-book) แทนหนังสือเป็นเล่ม ส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหากระเป๋านักเรียนหนัก เมื่อปี 2562 นั้น ได้รับคำตอบจากผู้บริหาร สพฐ. ว่า ให้ค่อยเป็นค่อยไป เพราะหนังสือก็ยังจำเป็นกับโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีความพร้อม ทั้งนี้ จะศึกษาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียให้รอบด้าน
แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลศึกษาและความชัดเจนเรื่องนี้ออกมา
ข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ผู้จัดการ, เด็กดี, mayorsofeurope.eu
📖 อ่านข่าวเพิ่มเติม :
• เตือน! เด็กแบกกระเป๋า นร.หนักเกิน 10-20% ส่งผลการเรียน
• วิกฤติ.."กระเป๋านักเรียนไทย" เด็กแบกหนักเกินค่าความปลอดภัยสองเท่า
• "คุณหญิงกัลยา" เสนอใช้ E-book แก้ปัญหา นร.สะพายกระเป๋าหนัก
• "เด็กประถม"ยังแบกกระเป๋านร.เฉลี่ย 4-5 กิโลกรัมเกินค่าน้ำหนักตัว