ย้อนปรากฏการณ์วันที่ “ดนตรีดิสโก้” ครองโลก


Lifestyle

25 ส.ค. 67

อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

Logo Thai PBS
แชร์

ย้อนปรากฏการณ์วันที่ “ดนตรีดิสโก้” ครองโลก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1523

ย้อนปรากฏการณ์วันที่ “ดนตรีดิสโก้” ครองโลก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ช่วงปลายยุค 1970 นั้นแนวดนตรีดิสโก้ได้กลายเป็นเหมือนสึนามิทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนวงการเพลงและวิถีชีวิตคนทั่วโลก เพราะนอกจากดนตรีที่มอบความสนุกแบบที่หลายคนได้สัมผัส วัฒนธรรมดิสโก้ยังเปลี่ยนวัฒนธรรมการเที่ยวกลางคืนและการแต่งตัว

แม้ว่ากระแสเพลงดิสโก้ในวันนี้จะไม่เหมือนในอดีต แต่วัฒนธรรมการฟังเพลงของคนยุคปัจจุบันยังมีส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากเพลงดิสโก้ เช่น เทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ที่จัดในประเทศไทย หรือ ต่างประเทศก็มีองค์ประกอบหลายจุดที่คล้ายกับปาร์ตี้ในดิสโก้เทค 

ใน รายการนักผจญเพลง Replay เรามีโอกาสได้ฟังเรื่องราวปรากฏการณ์ดนตรีดิสโก้ จากแขกรับเชิญที่เป็นศิลปินยุคดิสโก้ตัวจริงอย่าง จี๊ด-สุนทร สุจริตฉันท์ จากวง Royal Sprites และ ตู้-ดิเรก อมาตยกุล กับ อ้วน-วารุณี สุนทรีสวัสดิ์ จากวง The President รวมถึงดีเจเพลงสากลอย่าง หมึก-วิโรจน์ ควันธรรม ซึ่งเราได้ฟังเรื่องราวของเพลงดิสโก้ทั้งจุดเริ่มต้น และวันที่มันเปลี่ยนวัฒนธรรมการฟังเพลงทั่วโลกไปตลอดกาล

จุดเริ่มต้นของเพลงดิสโก้ 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Saturday Night Fever หนังที่เปลี่ยนวงการเพลงดิสโก้ไปตลอดกาล (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ Paramount Pictures)

จี๊ด สุนทร ได้เล่าว่ายุคดิสโก้เฟื่องฟูได้เริ่มขึ้นปลายยุค 70 หลังกระแสของเพลงแนวดิสโก้และฟังก์ พร้อมกระแสของ Studio 45 คลับเต้นรำที่ดังในยุคนั้นและมีคนดังมากมายเป็นแขก และตามด้วยการมาของภาพยนตร์ Saturday Night Fever ที่ John Travolta แสดงนำ และได้โชว์ลีลาการเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ที่ผสมผสานลีลาศในแง่การนับจังหวะและการขยับร่างกาย มาผสมผสานกับจังหวะดนตรีแบบใหม่ 

นอกจากการเล่นดนตรีแล้ว ยังมีการแข่งขันเต้นเพลงดิสโก้ด้วย ซึ่งความแปลกใหม่ของเพลงดิสโก้ที่ผู้คนได้สัมผัสจากภาพยนตร์ Saturday Night Fever ทั้งการเต้น ทั้งรูปแบบดนตรี ถือเป็นความแปลกใหม่ในยุคดังกล่าวเป็นอย่างมาก  

วันที่วัฒนธรรมดิสโก้เดินทางไปทั่วโลก 

ภาพปกอัลบั้มเพลง “Last Train to London” ของวง Electric Light Orchestra (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ Columbia Records)

หลังจากที่เพลงดิสโก้ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในประเทศสหรัฐอเมริกา แนวดนตรีนี้ได้เดินทางไปหลายประเทศทั่วโลกและมาถึงเมืองไทย โดยในรายการ จี๊ด สุนทร ได้เล่าว่า ตัวเขาเริ่มเล่นเพลงดิสโก้ในยุค พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีดิสโก้เธค มีเพลงของศิลปินอย่าง Donna Summer ที่โด่งดัง

จี๊ดเล่าต่อว่า ยุคนั้นศิลปินจะเล่นเพลงสากลแบบเป๊ะ หรือนำเพลงดิสโก้สากลมาแปลงเนื้อเพลงซึ่งการนำเพลงสากลมาแปลงเป็นเพลงไทย ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน จากยุคที่คนฟังเพลงดิสโก้ของประเทศ สู่ยุคที่คนฟังเพลงดิสโก้ที่เป็นเพลงไทยจริง ๆ  

ส่วนทางฝั่งของ ตู้ ดิเรก ได้เล่าว่า เพลงแรกที่เขาเล่นในยุคนั้นคือ “Last Train to London” ของวง Electric Light Orchestra ซึ่งตัวเขานำมาแปลงเนื้อภาษาไทยในเวลาต่อมา และอีกเพลงที่เขาเล่นและคนรู้จักเป็นอย่างดีคือ “เจงกิสข่าน” ซึ่งผู้ที่ทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักก็คือตัวของ หมึก วิโรจน์ ที่เป็นดีเจดังในยุคนั้น 

ซึ่ง ตู้ และ อ้วน วารุณี เล่าว่าวงการเพลงดิสโก้สากลในยุคนั้นมีการแข่งขันสูงมากทั้ง จนผู้ฟังได้รู้จักเพลงดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “Can't Take My Eyes off You” ที่มีหลายเวอร์ชั่นออกมาให้ทุกคนได้ฟัง หรืออย่างเพลง “Copacabana” โดยในอดีตแทบทุกประเทศจะมีศิลปินดิสโก้ที่โดดเด่น อย่างประเทศเยอรมันก็มีวง Boney M. ที่มีเพลงดังอย่าง "Rasputin" ส่วนประเทศสวีเดนก็มีวงระดับตำนานอย่าง Abba ที่สร้างความสุขให้คนทั่วโลกด้วยเพลง “Dancing Queen”

อิทธิพลเพลงดิสโก้ที่เปลี่ยนวัฒนธรรมการฟังเพลงไปตลอดกาล

บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ ศิลปินไทยที่ยึดมั่นกับการทำเพลงดิสโก้นานหลายปี

นอกจากปัจจุบันเรายังได้เห็นเพลงใหม่ที่เป็นแนวดิสโก้ออกมาให้ฟังทั้งจากศิลปินต่างชาติ หรือศิลปินในไทยอย่าง บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ ที่ทำเพลงดิสโก้ทั้งในฐานะสมาชิกวง Groove Riders และศิลปินเดี่ยว แขกรับเชิญรายการนักผจญเพลง Replay ยังเผยมุมมองน่าสนใจ ที่ทำให้เราสัมผัสได้ว่าวัฒนธรรมดิสโก้มีอิทธิพลกับหลายสิ่งในยุคปัจจุบัน  

แม้ว่าเพลงดิสโก้ในวันนี้จะไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนในยุค 70 เพราะกระแสดนตรีที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ในรายการดีเจ หมึก วิโรจน์ มีมุมมองว่าที่น่าสนใจว่า การเปิดเพลงดิสโก้ในดิสโก้เธคยุคนั้น มีหลักการเดียวกับงานเทศกาลดนตรีเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ หรือ EDM ที่เราฟังทุกวันนี้

โดยบรรยากาศเทศกาลดนตรีอิเลกทรอนิกส์แดนซ์ยุคนี้ที่มีคนร่วมสนุกก็มีการเล่นไฟแสงสี ที่คล้ายกับบรรยากาศยุคดิสโก้ที่มีการเล่นแสงบนลูกดิสโก้บอลและที่พื้นฟลอร์เต้นรำ ขณะเดียวกันดีเจในยุคดิสโก้และยุคอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ ก็เปิดเพลงที่ถูกเรียงต่อกันแบบไม่ต้องพึ่งพาวงดนตรีเหมือนกัน

นอกจากเรื่องดนตรีแล้ว จี๊ด สุนทร เล่าถึงแฟชั่นยุคดิสโก้ ที่หลายคนนิยม อย่างเช่นรองเท้าที่มีพื้นสูง 5 นิ้ว และกางเกงขาบาน โดยแฟชั่นคนเที่ยวดิสโก้เธค นิยมสวมกางเกงขายาวและเสื้อแขนยาวกรุยกราย ซึ่งปัจจุบันนี้เรายังคงได้เห็นการแต่งกายที่มีแรงบันดาลใจจากยุคนั้นเช่นกัน เรียกได้ว่าแม้กระแสดนตรีดิสโก้จะเปลี่ยนไป แต่เรายังคงได้เห็นอิทธิพลของแนวเพลงนี้ในปัจจุบัน

บทสรุป 

กระแสความนิยมของเพลงดิสโก้ นอกจากตัวเพลงที่มอบความสนุกสนานแล้ว องค์ประกอบที่ทำให้แนวดนตรีนี้เป็นที่นิยมก็คือ การมาของดิสโก้เธค รวมไปถึงแฟชั่น และการเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง Saturday Night Fever ที่มีผู้ชมทั่วโลก 

ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนที่น่าสนใจว่า การที่สิ่ง ๆ หนึ่งจะโด่งดังระดับปรากฏการณ์ได้ นอกจากคุณภาพตัวงานแล้ว บางทีปัจจัยโดยรอบ ทั้งตัววัฒนธรรมที่มาด้วยกัน หรือสื่อรูปแบบต่าง ๆ ล้วนทำให้ตัวงานเป็นที่รู้จักได้เช่นกัน 

นอกจากเรื่องราวของดนตรีดิสโก้แล้ว แขกรับเชิญทั้งตัวของจี๊ด แสงทอง, ตู้ ดิเรก และ อ้วน วารุณี ก็ได้ขนเพลงดิสโก้ในความทรงจำของหลาย ๆ คนมาโชว์ โดยทุกคนสามารถชมรายการย้อนหลังได้ทาง YouTube Thai PBS และเว็บไซต์ https://www.thaipbs.or.th/program/SongHunterTV/episodes/103349 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดนตรีดิสโก้รายการนักผจญเพลง Replayคอลัมน์ เพลงหน้า A by นักผจญเพลง
อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์
ผู้เขียน: อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

ผู้ดำเนินรายการ นักผจญเพลง REPLAY รายการเพลงที่มากกว่าเรื่องราวของเพลง แต่บอกเล่าเรื่องราวของดนตรีในมุมที่แตกต่าง สร้างแรงบันดาลใจในชีวิตประจำวันได้

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด