ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สิทธิประโยชน์ผู้เกษียณอายุมีอะไรบ้าง ?


Lifestyle

21 ส.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

สิทธิประโยชน์ผู้เกษียณอายุมีอะไรบ้าง ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1518

สิทธิประโยชน์ผู้เกษียณอายุมีอะไรบ้าง ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เกษียณอายุ คือการสิ้นสุดเวลาอันยาวนานของช่วงชีวิตการทำงาน ชีวิตหลังเกษียณมีหลายสิ่งที่ต้องจัดการ และหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ควรรู้คือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แล้วสิทธิประโยชน์สำหรับคนเกษียณมีอะไรบ้าง ?

Thai PBS รวบรวมสิทธิประโยชน์ของคนที่กำลังจะเกษียณอายุที่ควรรู้เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ ทั้งเกษียณอายุจากการทำงานราชการ หรือเกษียณอายุจากการทำงานบริษัทภาคเอกชน สิทธิหลายอย่างคนเตรียมตัวเกษียณรู้ไว้อาจช่วยให้ชีวิตวัยเกษียณง่ายและมีความสุขขึ้น บางสิทธิหากไม่รู้เท่าทันคุณอาจเสียประโยชน์ไม่รู้ตัว

เกษียณอายุราชการ เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ สิทธิที่ควรรู้

เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ ถือเป็นเงินก้อนสำคัญสำหรับใช้ในการเลี้ยงชีพของข้าราชการหลังเกษียณ ถือเป็นสิทธิประโยชน์สำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในบั้นปลาย ข้าราชการจะมีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จและบำนาญขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่เข้ารับราชการ หรือเรียกกันว่า “อายุราชการ” สิทธิ์การเลือกรับเงินบำเหน็จ บำนาญมีรายละเอียด ดังนี้

- ข้าราชการคนนั้นมีอายุราชการตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จเท่านั้น 

- ข้าราชการที่มีอายุราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หากเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี หรือลาออกเมื่ออายุ 50 ขึ้นไป หรือมีเหตุทดแทน กรณียกเลิกตำแหน่งหรือยุบตำแหน่ง รวมถึงการให้ออกจากราชการโดยไม่มีความผิด ข้าราชการผู้นั้นจะสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญได้

- ข้าราชการที่มีอายุราชการตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป เมื่อลาออกสามารถเลือกรับบำเหน็จ หรือบำนาญได้ แต่กรณีอายุราชการมากกว่า 10 แต่ไม่เกิน 25 ปี แล้วลาออกเองจะมีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จเท่านั้น

โดยรายละเอียดการคำนวนเงินที่ได้รับจะต่างกันตามฐานเงินเดือนและอายุราชการ (เศษปีหากเกินถึงครึ่งปีจะนับเป็น 1 ปี และอาจมีการทวีคูณเวลาราชการตามประกาศกฎอัยการศึกของแต่ละพื้นที่)

เงินบำเหน็จ

คือเงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา ซึ่งจ่ายให้ครั้งเดียว โดยจะจ่ายให้ตามฐานเงินเดือนและอายุราชการ มีสูตรการคำนวณคือ เงินเดือนสุดท้าย x อายุราชการ ทั้งนี้ เมื่อรับเงินก้อนนี้แล้วจะไม่ได้รับสิทธิอื่น ๆ อาทิ สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ เงินพิเศษ เงินค่าเล่าเรียนบุตร และบำเหน็จตกทอด แต่ยังคงได้รับการพระราชทานเพลิงศพ

เงินบำนาญ

คือเงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา และให้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต หรือจนถึงวันที่หมดสิทธิรับบำนาญ โดยจ่ายให้เป็นรายเดือน มีสูตรการคำนวณคือ เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ (หารด้วย 50) แต่ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ยังมีเงินส่วนอื่นที่จะได้รับ ประกอบด้วย

เงินบำเหน็จดำรงชีพ คือเงินที่ให้ผู้เลือกรับเงินบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพ มีการแบ่งจ่ายให้เป็นก้อน โดยคำนวณจาก เงินบำนาญ x 15 จะมีการให้ 3 รอบด้วยกัน 1. เมื่อผู้รับเงินบำนาญอายุ 60 ปี มีสิทธิ์รับได้ไม่เกิน 200,000 บาท 2. ผู้รับเงินบำนาญอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี มีสิทธิ์ขอรับไม่เกิน 400,000 บาท โดยหากรับรอบแรกไปแล้ว จะขอรับเพิ่มรวมไม่เกิน 400,000 บาท 3. ผู้รับเงินบำนาญอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ขอรับเงินได้ไม่เกิน 500,000 บาท โดยหากรับเงินในรอบก่อนหน้าไปแล้ว จะขอรับเพิ่มรวมได้ไม่เกิน 500,000 บาท

เงินบำเหน็จตกทอด คือเงินที่จะให้กับทายาทตามกฎหมาย บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือบุคคลที่ผู้รับบำนาญแสดงเจตนามอบให้ไว้ (จะมีรูปแบบเป็นเอกสารแยกเฉพาะ ไม่ใช่พินัยกรรม) โดยเงินได้จำนวนจะเท่ากับ เงินบำนาญ x 30 และหักลบกับเงินบำเหน็จดำรงชีพที่มีการรับไปแล้ว

สำหรับผู้เลือกรับบำนาญ ยังมีสิทธิประโยชน์ส่วนอื่น ๆ เช่น สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยพิเศษกรณีถึงแก่กรรม เป็นต้น ข้าราชการสามารถยื่นเรื่องขอรับบำเหน็จบำนาญและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง dps.cgd.go.th/efiling-pension/

เกษียณอายุคนทำงานประจำภาคเอกชน ได้รับเงินอะไรบ้าง ?

การเกษียณอายุของคนทำงานประจำทั่วไป มนุษย์เงินเดือนที่ทำงานภาคเอกชน แท้จริงแล้วก็มีสิทธิได้รับเงินก้อนหรือเงินรายเดือนคล้ายบำนาญได้เช่นกัน ตามกฎหมายมีระบุในรูปแบบของ “เงินชดเชย” จากนายจ้างและ “เงินชราภาพ” หรือที่เรียกหรือเข้าใจกันว่าเป็น “บำนาญ” จากประกันสังคม

ในส่วนของ “เงินชดเชย” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยปกติแล้วจะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างกรณีเลิกจ้าง โดยคิดตามอัตราค่าจ้างและช่วงเวลาที่ทำงาน

สำหรับกรณีเกษียณอายุของภาคเอกชนนั้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560 มีการเพิ่มเติมให้ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างจึงมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเช่นกัน

โดยการเกษียณอายุจะเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง(สามารถทำงานเกินอายุ 60 ปีได้) หรือหากลูกจ้างอายุเกิน 60 ปี ก็มีสิทธิ์แสดงเจตนาเกษียณอายุต่อนายจ้างได้และให้มีผลภายใน 30 วัน โดยอัตราเงินชดเชยจะขึ้นอยู่กับเงินเดือนและช่วงเวลาทำงานติดต่อกัน ดังนี้

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 120 วัน ไม่เกิน 1 ปี ได้เงินชดเชย 30 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 1 ปี ไม่เกิน 3 ปี ได้เงินชดเชย 90 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี ได้เงินชดเชย 180 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 6 ปี ไม่เกิน 10 ปี ได้เงินชดเชย 240 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 10 ปี ไม่เกิน 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน
- ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 20 ปีขึ้นไป ได้เงินชดเชย 400 วัน

ตัวอย่างเช่น พนักงานผู้ที่จะเกษียณอายุมีเงินเดือนสุดท้ายอยู่ที่ 50,000 บาท หากทำงานมา 20 ปี จะได้เงินชดเชย 400 วัน คำนวนได้เป็น 50,000 x 400/30 ก็จะได้เงินชดเชยเป็นเงินก้อนประมาณ 660,000 บาท อย่างไรก็ตาม กรณีเจ้าหน้าที่องค์การมหาชนที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไรนั้น ยึดตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 นายจ้างจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยในส่วนนี้

ในส่วนของ “เงินชราภาพ” หรือบำเหน็จ บำนาญชราภาพจากประกันสังคมนั้น พนักงานเอกชน มนุษย์เงินเดือนทุกคนมีข้อกำหนดให้ส่งเงินสมบทเข้ากองทุนประกันสังคม ที่มีกำหนดสูงสุดเดือนละ 750 บาท โดยเงินส่วนนี้จะมีการแบ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินออมกรณีชราภาพ ซึ่งจะให้กับผู้ประกันตนเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป หรือก็คือการยื่นเกษียณอายุนั่นเอง

เมื่อผู้ประกันตนเกษียณจะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน จะมีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพในรูปแบบของเงินก้อนหรือเงินรายเดือน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้

จ่ายเงินสมบทน้อยกว่า 12 เดือน (ไม่เกิน 1 ปี) จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมบทเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน

จ่ายเงินสมบท 12-179 เดือน (ตั้งแต่ 1 - 14 ปี 11 เดือน) จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย รวมกับเงินสมบทจากนายจ้าง และผลประโยชน์ตอบแทนจากประกันสังคม (แต่ละปีจะแตกต่างกันไปมาจากกำไรเงินปันผลที่ประกันสังคมนำไปลงทุน อยู่ที่ 3 – 4 % ของเงินสมทบรวมทั้งหมด)

จ่ายเงินสมบท 180 เดือนขึ้นไป (15 ปีขึ้นไป) จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ได้อัตรา 20 % ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (แต่ฐานเงินเดือนสูงสุดของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่เกิน 15,000 บาท ขณะที่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ไม่เกิน 4,800 บาท) และได้เงินเพิ่มอีก 1.5 % ต่อระยะเวลาที่ส่งเงินสมบททุก 12 เดือน เช่น ส่งมา 16 ปี จะได้เงินเพิ่มอีก 1.5 % ส่งมา 17 ปี ก็ได้เงินเพิ่มอีก 3 % นั่นเอง

ตัวอย่างเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเมื่อเกษียณอายุ คำนวณจากระยะเวลาที่ส่งเงินและฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท

ส่งเงินสมบทระยะเวลา 15 ปี ได้รับ 20 % ของเงินเดือน 15,000 บาท จะได้เดือนละ 3,000 บาท
ส่งเงินสมบทระยะเวลา 16 ปี ได้รับ 20 % ของเงินเดือน 15,000 บาท ได้รับเพิ่มอีก 1.5% จะได้เดือนละ 3,225 บาท
ส่งเงินสมบทระยะเวลา 17 ปี ได้รับ 20 % ของเงินเดือน 15,000 บาท ได้รับเพิ่มอีก 3 % จะได้เดือนละ 3,450 บาท

มีข้อควรพิจารณาสำคัญสำหรับคนเกษียณอายุผู้ประกันตนกับเงินบำนาญชราภาพ คือเมื่อเกษียณอายุแล้วจะส่งประกันสังคมต่อเข้ามาตรา 39 หรือไม่ ?

ในส่วนประเด็นเงินบำนาญนั้น การเลือกเข้ามาตรา 39 และส่งเงินต่อจะทำให้ยังได้สิทธิ์รักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ต่อ แต่จะส่งผลต่อเงินบำนาญเพราะจะถูกคิดในฐานเงินเดือนตามมาตรา 39 ที่ไม่เกิน 4,800 บาท เทียบกันแล้วจะทำให้เงินบำนาญได้น้อยลงกว่ามาก

ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ประกันตนเดิมอยู่มาตรา 33 ส่งประกันสังคมมา 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20 % ของฐานเงินเดือน 15,000 จึงได้เงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท แต่หากเกษียณอายุแล้วเข้ามาตรา 39 จะได้รับบำนาญ 20 % ของฐานเงินเดือน 4,800 บาทแทน นั่นคือได้เงินบำนาญเดือนละ 960 บาท เท่านั้น ซึ่งต่างกันมากกว่า 3 เท่า

คนที่กำลังจะเกษียณควรพิจารณาถึงผลได้ผลเสียในประเด็นเงินบำนาญของประกันสังคมมาตรา 33 กับ 39 ร่วมกับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่จะกล่าวต่อไปให้ดีเพื่อเลือกทางเลือกที่เหมาะกับตัวเองที่สุด

เกษียณอายุเข้าสู่วัยได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว

ผู้ที่เกษียณอายุหากมีอายุครบ 60 ปี จะมีสิทธิ์ลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุ สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่ตอนอายุ 59 ปี โดยจะเปิดรับการลงทะเบียนประมาณช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย. และรับเงินในเดือนถัดไปของเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ 

ผู้เกษียณอายุจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในทุกวันที่ 10 ของเดือน หากตรงกับวันหยุดราชการจะเลื่อนมาให้ก่อน จำนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับอายุที่มากขึ้น ดังนี้

อายุ 60 – 69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท
อายุ 70 – 79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท
อายุ 80 – 89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท
อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท

ผู้เกษียณอายุสามารถขึ้นทะเบียนได้ที่จุดบริการ กทม. สำนักงานเขต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ช่องทางรับเงินสามารถเลือกรับผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐหรือบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้ได้

สิทธิรักษาพยาบาล

ชีวิตวัยเกษียณมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น และสุขภาพที่อาจมีปัญหาได้ สำหรับข้าราชการที่เลือกรับบำนาญ ยังคงมีสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการอยู่ สิทธิและขั้นตอนการเบิกจ่ายต่าง ๆ มีรายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานที่สังกัดก่อนเกษียณอายุ

โดยทั่วไปแล้วคือมีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยทั่วไป จะเบิกได้จากสถานพยาบาลของทางราชการเท่านั้น แต่หากเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นอันตรายถึงชีวิต สามารถเบิกได้จากทั้งสถานพยาบาลของทางราชการและเอกชน 

พนักงานเอกชนเมื่อเกษียณอายุแล้ว จะสามารถเลือกได้ระหว่างประกันสังคมโดยส่งเงินต่อและเข้ามาตรา 39 ซึ่งต้องต่ออายุภายใน 6 เดือน หลังออกจากงาน หรือเลือกเกษียณอายุสิ้นสภาพรับบำเหน็จ บำนาญ สิทธิ์รักษาพยาบาลจะได้สิทธิ์บัตรทองโดยอัตโนมัติ

โดยจะได้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่ได้รับจะคล้ายเดิมคือ สิทธิ์การใช้บริการโรงพยาบาลที่เลือกไว้ตามเดิม บริการทันตกรรมไม่เกิน 900 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ผู้เกษียณอายุต้องพิจารณา หากเลือกส่งประกันสังคมต่อจะทำให้สิทธิ์ประกันสังคมมาอยู่ในมาตรา 39 ในการรักษาพยาบาล ส่งผลให้เงินบำนาญปรับมาใช้ฐานเงินเดือนมาตรา 39 ซึ่งทำให้เมื่อแจ้งเกษียณอายุ หรือรับบำนาญจะได้รับบำนาญลดลงมากกว่า 3 เท่า ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาล “ประกันสังคม” กับ “บัตรทอง” ต่างกันอย่างไร ?

ผู้เกษียณอายุที่ทำประกันสังคมต้องคิดให้ดีว่าจะสมัคร “มาตรา 39” เพื่อรับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ แต่ได้เงินบำนาญน้อยลง หรือจะออกจากประกันสังคมเพื่อได้รับเงินบำนาญมากกว่า (3 เท่า) และเลือกใช้ประกันสุขภาพอื่น ๆ อย่าง สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” ซึ่งให้สิทธิรักษาพยาบาลที่เทียบเท่ากันในหลายหัวข้อดังนี้

ประกันสังคม

สิทธิการใช้บริการ ประกันสังคมจะให้ใช้บริการกับโรงพยาบาลที่เลือกไว้
สิทธิการรักษา เป็นไปตามสิทธิการรักษาที่ประกันสังคมกำหนด
ยาที่เบิกได้ ยาทั้งในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติสามารถเบิกได้
บริการทันตกรรม ถอนฟัน อุดปัน ขูดหินปูนไม่เกิน 900 บาท/ปี
ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกิน 700 บาท/วัน

บัตรทอง

สิทธิการใช้บริการ โรงพยาบาลในพื้นที่ร่วมโครงการที่มีการลงทะเบียนไว้
สิทธิการรักษา เป็นไปตามสิทธิการรักษาที่บัตรทองกำหนด (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
ยาที่เบิกได้ ยาทั้งในและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติสามารถเบิกได้ ตามดุลยพินิจของแพทย์
บริการทันตกรรม ไม่จำกัดวงเงินและจำนวนครั้ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต
ค่าห้องและค่าอาหาร ฟรีค่าห้องและอาหารสามัญ เฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น

โดยรวมแล้วคุณภาพมาตรฐานของการให้บริการการรักษามีความใกล้เคียงกัน ข้อแตกต่างที่ชัดเจนจะเป็นเรื่องของปริมาณผู้ใช้บริการที่บัตรทองจะมีผู้ใช้บริการหนาแน่นกว่า ทั้งนี้ การรับบริการทางการแพทย์เทียบกันแล้วเป็นประสบการณ์และความพึงพอใจของแต่ละบุคคล จำเป็นจะต้องเลือกอย่างที่เหมาะกับตัวเอง ขณะที่คุณภาพการให้การรักษาและสิทธิประโยชน์ที่ให้นั้นมีมาตรฐานที่ไม่ได้มีด้อยไปกว่ากัน

เทียบสิทธิ "ประกันสังคม" กับ "บัตรทอง"

วัยเกษียณตรวจรักษาฟรีมีอะไรบ้าง ?

เมื่ออายุมากขึ้น การตรวจสุขภาพรวมถึงการเข้ารับบริการด้านสุขภาพเพื่อป้องกันโรคจะกลายเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่การให้สิทธิหลายอย่างสำหรับคนวัยเกษียณ หรือก็คือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอะไรบ้างมาดูกัน

- ฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก
- ตรวจประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (ADL)
- ตรวจวัดดัชนีมวลกาย และความดันโลหิต
- ตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน และเอชไอวี
- คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมอง ตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า
- ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (50-70 ปี)
- การเคลือบฟลูออไรด์

นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยการให้งบสนับสนุนการให้ความรู้ผ่านสถานบริการสุขภาพในพื้นที่สำหรับผู้เกษียณ ดังนี้
- การให้ความรู้การออกกำลังกายและฝึกสมองป้องกันโรคสมองเสื่อม
- การให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพ
- การตรวจความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน
- บริการสายด่วนปรึกษาสุขภาพ (สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600)

นอกจากยังมีสิทธิรับการรักษา (Treatment) อื่น ๆ เพิ่มเติมฟรีขึ้นอยู่กับช่วงเวลา เช่น การรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยจะมีประกาศให้บริการตามรอบ ชีวิตวัยเกษียณกับสุขภาพ

เกษียณอายุอาจเป็นสิ่งที่หลายคนรู้สึกหวั่นใจ เพราะชีวิตอาจเปลี่ยนแปลงจากเดิมมหาศาล สิทธิประโยชน์หลายอย่างมีขึ้นเพื่อช่วยการมีชีวิตในวัยเกษียณสามารถดำเนินไปได้อย่างดีขึ้น ทุกคนจึงควรรู้ถึงสิทธิประโยชน์ของตัวเองเอาไว้

อ้างอิง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
  • พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ.2560
  • พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สิทธิประโยชน์เกษียณเกษียณอายุ
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด