ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มนุษย์โปรดเข้าใจ ! “ฉลามวาฬ” เครียดเมื่อถูกว่ายน้ำใกล้ ๆ


วันสำคัญ

30 ส.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

มนุษย์โปรดเข้าใจ ! “ฉลามวาฬ” เครียดเมื่อถูกว่ายน้ำใกล้ ๆ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1542

มนุษย์โปรดเข้าใจ ! “ฉลามวาฬ” เครียดเมื่อถูกว่ายน้ำใกล้ ๆ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“วันฉลามวาฬสากล” (International Whale Shark Day) ตรงกับ 30 ส.ค. ของทุกปี เพื่อร่วมอนุรักษ์ “ฉลามวาฬ” (Whale Shark) เนื่องจากจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ฉลามวาฬ” มาให้ได้ทราบ รวมถึงสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับหลาย ๆ คน ที่ชอบดำน้ำดูสัตว์นี้ใกล้ชิดด้วยว่า อาจส่งผลเสียต่อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้

whale shark ภาพจาก wilderness-society


ชวนรู้จัก “ฉลามวาฬ” 

สำหรับ “ฉลามวาฬ” (Whale shark) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhincodon typus Smith, 1828 เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่มีนิสัยไม่ดุร้าย และไม่เป็นภัยอันตรายต่อมนุษย์ มักพบเห็นพฤติกรรมว่ายวนรอบเรือ และขึ้นมากินอาหารบริเวณผิวน้ำ  โตเต็มที่อาจมีความยาวมากถึง 21 เมตร และหนักได้ถึง 42 ตัน แต่ขนาดที่พบโดยทั่วไป คือ 5-10 เมตร ส่วนอายุที่เคยบันทึกได้ประมาณ 80.4 ปี ปัจจุบันปลาฉลามวาฬได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ฉลามวาฬ : ลักษณะโดยทั่วไป

หัวแบนและกว้าง ปากกว้างและอยู่ปลายสุดของจะงอยปาก ฟันมีขนาดเล็กมาก รูปร่างเหมือนกันซึ่งมีปลายแหลมงุ้มคล้ายตะขอ มีสันนูนตามแนวนอนข้างลำตัวหลายแถว ครีบอันแรกมีจุดเริ่มต้นอยู่หน้าจุดเริ่มต้นครีบท้อง คอดหางแบนลงมีสันแข็งทางด้านข้าง มีร่องที่ด้านบนคอดหาง ครีบหางเป็นรูปตัววีหรือพระจันทร์เสี้ยว ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ และด้านท้องสีขาว มีจุดสีขาวกระจายเป็นแนวเส้นพาดขวางทั่วตัว ซึ่งมีขนาดและระยะห่างระหว่างจุดไม่ซ้ำกันแต่ละตัว จึงทำให้สามารถนำมาจำแนกอัตลักษณ์ได้

การแพร่กระจาย

“ฉลามวาฬ” (Whale shark) พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ในทะเลเขตร้อนถึงเขตอบอุ่นที่มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลตั้งแต่ 18-30 องศาเซลเซียส อย่างมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่อเมริกา เม็กซิโก บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย ไทย มาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จนถึงออสเตรเลีย ส่วนในเขตน่านน้ำไทยพบทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบอาศัยบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำในทะเลเปิด บางครั้งอาจหลงเข้าตามชายฝั่งที่มีน้ำตื้น เป็นปลาที่มีการอพยพเป็นระยะทางไกลระหว่างมหาสมุทร ไกลสุดถึง 13,000 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลามากกว่า 36 เดือน

การสืบพันธุ์และการดำรงชีวิต

“ฉลามวาฬ” (Whale shark) ออกลูกเป็นตัว ซึ่งเป็นการผสมภายในตัว ไข่ที่ได้รับการผสมจะไม่ได้รับอาหารจากแม่ แต่อาศัยอาหารจากไข่แดงภายในตัวไข่ จนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัว จึงออกจากท้องแม่ ซึ่งในการออกลูกแต่ละครั้งอาจมากกว่าครั้งละ 300 ตัว

Whale Shark ภาพจาก wilderness-society

การอนุรักษ์ฉลามวาฬในประเทศไทย

มาตรการทางการประมง

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ห้ามทำการประมง “ฉลามวาฬ” (Whale shark) ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2543 ห้ามมิให้บุคคลใดจับ ดัก ล่อ ทำอันตรายหรือฆ่า “ฉลามวาฬ” (Whale shark) ในทะเลท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัดโดยเด็ดขาด และเรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 ซึ่ง “ฉลามวาฬ” (Whale shark) ถูกกำหนดอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือนำขึ้นเรือประมง เว้นแต่กรณีจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2515 กำหนดห้ามทำการประมงในเขต 3,000 เมตร นับจากขอบน้ำตามชายฝั่งทะเล ปัจจุบันขยายเขตห้ามทำการประมงออกไปเป็น 5,400 เมตรจากชายฝั่งในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 10 จังหวัดได้แก่ กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง (ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2550) ระยอง นราธิวาส ปัตตานี (ลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551) สตูล (ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552) นครศรีธรรมราช (ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552) ชุมพร (ลงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554) และจันทบุรี (ลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555) แม้ว่าพื้นที่ห้ามทำการประมงพาณิชย์ในเขต 3,000 เมตร และ 5,400 เมตร ดังกล่าว มีส่วนช่วยไม่ให้ “ฉลามวาฬ” (Whale shark) ติดเครื่องมือประมงโดยเฉพาะเครื่องมืออวนลาก อย่างไรก็ตาม การแพร่กระจายของ “ฉลามวาฬ” (Whale shark) ที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลของไทย ทำให้เขตห้ามทำประมงพาณิชย์ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ

มาตรการเชิงพื้นที่

พื้นที่คุ้มครองทางทะเลของอุทยานแห่งชาติทางทะเล มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ “ฉลามวาฬ” (Whale shark) แต่ไม่ครอบคลุมพื้นที่การแพร่กระจายของ “ฉลามวาฬ” (Whale shark) ในประเทศไทย

มาตรการเชิงชนิดพันธุ์

“ฉลามวาฬ” (Whale shark) ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

มาตรการอื่น ๆ

“ฉลามวาฬ” (Whale shark) ถูกควบคุมอยู่ในบัญชี 2 ตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

การจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks) พ.ศ. 2563-2567 โดยกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดทำร่างแผนฯ ขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนที่จะจัดทำสรุปเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

การสำรวจติดตามสถานภาพและการแพร่กระจายของ “ฉลามวาฬ” (Whale shark) ในน่านน้ำไทย และการกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับกิจกรรมดำน้ำเที่ยวชมปลาฉลามวาฬอย่างเป็นมิตร โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

Whale Shark ภาพจาก wilderness-society

ภาวะคุกคามต่อ “ฉลามวาฬ” 

“ฉลามวาฬ” (Whale shark) ที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่มีขนาดความยาวประมาณ 3 - 6 เมตร ซึ่งยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น (Juvenile) มีนิสัยไม่ดุร้าย มักพบเห็นพฤติกรรมว่ายวนรอบเรือ และขึ้นมากินอาหารบริเวณผิวน้ำ อย่างไรก็ตาม “ฉลามวาฬ” (Whale shark) เป็นสัตว์ที่มีแหล่งอาศัยหากินตั้งแต่บริเวณน้ำตื้นถึงน้ำลึก จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อภัยคุกคามต่าง ๆ จากกิจกรรมมนุษย์ ได้แก่ การทำประมง การติดเครื่องมือประมง/เศษเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ ขยะทะเล และการท่องเที่ยวอย่างไม่รับผิดชอบ ซึ่งส่งผลกระทบตั้งแต่เป็นการรบกวน ทำให้บาดเจ็บ และถึงขั้นเสียชีวิต

female-diver-water-with-whale-sharks-rhincodon-typus

สร้างความเข้าใจใหม่ ! ทำไม ? มนุษย์ดำน้ำใกล้ ๆ ส่งผลเสียกับ “ฉลามวาฬ”

หลายคนอาจจะชอบ-ตื่นตาตื่นใจเมื่อได้ดำน้ำดูสัตว์หายาก อย่างเช่น “ฉลามวาฬ” (Whale Shark) แต่สัตว์เหล่านั้นอาจไม่คิดเหมือนเรา เมื่อมีงานวิจัยล่าสุดเผยว่า การที่มนุษย์อยู่ใกล้ ๆ “ฉลามวาฬ” จะเครียดมีอาการประหนึ่งถูกนักล่าจ้องอยู่ ซึ่งส่งผลต่อการหาอาหาร-สืบพันธุ์ รวมถึงพฤติกรรม “ฉลามวาฬ” ที่เปลี่ยนไป

📌 อ่านต่อ เหมือนถูกนักล่าจ้องอยู่ ! “ฉลามวาฬ” เครียด เมื่อถูกว่ายน้ำใกล้ ๆ


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันฉลามวาฬสากลฉลามวาฬInternational Whale Shark DayWhale Sharkวิทยาศาสตร์ScienceThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Thai PBS On This Dayวันสำคัญวันนี้ในอดีต
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด