เจาะลึกชีวิต "ล่ามภาษามือไทย" นักสื่อสารแห่งโลกไร้เสียง


Interview

23 ก.ย. 67

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
แชร์

เจาะลึกชีวิต "ล่ามภาษามือไทย" นักสื่อสารแห่งโลกไร้เสียง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1633

เจาะลึกชีวิต "ล่ามภาษามือไทย" นักสื่อสารแห่งโลกไร้เสียง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“202 ใน 423,973”  

ตัวเลขด้านบนนี้ไม่ใช่รหัสลับดาร์วินชี แต่เป็นการเปรียบเทียบจำนวนล่ามภาษามือกับจำนวนคนพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย ที่มีอยู่ในประเทศไทย

เทียบหลักร้อยกับหลักแสน แม้จะยังไม่ได้เติมหน่วยเป็น “คน” ตามหลัง ดูแค่นี้ก็พอจะเห็นถึงความแตกต่าง นั่นทำให้เราตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในชีวิตจริงว่า ล่ามภาษามือที่มีเพียงหลักร้อย จะคอยให้บริการคนพิการทางการได้ยินที่มีอยู่หลักแสนคนได้อย่างไร

หรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนว่า “ล่ามภาษามือไทย” กำลังขาดแคลน ?

Thai PBS ชวนคุณมาทำความรู้จักกับล่ามภาษามือไทย 2 คน จากจำนวน 202 คน ทั่วประเทศ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นบนอาชีพนักสื่อสารแห่งโลกไร้เสียง, สถานการณ์ล่ามภาษามือไทยในตอนนี้ ไปจนถึงคำถามยาก ๆ แต่น่าสนใจ เช่น อนาคตของล่ามภาษาไทย ในวันที่เทคโนโลยี AI ครองโลก  

 

2 คน 2 จุดเริ่มต้นบนอาชีพ “ล่ามภาษามือ”

“ต้นหลิว” วรลักขณา ขวัญสู่ เป็นแหล่งข่าวคนแรกที่เราติดต่อไป เพราะเคยเห็นเธอล่ามภาษามือผ่านจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เวลามีข่าวคราวที่รัฐสภาค่อนข้างบ่อย ซึ่งเธอก็ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพล่ามภาษามือนี้ว่า เกิดจากความบังเอิญล้วน ๆ  

“หลิวไม่ได้มีคนรอบตัวหรือคนรอบข้างเป็นคนหูหนวก จนมีโอกาสได้ไปงาน Open House ของมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วบังเอิญไปเห็นวิทยาลัยราชสุดาในตอนนั้น เป็นนำเสนอคณะโดยมีพี่ ๆ ล่ามภาษามือมาสอนคำศัพท์ เราดูแล้วเราก็ยังงงว่า มันมีถึงขนาดเป็นคณะเลยเหรอ เพราะสิ่งที่เราเคยเห็นเกี่ยวกับล่ามภาษามือ เราเห็นแค่ในโทรทัศน์ เราไม่เคยรู้เลยว่าล่ามภาษามือจะทำงานแบบไหน หรือทำอะไรได้บ้าง”

ต้นหลิว - วรลักขณา ขวัญสู่

ต้นหลิวกลับมาที่บ้านพร้อมใบโบชัวร์แนะนำคณะ 1 แผ่น ที่ระบุว่าหากเลือกเรียนที่วิทยาลัยราชสุดา จะสามารถต่อยอดเป็นอาชีพอะไรได้บ้าง ซึ่งมีอาชีพนักจิตวิทยาคนพิการ ที่เป็นความฝันเล็ก ๆ ของต้นหลิว เด็กสาวชั้น ม. 6 คนนั้น ที่อยากเป็นนักจิตวิทยาพอดิบพอดี เธอจึงตัดสินใจเลือกวิทยาลัยราชสุดา เป็น 1 ใน 4 อันดับแอดมิชชันทันที

ตัดภาพมาที่พี่เจี๊ยบ ผศ.ดร. ภริมา วินิธาสถิตย์กุล จุดเริ่มต้นบนอาชีพล่ามภาษามือของเธอเกิดขึ้นที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว

พี่เจี๊ยบ - ผศ.ดร.ภริมา วินิธาสถิตย์กุล

“จำได้ว่าตอนนั้น มันจะมีสาขาหนึ่งที่เรียกว่า สาขาหลักสูตรการสอนเด็กพิเศษ เป็นสาขาที่จะสอนเด็กที่มีความบกพร่องต่าง ๆ พี่เลือกสอนเด็กหูหนวกก็เลยได้เรียนรู้ภาษามือไปด้วย” พี่เจี๊ยบเล่าย้อนกลับไปในสมัยที่เธอยังมีสถานะเป็นนักศึกษา ก่อนจะกลายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาล่ามภาษามือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อย่างที่เป็นทุกวันนี้ ด้วยใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้ม

 

ปรับตัวกับไวยากรณ์และวัฒนธรรม ระหว่างคนหูหนวกและคนหูดี

หลังจากที่ได้เข้าไปเรียน ชีวิตของต้นหลิวและพี่เจี๊ยบเองก็ไม่ต่างจากนักศึกษาปี 1 ทั่ว ๆ ไป ที่ต้องปรับตัวกับสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ และวิชาเรียนใหม่ แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าคือการเรียนรู้วัฒนธรรมและไวยากรณ์ของคนหูหนวก ซึ่งแตกต่างจากชีวิตตลอด 10 กว่าปีที่ใช้ที่โรงเรียน ในสมัยประถมหรือมัธยมโดยสิ้นเชิง

เพราะการสื่อสารของคนหูดี จะมีการเรียบเรียงประโยค เป็นประธาน + กริยา + กรรม ซึ่งเน้นไปที่ตัวผู้กระทำเป็นหลักว่า “ใคร” กำลังจะทำอะไร ในขณะที่คนหูหนวกจะเรียบเรียงประโยคเป็น กรรม + ประธาน + กริยา เพื่อให้คนหูหนวกมองแล้วสามารถตีความเป็นภาพได้เร็วที่สุดว่า “ใคร” กำลังเกิดอะไรขึ้น  

ยกตัวอย่างเช่นคำว่า “ฉันกินข้าว”

ภาษาไทยของคนหูดี เมื่อต้องการจะสื่อสารเรื่องการกินข้าว เราจะให้ความสำคัญกับคำว่า “ฉัน” กำลังกินข้าว แต่สำหรับคนหูหนวก เมื่อต้องการจะสื่อสารว่าฉันกินข้าว เขาจะเรียบเรียงประโยคโดยการนำ “ข้าว” ขึ้นมาไว้ข้างหน้า แล้วทำท่ากิน เราไม่สามารถนำภาษาไทยมาแปลงเป็นคำ ๆ แล้วทำมือกำกับตามไปด้วยได้ เพราะจะไม่เป็นภาพ - นี่คือความแตกต่างของภาษามือกับภาษาพูด ซึ่งคนที่จะเป็นล่ามภาษามือก็ต้องทำความเข้าใจ

“เคยมีวันหนึ่งรุ่นพี่ติดต่อให้มาล่ามภาษามือ เป็นการแสดงมุทิตาจิตของลูกศิษย์กับอาจารย์ในเพลงพระคุณที่ 3 ก็ล่ามเป็นเพลงไปเลยค่ะ ได้ภาษามือครบทุกคำเป๊ะ ๆ เลยนะคะ แต่คนหูหนวกดูแล้วงง เพราะมันเป็นการใช้ภาษามือตามคำแบบคนหูดี มันไม่เป็นภาพ

คราวนี้ก็เลยเอาใหม่ ต้องแปลความหมายของเพลงในหัวว่า อ๋อ เพลงนี้เราขอบคุณครูบาอาจารย์นะ ที่มาช่วยเหลือเรา แล้วค่อยนำมาทำเป็นภาษามือ มันก็คือการเอาความหมายของเพลงมาผลิตเป็นการแปลอีกครั้งหนึ่ง” พี่เจี๊ยบเล่าถึงประสบการณ์การแปลก้าวสำคัญที่ทำให้เธอเข้าใจโลกของภาษามือชัดเจนขึ้น

ในขณะที่ต้นหลิวมองว่าความยากของภาษามือ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้คำศัพท์ทั่วไป แต่เป็นการที่ต้องเข้าไปกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนหูหนวก เพื่อเรียนรู้ว่าคนหูหนวกใช้ชีวิตกันอย่างไร

“เอกล่ามภาษามือที่หลิวเรียน จะมีแต่คนหูดีทั้งหมด ส่วนพี่ ๆ ที่หูหนวกจะเรียนครูกัน มันอาจจะมี Culture Shock บ้าง ในช่วงแรก ๆ เรื่องวัฒนธรรม เช่น เวลาเราทานข้าว คนหูดีอาจจะไม่ค่อยคุยกัน คือจะทานให้เสร็จแล้วค่อยคุย แต่คนหูหนวก เขาจะกินไปด้วย แล้วก็คุยหรือทำมือไปด้วย” เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้เห็นความต่างในการใช้ชีวิตของคนหูดีและคนหูหนวก

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือภาษามือในแต่ละภูมิภาค หรือแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันตามวิถีชีวิตของคนหูหนวกด้วย

“ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “มังคุด” ถ้าเป็นภาษามือภาคกลาง เราจะใช้การผ่าลงแล้วบิด เหมือนเราทานมังคุดปกติ แต่ถ้าภาษามือภาคเหนือกับภาคอีสาน เราจะใช้การผ่า แล้วก็ทำมือเป็นสีม่วง แต่ถ้าเป็นภาคใต้ เวลาเราจะเรียกชื่อมังคุด เราจะนำมือขวามือซ้ายมาประสานกัน” ต้นหลิวอธิบายให้เห็นความแตกต่างของภาษามือไทยในแต่ละท้องถิ่น ที่มีความแตกต่างกันตามวิถีชีวิตของคนหูหนวกในภูมิภาคนั้น ๆ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ล่ามภาษามือทั้ง 202 คนในประเทศต้องเรียนรู้อยู่เสมอ

 

ความแตกต่างและประเภทของล่ามภาษามือกับล่ามภาษาพูด

ต้นหลิวเล่าว่าล่ามภาษามือในไทยยังไม่ได้มีการแบ่งประเภทเหมือนล่ามภาษาอื่น ๆ ที่ต้องมีการสอบวัดระดับ ขอแค่ให้ได้เข้าไปสอบแล้วได้บัตรล่ามภาษามือชุมชน  เพื่อยืนยันว่าผ่านการประเมินมา หากใครมีบัตรล่าม ทุกคนก็ถือว่าเป็นล่ามภาษามือ ดังนั้น การแบ่งประเภทของล่ามภาษามือจึงขึ้นอยู่กับการให้บริการมากกว่า ว่าใครที่มีบัตรล่ามแล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง

งานล่ามภาษามือที่ได้รับค่าตอบแทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท  โดยแต่ละงานก็จะได้ค่าตอบแทนแตกต่างกัน

1.  บริการสาธารณสุขหรือพบแพทย์

2. บริการด้านอาชีพหรือการสมัครงาน

3. บริการด้านการกล่าวทุกข์ร้องโทษ เช่น ไปสถานีตำรวจ หรือไปศาล

4. บริการการประชุมและอบรมสัมมนา

5. บริการสาธารณะ เช่น ทำบัตรประชาชน หรือใบขับขี่ เป็นต้น

โดยงานบริการล่ามภาษามือ ประเภทที่ 1, 2, 3 และ 5 จะได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 300 บาท ส่วนงานบริการประเภทที่ 4 จะได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 600 บาท แต่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ให้ทำไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน

 

เช็กจำนวนล่ามภาษามือในไทย 202 คน อยู่จังหวัดไหนกันบ้าง ?

จากรายงานสรุปข้อมูลการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.ย. 67 พบว่าล่ามภาษามือไทยตอนนี้มี 202 คนทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นล่ามภาษามือหูดี 186 คน, ล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน และล่ามภาษามือหูตึง 2 คน

เช็กข้อมูลล่ามภาษามือไทย อยู่จังหวัดไหนกันบ้าง ?

นอกจากนี้ ยังพบว่าจังหวัดที่มีล่ามภาษามือคอยให้บริการประชาชนมีเพียง 44 จังหวัด (จากทั้งหมด 77 จังหวัด) ส่วนใหญ่กระจุกตัวในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจังหวัดที่มีล่ามภาษามือมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (75 คน) , นครปฐม (21 คน) และนนทบุรี (17 คน)    

โดยจังหวัดที่มีล่ามภาษามือ 1 คน มีทั้งหมด 22 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ตราด, นครนายก, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, สระบุรี, ตาก, น่าน, พะเยา, เพชรบูรณ์, ขอนแก่น, นครพนม, บุรีรัมย์, มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด, สกลนคร, สุรินทร์, หนองบัวลำภู, อุบลราชธานี, พังงา, พัทลุง และ สตูล

จังหวัดที่มีล่ามภาษามือในพื้นที่เพียง 2 คน มีทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ลำพูน และระนอง

จังหวัดที่มีล่ามภาษามือในพื้นที่ 3 คน มีทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ปราจีนบุรี, สมุทรปราการ และสุราษฎร์ธานี

จังหวัดที่มีล่ามภาษามือในพื้นที่ 4 คน มี 2 จังหวัด คือลำปาง และอุดรธานี

จังหวัดที่มีล่ามภาษามือในพื้นที่ 8 คน มี 2 จังหวัด คือ กาญจนบุรี และเชียงใหม่

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งหมด 423,973 คน จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 67 โดยภูมิภาคที่มีคนพิการทางการได้ยินมากที่สุดคือภาคอีสาน (162,456 คน) รองลงมาคือ ภาคกลางและตะวันออก (84,350 คน) ภาคใต้ (55,020 คน) และ กทม. (22,884 คน)  

ที่ผ่านมามันจะมีการเซ็ตซีโร่ โดยให้ทุกคนที่มีบัตรล่ามแล้ว ต้องผ่านการจัดสอบวัดการประเมินคุณภาพล่าม เพราะมีคนหูหนวก ซึ่งเป็นผู้รับบริการ บอกว่าล่ามบางคนแปลยังไม่ได้มาตรฐาน 

เวลาคนหูหนวกเขาทำภาษามือ แล้วเราแปลได้ไม่ถูกต้อง เลยมีข้อเสนอไปที่กรม พก. ให้มีการจัดสอบวัดผลการประเมินให้ผ่านตามมาตรฐาน แล้วก็จะได้บัตรล่ามภาษามือชุมชน” ต้นหลิวกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการสอบประเมินล่ามภาษามือชุมชน

ทางสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย เคยวิเคราะห์ข้อมูลเฉลี่ยความสามารถในการให้บริการด้านภาษามือชุมชนไว้ว่า คนหูหนวก 10 คนต่อล่ามภาษามือ 1 คน ดังนั้น ประเทศไทยควรมีล่ามภาษามือในสัดส่วนที่เหมาะสมประมาณ 42,000 คน

 

ล่ามกระจุก แต่คน (หูหนวก) กระจาย AI ช่วยได้จริงหรือ ?

คุณ A (นามสมมติ) หนึ่งในคนหูหนวกที่เราได้ทำการสัมภาษณ์แชร์ประสบการณ์ว่า ทุกครั้งเวลาที่ต้องไปหาหมอหรือตรวจสุขภาพโดยไม่มีล่ามภาษามือ จะเจอปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่งต่อให้มีเทคโนโลยีหรือ AI เข้ามาช่วย ก็ไม่ทำให้อุ่นใจขึ้น

“มีผลมาก ๆ เวลาที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลคนเดียว แล้วมีการเรียกคิว ถ้าล่ามไม่ได้มาด้วย แต่อยู่ใน Video Call ล่ามไม่ได้ยิน เราก็ไม่รู้ บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่เข้าใจขั้นตอนการให้บริการกับคนหูหนวก ไม่มีคนนำเราไปที่จุดบริการแต่ละจุด ดังนั้น การสื่อสารเวลาอยู่กับล่ามภาษามือตัวจริงเลยชัดเจนกว่า คุยได้เข้าใจมากกว่า”  

ในขณะที่ คุณ T (นามสมมติ) คนหูหนวกอีกคนหนึ่งก็มองว่า การมีล่ามภาษามือทำให้ “กำแพงการสื่อสาร” ระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดีลดลง

“การมีล่ามภาษามือตัวเป็น ๆ ไปหาหมอกับคนหูหนวก ทำให้การสื่อสารง่ายขึ้น เพราะล่ามสามารถแปลภาษาจากหมอให้เราเข้าใจง่ายขึ้น และสามารถแปลอาการของเราให้หมอเข้าใจได้ง่ายขึ้น

แต่คนหูหนวกเวลาไปหาหมอคนเดียว แล้วใช้แอปพลิเคชัน อาจจะเจอผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น บางพื้นที่เป็นจุดอับสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทำให้การใช้งานแอปฯ มีปัญหา บางโรงพยาบาลก็ห้ามใช้หรือห้ามนำโทรศัพท์เข้าไปในห้อง บางครั้งแอปฯ ก็แปลได้ไม่ถูกต้อง ทำให้การรักษาเสี่ยงผิดพลาด”

ซึ่งในมุมมองของต้นหลิวเอง เธอก็มองว่า เทคโนโลยีหรือ AI ยังไม่สามารถแทนล่ามภาษามือตัวเป็น ๆ อย่างเธอได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะขาดองค์ประกอบทางภาษามือ ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าท่าทาง การพลิกหันฝ่ามือ หรือตำแหน่งมือ

“มีเยอะมากเลยค่ะ ทุกวันนี้ เวลาน้อง ๆ นักศึกษาทำโปรเจคจบ บางทีเขาจะทำเป็น AI บ้าง แอปพลิเคชันบ้าง แต่โดยส่วนมากจะเป็นการ์ตูนค่ะ ซึ่งหน้าการ์ตูนก็จะเรียบ คนหูหนวกก็จะให้ความเห็นกลับไปว่า เออ มันเข้าไม่ถึง ไม่มีอารมณ์ เพราะว่าหน้ามันเรียบไปหมดเลย คือมันไม่ใช่ภาษามือ ภาษามือจะต้องประกอบไปด้วยสีหน้าท่าทาง หรือการพลิกหันฝ่ามือ เพียงแค่เราหลุดไปนิดเดียว คำหรือความหมายมันก็เปลี่ยน ซึ่ง AI ยังเก็บข้อมูลตรงนี้โดยละเอียดไม่ได้” ต้นหลิวกล่าว

 

นานามิติชีวิตของล่ามภาษามือ ซึ่งคนภายนอกไม่เข้าใจ

แน่นอนว่าการขาดแคลนล่าม หรือล่ามกระจุกตัวเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนหูหนวกไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพหรือบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ได้ โดยต้นหลิวมองว่าสาเหตุที่ทำให้ล่ามภาษามือไม่สามารถกระจายไปในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ อาจเป็นเพราะตำแหน่งงานที่อยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ และสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม

“คนหูหนวกที่อยู่กรุงเทพ ฯ จะได้ล่ามแน่นอน ที่จะไปบริการ เพราะว่าล่ามมีเยอะ แต่พอเป็นคนต่างจังหวัด สมมติว่าล่ามอยู่สงขลา แล้วล่ามต้องไปให้บริการที่ยะลา ปัตตานี หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลิวมองว่ามันไม่คุ้มค่า มันไม่คุ้มที่ล่ามเขาจะต้องเดินทางไป มันมีอะไรอีกเยอะ ทั้งระยะทาง ทั้งความปลอดภัย ซึ่งมันไม่ได้มีใครมาการันตี หรือรับรองดูแลเรา

ส่วนใหญ่ล่ามที่มีสังกัด ซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่าง ๆ พวกบริษัทก็อาจจะมีประกันสังคมให้เขา แต่ถ้าเป็นล่ามฟรีแลนซ์ก็คือต้องดูแลตัวเอง ไม่มีอะไรที่รองรับเขาได้เลย”

อีกหนึ่งปัญหาที่ล่ามภาษามือและคนหูหนวกพบเจอกันบ่อย คือความเข้าใจผิดจากคนที่ไม่ใช่ล่ามภาษามือจริง ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่พอจะมีความรู้เรื่องภาษามืออยู่บ้าง แต่แปลความหมายคลาดเคลื่อนจากสารตั้งต้นไปไกลโข

“บางครั้งมันก็ส่งผลถึงการจ้างงานล่ามภาษามืออยู่เหมือนกัน เพราะบริษัทอื่น ๆ เขามองเข้ามาแล้วเห็นคนใช้ภาษามือ เขาก็ไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด เขาไม่รู้ว่าคนที่ทำมือได้ไม่ใช่ล่าม เดี๋ยวนี้เขาจะชอบเช็กจากยอดผู้ติดตาม แต่ปรากฎว่าแปลออกมาแล้วคนหูหนวก ซึ่งถือเป็นผู้รับบริการไม่เข้าใจ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือบัตรล่ามภาษามือ” ต้นหลิวกล่าวทิ้งท้าย

 

การแก้ปัญหาล่ามภาษามือขาดแคลน-กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ควรแก้ไขอย่างไร ?

หากมองภาพให้เป็นภาพใหญ่ในระดับประเทศ ต้นหลิวมองว่าการให้บริการของรัฐ อาจจะต้องกระจายตำแหน่งงานไปที่ต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น

ถ้าสามารถทำได้ หลิวอยากให้มีล่ามภาษามือจังหวัดละ 1 คน เป็นการนำร่อง อย่างน้อยเวลาคนหูหนวกมีปัญหา หรืออยากใช้บริการล่าม เขาจะได้ติดต่อไปที่ พมจ. จังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐได้

อย่างน้อยถ้ามันมีงานหรืออะไรที่การันตีว่าต่างจังหวัดมีงานแน่ ๆ หลิวคิดว่าล่ามที่เขาไม่มีสังกัดหรือเป็นล่ามฟรีแลนซ์ เขาอาจจะลงไปรับงานในส่วนของจังหวัดได้ง่ายขึ้น”

ในขณะที่พี่เจี๊ยบ ในฐานะผู้ที่สวมหมวก 2 ใบ ทั้งหมวกของล่ามภาษามือไทยมืออาชีพ และหมวกของบุคลากรทางการศึกษา ก็มองว่าอาชีพล่ามภาษามือยังต้องการความมั่นคงในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกัน

พี่เชื่อว่า คนหนึ่งคนจะประกอบอาชีพอะไร มันต้องมีความมั่นคง ถ้าเรามั่นใจว่าวิชาชีพไหนมีความมั่นคง คนทุกคนจะต้องการทำสิ่งนั้น

“เราจะเห็นได้ว่า ช่วงไหนเปิดสอบบรรจุ คนจะกรูไปสมัครกันเป็นพัน ๆ คนเลย ทั้งที่รับไม่กี่ร้อย นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าทุกคนเข้าหาความมั่นคง ถ้าวิชาชีพล่ามภาษามือมั่นคง เชื่อว่าอะไร ๆ มันจะดีขึ้นกว่านี้”

 


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง 

*สรุปข้อมูลการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.ย. 67)

**ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

23 กันยายน วันภาษามือโลกวันภาษามือโลกบริการภาษามือภาษามือBig Sign
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ผู้อุทิศชีวิตให้ชานมไข่มุกหวาน 100%

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด