Thai PBS On This Day | ตุลาคม 2567


วันสำคัญ

30 ก.ย. 67

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
แชร์

Thai PBS On This Day | ตุลาคม 2567

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1639

Thai PBS On This Day | ตุลาคม 2567
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนตุลาคม 2567

1 ตุลาคม : วันหมาดำ (National Black Dog day)

วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันหมาดำ (National Black Dog day)” ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนหันมาให้ความรักความใส่ใจน้องหมาสีดำมากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า “หมาดำ” เป็นสัตว์อัปมงคล เป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย อาถรรพ์และความตาย เลยไม่ค่อยมีใครอยากจะรับเลี้ยง เพียงเพราะสีขนของมัน

1 ตุลาคม : วันกาแฟสากล (International Coffee Day)

“องค์การกาแฟนานาชาติ (International Coffee Organization : ICO)” ได้กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันกาแฟสากล (International Coffee Day)” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและส่งเสริมเครื่องดื่มกาเฟอีนอย่าง “กาแฟ (Coffee)” รวมทั้งเชิดชูเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทั่วโลกด้วย

1 ตุลาคม : วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons)

“องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons)” โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 2534 เพื่อให้สังคมเล็งเห็นคุณงามความดีของผู้สูงอายุที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามและทำคุณประโยชน์มาค่อนชีวิต

1 ตุลาคม : วันชาติจีน

“วันชาติจีน” คือวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ เป็นวันหยุดราชการในประเทศจีนที่มีการเฉลิมฉลองทุกปีในวันที่ 1 ตุลาคม เพื่อระลึกถึงการประกาศอย่างเป็นทางการของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2492 โดย “เหมา เจ๋อตง (Mao Tse-tung)” ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำกองทัพปลดแอกและประชาชนจีน ทำสงครามกับฝ่ายเจียงไคเชกจนได้รับชัยชนะ และสามารถยึดประเทศจีนคืนได้ทั้งประเทศ จึงได้ประกาศตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน (The Republic Of China)” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2492 ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน (The Tiananmen Square)

1 ตุลาคม 2491 : “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ถึงแก่อสัญกรรม

“พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)” นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2427 เข้าศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญวิทยาลัย โรงเรียนกฏหมายกระทรวงยุติธรรม (เนติบัณฑิตสยาม) และศึกษาต่อที่โรเรียนมิดเดิล เทมเปิล (เนติบัณฑิต) ที่ประเทศอังกฤษ

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 “คณะราษฎร” ได้มีมติแต่งตั้ง “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)” เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหาร เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงเปลี่ยนจาก “ประธานคณะกรรมการราษฎร” มาเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ภายหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะราษฎร และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด “พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” หัวหน้าคณะราษฎร และ “หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ ต่อมาคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม)” ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 (รัฐประหารครั้งแรกของไทย) และทำการปลด “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)” ออกจากตำแหน่ง แล้วเนรเทศไปยังรัฐปีนัง (Penang) ประเทศมาเลเซีย ท่านพำนักอยู่จนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ขณะอายุได้ 64 ปี

2 ตุลาคม 2567 : วันสารทไทย (วันสารทเดือนสิบ)

“วันสารทไทย” หรือ “วันสารทเดือนสิบ” ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม 2567

ซึ่งในแต่ละภาคของไทย จะมีชื่อเรียก “วันสารทไทย” หรือ “วันสารทเดือนสิบ” แตกต่างกัน คือ

  • ภาคกลาง เรียกว่า “วันสารทไทย”
  • ภาคเหนือ เรียกว่า “งานทานสลากภัต” หรือ “ตานก๋วยสลาก”
  • ภาคอีสาน เรียกว่า “งานทำบุญข้าวสาก”
  • ภาคใต้ เรียกว่า “งานบุญเดือนสิบ” หรือ “ประเพณีชิงเปรต”

ใน “วันสารทไทย” หรือ “วันสารทเดือนสิบ” จะมีการใช้ “กระยาสารท” ขนมประจำวันสารทของทุกท้องถิ่น ซึ่งมีความเชื่อว่า หากไม่ได้ทำบุญใส่บาตรด้วย “กระยาสารท” ผู้ล่วงลับจะไม่ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลที่ทำอุทิศไปให้ในวันนี้

3 ตุลาคม : วันรวมชาติเยอรมัน (German Unity Day)

หลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออก (German Democratic Republic) เริ่มก่อสร้าง “กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2504 เพื่อปิดกั้นเส้นทางอพยพของประชาชนจากเยอรมนีตะวันออกไปสู่เยอมันตะวันตก (Federal Republic of Germany) ซึ่งเป็นดินแดนที่มั่งคั่งกว่า ทำให้ “กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)” แบ่งเมืองเบอร์ลินออกเป็นเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก กำแพงนี้เป็นเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายประเทศเสรีและประเทศคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น (Cold War)

“กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)” ตั้งอยู่เป็นระยะเวลา 28 ปี จนกระทั่งรัฐบาลเยอรมันตะวันออก (German Democratic Republic) ได้อนุมัติให้เปิดกำแพงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 ชาวเบอร์ลินตะวันตกออกมาต้อนรับชาวเบอร์ลินตะวันออก บรรยากาศในวันนั้นเหมือนงานเฉลิมฉลอง ชาวเยอรมันจึงถือกันว่าวันนี้เป็น “วันล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน” ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะถูกทุบทำลายเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2533

ชาติเยอรมันทั้งสองได้กลับเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง กล่าวคือ เยอรมนีตะวันออก (German Democratic Republic) ได้รวมชาติกับเยอรมนีตะวันตก (Federal Republic of Germany) อย่างเป็นทางการ กลายเป็น “สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany)” เพียงหนึ่งเดียว ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 ภายหลังจึงถือเอาวันที่ 3 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันรวมชาติเยอรมัน (German Unity Day)”

3 - 11 ตุลาคม 2567 : เทศกาลกินเจ

คำว่า “เจ (齋)” ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า “อุโบสถ” ดังนั้น “การกินเจ” ก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว

แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่า “กินเจ” กลายเป็น “การถือศีลกินเจ” ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังคงเรียกว่า “กินเจ”

ความหมายโดยรวมก็คือ คนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ ตลอด 9 วัน 9 คืน ซึ่งในปีนี้ “เทศกาลกินเจ” ตรงกับวันที่ 3 - 11 ตุลาคม 2567

4 ตุลาคม : วันสัตว์โลก (World Animal Day)

วันที่ 4 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันสัตว์โลก (World Animal Day)” วันสากลที่ถูกก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เพื่อให้ผู้คนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่า ทั้งในด้านสิทธิและความเป็นอยู่ รวมถึงสิทธิเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ด้วย

4 ตุลาคม 2567 : วันยิ้มโลก (World Smile Day)

วันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันยิ้มโลก (World Smile Day)” โดยมีผู้ริเริ่มคือ “ฮาร์วีย์ บอลล์ (Harvey Ball)” ศิลปินชาวอเมริกัน ผู้วาดรูปวงกลมอมยิ้มสีเหลืองที่รู้จักกันในชื่อ “สมายลี่ย์ เฟซ (Smiley Face)” เมื่อปี 2506 และเป็นรูปที่โด่งดังไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

5 ตุลาคม : วันครูโลก (World Teacher’s Day)

วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันครูโลก (World Teacher’s Day)” เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานสากลทั่วโลก เช่น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั่วโลก เพื่อยกระดับอาชีพครู สร้างมาตรฐานและสวัสดิการของครู รวมถึงการจัดรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสม โดยมีการเฉลิมฉลองครั้งแรกในปี 2509

5 ตุลาคม : วันนวัตกรรมแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 เห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม

และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับ “โครงการแกล้งดิน”

ใน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ของทุกปี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จึงจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และจัดพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นการให้กำลังใจและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ค้นคิดพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

6 ตุลาคม 2519 : เกิดเหตุการณ์ “6 ตุลา”

เหตุการณ์ “6 ตุลา” ในปี 2519 เป็นการสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นการปราบปรามอย่างรุนแรงถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจตระเวนชายแดน การรุมประชาทัณฑ์ของกองกำลังกึ่งทหารและไทยมุงฝ่ายขวา ที่กระทำต่อนักศึกษาและผู้ประท้วงฝ่ายซ้าย ทั้งด้านในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รวมถึงท้องสนามหลวง

การชุมนุมนี้ เป็นการประท้วงขับไล่ “จอมพล ถนอม กิตติขจร” (ซึ่งหนีออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” แล้วบวชเณรที่สิงคโปร์ก่อนจะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร) ออกนอกประเทศ แต่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมของคอมมิวนิสต์ต่างชาติที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน ทหาร กลุ่มนวพล กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และอื่น ๆ พร้อมอาวุธสงครามครบมือได้เข้ากวาดล้างและจับกุมผู้ที่ชุมนุมอย่างรุนแรง

เหตุการนี้ทางรัฐบาลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 39 ศพ แต่เจ้าหน้าที่มูลนิธิแห่งหนึ่งระบุว่า 530 คน (แต่มีการคาดการณ์กันว่ามีผู้เสียชีวิตจริง ๆ กว่าพันคน) บาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก ถูกจับกุมข้อหากบฎ 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน หญิง 662 คน

ในตอนเย็นวันเดียวกันนี้ คณะทหารในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดย “พลเรือเอก สงัด ชลออยู่” ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ “ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช” และแต่งตั้ง “นายธานินทร์ กรัยวิเชียร” เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา หลังจากเหตุการณ์นี้ ได้มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี โดยแกนนำนักศึกษา 19 คนถูกคุมขังตีตรวนโดยตลอด แต่ฝ่ายผู้เข้าล้อมปราบไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ ต่อมาก็ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด เหตุการณ์ “6 ตุลา 19” นับเป็นการสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด กลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ และเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครกล้าตอบ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2543 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีเปิด “อนุสาวรีย์ วิชิตชัย อมรกุล” อดีตนิสิตปี 2 ที่ถูกฆ่าแขวนคอใต้ต้นมะขาม และเผาบริเวณท้องสนามหลวงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อนุสาวรีย์นี้จะตั้งอยู่หน้าอาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอนุสาวรีย์แผ่นโลหะกลม มีการจารึกเรื่องราวของนายวิชิตชัยว่า “เหตุที่สร้างอนุสาวรีย์ให้นายวิชิตชัย เพราะถือเป็นผู้หนึ่งที่ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทย และสร้างไว้หน้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะเป็นนิสิตปีที่ 2 ของจุฬาฯ สมควรได้รับการยกย่องในเรื่องของการต่อสู้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และระลึกถึง และอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บางคนเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับเขาด้วยซ้ำไป” นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

7 ตุลาคม : วันมะเร็งเต้านมสากล (World Breast Cancer Day)

วันที่ 7 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันมะเร็งเต้านมสากล (World Breast Cancer Day)” เนื่องจาก “โรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer)” เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทั่วโลก และถือเป็นภัยเงียบอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลกอีกด้วย

8 ตุลาคม : วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ประสูติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2525 ณ พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา ทรงพระนามว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับ นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน (อดีตพระสวามี) ทรงมีพระโสทรกนิษฐภคินี 1 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งทรงเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดีบประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนจิตรลดา ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนฮอล์ตัน-อามส์ (Holton-Arms School) รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ระดับเกรด 8 ที่โรงเรียนเฮอร์เบิร์ตฮูเวอร์มิดเดิล (Herbert Hoover Middle School) สหรัฐอเมริกา ระดับเกรด 8-11 ที่โรงเรียนมัธยมวอลเตอร์ จอห์นสัน (Walter Johnson High School) สหรัฐอเมริกา ภายหลังได้นิวัติกลับประเทศไทยและเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ที่โรงเรียนจิตรลดา

ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาพพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาศิลปไทย ภาควิชาศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร

ด้านพระกรณียกิจ ทรงสนองพระเดชพระคุณในฐานะพระราชวงศ์ ทรงพระกรณียกิจในด้านต่างๆ และส่งเสริมงานด้านต่าง ๆ อาทิ ทรงเป็นรองประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงเป็นประธานศูนย์ปฏิบัติการบินอาสา อนุรักษ์และกู้ภัย สิริภาจุฑาภรณ์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ

8 ตุลาคม 2513 : “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกภาพยนตร์ไทยคนดัง เสียชีวิต

“มิตร ชัยบัญชา” พระเอกภาพยนตร์ไทยคนดัง เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2477 ที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เขามีชื่อจริงว่า “พิเชษฐ์ พุ่มเหม” บิดาเป็นตำรวจชั้นประทวน มารดาเป็นแม่บ้าน ทั้งคู่แยกทางกันตั้งแต่เขายังเด็ก ตอนเล็ก ๆ เขาจึงมีชื่อว่า “บุญทิ้ง”

เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศ จังหวัดนครราชสีมา สำเร็จการศึกษาในปี 2497 ต่อมามีรุ่นพี่ได้แนะนำให้เขารู้จักกับผู้กับกำกับภาพยนตร์ จนได้เล่นหนังเรื่องแรก “ชาติเสือ” โดยผู้กำกับอย่าง “ประทีป โกมลภิส” ถามเขาว่า “ในชีวิตสิ่งใดสำคัญสุด” เขาตอบว่า “เพื่อนครับ” เมื่อถามอีกว่า “ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด” คำตอบของเขาคือ “ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ” ผู้กำกับได้นำมาตีความจนเป็นที่มาของชื่อใหม่ที่ต่อมากลายเป็นตำนานของวงการภาพยนตร์ไทยว่า “มิตร ชัยบัญชา” ก่อนที่เขาจะเริ่มมีชื่อเสียงในปี 2502 จากบท “โรม ฤทธิไกร” หรือ “อินทรีแดง” ในภาพยนตร์เรื่อง “จ้าวนักเลง”

ตลอดชีวิต “มิตร ชัยบัญชา” แสดงหนังทั้งหมด 266 เรื่อง แต่เขาไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนใหญ่เป็นหนังขนาด 16 มม. มีขนาด 35 มม. เสียงในฟิล์มเพียง 16 เรื่อง แสดงคู่กับนางเอกมากกว่า 29 คน โดยแสดงคู่กับ “เพชรา เชาวราษฎร์” มากที่สุดถึง 172 เรื่อง

“มิตร ชัยบัญชา” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ด้วยอุบัติเหตุพลัดตกจากเฮลิคอปเตอร์ ขณะถ่ายทำฉากสุดท้ายในภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” ที่หาดดงตาล อ่าวพัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี ขณะอายุได้ 36 ปี

9 ตุลาคม : วันไปรษณีย์โลก (World Post Day)

ในปี 2512 สมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากลทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 9 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันไปรษณีย์โลก (World Post Day)” และประเทศสมาชิกตกลงร่วมกันที่จะเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเขียนจดหมาย อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพ และเสรีภาพผ่านตัวอักษร โดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา ให้ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ที่มาของ “สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union)” เริ่มจากในยุคแรก ๆ การที่ประเทศหนึ่งจะแลกเปลี่ยนไปรษณีย์กับประเทศอื่นได้ ต้องมีการทำสนธิสัญญากับแต่ละประเทศคู่สัญญา อีกทั้งการส่งจดหมายระหว่างประเทศมักต้องติดแสตมป์ของประเทศต่าง ๆ ที่จดหมายเดินทางผ่าน จึงมีการเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติในเรื่องนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2417 ในการประชุมที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาเบิร์น จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศได้สำเร็จ ใช้ชื่อว่า “สหภาพไปรษณีย์ทั่วไป” และในการประชุมไปรษณีย์สากลสมัยถัดไป ในปี 2421 ที่กรุงปารีส มีความเห็นว่าจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงได้ลงมติเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union)” จนถึงปัจจุบัน

9 ตุลาคม 2510 : “เช เกวารา” นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งละตินอเมริกา เสียชีวิต

“เช เกวารา (Che Guevara)” นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งละตินอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2471 ที่เมืองโรซารีโอ ประเทศอาร์เจนตินา เขามีชื่อจริงว่า “Ernesto Rafael Guevara de la Serna” เป็นลูกครึ่งไอริช-สเปน เข้าศึกษาด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส (University Of Buenos Aires : UBA) ในการเรียนปีสุดท้าย เขากับเพื่อน “อัลเบอร์โต กรานาโด (Alberto Granado)” ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ (Norton 1939, 500 cc.) ท่องเที่ยวไปทั่วแถบละตินอเมริกา ทำให้เขาได้พบเห็นความยากลำบากของผู้คนในชนบท จนจดเป็นบันทึกการเดินทาง The Motorcycle Diaries

แล้วการเดินทางครั้งนี้ก็ได้เปลี่ยนชีวิตของว่าที่นายแพทย์หนุ่มอนาคตไกล ให้กลายเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา เขาตัดสินใจทิ้งเสื้อกราวน์ แล้วเข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ จนได้พบกับ “ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro)” ที่ประเทศเม็กซิโก ในปี 2498 ต่อมาพวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้ง “ขบวนการ 26 กรกฎาคม (26th of July Movement)” เข้าปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลเผด็จการของประเทศคิวบาได้สำเร็จในปี 2502 “ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro)” ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ส่วนเขาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารแห่งชาติคิวบา และต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม

ในที่สุด “เช เกวารา (Che Guevara)” ก็ถูกทหารฝ่ายรัฐบาลโบลิเวีย (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก CIA ของสหรัฐอเมริกา) จับกุมตัวและยิงเสียชีวิตในวันที่ 9 ตุลาคม 2510 ที่หมู่บ้านลา อิเกรา (La Higuera) ประเทศโบลิเวีย เขาได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักต่อสู้เพื่อเอกราช สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจของคนหนุ่มสาวให้ต่อสู้กับความอยุติธรรมมาจนทุกวันนี้

9 ตุลาคม 2538 : “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” ถึงแก่อสัญกรรม

“หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง ศิลปินแห่งชาติ ปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสคนสุดท้อง ในบรรดาโอรส-ธิดา ทั้ง 6 คนของ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ” กับ “หม่อมแดง (บุนนาค)” ทั้งนี้ท่านคือน้องชายของ “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทย

ในวัยทารกท่านชอบร้องไห้เสียงดัง จึงได้รับพระราชทานนามว่า “คึกฤทธิ์” จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อในวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง ที่วิทยาลัยควีนส์ (The Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แล้วกลับมารับราชการที่กรมสรรพากรและกระทรวงการคลัง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเข้ารับราชการทหาร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรี ในปี 2531 ท่านเริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2488 โดยก่อตั้ง “พรรคก้าวหน้า” ต่อมาได้ยุบรวมกับ “พรรคประชาธิปัตย์” จากนั้นก่อตั้ง “พรรคกิจสังคม” ในปี 2517 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย เมื่อปี 2518

ท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านหนังสือพิมพ์และวรรณกรรม โดยเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ในปี 2493 ท่านมีผลงานทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ เรื่องแปล สารคดี ผลงานที่สำคัญอาทิ “สี่แผ่นดิน” “ไผ่แดง” “กาเหว่าที่บางเพลง” นอกจากนี้ ท่านยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์” ในปี 2528

“หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ขณะมีอายุได้ 84 ปี

10 ตุลาคม : วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day : WMHDAY)

นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา “สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health : WFMH)” ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day : WMHDAY)” เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และการลงทุนเพื่อการป้องกันรวมทั้งบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ

11 ตุลาคม 2476 : เกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช”

เหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ถือเป็นการก่อกบฎครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครองในปี 2475

โดยคณะทหารในนาม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดย “พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม “พลตรี พระยาจินดาจักรรัตน์ (เจิม อาวุธ)” “พลตรี พระยาทรงอักษร (ชวน ลิขิกร)” และ “พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)” ได้นำกองกำลังทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา บุกเข้ายึดดอนเมืองและพื้นที่ทางด้านเหนือของพระนคร โดยตั้งกองอำนวยการใหญ่อยู่ที่สโมสรทหารอากาศ กรมอากาศยาน ดอนเมือง ระหว่างวันที่ 11 - 25 ตุลาคม 2476

แล้วยื่นหนังสือเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลลาออก โดยอ้างเหตุผลว่า คณะรัฐมนตรีปล่อยให้มีการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่พอใจที่ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)” ซึ่งคณะผู้ก่อการมองว่ามีความคิดแบบคอมมิวนิสต์ กลับมาร่วมคณะรัฐบาล

“พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตอบปฏิเสธและส่งกำลังกองผสมนำโดย “หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.พิบูลสงคราม)” เข้าปราบปรามจนได้ชัยชนะในวันที่ 25 ตุลาคม 2476

จากนั้น “พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส ต่อมารัฐบาลได้ก่อสร้าง “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “อนุสาวรีย์หลักสี่”) ขึ้นที่บริเวณหลักสี่ เขตบางเขน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฎในครั้งนี้

11 ตุลาคม 2511 : ยานอวกาศ “อะพอลโล 7” ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร

“อะพอลโล 7 (Apollo 7)” ยานอวกาศลำแรกในปฏิบัติการอพอลโล (Apollo Mission) ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศเป็นเวลา 11 วัน นับตั้งแต่ปล่อยตัวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2511 โดยมีนักบินอวกาศสามคนได้แก่ “วอลเตอร์ เชียร์รา (Walter Schirra)” “ดอน ไอส์ลี (Donn Eisele)” และ “วอลเตอร์ คันนิงแฮม (Walter Cunningham)” มีการทดลองส่งภาพจากอวกาศ และการทดลองอื่น ๆ ก่อนที่ “อะพอลโล 11 (Apollo 11)” จะไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในปีต่อมา

11 ตุลาคม 2540 : ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากเป็นฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด และมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากกว่าฉบับที่ผ่าน ๆ มา

แต่ในที่สุด วันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกฉีกไป หลังจากที่ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)” เข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

13 ตุลาคม : วันนวมินทรมหาราช

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อความวิวัฒน์พัฒนาของบ้านเมือง เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์ และยังความผาสุขร่มเย็นแก่พสกนิกรชาวไทย พระเกียรติคุณเป็นที่แซ่ซ้องประจักษ์ทั้งแก่ปวงชนชาวไทยและนานาอารยประเทศ

แม้การเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จะล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน แต่พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึงถึงความสำนักซาบซึ้งในพระกรุณามหาธิคุณอย่างมิรู้ลืมเลือน เพื่อให้วันคล้ายวันสรรคตเป็นวันร่วมรำลึก และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แห่งพระมหากษัตริย์ผู้มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน

13 ตุลาคม : วันลดภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction : IDRR)

“องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันลดภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction : IDRR)” เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดการและลดความเสียหายจากภัยพิบัติ

14 ตุลาคม 2516 : เกิดเหตุการณ์ “14 ตุลา” (วันประชาธิปไตย - วันมหาวิปโยค)

เหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วง ประกอบด้วยนักศึกษาและประชาชนจำนวนมหาศาล ที่ออกมาร่วมเดินขบวนไล่รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร บริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนิน

15 ตุลาคม : วันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day)

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN : UNITED NATIONS) ได้กำหนดให้วันที่ 15 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day)” เพื่อเป็นการรณรงค์และกระตุ้นให้เด็ก เยาวชนและประชากร ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธีเป็นประจำ ตลอดจนเกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคที่สำคัญได้ทางหนึ่ง โดยวันล้างมือโลกถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ณ เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

16 ตุลาคม : วันอาหารโลก (World Food Day)

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันก่อตั้ง FAO เป็น “วันอาหารโลก (World Food Day)” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขจัดความอดอยาก หิวโหย

รวมทั้งเพื่อเร่งให้ประเทศต่าง ๆ มีจิตสำนึกเรื่องอาหารและการพัฒนา เสริมสร้างความสมานฉันท์ระดับชาติ และนานาชาติในการต่อสู้กับความอดอยากหิวโหยที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

นอกจากนี้ ในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีเข้ามีบทบาทมากขึ้น จึงมีโครงการที่ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยเพิ่มผลผลิตและเพาะปลูกในภาวะที่แห้งแล้งอีกด้วย

17 ตุลาคม 2567 : วันออกพรรษา

วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (วันเพ็ญเดือน 11) ของทุกปี เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติ ในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทำบุญหรือกิจกรรมทางศาสนา เช่น การตักบาตรเทโว (การตักบาตรดาวดึงส์)

มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา” มีความหมายว่า พระภิกษุทั้งหลาย ทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อย ต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้

มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ว่า “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ” แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี

การที่พระท่านกล่าวปวารณา (ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน) กันไว้ ในเมื่อต่างองค์ต่างต้องจากกันไปองค์ละทิศละทาง ท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาด้วยเจตนาดีต่อกัน

19 ตุลาคม : วันเทคโนโลยีของไทย

เป็นวันเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยมีการเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2544

21 ตุลาคม : วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ

สมเด็จย่าทรงมีพระดำริในการสร้างโครงการพัฒนาด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมากมาย อาทิ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการเกษตรหลวงดอยตุง) จังหวัดเชียงราย

21 ตุลาคม : วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ทรงพระเมตตาอยากให้ประชาชนมีฟันดี หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงพร้อมใจกันร่วมจัดกิจกรรมวันทันตสาธารณสุข และให้ความรู้ด้านทันตกรรม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพอนามัยในช่องปากที่ดีตลอดไป เพื่อเทิดพระเกียรติ “พระมารดาแห่งการทันตแพทย์แผนไทย”

21 ตุลาคม : วันพยาบาลแห่งชาติ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” พระองค์ท่านทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพ ของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเดินทางไปรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ซึ่งเรียกว่า หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นหน่วยแพทย์ที่สมเด็จย่า ทรงก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2512 ปฏิบัติงานโดยอาสาสมัคร ประกอบด้วย แพทย์ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทรงจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ( พอ.สว. ) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2517 โดยเป็นองค์นายิกากิติมศักดิ์

21 ตุลาคม : วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ

“คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนางานสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ” ให้กำหนดวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเมตตาในการช่วยเหลือประชาชนของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ "สมเด็จย่า” ที่ทรงตั้งมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ออกจัดทำขาเทียมให้ผู้พิการ

23 ตุลาคม : วันปิยมหาราช

วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

24 ตุลาคม : วันสหประชาชาติ (United Nations Day)

องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (United Nation : UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2488 จึงกำหนดให้วันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ

31 ตุลาคม : วันออมแห่งชาติ

“วันออมแห่งชาติ” ถูกจัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2541 เพื่อสร้างวินัยในการใช้จ่าย เก็บออม และฟื้นฟู เศรษฐกิจ ของประเทศ

31 ตุลาคม : วันฮาโลวีน (Halloween)

ฮาโลวีน หรือ “วันปล่อยผี” เชื่อว่ามีที่มาหรือต้นกำเนิดจากเทศกาลดั้งเดิมของชาวเคลต์ (Celts) เป็นอีกเทศกาลหนึ่งของชาวตะวันตกแพร่หลายพอสมควรในประเทศไทย ผู้คนทั่วโลกต่างก็เฉลิมฉลองกันด้วยหลากหลายกิจกรรม เช่น การประดับตกแต่งบ้านด้วยฟักทองแกะสลักหน้าผี ปาร์ตี้แต่งกายแฟนซีสุดสยอง

🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day
 

▶️ 2566

▶️ 2567

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBSThai PBS Digital MediaThai PBS On This Dayไทยพีบีเอสวันสำคัญวันนี้ในอดีตวันหมาดำNational Black Dog DayวันกาแฟสากลInternational Coffee Dayวันผู้สูงอายุสากลInternational Day of Older Personsวันชาติจีนพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยวันสารทไทยวันสารทเดือนสิบวันรวมชาติเยอรมันGerman Unity Dayเทศกาลกินเจวันสัตว์โลกWorld Animal Dayวันยิ้มโลกWorld Smile DayวันครูโลกWorld Teacher’s Dayวันนวัตกรรมแห่งชาติ 6 ตุลา 19วันมะเร็งเต้านมสากลWorld Breast Cancer Dayพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์มิตร ชัยบัญชาวันไปรษณีย์โลกWorld Post Dayเช เกวาราChe Guevaraคึกฤทธิ์ ปราโมชวันสุขภาพจิตโลกWorld Mental Health DayกบฏบวรเดชApollo 7Apollo Missionรัฐธรรมนูญ 2540รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนวันนวมินทรมหาราชวันลดภัยพิบัติสากลInternational Day for Disaster Risk Reduction14 ตุลา 16วันประชาธิปไตยวันมหาวิปโยควันล้างมือโลกGlobal Hand Washing DayวันอาหารโลกWorld Food Dayวันออกพรรษาวันเทคโนโลยีของไทยวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติวันพยาบาลแห่งชาติวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติวันปิยมหาราชวันสหประชาชาติUnited Nations Dayวันออมแห่งชาติวันฮาโลวีนHalloween
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด