'เตรียมตัวตาย’ พร้อม ‘ตาย’ อย่างมีแบบแผน


Lifestyle

27 ก.ย. 67

บุรพัชร์ สุขเนียม

Logo Thai PBS
แชร์

'เตรียมตัวตาย’ พร้อม ‘ตาย’ อย่างมีแบบแผน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1646

'เตรียมตัวตาย’ พร้อม ‘ตาย’ อย่างมีแบบแผน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ย้อนไปวัยเด็กอาชีพในฝันของใครหลายคนคงไม่พ้น แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ หรือครู แต่จะมีสักกี่คนที่อยากเป็น ‘สัปเหร่อ’ มากไปกว่านั้น คือ การเป็นสัปเหร่อที่สวย มั่นใจ พร้อมการแต่งกายที่โดดเด่น เสริมด้วยบุคลิกที่เข้าถึงง่าย หลุดจากกรอบขนบของสัปเหร่อที่เราเห็นทั่วไป 

การมาเยือน Thai PBS ของ ‘แบงค์ ปฏิธาร บำรุงสุข’ หรือ ‘แบงค์ เจ้าหญิงวงการเผาศพ’ ด้วยชุดสีสันสดใส ทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ ตัดกับสีปูนเปลือยของตึก ช่วยทำให้ดึงดูดสายตาและเพิ่มสีสันให้กับบรรยากาศในกองถ่ายรายการ ‘Made My Day วันนี้ดีที่สุด’ ได้ดียิ่งขึ้น หากใครเห็นคงไม่คิดว่าเขาคนนี้คือคนที่มีความภาคภูมิใจในอาชีพสัปเหร่อ และมองเรื่อง ‘ความตาย’ ให้เป็นสิ่งที่พูดถึงและเตรียมตัวรับมือกับมันได้

‘ความตาย’ คำที่มีความหมายเชิงลบ อาจไม่ใช่คำปกติในบทสนทนาชีวิตประจำวันคนเรามากนัก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สักวันหนึ่งความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดชีวิตเราเคยเห็นข้อความที่ว่า ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ ที่สื่อถึงวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตทุกประเภท 

เพื่อให้เห็นภาพสัจธรรมของการเกิดที่นำไปสู่การดับสูญ ‘โรงพยาบาล’ สถานที่ที่พบได้ทั้งรอยยิ้มจากการเกิดของชีวิตใหม่ และน้ำตาแห่งความโศกเศร้าจากการจากไปของใครสักคน หรือบางครั้งเวลาไป ‘วัด’ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หากเห็นคนกำลังไหว้พระขอพร นั่นอาจหมายถึงการพึ่งพาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในวาระสุดท้ายของชีวิตเขาหรือคนที่เขารัก 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าความตายอยู่รอบตัวเราตลอด และมนุษย์ก็กลัวความตายมากที่สุด เพราะความตายเท่ากับความเจ็บปวด การจากลา หรือแม้แต่ความมืดมิด

จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถพูดถึงความตายได้อย่างสบายใจและวางแผนรับมือกับมันได้ ? ปัจจุบัน ‘การเตรียมตัวตาย’ หรือ ‘การตายดี (Good death)’ กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก และเป็นประเด็นใหม่ต่อสังคมโลก ทัศนคติบางคนอาจมองว่าเป็นการแช่ง และนำสิ่งอัปมงคลเข้าสู่ชีวิต แต่แท้จริงแล้ว ‘การเตรียมตัวตาย’ คือการเตรียมรับมือให้เราสามารถวางแผนในช่วงหนึ่งของชีวิตหรือช่วงบั้นปลายชีวิตได้ นอกจากนี้อาจหมายถึงการได้ออกแบบงานศพของตัวเองอย่างใจหมาย รวมถึงเป็นการสร้างข้อตกลงแก่ทุกฝ่าย ทั้งตัวเรา คู่ชีวิต ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์

ดังนั้น หากถึงจุดหนึ่งที่เราใกล้ถึงความตาย การจัดการทุกอย่างก็จะดำเนินตามแบบแผนตามที่เราต้องการ ไม่ก่อให้เกิดภาระแก่คนอื่นในภายหลัง หรือหากมองในแง่จิตวิญญาณ อาจส่งผลให้จิตของเราได้จากโลกนี้ไปอย่างสบายใจ

การวางแผนการตาย หรือ การตายดี ไม่มีแบบแผนที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราเป็นหลัก แบบแผนการตายดีในศาสตร์การแพทย์คือ ‘การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)’ เหมาะกับผู้ป่วยที่ถูกประเมินเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต โดยวิธีนี้เน้นที่ ‘การดูแล’ ไม่ใช่การรักษา เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย และเชื่อมต่อถึงกันระหว่างบ้านและโรงพยาบาล หัวใจสำคัญของการดูแลแบบนี้คือ ความเอาใจใส่ การใช้แพทย์แผนปัจจุบันและทางเลือกผสมกัน รวมถึงการไม่ยื้อชีวิตให้ทรมาน 

ทั้งนี้การวางแผนการตายดีไม่ได้เหมาะกับแค่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่เหมาะสมกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เสมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเราและคนรอบข้าง และอีกหนึ่งมุมมองในการเตรียมตัวตายที่น่าสนใจ คือ ‘การวางแผนงานศพ’ ที่หลายคนฟังอาจมองว่าแปลกและน่ากลัว แต่ในทัศนคติของ ‘แบงค์ เจ้าหญิงวงการเผาศพ’ สัปเหร่อชื่อดังผู้หลงใหลในกรรมวิธีเผาศพ กลับมองว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะเป็นการสร้างความสบายใจให้กับเรา ที่อย่างน้อยคงได้รู้ว่างานศพของเราจะออกมาแบบใด อีกทั้งเป็นการช่วยผ่อนเบาภาระให้กับลูกหลานที่จัดงานศพได้

แม้ชีวิตของเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เราสามารถเลือกออกแบบการจากไปของเราได้ ‘ความตาย’ อาจใช่หรือไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับบางคน แต่ ‘ความทรมาน’ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตและการจากไปอย่างมีห่วงคงน่ากลัวเสียกว่า 

ไม่สายเกินไปที่จะเตรียมตัวตายในแบบฉบับของเรา หวังว่าหากอ่านจบ คุณคงจับดินสอ พร้อมที่จะขีดเขียนร่างภาพชีวิตของคุณในช่วงสุดท้ายแล้วใช่ไหม ? 

ตามไปดูเรื่องราวของ ‘แบงค์ เจ้าหญิงเผาศพ’ สัปเหร่อสาวที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุด รวมถึงไขประเด็น ‘การเตรียมตัวตาย’ ในแบบฉบับของแบงค์จะเป็นอย่างไร ในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2567 เวลา 21:30 น. ทาง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay  หรือ https://vipa.me/ 

อ้างอิง

-สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 

-โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

-โครงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.2557-2559 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ความตายการตายดีPalliative careแบงค์ เจ้าหญิงวงการเผาศพ
บุรพัชร์ สุขเนียม
ผู้เขียน: บุรพัชร์ สุขเนียม

Content Creator Online สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา “เต็มที่ ปล่อยใจ ไปให้สุด” รักการเดินทาง คลั่งไคล้รถไฟ ฟีเวอร์ K-POP

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด