เป็นข่าวที่หลายคนสนใจ สำหรับ “แมวศุภลักษณ์” ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์แมวโลก (WCF) ให้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์แมวไทยขนานแท้ตามสมุดข่อยโบราณ เรื่องที่น่าสนใจกว่านั้น ปัจจุบัน แมวไทยศุภลักษณ์หาพบได้ยาก และมีจำนวนจำกัด โดยว่ากันว่า หายไปจากแวดวงคนเลี้ยงแมวมากว่า 20 ปี
กระทั่งให้หลังกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้รักแมวไทย ใช้ความพยายามในการตามหา และเพาะพันธุ์เพื่อให้แมวศุภลักษณ์ขยายจำนวนมากขึ้น หนึ่งในนั้น คือ ปรีชา วัฒนา เจ้าของบ้านแมวไทยบางรัก ที่ใช้ความพยายามสืบเสาะตามหาแมวศุภลักษณ์แท้ ๆ เพื่อนำมาขยายพันธุ์ จนปัจจุบันมีจำนวนกว่า 10 ตัว
Thai PBS Now มีโอกาสพูดคุยกับปรีชา ถึงที่มาที่ไป และรวมไปถึงเรื่องความรักความชอบที่มีต่อแมว ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า จุดเริ่มต้นจริง ๆ มาจากความเกลียดแมว แต่กลับกลายเป็นว่า กลับโดนแมว “ตก” เข้าให้เมื่อสิบกว่าปีก่อน จนทำให้เขาหลงรักและผูกพัน กระทั่งวันนี้กลายมาทำหน้าที่ผู้ขยายพันธุ์และอนุรักษ์แมวไทย มีแมวอยู่ในการดูแลกว่า 90 ตัว และยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการอนุรักษ์แมวไทยให้คงอยู่สืบไป
จุดเริ่มต้นการขยายพันธุ์แมวศุภลักษณ์
เรื่องราวการขยายพันธุ์แมวศุภลักษณ์ของปรีชาแห่งบ้านแมวไทยบางรัก เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อน ปรีชาเล่าว่า เขาได้แมวศุภลักษณ์ตัวผู้มาตัวหนึ่ง โดยมีผู้ขอให้เขาช่วยขยายพันธุ์ให้
“มีอยู่วันหนึ่ง คุณพนารัตน์ เขาเป็นนายกสมาคมแมวไทยโบราณในเวลานั้น เขาไปได้แมวตัวผู้มาตัวหนึ่ง เป็นแมวศุภลักษณ์ ลักษณะดีมาก ซึ่งผมไม่เคยเห็นตัวจริงมาก่อน เพราะแมวสายพันธุ์นี้หายไปจากวงการคนเลี้ยงแมวไม่ต่ำกว่า 20 ปี จนหลาย ๆ คนคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว”
“เจ้าแมวตัวนี้ชื่อว่า อโยธยา ซึ่งคุณพนารัตน์ตั้งใจให้ผม Breed หรือเพาะพันธุ์ขึ้นมาใหม่ โดยก่อนหน้านั้น เขาไปลองให้ศูนย์อนุรักษ์แมวที่อื่นทดลองเพาะพันธุ์ แต่ผลปรากฏว่า ลูกออกมาเป็นสีดำหมด เนื่องจากเกิดจากการผสมที่เลือกคู่ไม่ถูก โดยธรรมชาติของสายพันธุ์ศุภลักษณ์ของแท้ ขนต้องเป็นสีทองแดง แต่ถ้าหากเลือกคู่มาผสมกันผิด โอกาสที่จะได้แมวสีดำมีเยอะมาก”
ปรีชาเล่าต่อว่า เมื่อเจ้าแมวอโยธยามาถึงมือเขา ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มลองผสมพันธุ์ ก็เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกเช่นกัน
“ผมลองหาแมวที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุดมาผสมพันธุ์ แต่ปรากฏว่า สามครอกแรก ลูกออกมาดำหมด จนกระทั่งผมไปได้แมวตัวเมียที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเจ้าอโยธยามากที่สุด มันเป็นแมวที่สุขภาพไม่ค่อยดี ผมมารักษามันอยู่พักใหญ่ หมดเงินไปเยอะพอสมควร กระทั่งจับมาผสมพันธุ์กัน ปรากฏว่าคราวนี้ ได้สีทองแดงมา 2 ตัว และสีดำอีก 2 ตัว นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดแมวศุภลักษณ์แท้ ๆ ขึ้นที่บ้านแมวไทยบางรัก”
หลังจากได้แมวศุภลักษณ์ที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ ปรีชาบอกว่า เขายังเที่ยวออกตามหาแมวสายพันธุ์ดังกล่าวอีก เพื่อให้เกิดการขยายพันธุ์ที่มากขึ้น และมีความสมบูรณ์ขึ้น เนื่องจากหากนำแมวในครอกเดียวกันมาผสมพันธุ์กัน ลูกที่ออกมาจะเกิดการ Inbreeding หรือเลือดชิด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแมวเท่าที่ควร
ในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดมีอีกทางเลือกหนึ่งขึ้นมา คือการนำยีนของแมวไปตรวจ เพื่อให้เจอสายพันธุ์แมวที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด แต่เงื่อนไขคือ ต้องส่งไปที่แลปในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายราว 3,000 – 4,000 บาทต่อตัว
“เราสามารถนำเนื้อเยื่อข้างกระพุงแก้มของแมว แล้วส่งไปให้ที่แลปในต่างประเทศ เพื่อเช็กดูสายพันธุ์ที่ยืนยันได้ตรงที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง โชคดีว่าตอนนั้น ผมได้รับการสนับสนุนจาก ดร.จันทร์จิรา ภวภูตานนท์ เป็นอาจารย์อยู่ที่ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน ซึ่งที่นั่นมีแลปเหมือนกัน แต่วิธีการของแลปที่กำแพงแสน เขานำเลือดแมวมาตรวจ"
"ผมจึงส่งแมวเข้าไปให้ ดร.จันทร์จิรา กับคุณสรายุทธ (พิบูลนิธิเกษม) ซึ่งต้องขอขอบคุณทั้งสองท่านอย่างมาก เพราะทำให้เราสามารถย่นย่อการทำงานเรื่องแมวศุภลักษณ์ให้สั้นลงอย่างมาก หลังจากนั้น การผสมพันธุ์แมวของเราจึงผิดพลาดน้อยลง ไม่ผสมกันเปะปะอีกต่อไป”
เมื่อมาถูกทาง ปรีชาเล่าต่อว่า หากอยากให้สายพันธุ์ที่นิ่งที่สุด ต้องไม่ปล่อยให้แมวผสมพันธุ์กันเอง สิ่งที่เขาทำคือ จับพวกมัน คลุมถุงชน
“ฟังดูน่ากลัว (หัวเราะ) แต่จริง ๆ คือ เราจับตัวเมียที่เป็นสายพันธุ์ศุภลักษณ์แท้ ๆ ใส่ลงไปในกรงตัวผู้ที่เป็นศุภลักษณ์แท้เหมือนกัน จากนั้นก็ปิดกรง ถึงต้องเรียกว่า คลุมถุงชน เพื่อทำให้ลูกที่เกิดมา สีไม่เพี้ยน และลักษณะด้อยเริ่มลดลง จนกระทั่งเราได้แมวที่สมบูรณ์ขึ้นมา”
ปัจจุบันที่บ้านแมวไทยบางรักของปรีชา มีแมวศุภลักษณ์แท้ ๆ อยู่ในการดูแล 10 ตัว และมีการส่งเสริมในการขยายพันธุ์แมวศุภลักษณ์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในคราวเดียวกัน เขายังมีแมวไทยที่อยู่ในการดูแลอีกไม่น้อย
จาก “คนเกลียดแมว” สู่ “นักอนุรักษ์แมวไทย”
วันนี้ที่บ้านแมวไทยบางรักของปรีชา มีแมวที่อยู่ในการดูแลกว่า 90 ตัว ส่วนใหญ่เป็นแมวไทยมงคล 5 สายพันธุ์ อาทิ วิเชียรมาศ โคราช ขาวมณี โกญจา และศุภลักษณ์ รวมทั้งยังมีแมวสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ได้มาจากการช่วยเหลืออีกจำนวนมาก
ปรีชาย้อนเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงแมวเหล่านี้ เกิดขึ้นกว่า 14 ปีมาแล้ว ซึ่งหากย้อนกลับไป เขาไม่ใช่คนที่รักแมวมาก่อน
“ผมเป็นคนเกลียดแมวด้วยซ้ำ” ปรีชาเล่าพลางหัวเราะ “แต่ผมเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์แบบไทย ๆ เคยเลี้ยงไก่แจ้ แต่พอมันฟักลูกออกมา ปรากฏว่าแมวจรที่ไหนไม่รู้ มาคาบลูกไก่ของผมไป นี่แหละที่ทำให้ผมเกลียดแมว (หัวเราะ)”
“จนวันหนึ่ง มีแมวจรตัวหนึ่ง ปกติมันจะเดินอยู่บนแคตวอล์ก ซึ่งก็คือกำแพงบ้านนั่นเอง ปรากฏว่า เจ้าตัวนี้ อยู่ ๆ ก็เดินลงมาแล้วล้มแผละลงบนเท้าผม แล้วไม่ไปไหน กลิ้ง ๆ เกลือก ๆ อยู่ที่เท้า”
“มันเป็นแมวหน้าตาดี ผมเลยเรียกมันว่า ยัยคลีโอ ที่มาจาก คลีโอพัตรา เพราะบริเวณตาของมันสวยมาก ผมถามมันว่า จะอยู่บ้านนี้ด้วยกันจริง ๆ เหรอ ถ้าคิดจะอยู่ ต้องทำตัวดี ๆ แล้วเราจะอยู่ด้วยกันได้ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้น ผมเจอท่าไม้ตายของแมวตกเข้าให้เรียบร้อย”
“แต่คลีโออยู่ในบ้านได้ครึ่งปี วันหนึ่งมันก็หายไป ผมรู้สึกเป็นกังวลมาก กับการที่เราเห็นมันทุกวัน เคยจับ เคยคุย แต่จู่ ๆ วันหนึ่งมันหายไป ทำไมเราว้าวุ่นใจอะไรอย่างนี้ ผมถามตัวเองว่า เรารักแมวแล้วเหรอ มันเป็นความผูกพันที่เราอยู่กับมันมาตลอด โดยที่เราไม่รู้ตัว”
จากความผูกพัน จนกลายเป็นความรัก ปรีชาเล่าว่า หลังจากที่แมวตัวแรกหายไป เขาตัดสินใจหาแมวตัวใหม่มาเลี้ยง และตั้งใจให้เป็นแมวพันธุ์ไทยเท่านั้น จนไปได้แมวพันธุ์วิเชียรมาศมาตัวหนึ่ง และจุดเปลี่ยนสำคัญอีกประการที่ทำให้เกิด “บ้านแมวไทยบางรัก” คือการที่ปรีชาเข้าไปเรียนหลักสูตรธุรกิจออนไลน์
“ผมไปเรียนรู้การทำการค้าในโลกออนไลน์ ย้อนไป 10 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีนี้ยังเป็นของใหม่ วันนั้นผมไม่เชื่อหรอกว่า เรื่องแบบนี้จะทำได้ ผมท้าทายสิ่งที่อาจารย์สอน ด้วยการเอาทรายแมวขึ้นไปขายในออนไลน์ ปรากฏว่า ผมขายได้ จากจุดนั้นจึงทำให้ผมมั่นใจว่า การทำธุรกิจแบบนี้ ด้วยการนำเสนอตัวเองไปในโลกออนไลน์ มันสามารถทำได้จริง”
“จนเกิดไอเดียต่อมาว่า ทรายแมวเรายังขายได้ แล้วทำไมลูกแมวจะขายไม่ได้ พอมีลูกแมววิเชียรมาศเกิดที่บ้าน ผมก็ลองเอามาขาย เมื่อเกิดรายได้ ความคิดก็แตกขึ้นมาอีก ทำไมเราไม่เลี้ยงหลายสี จึงเริ่มเอาแมวอื่นที่ไม่ใช่วิเชียรมาศเข้ามาในบ้าน จากนั้นก็เกิดความคิดต่อไปอีกว่า แล้วทำไมเราไม่ทำให้มันจริงจังไปเลยล่ะ จนเป็นที่มาของ บ้านแมวไทยบางรักนั่นเอง”
ปรีชาเล่าต่อว่า จากวันแรกที่เกิดบ้านแมวไทยบางรัก ผ่านมาถึงวันนี้ราว ๆ 12 ปี ธุรกิจนี้ทำให้เขาและครอบครัวมีรายได้ ที่สำคัญ ยังกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่เปิดให้เยาวชน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาศึกษาหาข้อมูลเรื่องแมวไทยได้อีกด้วย
“ทุกวันนี้ได้ไปถ่ายทอดแนวคิด สำหรับผู้ที่อยากมีอาชีพหลังเกษียณ เราสามารถอธิบายวิธีการทำอาชีพเลี้ยงแมวให้เกิดรายได้ให้ฟัง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจได้”
“แต่สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ ถ้าคิดจะเลี้ยงแมวเพื่อหวังผลประโยชน์จากแมวอย่างเดียว คุณไปไม่รอดหรอก มันต้องมีความรักเป็นตัวเริ่มต้น ถามว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงไหม จริงครับ มีคนที่คิดจะลงทุนแบบนี้ ที่เห็นว่ามีรายได้ขนาดนี้ แล้วเขาไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยง สุดท้ายเกิดปัญหาเรื่องการเลี้ยง จนไปไม่รอด แล้วก็เกิดปัญหาการทิ้งแมว ดังนั้น ขอให้เริ่มเพราะความรัก แล้วคุณจะเลี้ยงเขาได้นาน”
ความภาคภูมิใจในการเป็น “นักอนุรักษ์แมวไทย”
ในวัย 75 ปี กับสิ่งที่ทำในวันนี้ ปรีชาบอกว่า เป็นความภูมิใจ เหนือสิ่งอื่นใด คือการได้ต่อยอดทั้งองค์ความรู้เรื่องแมวไทย และการได้สร้างประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลัง
“บ้านแมวไทยบางรัก ได้รับการยกย่องจากเขตบางรัก ให้เป็นสถานที่สร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งหากใครที่ไปที่นี่ ถึงจะไม่ไปซื้อแมว คุณก็ยังสามารถเข้าไปดู ไปศึกษา เพราะที่นี่คือศูนย์การเรียนรู้เรื่องแมวไทยโบราณ มีนักศึกษามาทำรายงานก่อนจบการศึกษาทุกปี และเราอยากสืบทอดให้เป็นมรดกกับคนรุ่นหลัง ๆ ต่อไป”
เราถามปรีชาว่า ในวัย 75 ปี สิ่งที่เขาได้รับการ “แมว” คืออะไร เขาตอบทันทีว่า มันทำให้สุขภาพดีขึ้น
“ผมว่าสุขภาพจิตผมดีขึ้นนะ แมวทำให้เราตัดจากโลกภายนอกได้ดี เราอยู่กับเขา เราดูแลเขา ผมไม่มีกังวล ผมไม่เครียด แล้วแมวไม่มีพิษมีภัย เราอยู่ใกล้ ๆ เขาแล้ว เราสัมผัสถึงความน่ารัก มันทำให้สุขภาพจิตเราดี”
ปรีชาบอกอีกว่า แมวไทยมีเอกลักษณ์ที่ไม่หมือนใคร และมีจุดเด่นมากมาย โดยเฉพาะ “แมวศุภลักษณ์” ที่วันนี้ได้รับการรับรองไปทั่วโลก
“ผมอยากให้คนไทยหันกลับมาสนใจแมวไทยกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะแมวศุภลักษณ์ วันนี้เขากลับมาแล้ว หลังจากที่หายจากวงการคนเลี้ยงแมวไป 20 ปี แมวศุภลักษณ์เป็นแมวในตำรา มีผิวพรรณอย่างไร หน้าตาอย่างไร วันนี้ส่วนหนึ่งหาดูได้ที่บ้านแมวไทยบางรัก อยากจะชวนให้กลับมาเลี้ยงกัน เพราะวันนี้ชาวต่างชาติเขายอมรับแล้วนะครับ ว่าแมวศุภลักษณ์เป็นแมวไทยพันธุ์แท้ ซึ่งกว่าเขาจะยอมรับแมวตัวนี้ได้ตั้ง 9 ปี”
“ผมยังจำได้ วันที่ผมได้เอาไปให้ทางสหพันธ์แมวโลก (WCF) พิจารณา กว่าเขาจะยอมรับได้ ต้องผ่านเกณฑ์พิจารณามากมาย ทั้งเอกลักษณ์ประจำตัว ไหนจะต้องมีการกำหนดลักษณะประจำสายพันธุ์ ทุกตัวต้องเป็นไปตามลักษณะที่กำหนด ใช้เวลาทั้งหมด 9 ปี กว่าที่แมวศุภลักษณ์จะมีที่หยัดยืน (ยิ้ม) ถามว่าภูมิใจไหม แน่นอน มันเป็นความภูมิใจ นอกจากคนไทยจะยอมรับ ชาวต่างชาติก็ยอมรับด้วย”
ปรีชาเล่าให้ฟังสนุก ๆ ว่า แมวศุภลักษณ์ทุกตัวที่บ้านของเขาจะมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง นั่นคือ ทุกตัวมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทอง” ก่อนจะตามมาด้วยชื่อสถานที่ที่มาของพวกมัน
“ยกตัวอย่างเช่น ชื่อ ทองบางสะพาน คำว่าทอง หมายถึง ทองแดง คือสีขนของมัน ส่วนคำว่า บางสะพาน คือสถานที่ที่ได้มันมา คือ อำเภอบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งแมวศุภลักษณ์ทั้ง 10 ตัวที่บ้านผม จะขึ้นต้นด้วยทองทั้งหมด เพื่อให้เป็นลายเซ็นด้วยว่า แมวเหล่านี้มาจาก บ้านแมวไทยบางรัก”
สุดท้าย ปรีชาบอกว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์ และปัจจุบันก็เป็นที่นิยมในหมู่ผู้เลี้ยงสัตว์มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญก่อนที่จะนำแมวมาเลี้ยง อยากให้พิจารณาให้ถี่ถ้วน ว่าสามารถดูแลเขาไปจนสิ้นอายุขัยได้หรือไม่
“สิ่งที่ผมคำนึงที่สุดก็คือ คุณถามคนข้างตัวหรือยัง ว่าคุณจะเอาแมวเข้าไปเป็นสมาชิกในบ้าน อย่าตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว ในการจะเอาแมวเข้าบ้าน คนข้างตัวคุณมีกี่คน คุณหันไปให้ครบ ซ้ายขวาหน้าหลัง เพราะแมวหากินเองไม่เป็น แมวอึแล้วต้องมีคนเก็บ ถ้าวันหนึ่งคุณไม่อยู่บ้าน ใครจะทำ ถ้าคนข้างตัวคุณเขาไม่เห็นดีเห็นงามด้วย คุณจะพึ่งใคร”
“ผมให้ความสำคัญสำหรับคนข้างตัวนะ ถ้าคนข้างตัวคุณเขาเซย์เยสกับคุณ ปัญหาไม่เกิด คุณจะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ปัญหาจะตามมา อย่าให้แมวไปเป็นปัญหาของครอบครัว เพราะสุดท้าย แมวจะเดือดร้อนในวันที่คุณมีปัญหาขึ้นมา คุณจะเอาแมวไปปล่อย ถามหน่อยว่า เขาผิดอะไร”
รักแมว ชอบแมว แต่การจะครอบครองแมว ต้องคิดให้ถ้วนถี่ เพราะสุดท้ายจะเกิดปัญหาต่อเนื่องไม่มีจบสิ้น ตรองดูให้แน่ใจ ก่อนจะรับมาดูแล เพื่อไม่ให้ชีวิตทั้งชีวิตของพวกเขา ต้องพบกับปัญหาในปลายทาง...