Thai PBS On This Day | กันยายน 2567


วันสำคัญ

12 ก.ย. 67

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
แชร์

Thai PBS On This Day | กันยายน 2567

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1589

Thai PBS On This Day | กันยายน 2567
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนกันยายน 2567

1 กันยายน : วันยกย่องแมวส้ม (Ginger Cat Appreciation Day)

“แมวส้ม” เจ้าเหมียวยอดนิยมกับสีขนที่ดูคล้าย “ขิง” จนเป็นที่มาของชื่อเรียก “Ginger Cat” นี้ ทำให้เราแปลกใจได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนิสัยสุดอินดี้ ความซนระดับตัวท็อป หรือเจ้าของอันดับที่สองรองจาก “แมวดำ” ที่ครองสถิติถูกทิ้งมากที่สุด

“คริส รอย (Chris Roy)” ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชาวอเมริกัน ที่ผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ จากเหตุการณ์ในปี 2540 ซึ่งเขาได้ให้ความช่วยเหลือ “ดูเบิร์ต (Doobert)” แมวจรสีส้มที่เข้ามาเติมเต็มหัวใจของเขาให้กลายเป็นทาสแมวยาวนานกว่า 17 ปี

ในปี 2557 เมื่อ “ดูเบิร์ต (Doobert)” เดินทางกลับดาวแมว เขาได้ก่อตั้งให้วันที่ 1 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันยกย่องแมวส้ม (Ginger Cat Appreciation Day)” และเปิดตัว “Doobert” แอปพลิเคชันออนไลน์ที่เชื่อมโยงบ้านกู้ภัยและศูนย์พักพิงสัตว์กับอาสาสมัครทั่วโลก เพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลเจ้าเหมียวเพื่อนซี้ของเรา

นอกจาก “แมวส้ม” เพื่อนแสนขี้อ้อนที่เราเลี้ยงในบ้านแล้ว วันนี้ยังถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึง “แมวจร” ทั้งในด้านความเป็นอยู่และสวัสดิภาพสัตว์ เพราะทุกชีวิตก็มีจิตใจเหมือนกันนะ

1 กันยายน : วันสืบ นาคะเสถียร

“สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตัดสินใจอัตวินิบาตกรรม ด้วยการยิงตัวตายในบ้านพักที่เขตฯ ในวันที่ 1 กันยายน 2533 เพื่อเรียกร้องให้คนในสังคมหันมาสนใจปัญหาการทำลายป่าและสัตว์ป่า

การจากไปของ “สืบ นาคะเสถียร” ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคมเพราะเขาเป็นบุคคลสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย เขาต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือสัตว์ป่า โดยไม่คำนึงถึงภัยอันตรายใด ๆ

ภายหลังการเสียชีวิตของ “สืบ นาคะเสถียร” ขบวนการสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยตื่นตัวขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันได้ก่อตั้ง “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป

3 กันยายน : วันเกิด “โดราเอมอน (ドラえもん)”

“โดราเอมอน (ドラえもん - Doraemon)” เจ้าหุ่นยนต์แมวสีฟ้าจากโลกอนาคตในคริสต์ศตวรรษที่ 22 ที่เรารู้จักกันดี เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2112 หรือ พ.ศ. 2655 ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

แต่เจอกันเมื่อไร “โดราเอมอน (ドラえもん - Doraemon)” ก็มาพร้อมกับของวิเศษมากมายไว้คอยช่วยเหลือโนบิตะและเพื่อน ๆ อยู่เสมอ ซึ่งนอกจากโนบิตะแล้ว เจ้าหุ่นยนต์แมวสีฟ้าตัวนี้ยังเป็นเพื่อนรักของใครหลายคนทั่วโลกอีกด้วย

โดยคุณพ่อผู้ให้กำเนิด “โดราเอมอน (ドラえもん - Doraemon)” ก็คือนักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงอย่าง “ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ” หรือที่เรารู้จักเขาในนามปากกา “ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (Fujiko F. Fujio - 藤子・F・不二雄)” เจ้าเดียวกับผู้สร้าง “ปาร์แมน (パーマン)” นั่นเอง

3 กันยายน 2544 : “จรัล มโนเพ็ชร” เจ้าของฉายา “ราชาโฟล์คซองคำเมือง” เสียชีวิต

“จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินเมืองเหนือ เจ้าของฉายา “ราชาโฟล์คซองคำเมือง” เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2494 ย่านประตูเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของ “สิงห์แก้ว มโนเพ็ชร” ข้าราชการแขวงการทาง กับ “เจ้าต่อมคำ มโนเพ็ชร” เชื้อสายของราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เขาจึงเติบโตท่ามกลางสังคมล้านนาที่ยังเป็นชุมชนและมีวัฒนธรรมสูง

เขาชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยมักฟังเพลงจากรายการวิทยุและนำมาหัดเล่นกีตาร์ โดยเฉพาะเพลงโฟล์ค คันทรีและบลูส์ ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น จนสามารถเล่นกีตาร์ร้องเพลงตามร้านอาหารในเชียงใหม่ได้

หลังจากเรียนจบ เขาก็เริ่มทำงาน แต่ยังคงร้องเพลงและเล่นดนตรีควบคู่มาตลอด ทั้งยังได้แต่งเพลงไว้หลายเพลง โดยนำดนตรีเพลงโฟล์ค คันทรีและบลูส์ มาใส่เนื้อร้องภาษาคำเมือง ผสมผสานเสียงดนตรีพื้นเมืองอย่างสะล้อ ซอ ซึงเข้าไปด้วย เนื้อหาจะพูดถึงชีวิตของชาวล้านนา กลายเป็นดนตรีโฟล์คแบบใหม่ที่ผสมผสานดนตรีตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว เรียกว่า “โฟล์คซองคำเมือง”

ในปี 2520 เพลงของเขาถูกนำไปเผยแพร่ทางวิทยุเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากนั้นก็ออกผลงานเพลงตามมาอีกหลายอัลบั้ม อีกทั้งยังได้สร้างศิลปินเอาไว้อีกหลายคน อาทิศิลปินที่เรารู้จักกันดีอย่าง “สุนทรี เวชานนท์”

“จรัล มโนเพ็ชร” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ที่จังหวัดลำพูน ขณะมีอายุได้ 50 ปี

5 กันยายน : วันการกุศลสากล (International Day of Charity)

“องค์การสหประชาชาติ (The United Nations)” ได้เลือกวันที่ 5 กันยายน ของทุกปี ให้เป็น “วันการกุศลสากล (International Day of Charity)” เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ “แม่ชีเทเรซา (Mother Teresa of Calcutta)” ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2540

“แม่ชีเทเรซา (Mother Teresa of Calcutta)” เป็นนักบวชหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งท่านได้อุทิศตนและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ช่วยเหลือและผู้ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ ทั้งในประเทศที่ยากจนและประเทศที่ร่ำรวย

8 กันยายน : วันการเรียนรู้หนังสือสากล (International Literacy Day)

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันการเรียนรู้หนังสือสากล (International Literacy Day)” เพื่อเน้นความสำคัญของการรู้หนังสือแก่ปัจเจกชน ชุมชนและสังคม

8 กันยายน 2479 : เปิดใช้ “ถนนสุขุมวิท” เป็นครั้งแรก

“ถนนสุขุมวิท” เป็นทางหลวงหมายเลข 3 (กรุงเทพ - ตราด) เริ่มตั้งแต่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด เปิดใช้งานเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2479

แต่เดิมถนนนี้มีชื่อว่า “ถนนกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ” เนื่องด้วยมีช่วงถนนไปสิ้นสุดที่ตัวเมืองสมุทรปราการ ต่อมา “พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม)” อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 5 (คนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา) เป็นผู้ริเริ่มจัดทำแผนงานสร้างทางหลวงขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรกคือ “โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย” และได้ทุ่มเทในการก่อสร้างทางหลวงสายสำคัญของประเทศ

โครงการนี้ถือเป็นแม่บทในการวางแผนการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงไปทั่วประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2493 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีมติให้ใช้ชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ - ตราด ว่า “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นเกียรติแก่ “พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม)”

8 กันยายน 2482 : มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมเรื่อง “การเคารพธงชาติ”

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2482 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อให้คนไทยยืดถือและเป็นหลักปฏิบัติ คือเมื่อได้เห็นธงชาติขึ้น-ลง จากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยว หรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือได้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดธงลง เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญมา หรือเมื่อได้ยินเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการ ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธี งานสโมสรอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในโรงมโหรสพ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม การแสดงความเคารพธงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ได้ปฏิบัติสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

9 กันยายน : วันหมีเท็ดดี้ (Teddy Bear Day)

ทุกคนมีของเล่นชิ้นโปรดใช่ไหม ? ลองทบทวนดูดี ๆ ว่าใช่ “ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ (Teddy Bear)” หรือเปล่า ? นี่คือของเล่นที่ช่วยปลอบโยนทุกคน แม้ว่าวัยเด็กจะผ่านไปแล้วก็ตาม เจ้าหมีขนปุกปุยสีน้ำตาลสุดที่รักของหลายคน มีวันเฉลิมฉลองของตัวเอง ซึ่งมีที่มาที่ไปเกี่ยวข้องกับอดีตประธานธิบดีของสหรัฐอเมริกาด้วย

“ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ (Teddy Bear)” ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2445 “ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)” ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา ได้ไปร่วมการล่าสัตว์ ใกล้เมืองออนเวิร์ด (Onward) รัฐมิสซิสซิปปี (Mississippi) โดยคำเชิญของ “แอนดรูว์ เอช. ลองกิโน (Andrew H. Longino)” ผู้ว่าการรัฐในขณะนั้น

ที่นั่น “ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)” ได้แสดงให้คณะผู้ร่วมเดินทางเห็นว่า แม้จะมีผู้เตรียมสถานที่ให้เขาสังหารหมีได้โดยง่าย ด้วยการมัดกับต้นไม้ แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะเขาคิดว่ามันไม่มีน้ำใจนักกีฬาเลย ในไม่ช้าคำพูดนี้ก็แพร่สะพัดไปทั่วประเทศผ่านเรื่องราวในหนังสือพิมพ์

ต่อมาในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2445 “คลิฟฟอร์ด เบอร์รี่แมน (Clifford Berryman)” นักเขียนการ์ตูนการเมือง ได้วาดการ์ตูนถ่ายทอดเรื่องราวนี้ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ Washington Post ทำให้สองสามีภรรยา “มอร์ริส และ โรส มิชทอม (Morris and Rose Michtom)” ชาวเมืองบรูคลิน (Brooklyn) ตัดสินใจผลิต “ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ (Teddy Bear)” หลังจากได้รับการอนุญาตให้ใช้ชื่อเล่นของ “ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)” เพื่อยกย่องการกระทำของเขา นับแต่นั้น “ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ (Teddy Bear)” จึงครองใจผู้คนไปทั่วโลก

9 กันยายน 2519 : “เหมา เจ๋อตง” ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแก่อสัญกรรม

“เหมา เจ๋อตง (Mao Tse-tung)” หรือ “ประธานเหมา” ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานพรรคคอมมิวนิสต์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2436 ในครอบครัวชาวนาที่มณฑลหูหนัน จบการศึกษาจากวิทยาลัยฝึกหัดครู แล้วเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ได้ถูกปราบปรามโดย “นายพล เจียง ไคเชก (Chiang Kai-shek)”

ต่อมาเขาได้นำกองทัพปลดแอกและประชาชนจีน ทำสงครามกับฝ่ายเจียงไคเชกจนได้รับชัยชนะ และสามารถยึดประเทศจีนคืนได้ทั้งประเทศ จึงได้ประกาศตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน (The Republic of China)” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2492 ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน (The Tiananmen Square)

เขาเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้รวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เป็นผู้ปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญระดับโลกแห่งศตวรรษที่ 20

“เหมา เจ๋อตง (Mao Tse-tung)” ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2519 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะมีอายุได้ 83 ปี

10 กันยายน : วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day)

“องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)” ได้กำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day)” โดยคาดว่าในปีหนึ่ง จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 114 คน หรือนาทีละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ในประเทศไทยเฉลี่ยปีละกว่า 5 พันคน หรือวันละ 13 คน

การฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คนรอบข้าง เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง สามี ภรรยา และเพื่อน ๆ ตลอดจนมีผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล องค์การอนามัยโลกยังพบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15 - 35 ปี โดยผู้ชายจะฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า (ยกเว้นในประเทศจีน)

สาเหตุของการฆ่าตัวตายมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากความเครียด ความรู้สึกที่อัดแน่นท่วมท้นอยู่ในใจ ซึ่งมักเกิดจากความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวังจนไม่มีใครช่วยได้ รวมไปถึงความรู้สึกวิตกกังวล รู้สึกผิด ความโกรธ ความกลัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตาย

“อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus)” นักเขียนรางวัลโนเบล ได้เคยกล่าวไว้ให้คิดว่า “การดำรงชีวิตอยู่ จำเป็นจะต้องอาศัยความกล้า มากกว่าการฆ่าตัวตายเสียอีก”

11 กันยายน 2544 : เกิดเหตุการณ์ “9/11” วินาศกรรม 11 กันยายน

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เกิดเหตุการณ์ “วินาศกรรม 11 กันยายน” หรือ “9/11” โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ลำแรกเป็นเครื่องบินพานิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 1 (1 World Trade Center) ในเวลา 8.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมา เครื่องบินลำที่ 2 คือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 2 (2 World Trade Center) ตึกแฝดสัญลักษณ์กลางมหานครนิวยอร์ก

จากนั้นเวลาประมาณ 9.40 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึกเพนตากอน (Pentagon) ที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเวลา 10.37 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก็ตกในทุ่งที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย โดยมีการคาดการณ์ว่า ผู้ก่อการร้ายต้องการนำเครื่องบินพุ่งชนอาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

จากเหตุการณ์นี้ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน โดยเป็นผู้โดยสาร ลูกเรือ รวมทั้งสลัดอากาศบนเครื่องบิน ทั้งหมด 246 คน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มอีก 2,602 คน รวมไปถึงนักผจญเพลิง 343 คน และตำรวจอีก 60 คน ทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 24 คน

“จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush)” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ได้ออกมาแถลงการณ์ตอบโต้ พร้อมทั้งทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเกือบ 5,000 คน เพื่อแกะรอยผู้ต้องสงสัยทั่วประเทศ ได้ตัวผู้ต้องสงสัยชาวอาหรับจำนวน 19 คน โดยมี “โอซามา บินลาเดน (Osama Binladen)” ผู้นำกลุ่มก่อการร้าย “อัล-ไคดา (al-Qaeda)” หรืออัลกออิดะห์ เป็นเบอร์หนึ่ง

สหรัฐอเมริกาได้ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (The War on Terrorism) เป็นการเริ่มสงครามครั้งแรกแห่งศตวรรษที่ 21 โดยการส่งกองกำลังเข้าโจมตีอัฟกานิสถานซึ่งเป็นแหล่งพำนักของบินลาเดน และโค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบินลาเดน โดยในที่สุด “โอซามา บินลาเดน (Osama Binladen)” ก็ถูกสังหารที่ปากีสถาน เมื่อปี 2554 และกองทัพสหรัฐอเมริกาก็ได้ถอนกำลังทั้งหมดในอัฟกานิสถาน หลังไปประจำอยู่เกือบ 20 ปี

เหตุการณ์ “9/11” ทำให้สหรัฐอเมริกาใช้เวลากว่า 8 เดือน ในการ “กราวด์ ซีโร (Ground Zero)” จัดการซากปรักหักพังที่ตึกแฝดจุดเกิดเหตุ พร้อมปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยบนเครื่องบิน โดยตั้งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่ง (Transportation Security Administration : TSA) ขึ้นมา เพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยทั้งในสนามบินและบนเครื่องบิน

14 กันยายน : วันบุรฉัตร

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน” ประสูติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2424 ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด (กัลยาณมิตร) มีพระนามเดิมว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร” ทรงเป็นต้นราชสกุล “ฉัตรชัย”

ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จากนั้นเสด็จไปศึกษาที่ยุโรป ทรงสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่ ตรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ทรงศึกษาวิชาทหารช่างที่ฝรั่งเศส และทรงศึกษาการสร้างทำนบและขุดคลองที่เนเธอร์แลนด์

ในปี 2447 เสด็จนิวัติพระนคร ทรงเข้ารับราชการทหาร ที่เหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการทหารบก ในปี 2451 ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรก ทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารแผนใหม่ โดยนำความรู้วิชาการทหารแผนใหม่จากตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารในประเทศไทย

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน เรียกว่า “กรมรถไฟหลวง” จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ในปี 2460 ทรงนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้เป็นประเทศแรกในเอเชีย ทรงขยายเส้นทางเดินรถไฟสายต่าง ๆ ทรงได้รับสมญานามว่า “พระบิดาแห่งรถไฟไทย”

นอกจากนี้ ทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ ทรงเป็นผู้นำเครื่องจักรมาสำรวจขุดเจาะน้ำมันและถ่านหิน ทรงตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในปี 2473 อีกทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน” สิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระทัยวาย เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2479 ที่สิงค์โปร์ สิริพระชนมายุ 55 พรรษา

ด้วยพระเกียรติคุณนานับประการ ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 14 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันบุรฉัตร” และภายหลังเมื่อมีการตัดถนนในพื้นที่ของการรถไฟ เพื่อเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดี ในปี 2521 รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามว่า “ถนนกำแพงเพชร” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์

15 กันยายน : วันศิลป์ พีระศรี

“ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย ผู้วางรากฐานศิลปากร เจ้าของวาทะ “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น (Ars longa, Vita brevis)” เดิมชื่อ “คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci)” เป็นชาวอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2435 ในเขตซานโจวานนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

ศาสตราจารย์คอร์ราโด รับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2466 ขณะมีอายุได้ 32 ปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี 2469

ในปี 2485 อธิบดีกรมศิลปากรดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะ “โรงเรียนศิลปากร” ขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2486 โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโด ก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะ ควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย ทำให้ท่านถือเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2485) ประเทศอิตาลี ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาลีในประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของญี่ปุ่น รัฐบาลไทยขอควบคุมตัวศาสตราจารย์คอร์ราโด เอาไว้เอง เพื่อคุ้มครองท่านและไม่ให้เป็นเชลยศึก โดยได้มีการดำเนินขอโอนสัญชาติจากสัญชาติอิตาลีมาเป็นสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อจาก “คอร์ราโด เฟโรชี” มาเป็น “ศิลป์ พีระศรี” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่านได้อุทิศชีวิตให้กับวงการศิลปะไทย และเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น

  • อนุสาวรีย์ปฐมบรมราชานุสรณ์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เชิงสะพานพุทธฯ กทม.
  • อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา
  • อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กทม.
  • พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี กทม.
  • อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม.
  • พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล จ.นครปฐม

“ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวหลังจากการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ ณ โรงพยาบาลศิริราช ขณะมีอายุได้ 70 ปี

16 กันยายน : วันโอโซนโลก (World Ozone Day)

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2530 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้ประกาศให้วันที่ 16 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันโอโซนโลก (World Ozone Day)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศปฏิบัติต่อ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)” เพื่อช่วยกันลดการใช้สาร CFC และสาร Halon ซึ่งเป็นตัวทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ

17 กันยายน 2567 : วันไหว้พระจันทร์

“วันไหว้พระจันทร์” เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง คืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุดและเต็มดวงที่สุด เป็นสื่อกลางของการคิดถึงกันและกัน เมื่อคนในครอบครัวจากบ้านเกิดไปไกล ถ้าคิดถึงครอบครัว ก็ให้แหงนมองดวงจันทร์เพื่อส่งความรู้สึกที่ดีถึงกัน ซึ่ง “วันไหว้พระจันทร์” ในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 กันยายน 2567

ที่มาของตำนานวันไหว้พระจันทร์ ถูกกล่าวขานในหลายที่มาด้วยกัน ทั้งในด้านของประวัติศาสตร์จีนในยุคที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่จากชาวมองโกล (ราชวงศ์หยวน) ชาวฮั่นได้ก่อกบฏ ด้วยการแอบส่งสาสน์บอกต่อ ๆ กันในไส้ขนม นำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน หรือในด้านตำนานเทพปกรณัมจีน ที่เล่าถึง “ฉางเอ๋อ (嫦娥)” เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ หญิงคนรักของ “โฮวอี้” นักยิงธนูแห่งสวรรค์ ที่กระทำความผิดจนต้องรับโทษ

สิ่งที่ขาดไม่ได้ใน “วันไหว้พระจันทร์” คือ “ขนมไหว้พระจันทร์” สำหรับไหว้แสดงความเคารพพระจันทร์ ลักษณะของขนมจะมีทรงกลมคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด แล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่าง ๆ จากนั้นนำไปอบและเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม ภายในใส่ไส้ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธัญพืช เช่น ทุเรียน เม็ดบัว แมคคาเดเมีย พุทราจีน เป็นต้น

19 กันยายน : วันพิพิธภัณฑ์ไทย

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของสยามคือ “มิวเซียมหลวง (Royal Museum)” ให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ “หอคองคอเดีย” หรือ “ศาลาสหทัยสมาคม” ในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก สิ่งของที่นำมาแสดง มีทั้งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้ มีทั้งสัตว์สตาฟ เครื่องอาวุธโบราณ เครื่องทรง และสิ่งของส่วนพระมหากษัตริย์

“มิวเซียมหลวง (Royal Museum)” เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก ในการเฉลิมพระชนมายุครบ 21 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี 2430 ทรงย้ายมิวเซียมหลวงไปตั้งอยู่ที่ “พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)” ซึ่งเป็นบริเวณของ “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร” ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ในปี 2538 คณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”

ทั้งนี้ กิจการพิพิธภัณฑ์ของสยาม เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยทรงริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่ “พระที่นั่งราชฤดี” แล้วทรงย้ายไปที่ “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้เมื่อครั้งทรงผนวช และเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศ แต่ยังมิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม

19 กันยายน 2549 : เกิดเหตุการณ์ “รัฐประหาร 2549”

ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะทหารในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)” ซึ่งมี “พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

คปค. ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจว่า มีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงองค์กรอิสระ การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ

“รัฐประหาร 2549” นับเป็นครั้งที่ 12 ของไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และไร้การสูญเสียเลือดเนื้อ ทั้งนี้ข่าวลือเรื่องทหารเตรียมการยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ถึงตอนบ่ายกำลังทหารจากต่างจังหวัดก็เคลื่อนกำลังเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ในตอนค่ำกำลังพลติดอาวุธพร้อมรถถัง ฮัมวี่และยีเอ็มซี ก็บุกเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์และตรึงกำลังอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ในเวลา 22.00 น. พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ชิงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. สั่งปลด พล.อ. สนธิ แต่ยังประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณและออกประกาศการเข้ายึดอำนาจ จากนั้นก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับต่าง ๆ ออกมา อาทิ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยให้ “พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้น คปค. ก็ถอยไปอยู่ในฐานะ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” คอยดูแลรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศและเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2550

“รัฐประหาร 2549” ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติถึงจุดวิกฤตแล้ว รัฐประหารคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ารัฐประหารครั้งนี้ เป็นการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยไทย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด และนับเป็นการสูญเสียประชาธิปไตยอีกครั้งในรอบ 15 ปี หลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535

20 กันยายน : วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงเมื่อครั้งที่ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงเสด็จประพาสทางเรือ จากท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงประตูท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5 - 6 ชั่วโมง

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งวันนี้ คือสนับสนุนการรณรงค์รักษาแหล่งน้ำของประเทศไทย โดยมีคลองแสนแสบเป็นตัวอย่างแห่งการพลิกฟื้นสภาพ จากคลองเน่าเหม็นที่เต็มไปด้วยผักตบชวาให้มีสภาพที่ดีขึ้น ให้ชาวไทยร่วมกันตระหนักว่า แม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนคูคลองต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทและความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีต ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตร การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในบริเวณที่ราบลุ่ม และการนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในบ้านเรือน ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งคลอง รวมทั้งในเขตเมืองและชุมชนใหญ่ ๆ ที่ยังต้องอาศัยแหล่งน้ำจากลำคลองมาเป็นส่วนหนึ่งในการบริโภคด้วย

20 กันยายน : วันเยาวชนแห่งชาติ

“องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 คณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์

21 กันยายน : วันสันติภาพสากล (International Day of Peace)

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2529 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้ประกาศให้วันที่ 21 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันสันติภาพสากล (International Day of Peace)” เพื่อขอให้ประชาชนทุกประเทศหยุดยิง หยุดใช้ความรุนแรงทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังได้เชิญประเทศสมาชิก หน่วยงานสหประชาชาติ ชุมชน และองค์กรอิสระ ให้เฉลิมฉลองและร่วมมือกันสร้างสันติภาพทั่วโลกอีกด้วย

21 กันยายน : วันประมงแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 ได้มีมติคณะรัฐมนตรี กําหนดให้เปลี่ยน “วันประมงแห่งชาติ” จากเดิมคือวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่แหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเพื่อเป็นการรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ได้มีพระบรมราชโองการ ในวันที่ 21 กันยายน 2469 ให้เป็นวันสถาปนากรมรักษาสัตว์น้ำ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประมง) อีกด้วย

22 กันยายน : วันแรดโลก (World Rhino Day)

“วันแรดโลก (World Rhino Day)” เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้อนุรักษ์และตระหนักถึงการลดจำนวนลงของ “แรด (Rhino)” สัตว์เลือดอุ่นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากช้าง

สาเหตุหลักของการที่ประชากร “แรด (Rhino)” ลดลง มาจากการลักลอบล่าของมนุษย์ ซึ่งมีความต้องการที่จะนำนอของแรดไปขายในรูปแบบของเครื่องประดับต่าง ๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อแบบผิด ๆ เพราะแท้จริงเเล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้น ไม่ต่างอะไรกับเส้นผมของคนเลย

22 กันยายน : วันปลอดรถโลก (World Car Free Day)

“วันปลอดรถโลก (World Car Free Day)” เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปี 2513 ช่วงวิกฤตน้ำมัน ต่อมาช่วงต้นปี 2533 ได้เริ่มมีการจัดงานวันปลอดรถนานาชาติตามเมืองต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่งเป็นโครงการนำร่องสำหรับการรณรงค์ “อยู่ในเมืองโดยไม่ใช้รถ” ของสหภาพยุโรป ซึ่งโครงการรณรงค์นี้ได้ถูกพัฒนาไปเป็นสัปดาห์แห่งการเคลื่อนไหวร่างกายในยุโรป

ต่อมาในปี 2543 นิตยสาร Car Busters ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเครือข่ายปลอดรถโลก ได้ประกาศเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “วันปลอดรถโลก (World Car Free Day)” เกิดเป็นความร่วมมือขององค์กรมากกว่า 50 องค์กรในประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้รถขนส่งมวลชนและรถจักรยานเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นการลดปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง ปัญหาการจราจร ลดการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนลดการใช้พลังงานอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย “วันปลอดรถโลก (World Car Free Day)” ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 22 กันยายน 2546 ภายใต้ชื่องาน “22 กันยายน จอดรถไว้บ้าน ลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษ”

22 กันยายน 2431 : เปิดบริการ “รถราง” เป็นครั้งแรกของไทยและเอเชีย

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2431 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มมีการเปิดบริการ “รถราง” เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและครั้งแรกของเอเชียด้วย ทั้งนี้ยังถือว่าประเทศไทยมีรถรางไฟฟ้าวิ่งก่อนหน้าประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายเมืองในยุโรป โดยขณะนั้นยังใช้ม้า 8 ตัว แยกเป็น 2 พวง พวงละ 4 ตัว ลากรถให้วิ่งไปตามราง ต่อมาในปี 2437 จึงเปลี่ยนเป็นใช้กำลังไฟฟ้าแทน

23 กันยายน : วันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages)

เมื่อปี 2494 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 23 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages)” เพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมในการสื่อสารของกลุ่มคนพิการ ตระหนักถึงสิทธิ ความเท่าเทียม และการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการใช้ภาษามือเพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน

23 กันยายน 2389 : มีการค้นพบ “ดาวเนปจูน”

“ดาวเนปจูน (Neptune)” หรือ “ดาวเกตุ” ดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ในระบบสุริยะจักรวาล ถูกค้นพบโดย “โจฮันน์ จี. กาลเล (Johann G. Galle)” นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันแห่งหอดูดาวเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2389 ซึ่งก่อนหน้านั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อย่าง “เออเบน เลอแวริเยร์ (Urbain Le Verrier)” ได้คำนวณเอาไว้ว่า จะต้องมีดาวเคราะห์หนึ่งดวงที่กำลังรบกวนการโคจรของดาวยูเรนัส

“ดาวเนปจูน (Neptune)” มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจากดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวยูเรนัส อยู่ที่ 50,538 กิโลเมตร มีมวล 17.2 เท่า รองเป็นลำดับที่ 3 จากมวลของโลก ตัวดาวมีสีน้ำเงิน ใช้เวลาหมุนครบรอบตัวเอง 16 ชั่วโมง มีองค์ประกอบหลักของบรรยากาศบริเวณผิวนอกเป็นก๊าซไฮโดรเจน ฮีเลียม และมีเทน ในชั้นบรรยากาศมีกระแสลมที่รุนแรงมากคือ 2,500 กม. / ชม. อุณหภูมิพื้นผิวประมาณ -220 องศาเซลเซียส เนื่องจากอยู่ไกลดวงอาทิตย์มาก แต่แกนกลางภายในของดาวเนปจูน ประกอบด้วยหินและก๊าซร้อนประมาณ 7,000 องศาเซลเซียส

ที่มาของชื่อ “เนปจูน (Neptune)” นั้น ตั้งตามชื่อเทพเจ้าแห่งท้องทะเลของโรมันเหนือ อีกทั้งยังมีดวงจันทร์บริวาร 8 หรือ 14 ดวง ซึ่งดวงที่ใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า “ไทรทัน” และดวงที่เล็กที่สุดมีชื่อว่า “S/2004 N 1”

การเดินทางไปยัง “ดาวเนปจูน (Neptune)” ในประวัติศาสตร์นั้น มีเพียง “ยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2)” ที่เป็นยานอวกาศจากโลกเพียงแค่ลำเดียวเท่านั้นที่ไปถึงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2532 โดยภาพที่บันทึกได้เป็นลักษณะของดาวที่เห็นเป็นจุดดำใหญ่ คล้ายกับจุดแดงใหญ่ของดาวพฤหัส อยู่ค่อนมาทางซีกใต้ของดาว และมีวงแหวนบาง ๆ สีเข้มล้อมอยู่โดยรอบ ซึ่งวงแหวนของดาวนี้ค้นพบโดย “เอ็ดเวิร์ด กิแนน (Edward Guinan)” นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ

23 กันยายน 2482 : “ซิกมุนด์ ฟรอยด์” บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เสียชีวิต

“ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Schlomo Freud)” แพทย์และนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2399 เมือง Příbor สาธารณรัฐเช็ก (เดิมอยู่ภายใต้จักรวรรดิออสเตรีย)

เขาสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ในปี 2416 - 2424 ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนา (University of Vienna) สาขาวิทยาศาสตร์ แล้วศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ ด้านโรคทางสมองและประสาท ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัมพาต ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้เขาได้ค้นพบว่า ความจริงแล้วคนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาต เนื่องจากภาวะทางจิตใจ ไม่ใช่เพราะร่างกาย

จากการที่เขาได้พบคนไข้อัมพาต เนื่องจากปัญหาทางจิตใจเป็นจำนวนหลายราย เขาจึงใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) คือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัว และพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้น เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ทำให้มีผู้ป่วยหลายรายหายจากการอัมพาต การรักษาด้วยวิธีนี้ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในปี 2473

เขาเป็นทั้งแพทย์และนักจิตวิทยา ผู้บุกเบิกการศึกษาทางด้านจิตวิทยา เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 โดยทฤษฎีต่าง ๆ ที่เขาค้นพบ ยังคงถูกนำมาใช้รักษาโรคทางจิตในปัจจุบันด้วย เช่น ทฤษฎีบุคลิกภาพแบบจิตวิเคราะห์ ซึ่งกล่าวว่า พลังจิตใต้สำนึกมีผลต่อพฤติกรรมของแต่ละบุคคล และจำแนกบุคคลให้แตกต่างกัน

ทฤษฎีที่มีชื่อเสียงของเขา มี 2 ทฤษฎี

  • ระดับจิต 3 ระดับ คือ “จิตสำนึก หรือ จิตรู้สำนึก (Conscious Mind)” หมายถึง ภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ ได้แก่ การแสดพฤติกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง | “จิตกึ่งสำนึก (Subconscious Mind)” หมายถึง ภาวะจิตที่ระลึกถึงได้ เป็นส่วนของจิตใจที่มิได้แสดงออกเป็นพฤติกรรม | “จิตไร้สำนึก หรือ จิตใต้สำนึก (Unconscious Mind)” หมายถึง ภาวะจิตที่ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัว ระลึกถึงไม่ได้
  • โครงสร้างทางจิต 3 ส่วน คือ “อิด (Id)” คือ จิตไร้สำนึก หรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ขัดเกลา | “อีโก้ (Ego)” คือ จิตสำนึกหรือเหตุผล เป็นส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของจิตไร้สำนึก | “ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego)” คือ ส่วนที่เป็นมโนธรรมสำนึก จากการที่จิตได้รับการขัดเกลาและพัฒนา

“ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Schlomo Freud)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2482 ย่านแฮมป์สเตด (Hampstead) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ขณะอายุได้ 83 ปี

24 กันยายน : วันมหิดล

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ทิวงคตด้วยโรคตับอักเสบ ที่โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมายุ 38 พรรษา ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์”

ทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์สมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนมักคุ้นเคยกับพระนาม “กรมหลวงสงขลานครินทร์” ส่วนชาวต่างประเทศจะออกพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหิดล”

ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน 2494 ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ให้วันที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันมหิดล” เพื่อเทิดพระเกียรติ “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ผู้ทรงเป็น “หมอเจ้าฟ้า” ดั่งสมญานาม “พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย”

24 กันยายน : วันทหารราบ

วันที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันทหารราบ” วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับ 2 วาระ คือ เป็นวันที่มีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกวาระหนึ่งคือ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่กองพันทหารราบ นับเป็นครั้งแรกที่กองทหารไทยได้รับพระราชทานธงประจำกอง

โดยในวันดังกล่าว “ศูนย์การทหารราบ” จะกระทำพิธีอำลานายทหารยศนายพลเหล่าทหารราบ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนของทุกปี

ทั้งนี้ “ทหารราบ” คือทหารที่ทำหน้าที่เป็นกำลังรบหลักของกองทัพบกและกองทัพไทย ได้รับสมญานามว่า “ราชินีแห่งสนามรบ” มีภารกิจในการเข้าตี เข้าประชิดข้าศึก ทำลาย หรือจับข้าศึกเป็นเชลย รวมถึงเข้ายึดภูมิประเทศที่สำคัญ

บทบาทของหน่วยทหารราบนั้น เป็นการปฏิบัติที่ต้องการความเด็ดขาดในการยุทธเคลื่อนที่เร็ว ทั้งทางพื้นดินโดยใช้ยานรบทางพื้นดิน และทางอากาศโดยใช้อากาศยาน ในการลำเลียงพล เพื่อเข้าปฏิบัติการรบ หรือปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

24 กันยายน 2516 : เปิดการจราจร “สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เป็นครั้งแรก

“สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เริ่มเปิดการจราจรเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2516 สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อเขตพระนครกับเขตบางพลัด กทม. เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2514 โดยความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในการออกแบบและให้เงินช่วยเหลือ

ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท OBAYACHI-GUMI CO.,LTD. และ บริษัท SUMITOMO CONSTRUCTION CO.,LTD. เป็นสะพานแบบคอนกรีตอัดแรงชนิดต่อเนื่อง มีจำนวนช่องทางรถวิ่ง 6 ช่องทาง กว้าง 26.60 เมตร ยาว 622 เมตร สูง 11.50 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 117,631,024.98 บาท

ได้รับพระราชทานนามว่า “สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เพื่อเทิดพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งได้รับบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ที่สอง ในรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงศักดิ์สูงกว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ใดในอดีต เนื่องจากพื้นที่ของสะพานฝั่งพระนคร เคยเป็นเขตของพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ประทับของพระองค์นั่นเอง

26 กันยายน : วันสากลแห่งการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ (International Day Against Nuclear Tests)

“องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 26 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ (International Day Against Nuclear Tests)” ภายหลังจากที่โลกได้ประจักษ์ถึงความเลวร้ายของระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเป็นความพยายามในการ “กำจัด” “จำกัด” และ “ควบคุม” การใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถูกนำเสนอผ่านสนธิสัญญาต่าง ๆ อีกด้วย

26 กันยายน 2418 : “คอต” หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทย ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์

“คอต (COURT)” หนังสือพิมพ์รายงานข่าวของทางราชการ และหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทย ได้ตีพิมพ์ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2418 โดยมี “สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” เป็นองค์บรรณาธิการ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ข่าวราชการ” ในปี 2419

27 กันยายน : วันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day)

“องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization : UNWTO)” ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อองค์การเป็น “การท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (United Nations Tourism : UN Tourism)” ได้กำหนดให้วันที่ 27 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day)”

โดยได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2523 จากมติเห็นชอบของที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2522 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการท่องเที่ยว ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรม และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก อันนำไปสู่การกำหนดบทบัญญัติแผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวสากลในอนาคต

27 กันยายน : วันเกิด “Google (กูเกิล)”

ใครจะไปเชื่อว่า “Google (กูเกิล)” เว็บไซต์เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) สำหรับค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก จะเปิดตัวครั้งแรกในโรงรถ !!!

เรื่องราวเริ่มขึ้นจาก “แลรี เพจ (Larry Page)” และ “เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin)” สองนักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ได้ทำโครงงานวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้วยกัน จนพัฒนามาถึงการร่วมกันก่อตั้ง “บริษัท กูเกิล (Google Inc.)” โดยจดทะเบียนในวันที่ 4 กันยายน 2541 และเปิดตัวบริษัทของพวกเขาที่โรงรถของเพื่อนในเมนโล พาร์ค (Menlo Park) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 27 กันยายน 2541 และนับจากนั้นก็เฉลิมฉลองวันเกิด “Google (กูเกิล)” ในวันที่ 27 กันยายน ของทุกปี

พวกเขาเลือกใช้ชื่อ “Google (กูเกิล)” จากคำว่า “Googol” มาจากจำนวนทางคณิตศาสตร์ หมายถึง จำนวนมหาศาล (Large Number) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 10¹⁰⁰ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่า นี่คือแหล่งรวบรวมข้อมูลมากมายมหาศาลในระบบคอมพิวเตอร์

ในปี 2547 “Google (กูเกิล)” ก็ขยายตัวเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ และในปี 2548 ได้ซื้อกิจการของ “YouTube.com” เว็บไซต์สำหรับแชร์คลิปวิดีโอยอดนิยมของโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ “Google (กูเกิล)” ยังได้ทำการขยายกิจการจากเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล เป็นการสร้างซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่ใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก และสมาร์ทโฟน เช่น

  • “Google Earth” ค้นหาสถานที่หรือแผนที่ออนไลน์
  • “Gmail” บริการรับส่งอีเมล
  • “Google Chrome” เว็บเบราว์เซอร์ สำหรับการค้นหา และเปิดหน้าต่างอ่านเนื้อหาต่าง ๆ
  • “Google Maps” ค้นหาแผนที่และช่วยคำนวณการเดินทางด้วยวิธีต่าง ๆ
  • “Google Translate” บริการแปลภาษาเพื่อการสื่อสาร
  • “Google Calendar” ปฏิทินแจ้งเตือนนัดหมาย เชื่อมโยงกับ “Google Meet” บริการพื้นที่ประชุมออนไลน์
  • “Google Docs” บริการสร้างเอกสารออนไลน์

28 กันยายน : วันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูล (International Day for Universal Access to Information : IDUAI)

เมื่อปี 2558 “องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO)” ได้เสนอในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 และประกาศให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูล (International Day for Universal Access to Information : IDUAI)” เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูล สิทธิของเจ้าของข้อมูล อีกทั้งแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาด้านการเข้าถึงข้อมูล

28 กันยายน : วันข่าวโลก (World News Day)

ในการประชุม “World Editors Forum” ของเหล่าบรรณาธิการชั้นนำระดับโลก มูลนิธิวารสารศาสตร์แคนาดา ซึ่งก่อตั้งในปี 2533 “The Canadian Journalism Foundation : CJF” และแหล่งข่าวชั้นนำของแอฟริกาใต้ “Daily Maverick” ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “Project Kontinuum” ได้ร่วมกันผลักดันให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันข่าวโลก (World News Day)”

เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทและหน้าที่ของนักข่าว ในด้านของการนำเสนอข่าวสาร รวมถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นการให้บริการกับผู้คนทั่วโลก โดยมุ่งเน้นหลักการ 3 ด้าน คือ เสรีภาพสื่อ ความยั่งยืนของสื่อ และนวัตกรรมสื่อ

28 กันยายน : วันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day)

“วันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day)” เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ “ธงไตรรงค์” เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน 2460

กิจกรรมในวันนี้ จะจัดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณใน “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6”

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ โดยการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และการสร้างชาติของแต่ละประเทศ

28 กันยายน : วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day)

“องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)” ได้กำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day)” ซึ่งตรงกับวันครบรอบการเสียชีวิตของ “หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)” ผู้คิดค้นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ในการเลี้ยงดูสุนัข ความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงสร้างจิตสำนึกของผู้คนในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

28 กันยายน 2438 : “หลุยส์ ปาสเตอร์” ผู้คิดค้นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เสียชีวิต

“หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)” นักเคมีชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2365 ที่เมืองโดล รัฐจูรา แต่ไปเติบโตที่เมืองอาร์บัวส์ (Arbois) ประเทศฝรั่งเศส บิดาเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามนโปเลียน ตอนเด็ก ๆ เขาเคยสนใจศิลปะ ต่อมาก็หันมาสนใจเคมีและสำเร็จการศึกษาวิชาเคมีจากมหาวิทยาลัยสตราส์เบิร์ก (Strasbourg University) จากนั้นก็เริ่มงานเป็นนักเคมีในห้องทดลอง

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาและสร้างคุณประโยชน์อย่างมากให้กับสาธารณชน คือ “วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งในอดีตเป็นโรคที่สามารถคร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เขายังค้นพบวัคซีนอีกหลายชนิด ได้แก่ อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ

ในปี 2405 เขาได้ทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการ “พาสเจอร์ไรซ์เซชัน (Pasteurization)” เป็นครั้งแรก ซึ่งมีประโยชน์ต่อการถนอมอาหารเป็นอย่างมาก ต่อมาเขาได้ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่าง ๆ จนสามารถค้นพบ “วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” เป็นครั้งแรกในปี 2428 นอกจากนี้ ยังพบวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) อีกด้วย

ต่อมาในปี 2430 เขาก่อตั้ง “สถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute)” ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะขยายสถาบันไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “สถานเสาวภา” เป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย) ในปัจจุบัน “สถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute)” ยังคงเป็นสถาบันวิจัยทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดในโลก คณะวิจัยที่นี่เป็นคณะแรก ๆ ที่ค้นพบเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)

“หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2438 ขณะอายุได้ 73 ปี

28 กันยายน 2532 : “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส” ประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ถึงแก่อสัญกรรม

“เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos)” เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2460 ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ในปี 2508 ช่วงแรกเขามีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทำให้ฟิลลิปปินส์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่หลังจากชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เขาได้ประกาศกฎอัยการศึกในปี 2515 พร้อมสั่งจำคุกนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม สั่งปิดสื่ออิสระทั้งหมด และกุมอำนาจภายใต้กฎหมายพิเศษมาอย่างยาวนาน

รัฐบาลมาร์กอสในเวลานั้น จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อนำมาใช้ในโครงการประชานิยม ทำให้ฟิลลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในเอเชีย ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2526 หลังเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำฝ่ายค้าน “เบนิโญ อากีโน” ประชาชนจึงออกมาประท้วงต่อต้านการครองตำแหน่งของเขา นำโดย “คอราซอน อากีโน” ภริยาหม้ายของ “เบนิโญ อากีโน”

แม้จะมีการประกาศเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2529 แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชน ก็ทำให้เกิดการลุกฮือของพลังประชาชน และทำให้เขาต้องลี้ภัยในต่างประเทศพร้อมครอบครัว และภายหลังการลี้ภัยได้ 3 ปี “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos)” ก็ถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 28 กันยายน 2532 จากภาวะไตล้มเหลว ปิดฉากประธานาธิบดีเผด็จการของฟิลิปปินส์ในวัย 72 ปี

29 กันยายน : วันหัวใจโลก (World Heart Day)

“สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation : WHF)” ได้กำหนดให้วันที่ 29 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันหัวใจโลก (World Heart Day)” เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก อีกทั้ง “หัวใจ (Heart)” ยังเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย จึงควรดูแลสุขภาพให้มีหัวใจที่แข็งแรง เพื่อชีวิตที่ยืนยาว

30 กันยายน : วันแปลภาษานานาชาติ (International Translation Day)

เมื่อปี 2496 “สหพันธ์นักแปลนานาชาติ (International Federation of Translators : FIT)” ได้กำหนดให้วันที่ 30 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันแปลภาษานานาชาติ (International Translation Day)” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึง “นักบุญเจอโรม (St. Jerome)” ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษากรีกและภาษาฮีบรู ให้เป็นภาษาละติน ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ หรือที่เรียกว่า “Vulgate” ยังเป็นคัมภีร์ฉบับสำคัญของคริสตจักรโรมันคาทอลิกอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนแปลทั่วโลก และส่งเสริมการแปลวิชาชีพในประเทศต่าง ๆ รวมถึงเป็นการยกย่องผลงานของนักแปลและล่าม ที่พยายามทำให้โลกเล็กลง โดยการทำลายอุปสรรคด้านภาษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อำนวยความสะดวกในการเจรจาความเข้าใจ ความร่วมมือที่เอื้อต่อการพัฒนา และเสริมสร้างสันติภาพ รวมถึงความมั่นคงของโลก

🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day

▶️ 2566

▶️ 2567

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันยกย่องแมวส้มGinger Cat Appreciation Dayทาสแมวแมวส้มวันสืบ นาคะเสถียรสืบ นาคะเสถียรโดราเอมอนドラえもんDoraemonวันเกิดโดราเอมอนจรัล มโนเพ็ชรราชาโฟล์คซองคำเมืองวันการกุศลสากลInternational Day of Charityวันการเรียนรู้หนังสือสากลInternational Literacy Dayถนนสุขุมวิทการเคารพธงชาติวันหมีเท็ดดี้Teddy Bear Dayเหมา เจ๋อตงMao Tse-tungวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกWorld Suicide Prevention Day9/11เหตุวินาศกรรม 9/11วินาศกรรม 11 กันยายนวันบุรฉัตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินพระบิดาแห่งรถไฟไทยวันศิลป์ พีระศรีศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีวันโอโซนโลกWorld Ozone Dayวันไหว้พระจันทร์วันพิพิธภัณฑ์ไทยรัฐประหาร 2549รัฐประหาร 49รัฐประหารในไทยวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติวันเยาวชนแห่งชาติวันสันติภาพสากลInternational Day of Peaceวันประมงแห่งชาติวันแรดโลกWorld Rhino DayวันปลอดรถโลกWorld Car Free DayรถรางรถรางไทยวันภาษามือโลกInternational Day of Sign LanguagesดาวเนปจูนNeptuneซิกมุนด์ ฟรอยด์Sigmund Schlomo Freudวันมหิดลวันทหารราบสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าวันสากลแห่งการขจัดอาวุธนิวเคลียร์International Day Against Nuclear TestsCOURTวันท่องเที่ยวโลกWorld Tourism DayGoogleกูเกิลวันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูลIDUAIวันข่าวโลกWorld News DayวันพระราชทานธงชาติไทยThai National Flag Dayวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกWorld Rabies Dayหลุยส์ ปาสเตอร์Louis Pasteurเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสFerdinand MarcosวันหัวใจโลกWorld Heart DayวันแปลภาษานานาชาติInternational Translation DayThai PBSThai PBS On This Dayไทยพีบีเอสวันนี้ในอดีต
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด