ถึงบางอ้อ ! “เป็นไข้” ตัวร้อน แต่ทำไม ? เราหนาวสั่น


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

24 ก.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ถึงบางอ้อ ! “เป็นไข้” ตัวร้อน แต่ทำไม ? เราหนาวสั่น

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1638

ถึงบางอ้อ ! “เป็นไข้” ตัวร้อน แต่ทำไม ? เราหนาวสั่น
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เคยสงสัยไหม ? เมื่อเรา “เป็นไข้” (Fever) ตัวร้อน แต่ทำไมมีอาการหนาวสั่น ซึ่งมีสาเหตุอะไรกันนะ วิทยาศาสตร์น่ารู้ กับ Thai PBS Sci & Tech จะพาไปหาคำตอบกัน

young-sick-man-staying-his-bed


รู้จักสาเหตุทำให้เรามี “ไข้”

สำหรับอาการมี “ไข้” (Fever) นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. ร่างกายเกิดภาวะการติดเชื้อ
     - จากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด เป็นต้น
     - จากเชื้อแบคทีเรีย เช่น อาหารเป็นพิษ โรคไอกรน โรคฉี่หนู และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

2. เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในร่างกาย
3. เกี่ยวกับการอักเสบ
4. ภาวะร่างกายขาดน้ำ
5. การตากแดดเป็นเวลานาน
6. บางครั้งอาจมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ (FUO: Fever of unknown origin) หรือ พียูโอ (PUO: Pyrexia of unknown origin)

ผู้หญิงเป็นไข้ (Fever)


เปิดเหตุผลที่เป็น “ไข้” ตัวร้อน แต่เราหนาวสั่น

เป็นอันเข้าใจทั่วไปว่า “อาการไข้” (Fever) นั้นเป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอุณหภูมิปกติ ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส

โดยอุณหภูมิปกติของร่างกายเกิดจากการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะ “กล้ามเนื้อ” และ “ตับ” ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ “สมอง” ส่วนที่เรียกว่า “ไฮโปธาลามัส” (Hypothalamus) ซึ่งเป็นสมองส่วนอยู่ลึกของสมองใหญ่ ทั้งนี้การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะโดยการกำจัด “ความร้อน” ที่เกิดในร่างกายออกทางเหงื่อ (ทางผิวหนัง) และทางการหายใจ (ทางปอด)

เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อโรคหรือจากบางสาเหตุ (เช่น มีเลือดออกในสมอง) จะส่งผลกระตุ้นให้สมองไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ตอบสนองด้วยการปรับอุณหภูมิร่างกายให้สูงขึ้น เนื้อเยื่อที่จะทำหน้าที่เพิ่มอุณหภูมิของร่างกายตามคำสั่งของสมองคือ “กล้ามเนื้อ” และ “หลอดเลือด” โดยหลอดเลือดจะหดตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแพร่กระจายออกทางผิวหนังและทางปอด ซึ่งการหดตัวของหลอดเลือดนอกจากส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นแล้ว จะส่งผลให้ผู้มีไข้รู้สึกหนาวจากมีการลดปริมาณของเลือดที่หล่อเลี้ยง นอกจากนั้นกล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหดเกร็งจึงก่ออาการหนาวสั่น ซึ่งทั้งหมดคือ “อาการไข้ขึ้น” (Fever)

แต่เมื่อการกระตุ้นสมองไฮโปธาลามัสลดลง สมองไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) จะตอบสนองด้วยการปรับลดอุณหภูมิร่างกาย หลอดเลือดจะกลับมาขยาย เนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้รับเลือดเพิ่มขึ้น อุณหภูมิในเนื้อเยื่อเหล่านั้นจึงเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงขับความร้อนออกทางเหงื่อ ดังนั้นจึงเกิดอาการเหงื่อออกเมื่อไข้ (Fever) ลดลงนั่นเอง

portrait-couching-asian-girl-bed-feeling-sick


ลักษณะของไข้

1. ไข้ (Fever) สูงลอยอยู่ตลอด คือ อุณหภูมิจะสูงอยู่ระดับหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงบ้างก็เพียงเล็กน้อย ไม่ลดถึงระดับปกติ
2. ไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างอุณหภูมิสูงกับอุณหภูมิระดับปกติ
3. ไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ไม่ลงถึงระดับปกติ
4. ไข้ขึ้นหลายๆ วัน แล้วลดเป็นวัน แล้วกลับขึ้นอีก
5. ไข้ต่ำ ๆ ตลอด ไม่ลดลงระดับปกติ
6. ไข้อาจจำแนกตามระดับอุณหภูมิได้เป็น 3 ระดับ คือ “ไข้ต่ำ” อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 37.0 - 38.9 องศาเซลเซียส “ไข้ปานกลาง” อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 38.9 - 39.5 องศาเซลเซียส และ “ไข้สูง” อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 39.5 - 40.0 องศาเซลเซียส

ผู้หญิงมีไข้ (Fever)

รู้เท่าทันเมื่อเรากำลังมีอาการ “ไข้”

     - เมื่อเรารู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนจะเป็นไข้ (Fever) สามารถประเมินอาการเบื้องต้นด้วยการใช้ปรอทวัดไข้ตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย ก่อนใช้ปรอทวัดไข้ ควรสะบัดปรอทวัดไข้ให้ปรอทลงไปอยู่ต่ำสุด อมใต้ลิ้น 3 นาทีแล้วอ่านผล ถ้ามีไข้สูงเกิน 39.4 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรพบแพทย์ทันที

     - มีอาการขาดน้ำหรือไม่ จะมีอาการของการขาดน้ำ ได้แก่ กระหายน้ำมาก ปัสสาวะน้อย หรือสีเข้มมาก เวียนศีรษะ ปากแห้งมาก ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง ควรพบแพทย์ทันที

shocked-woman-looks-concerned-her-thermometer
 

วิธี “ลดไข้”

     - เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำ เพื่อลดไข้ และทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างเป็นธรรมชาติ
     - หากอาการไข้ (Fever) ทำให้รู้สึกไม่สบายมาก สามารถรับประทานยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง
     - อย่าห่อหุ้มร่างกายมากจนเกินไป เพราะจะขัดขวางการระบายความร้อน และการลดอุณหภูมิลงของร่างกาย
     - การให้น้ำทดแทน เพื่อชดเชยน้ำซึ่งสูญเสียไปกับเหงื่อโดยการดื่มน้ำประมาณ 1 แก้ว ทุก 2 ชั่วโมง อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำซุป หรือน้ำอื่น ๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์

young-woman-with-scarf-around-her-head-checking-fever-with-thermometer
 

“เป็นไข้” แล้วมีอาการแบบนี้ควรรีบพบแพทย์

     - มีไข้ (Fever) สูงเกิน 39.4 C ขึ้นไป
     - มีไข้ร่วมกับผื่น ปวดศีรษะอย่างมาก และคอแข็งกระวนกระวายหรือสับสนมาก ไอมีเสมหะสีน้ำตาลหรือเขียว มีอาการปวดผิดปกติขณะปัสสาวะ ปวดท้อง ปวดหลังมาก
     - มีอาการขาดน้ำ
     - มีไข้หลังจากกินยาบางชนิด

ป่วย ไม่สบาย


9 วิธีป้องกัน “อาการไข้”

ณ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคหวัดธรรมดา มีแต่วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่พบบ่อย ดังนั้นการป้องกันโรคหวัดธรรมดาที่สำคัญก็คือ

     1. หมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าทำงานหนักมากเกินไป
     2. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง
     3. ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
     4. ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น
     5. หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อย ๆ และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
     6. ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง งานมหรสพ เป็นต้น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาด หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะของผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูกถ้ายังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
     7. อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
     8. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ ของเล่น เครื่องใช้ต่าง ๆ ฯลฯ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วยโดยตรง
     9. สำหรับผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น ไม่นอนปะปนหรืออยู่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก ส่วนเวลาที่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง


ความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง : เวลามีไข้ (Fever) ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น ในสังคมไทยมีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณว่า การที่ศีรษะร้อนแต่เย็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าหมายถึงว่า ผู้ป่วยมีอาการหนัก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและก่อความทุกข์ใจให้แก่คนเชื่อมาก  


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลเอกชัย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เป็นไข้ไข้หวัดไข้Feverตัวร้อนหนาวสั่นวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Did you knowScience
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด