Secret Story | "อำแดงเหมือน" จากตำนานการต่อสู้สู่การเรียกร้องสิทธิสตรีไทย


Lifestyle

16 ส.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | "อำแดงเหมือน" จากตำนานการต่อสู้สู่การเรียกร้องสิทธิสตรีไทย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1498

Secret Story | "อำแดงเหมือน" จากตำนานการต่อสู้สู่การเรียกร้องสิทธิสตรีไทย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หากจะกล่าวถึงบุคคลสำคัญที่ได้รับการกล่าวอ้างเป็นตำนานของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในประวัติศาสตร์ไทย ชื่อหนึ่งที่เราต้องนึกถึงหนีไม่พ้น ‘อำแดงเหมือน’ หญิงสาวชาวเมืองนนทบุรีวัย 21 ปี ผู้ลุกขึ้นทวงสิทธิในการกำหนดชีวิตของตนเอง ในยุคที่สังคมยังคงถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่อย่างแข็งแกร่ง

เรื่องราวของอำแดงเหมือนเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2408 สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อเธอรักใคร่อยู่กับชายหนุ่มชื่อนายริด แต่กลับถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับนายภูเจ้าของโรงหล่อพระ เพื่อแลกกับหนี้สินที่พ่อเธอก่อเอาไว้ แม้เธอจะคัดค้านอย่างไรก็ไม่เป็นผล ถูกพ่อแม่ใช้กำลังขู่บังคับ ทั้งด่าทอ ทุบตี ไปจนถึงขอให้นายภูมาลากตัวเธอไป อำแดงเหมือนดิ้นรนหนีการจับกุมมาได้ถึง 2 ครั้ง ก่อนจะโดนจับได้ในที่สุดและโดนส่งตัวเข้าคุก แม้แต่ในคุก นายภูก็ยังสั่งให้ผู้คุมใช้กำลังทรมานให้เธอยอมจำนนเป็นภรรยา

แต่ถึงจะยากลำบากขนาดนั้นแล้ว หญิงสาวก็ยังไม่ย่อท้อ เธอกับนายริดวางแผนจนสามารถแหกคุกหนีออกมาได้และพากันเดินทางจากนนทบุรีมายังกรุงเทพฯ เพื่อถวายฎีกาทูลขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อพระองค์ได้ทรงสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วก็ทรงวินิจฉัยว่า เนื่องจากอำแดงเหมือนมีอายุกว่า 20 ปีจึงควรมีสิทธิ์ตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตตัวเองได้ บิดามารดาไม่สามารถยัดเยียดการแต่งงานให้ลูกสาวต้องฝืนใจ หรือนำชื่อเธอไปจำนำจำนองขายได้ตามอำเภอใจเหมือนเป็นทรัพย์สิน 

อำแดงเหมือนจึงมีอิสระที่จะใช้ชีวิตคู่กับนายริดได้ตามที่ปรารถนา โดยให้นายริดจ่ายค่าปรับเป็นเงินให้พ่อแม่เธอและนายภูบ้าง เป็นการยุติคดีความทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น รัชกาลที่ 4 ยังทรงใช้คดีนี้ประกาศให้ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ขัดต่อสิทธิของผู้หญิง ไม่ว่าจะในการหย่าร้างหรือปฏิเสธคำสั่งพ่อแม่ พระราชวินิจฉัยในครั้งนั้นนับเป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญเพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้ผู้หญิงต้องเป็นเบี้ยล่างโดยสิ้นเชิงอีกต่อไป แม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าเป็นการปูทางให้ผู้หญิงมีพื้นที่ต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความกล้าหาญของอำแดงเหมือนก็ไม่ได้ส่งผลให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงไปโดยทันที ความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชายและการกดขี่สตรียังคงดำเนินต่อมา จนเข้าสู่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ผู้หญิงชนชั้นกลางได้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิดเรื่องสิทธิสตรีของตะวันตก ทำให้พวกเธอเริ่มตระหนักรู้ถึงสภาพปัญหาของสังคมไทย 

ช่วงทศวรรษ 2450-2470 จึงเป็นยุคที่ผู้หญิงไทยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิอย่างชัดเจนผ่านการเขียนในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ กันมากขึ้น (เช่น นิตยสาร ‘กุลสตรี’ ที่เริ่มตีพิมพ์บทความถกเถียงถึงความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาและทำงานเท่าเทียมผู้ชาย สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนหญิงและผู้อ่านหญิงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว)

อีกประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในสื่อคือเรื่อง ‘ระบบผัวเดียว-หลายเมีย’ ซึ่งผู้หญิงมองว่าเป็นต้นตอของปัญหาสังคม ขณะเดียวกันพวกเธอก็เริ่มโจมตีผู้มีอำนาจและชนชั้นปกครองว่ามีศีลธรรมเสื่อมทรามและอยุติธรรม ซึ่งนี่สะท้อนได้อย่างดีว่า แนวคิดเฟมินิสต์ร่วมสมัยเริ่มก่อตัวขึ้นในหมู่สตรีไทยชนชั้นกลางแล้ว

ปรากฏการณ์นี้สอดรับกันอย่างพอดีกับกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในทศวรรษ 2470 ซึ่ง ‘ความเหลื่อมล้ำทางเพศ’ กลายมาเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในการสร้างฐานมวลชน ดังจะเห็นว่าเมื่อคณะราษฎรเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ก็ได้มีการประกาศให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่สตรีทันที (ก่อนหน้าประเทศมหาอำนาจหลาย ๆ แห่งเสียอีก) ซึ่งแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปฏิรูป แต่ก็นับเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญมาก

การเปลี่ยนผ่านครั้งนั้นนำไปสู่การปรากฏตัวขององค์กรผู้หญิงอย่างเป็นทางการ โดยในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการจัดตั้ง "สมาคมสตรีไทย" ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น กรรมกร หรือแม้แต่โสเภณี และเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวเรียกร้องนโยบายเพื่อสิทธิสตรีในระดับชาติ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แม้เส้นทางการต่อสู้ของผู้หญิงไทยเพื่อความเสมอภาคจะดูยาวนานและคดเคี้ยว แต่เมื่อเราหันมองย้อนกลับไปในอดีต ก็จะเห็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งจากเรื่องราวของอำแดงเหมือน ผู้ซึ่งไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรม กล้าที่จะลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ 

อำแดงเหมือนจึงไม่ใช่เพียงวีรสตรีในตำนาน แต่การต่อสู้ของเธอเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่ผู้หญิงทุกคนมีอยู่ในตัว และพร้อมจะลุกขึ้นมาใช้เพื่อปกป้องตัวเองและผู้อื่น ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เจตนารมณ์ของเธอจึงเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันสืบสานต่อไปจนกว่าจะถึงวันที่เราได้รับความเป็นธรรมและเสมอภาคอย่างแท้จริง

"ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน" คำกล่าวตอกย้ำความเหลื่อมล้ำสถานภาพทางเพศของหญิงไทยในอดีต แต่ท่ามกลางหมอกควันแห่งกฎหมายและจารีตแห่งการกดขี่ สตรีนางหนึ่งจึงได้ลุกขึ้นเรียกร้องหาความเป็นธรรม 

🎬ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ใน 👉🏻 อำแดงเหมือนกับนายริด

 ▶ รับชมทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Secret StoryVIPAdotMeVIPAละครละครไทยละครไทยพีบีเอสประวัติศาสตร์อำแดงเหมือนกับนายริดสิทธิสตรีอำแดงเหมือนละครพีเรียดอิงประวัติศาสตร์
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด