ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สิทธิประโยชน์ที่ควรรู้ เมื่อ “บริษัทปิดตัว ถูกเลิกจ้าง ค้างจ่ายเงินเดือน” ต้องทำอย่างไร ?


Insight

11 ก.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

สิทธิประโยชน์ที่ควรรู้ เมื่อ “บริษัทปิดตัว ถูกเลิกจ้าง ค้างจ่ายเงินเดือน” ต้องทำอย่างไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1582

สิทธิประโยชน์ที่ควรรู้ เมื่อ “บริษัทปิดตัว ถูกเลิกจ้าง ค้างจ่ายเงินเดือน” ต้องทำอย่างไร ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

บริษัทปิดตัว พนักงานถูกเลิกจ้าง รวมถึงการค้างจ่ายเงินเดือนพนักงาน สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง 

Thai PBS ขอชวนทุกคนมาดูกันว่า หากเรื่องไม่คาดฝันเหล่านี้เกิดขึ้น ลูกจ้างมีสิทธิประโยชน์อะไร ? และต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

ถูกเลิกจ้างมีสิทธิอะไรบ้าง ?

เมื่อพนักงานถูกเลิกจ้างจากนายจ้าง สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของการเลิกจ้างรวมถึงรูปแบบของการจ้างงาน โดยแบ่งได้ 3 กรณีด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. กรณีเลิกจ้างจากสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างลง

การเลิกจ้างจากกรณีสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดระยะเวลาการจ้าง เช่น นายจ้างกับลูกจ้างทำสัญญาจ้างเป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อทำงานกันจนครบสัญญาแล้ว ความเป็นนายจ้างลูกจ้างจะถือว่าสิ้นสุดลง ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างในกรณีนี้ก็ยังถือเป็นการเลิกจ้างโดยนายจ้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างทั่วไป โดยจำนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำงาน โดยจะได้รับก็ต่อเมื่อทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป

2. กรณีเลิกจ้างโดยการยกเลิกสัญญาล่วงหน้า

การเลิกจ้างที่โดยนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ต้องมีการแจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนงวดจ่ายเงินเดือนครั้งที่จะถึง และให้การเลิกจ้างมีผลในวันจ่ายเงินเดือนถัดไป เช่น เงินเดือนออกวันที่ 30 จะต้องแจ้งก่อนวันที่ 30 และมีผลในเดือนถัดไปเพื่อให้ลูกจ้างได้เตรียมตัว โดยลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามระยะเวลาทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ 120 วันต่อไป เช่นกัน 

ทว่าหากกรณีนี้นายจ้างแจ้งล่วงหน้า แต่ให้ออกจากงานก่อนกำหนดจ่ายรอบถัดไป เช่น ให้ทำงานต่ออีก 15 วัน นายจ้างก็ยังคงต้องจ่ายเงินค่าจ้างในรอบจ่ายถัดไปอยู่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรค 3 โดยมีคำเรียกเงินที่จ่ายลักษณะนี้ว่า “ค่าบอกกล่าว” หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ค่าตกใจ” นั่นคือแม้จะทำงานครึ่งเดือน แต่ก็ได้รับเงินเต็มเดือนเหมือนยังทำงานอยู่นั่นเอง

3. กรณีเลิกจ้างกะทันหัน ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

การเลิกจ้างแบบที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานทันที หรือก็คือการยกเลิกสัญญาจ้างงานทันที นายจ้างต้องจ่ายค่าจ่ายแทน “ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า” หรือ “ค่าตกใจ” โดยจ่ายตามวันที่ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันเลิกสัญญามีผล (กำหนดจ่ายเงินค่าจ้างรอบถัดไป) หรือก็คือกรณีได้ค่าจ่ายเป็นรายเดือน จะได้เงินเดือน 1 แทนเป็นเสมือนนายจ้ายได้แจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เตรียมตัวออกจากงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17/1 และได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ 120 วันต่อไป เช่นกัน

เลิกจ้างได้รับค่าชดเชยอย่างไรบ้าง ?

เมื่อถูกเลิกจ้างไม่ว่าจะในลักษณะใด จากการทำงานที่มีลักษณะของสัญญาจ้างที่มีความต่อเนื่อง แม้จะมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแบบระบุระยะเวลาก็ตาม โดยเงินชดเชยที่ได้รับจากบริษัทหรือผู้ว่าจ้างจะขึ้นอยู่ระยะเวลาที่ทำงานด้วยกันต่อเนื่องมากกว่า 120 วัน ดังนี้

ทำงาน 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 30 วัน 
ทำงาน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน
ทำงาน 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน
ทำงาน 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน
ทำงาน 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน
ทำงาน 20 ปีขึ้น ได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 400 วัน

ถูกเลิกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย

เลิกจ้างเพราะปิดกิจการ ได้ค่าชดเชยหรือไม่ ?

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ระบุไว้ว่า การเลิกจ้างไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ทั้งสิ้นสุดสัญญาจ้างรวมถึงนายจ้ายไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ ให้นายจ้างมีการจ่ายชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้

ถูกเลิกจ้างแต่ไม่ได้รับ ”เงินชดเชย” - “เงินค่าบอกกล่าว (ค่าตกใจ)” ต้องทำอย่างไร ?

ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจะต้องได้รับเงินชดเชย รวมถึงค่าบอกกล่าว หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานถือว่ามีความผิด ลูกจ้างสามารถดำเนินการทางกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความ โดยสามารถดำเนินการได้ 2 แบบด้วยกัน

1. ยื่นข้อเรียกร้องกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างสามารถขอคำปรึกษาด้านกฎหมายรวมถึงดำเนินการจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยจะมีการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เรียกกันว่า “การยื่นคำร้อง (คร.7)”

สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หากเป็นในกรุงเทพฯ จะมีสำนักงานตั้งอยู่ตามเขตพื้นที่ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ จะแยกเป็นสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือสามารถยื่นคำร้องแบบออนไลน์ได้ที่ eservice.labour.go.th

เมื่อยื่นคำร้องแล้ว จะมีการนำส่งคำร้อง โดยพนักงานตรวจแรงงานจะต้องดำเนินการวินิจฉัยคำร้องภายใน 60 วัน อาจมีการนัดหมายทั้งนายจ้างและลูกจ้างมาสอบสวนเพิ่มเติม

ระหว่างนี้หากมีการตกลงกันได้ เช่น นายจ้างจ่ายเงินบางส่วน ลูกจ้างสามารถถอนคำร้องได้ แต่หากตกลงกันไม่ได้ พนักงานตรวจแรงงานจะพิจารณาออกคำสั่งต่อไป
ผลลัพธ์จะแบ่งได้ 2 กรณี 1. ลูกจ้างไม่มีสิทธิ์ได้รับเงิน หากลูกจ้างไม่เห็นด้วย สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน หากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ การยื่นเรียกร้องจะเป็นอันสิ้นสุด 2. ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงิน หากนายจ้างไม่เห็นด้วย สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน เช่นกัน หากไม่ยื่นอุทธรณ์ในระยะเวลาดังกล่าว จะมีการดำเนินคดีกับนายจ้าง ด้วยการเปรียบเทียบปรับหรือส่งดำเนินคดีโดยพนักงานสอบสวน

2. ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน ขั้นตอนนี้สามารถดำเนินการต่อเนื่องจากการยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ ในกรณีนี่ลูกจ้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน

ศาลแรงงานถือเป็นศาลที่มีการจัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมถึงกรณีลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชย ซึ่งมีการออกแบบการทำงานมีการช่วยเหลือลูกจ้างอย่างเต็มที่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 29

เอกสารและการเตรียมตัวสำหรับการยื่นเรื่องต่อนายจ้าง

- กรอกแบบฟอร์ม คร.7 โดยรับแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานฯ หรือดาวโหลดออนไลน์ได้ *กรณียื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน 
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของลูกจ้างผู้ร้อง
- ชื่อนายจ้าง/สถานประกอบการ
- สถานที่ตั้งของที่ทำงานอย่างชัดเจน และหมายเลขเบอร์โทรศัพท์
- วันที่ เดือน ปี พ.ศ. ที่เริ่มทำงาน และวันสุดท้ายของการทำงาน รวมถึงรายละเอียดการจ้างการทำงาน เจ้าหน้าที่จะมีการสอบถามถึงรายละเอียดของกรณีเกิดขึ้น ลูกจ้างสามารถเตรียมตัวเพื่อให้การสอบถามราบรื่นยิ่งขึ้น โดยจะมีการสอบถามถึงพฤติกรรมที่นายจ้างทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
- หากมีพยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคล ที่เกี่ยวข้อง สามารถเตรียมมาด้วยได้

เศรษฐกิจไม่ดี หลายบริษัทอาจมีการปิดตัวลงได้

นายจ้างค้างจ่ายเงิน ลูกจ้างสามารถรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้

เมื่อเกิดเหตุนายจ้างค้างจ่ายเงินเดือน เงินชดเชย รวมถึงเงินอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (รวมเงินอื่นเช่นค่าล่วงเวลาด้วย) ลูกจ้างมีสิทธิยื่นขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้

ยื่นขอเงินสงเคราะห์ได้เมื่อไหร่ ?

การยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ลูกจ้างจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการยื่นเรื่องจนถึงขั้นตอนที่พนักงาตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินต่าง ๆ หากนายจ้างไม่ได้จ่ายเงินตามระยะเวลาที่กำหนด และต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี นับจากวันที่พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน

เงินสงเคราะห์จะได้รับไม่เต็มจำนวน

เงินที่ได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะได้ไม่เต็มจำนวนตามสิทธิที่จะได้รับ จำนวนที่ได้รับขึ้นอยู่กับกรณีและระยะเวลาทำงาน ดังนี้

กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 120 วัน แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงิน 30 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ประมาณ 10,000 บาท ตามค่าแรงขั้นต่ำปี 2567)

กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย และลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 6 ปีขึ้นไป จะได้รับเงิน 60 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ประมาณ 20,000 บาท ตามค่าแรงขั้นต่ำปี 2567)

กรณีนายจ้างค้างจ้างเงินอื่น ๆ นอกจากค่าชดเชย เช่น เงินเดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และได้รับในอัตราไม่เกิน 60 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ประมาณ 20,000 บาท ตามค่าแรงขั้นต่ำปี 2567)

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับยื่นขอเงินสงเคราะห์ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานยืนยันตัวตนอื่นที่ราชการออกให้พร้อมสำเนา สามารถยื่นเรื่องที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ โดยยื่นเรื่องต่อพนักงานตรวจแรงงาน

ถูกเลิกจ้าง รับเงินว่างงานจากประกันสังคมได้

พนักงานประจำที่มีนายจ้างจะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ประกันตน ม.33 ของประกันสังคม โดยมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่มาจากรายได้ที่ส่งเข้ากองทุนประกันสังคม สิทธิหนึ่งที่จะได้รับเมื่อ “ว่างงาน” ก็คือเงินชดเชย ทั้งกรณีลาออก และถูกเลิกจ้างอีกด้วย
ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย จะต้องเป็นผู้ประกันตนใน ม.33 ที่บริษัทหรือผู้ว่าจ้างจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน และว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป สามารถลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ได้ที่ e-service.doe.go.th หรือติดต่อสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่

การถูกเลิกจ้างถือเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิต สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน

อ้างอิง

  • องค์ความรู้ด้านคุ้มครองแรงงาน เรื่อง “สิทธิหน้าที่การบอกเลิกสัญญาจ้าง” โดย คณะทำงานการจัดการองค์ความรู้ด้านคุ้มครองแรงงาน กองคุ้มครองแรงงาน
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
     

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เลิกจ้างพนักงานปิดกิจการบริษัทปิดตัว
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด