Sex Worker ควรถูกกฎหมายหรือไม่ ?


สิทธิมนุษยชน

15 ส.ค. 67

พิชญา ใจสุยะ

Logo Thai PBS
แชร์

Sex Worker ควรถูกกฎหมายหรือไม่ ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1495

Sex Worker ควรถูกกฎหมายหรือไม่ ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

 

Sex Worker ในสมัยกรีกโบราณเคยถูกกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม

แต่เมื่อเวลาผ่านไปโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยน ทำให้อาชีพโสเภณีเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นอกจากจะกำหนดภาพให้ ผู้ค้าบริการทางเพศ - “Sex Worker” เป็นคนชั่ว หรือสำส่อนแล้วนั้น ยังส่งผลถึงการจำกัดสิทธิในการค้าบริการทางเพศโดยข้อกฎหมายอีกด้วย

ปัจจุบันแต่ละประเทศกำหนดข้อกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีแตกต่างกันไป บางประเทศอาจถูกกฎหมาย แต่บางประเทศอาจผิดกฎหมาย ที่ใช้บทลงโทษทั่วไป จนไปถึงการใช้บทลงโทษร้ายแรง ความไม่สอดคล้องกันนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของหลาย ๆ ประเทศ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี รวมไปถึงการแสวงหาผลประโยชน์ บทบาททางเพศ จริยธรรมและศีลธรรม เสรีภาพในการเลือก และบรรทัดฐานทางสังคม

อีกทั้งยังมีข้อกังวลว่าอาจมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาจากการค้าบริการทางเพศ ทั้งการค้ามนุษย์ สัดส่วนอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กจะเพิ่มมากขึ้น หรือปัญหาสุขภาพทางเพศ

21 จาก 195 ประเทศทั่วโลก ที่ Sex Worker ถูกกฎหมาย

ประเทศที่ Sex Worker ถูกกฎหมาย มี 21 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ กรีซ, โคลอมเบีย, เซียร์ราลีโอน, ตุรกี, นิวซีแลนด์, เนเธอร์แลนด์, บังกลาเทศ, โบลิเวีย, ปานามา, เปรู, โมซัมบิก, เยอรมนี, เลบานอน, เวเนซุเอลา, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, อุรุกวัย, เอกวาดอร์, เอริเทรีย และ ฮังการี

ยกตัวอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ประกาศรับรองให้อาชีพ Sex Worker ถูกกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ. 2543 เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และยาเสพติด รวมถึงต้องการดูแลเหล่า Sex Worker ที่อยู่ในอุตสาหกรรมให้ทั่วถึง รัฐบาลจึงต้องทำให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้มีอำนาจในการเข้ามาควบคุมดูแลอย่างเต็มที่

แต่ในทางปฏิบัติยังมีรัฐบาลท้องถิ่น ที่พยายามหาช่องโหว่ทางกฎหมายเพิกเฉยต่อใบอนุญาต และต้องการทำให้กฎหมายนี้ล้มเหลว ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก็เสนอให้จัดระเบียบผู้ค้าประเวณี โดยกำหนดให้อายุผู้ใช้บริการต้องมากกว่า 21 ปี และต้องขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ

สถานการณ์ Sex Worker ทั่วโลก ปี 2566

หากลองถอยออกมาดูภาพรวมจะพบว่า ในปัจจุบันมีจำนวน Sex Worker กว่า 52 ล้านคนทั่วโลก เป็นผู้ชาย 10.4 ล้านคน และผู้หญิง 41.6 ล้านคน คิดเป็นกว่า 80% จากจำนวน Sex Worker ทั้งหมด โดยพวกเธอมีอายุเฉลี่ยเพียง 14 ปีเท่านั้น

และจากข้อมูลของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่ามี Sex Worker ที่ถูกค้ามนุษย์กว่า 4.8 ล้านคน เป็นผู้หญิง 51% ผู้ชาย 21% เด็กผู้หญิง 20% และเด็กผู้ชาย 8%

นอกจากนั้น Sex Worker ยังเผชิญปัญหาต่าง ๆ เช่น การถูกล่อลวง การบังคับให้ขายบริการทางเพศ การใช้ความรุนแรงต่อผู้ให้บริการทางเพศ ไปจนถึงการค้ามนุษย์

ขณะที่รายงานจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า การที่ Sex Worker ถูกกฎหมาย จะช่วยลดอัตราการถูกทำร้าย และยังช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพในอุตสาหกรรมค้าบริการทางเพศได้

รวมถึงปัญหาเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมาย และส่งผลกระทบต่อระบบสังคมและเศรษฐกิจ เช่น เงินได้จำนวนมหาศาลจากอาชญากรรมเหล่านี้การสร้างอิทธิพลของผู้กระทำผิด และเอื้อให้องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ยังมีอยู่ หากรัฐสามารถดึงเงินจำนวนมหาศาลจากธุรกิจการค้าประเวณีกลับมาอยู่ในระบบได้ รัฐก็อาจจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น

หันกลับมามอง Sex Worker ในไทย

การค้าบริการทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยมี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 บังคับใช้อยู่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้าบริการทางเพศยังคงมี และดูเหมือนจะไม่ได้ตามหายากเย็นเกินกำลัง

ในปี 2566 อาชีพ Sex Worker ในไทยมีจำนวนกว่า 250,000 คน หรือสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และสามารถสร้างรายได้สูงถึง 6,400 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.16 แสนล้านต่อปี

โดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 กำหนดความผิดของบุคคล 2 ประเภท ด้วยกัน คือ ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ และความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ ดังนี้

1. ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ

1.1) ผู้ที่ติดต่อหรือชักชวน เพื่อการค้าประเวณีอย่างเปิดเผย หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

1.2) ผู้ให้บริการที่เข้าไปมั่วสุมในสถานที่ค้าประเวณี เพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนหรือผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าถูกบังคับหรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ไม่มีความผิด

1.3) ผู้ให้บริการที่โฆษณาหรือเผยแพร่สาธารณะ เพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือของผู้อื่น มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ

2.1) นายหน้าเพื่อการค้าประเวณี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หากได้กระทำต่อบุคคลอายุมากกว่า 15 แต่ยังไม่เกิน 18 ปี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 300,000 บาท แต่ถ้าได้กระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท นอกจากนี้ โทษจะหนักขึ้นถ้าใช้อุบายหลอกหลวง หรือข่มขืนใจ

2.2) พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ที่รู้เห็นในการกระทำนายหน้าค้าประเวณี ต่อคนที่อยู่ในความปกครอง ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี และรู้เห็นเป็นใจในการทำความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 – 400,000 บาท

2.3) เจ้าของกิจการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการหรือสถานการค้าประเวณี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 300,000 บาท นอกจากนี้ ถ้ามีเยาวชนค้าบริการด้วย จะมีโทษจำคุก 5 - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท และกรณีที่มีเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท

2.4) ผู้ใช้บริการทางเพศ โดยหลักแล้วไม่มีความผิด ยกเว้นจะใช้บริการทางเพศจากอายุเกิน 15 แต่ไม่ถึง 18 ปี ในสถานการค้าประเวณี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 3 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 60,000 บาท ถ้าใช้บริการทางเพศจากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี รับโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่ 2 - 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 - 120,000 บาท กรณีนี้ แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะยินยอมก็มีความผิด

ภาคประชาชนเสนอยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

ในด้านภาคประชาชนมองว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 กีดกันไม่ให้ Sex Worker เข้าถึงสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ เช่น อย่างในช่วงโควิด-19 อาจไม่ได้รับเงินชดเชยอย่างที่แรงงานที่มีสิทธิประกันสังคมได้รับ รวมถึงในข้อกฎหมาย กฎหมายฉบับนี้มีขอบเขตการบังคับใช้ไม่แน่นอน และทับซ้อนกับกฎหมายอื่น ๆ อยู่

ข้อเสนอภาคประชาชน
1. ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพราะมีขอบเขตไม่แน่นอน และทับซ้อนกับความผิดกฎหมายอื่น
2. Sex worker ไม่ผิด ติดต่อ-ชักชวนได้ แต่จะผิดเมื่อทำลายความสงบสาธารณะ/เผยแพร่สื่อลามก
3. นายหน้า ผิด โดยโทษหนักขึ้นหากหลอกลวง ขืนใจ และโทษหนักขึ้นอีกถ้าเป็นเด็กเยาวชน
4. เจ้าของกิจการ ไม่ผิด แต่ต้องขออนุญาต โดย Sex worker ต้อง 18 ปีขึ้นไป และผู้ใช้บริการต้อง 20 ปีขึ้นไป
5. ผู้ใช้บริการที่กระทำชำเรา Sex worker มีความผิด

เมื่อยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แล้ว จะป้องกันการค้ามนุษย์อย่างไร ?

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผอ.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ให้สัมภาษณ์ในรายการตรงประเด็น ตอน คุ้มครอง Sex worker คืนศักดิ์ศรีมนุษย์ ว่า

“เป็นการยกเลิกกฎหมายที่เอาผิด Sex Worker คืนสถานะความเป็นมนุษย์ให้เขา แล้วถ้าเขาทำผิดอะไรก็ใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเหมือนกับคนอื่น ๆ ผิดอาญาก็ว่าด้วยอาญา ผิดแพ่งก็ว่าด้วยแพ่ง…

…ถ้ากลัวว่าจะมีการหาประโยชน์ หรือการค้ามนุษย์ ก็ใช้กฎหมายว่าด้วยเรื่องการค้ามนุษย์” สุรางค์ จันทร์แย้ม กล่าว


แล้วคุณคิดว่า Sex Worker ในไทยควรถูกกฎหมายหรือไม่ ?

รับชมเนื้อหาอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้ที่

อ้างอิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Sex worker
พิชญา ใจสุยะ
ผู้เขียน: พิชญา ใจสุยะ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด