...ลองนึกภาพเด็กหญิงวัย 6 ขวบ กำลังเล่นอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในชวาตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย ทันใดนั้น เกิดเสียงคำรามดังสนั่นขึ้น เธอหันไปมองและเห็นคลื่นโคลนมหึมากำลังถาโถมเข้าใส่หมู่บ้านของเธอ !
นี่คือจุดเริ่มต้นของ เดียน เด็กหญิงผู้กลายเป็นซับเจ็กต์หลักในสารคดีเรื่อง Grit ที่ไม่ได้บอกเล่าแค่เรื่องภัยพิบัติ แต่ยังติดตามชีวิตของเดียนกับแม่ของเธอตลอดระยะเวลา 10 ปีแห่งการเผชิญหน้ากับความสูญเสีย การปรับตัวกับชีวิตใหม่ และที่สำคัญที่สุดคือ การเติบโตของเธอจากเด็กหญิงตัวน้อยสู่วัยรุ่นที่จิตใจคุโชนไปด้วยไฟแห่งการต่อสู้
เรื่องราวของเดียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่อันน่าตื่นตระหนก ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 2006 โคลนร้อนพุ่งขึ้นจากใต้ดินในเมืองซิโดอาร์โจ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล หมู่บ้าน 16 แห่งถูกกลืนหาย ผู้คนกว่า 60,000 คนต้องพลัดถิ่น และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ โคลนยังคงไหลไม่หยุด !
แม้เวลาจะผ่านมาร่วม 20 ปีแล้ว ผืนดินก็ยังคงพ่นโคลนออกมาวันละ 80,000 ลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 32 สระ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่ามันอาจจะไหลต่อไปอีกถึง 40 ปีเลยทีเดียว
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ยังเป็นวิกฤตทางการเมืองและสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของอินโดนีเซีย ในช่วงเวลานั้น ประเทศกำลังอยู่ในยุคหลังการปกครองของซูฮาร์โต ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชันและการเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองยังคงเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก
ส่งผลให้สาเหตุของหายนะนี้เป็นที่ถกเถียงว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือจากความผิดพลาดของบริษัทลาปินโดที่กำลังขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียงกันแน่ โดยเกร็ดข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ บริษัทนี้มีความเชื่อมโยงกับตระกูลบากรี ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจของอินโดนีเซีย (อาบูรีซัล บากรี ผู้เคยเป็นประธานของกลุ่มบริษัทบากรีนั้น ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 2004)
ความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและการเมืองนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสและความรับผิดชอบ แม้รัฐบาลจะสั่งให้บากรีจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย แต่กระบวนการก็เต็มไปด้วยความล่าช้าและความไม่แน่นอน
เจ็บปวดกว่านั้นคือ ในขณะที่ผู้ประสบภัยต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด บากรีกลับได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในอินโดนีเซีย
ท่ามกลางวิกฤตทั้งหมดที่ว่ามา ซินเทีย เวด ผู้กำกับสารคดีชาวอเมริกัน บังเอิญได้รับรู้เข้าขณะเดินทางไปถ่ายโฆษณาในอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ. 2012 และสนใจมาก เธอจึงแวะไปดูพื้นที่จริงและถ่ายทำคลิปสั้น ๆ เก็บไว้ แต่การจะขยายมันให้กลายเป็นสารคดีขนาดยาวนั้นไม่ใช่อะไรที่จะทำคนเดียวได้ เธอต้องการผู้ร่วมงานที่เข้าใจวัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นด้วย โชคดีที่เธอได้พบกับ ซาชา ฟรีดแลนเดอร์ ผู้กำกับที่เคยทำงานเป็นนักข่าวในอินโดนีเซียและพูดภาษาบาฮาซาได้คล่อง ทั้งคู่จึงจับมือกันสร้างสรรค์สารคดีที่มีชื่อว่า Grit เรื่องนี้ออกมา
Grit ใช้เวลาถึง 5 ปีในการระดมทุนและผลิต สองผู้กำกับหญิงต้องเดินทางไปอินโดนีเซีย 9 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ และทำงานถึงวันละ 15-18 ชั่วโมง โดยความท้าทายไม่ได้มีแค่เรื่องเวลาและระยะทาง แต่ยังรวมถึงการทำให้ชุมชนไว้วางใจได้ ฟรีดแลนเดอร์เล่าไว้น่าสนใจว่า “ผู้คนที่นี่สูญเสียทุกอย่าง พวกเขาเคยถูกทีมข่าวหลายทีมให้สัญญาลม ๆ แล้ง ๆ มาก่อน เราจึงต้องใช้เวลาหลายปีในการพูดคุย สร้างความสัมพันธ์ และพิสูจน์ว่าเราจริงจัง”
ความยากอีกข้อหนึ่งคือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องนั้นมีบริบทที่ซับซ้อน สองผู้กำกับจึงต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์และการเมืองของอินโดนีเซียให้กระจ่าง เพื่อให้หนังสามารถสะท้อนภาพของสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐและทุน ไปจนถึงเรื่องบทบาทของสื่อในการนำเสนอความจริง (พวกเธอพบว่าเครือข่ายสื่อหลักในอินโดนีเซียหลายแห่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจบากรี ทำให้การรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์โคลนระเบิดนี้ถูกควบคุม)
รวมถึงประเด็นเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ยังคงดำเนินอยู่ เนื่องจากโคลนที่ไหลออกมาไม่เพียงทำลายบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ทว่ายังปล่อยก๊าซพิษอย่างมีเทนและไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกมาด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องการจัดการกับโคลนโดยการปล่อยลงแม่น้ำซึ่งไหลลงสู่ทะเลบาหลี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและอุตสาหกรรมประมงในท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง
และราวกับว่าแค่นี้ยังซับซ้อนไม่พอ สารคดียังบอกเล่าอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญมาก ๆ นั่นคือการปรับตัวด้วยพลังการต่อสู้และความคิดสร้างสรรค์ของชุมชน ซึ่งลงมือเปลี่ยนพื้นที่ภัยพิบัติของตนให้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วประเทศ ทั้งนักท่องเที่ยว นักวิจัย และศิลปินที่เข้าไปสร้างงาน (แม่ของเดียนเปลี่ยนอาชีพมาเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวชมพื้นที่โคลนระเบิด) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของผู้คนในการสร้างชีวิตใหม่บนซากปรักหักพังที่พวกเขาไม่อาจหลบลี้หนีได้
Grit ได้รับการตอบรับอย่างดีในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่งและได้ออกฉายทาง PBS ในรายการ POV โดยเวดกับฟรีดแลนเดอร์ คาดหวังว่า สารคดีของพวกเธอจะไม่เพียงทำให้เหตุการณ์นี้เป็นที่รับรู้ของผู้คนมากขึ้นเท่านั้น แต่มันยังอาจสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมกล้าต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อ เช่นเดียวกับเดียนและชุมชนของเธอที่ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา จากเด็กหญิงที่เคยวิ่งหนีโคลน เธอได้เติบโตขึ้นมาเป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่กล้าพูด กล้าฝัน และกล้าที่จะท้าทายระบบ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับ "ภูเขาโคลน" ที่ใหญ่โตมหึมาก็ตามที
▶ ติดตามชมสารคดี Grit ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application