"มาร์กาเร็ต แซงเกอร์" มารดาแห่งการคุมกำเนิด


สิทธิมนุษยชน

11 ส.ค. 67

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
แชร์

"มาร์กาเร็ต แซงเกอร์" มารดาแห่งการคุมกำเนิด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1490

"มาร์กาเร็ต แซงเกอร์" มารดาแห่งการคุมกำเนิด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี คือวันแม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่เราจะย้อนกลับไปรำลึกถึงบุญคุณของแม่ หรือ “มารดา” ซึ่งใครต่อใครต่างก็พูดกันว่า นี่คือผู้เสียสละ ทั้งชีวิตและความฝัน ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพื่ออุ้มท้องเก้าเดือน และให้กำเนิดเลือดเนื้อเชื้อไข ที่จะเป็นอนาคตของชาติในเวลาต่อมา 

แน่นอนว่าในโลกของความเป็นจริง หน้าที่ของคำว่า “แม่” มีความหมายกว้างกว่าการตั้งท้องและให้กำเนิด เพราะเด็กหนึ่งคน ก็ต้องการเวลาฟูมฟักดูแล และบ่มเพาะเกือบ 20 ปี กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ใช่ “ผู้หญิง” ทุกคนที่พร้อมจะเป็นแม่คน 

ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีก่อน มีผู้หญิงคนหนึ่งอุทิศชีวิตเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนใส่ใจเรื่องการคุมกำเนิด เธอคนนั้นมีชื่อว่า มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ (Margaret Sanger) ผู้ที่คนทั่วโลกล้วนขนานนามว่า เธอคือมารดาแห่งการคุมกำเนิด เพราะเธอเชื่อว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแม่ได้

จุดเริ่มต้นของ “มาร์กาเร็ต แซงเกอร์” 

มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ เป็นลูกคนที่  6 จากทั้งหมด 11 คน ในครอบครัวยากจน ที่เกิดในปี ค.ศ. 1879  ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด อันเป็นผลมาจากการย้ายถิ่นฐานจากเกาะอังกฤษ เริ่มมีตึกรามบ้านช่องผุดขึ้นเต็มท้องถนน ในขณะที่ครอบครัวของเธอต้องอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเท่านั้น

เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มียาคุมกำเนิด หรือถุงยางอนามัย ผู้หญิงจึงไม่มีสิทธิเลือกที่จะมีลูกหรือไม่มีลูก มาร์กาเร็ตจำได้ว่าแม่ของเธอตั้งครรภ์ถึง 18 ครั้ง และแท้งลูกไปถึง 7 ครั้ง ด้วยเหตุผลทางการแพทย์คือ “ไม่สามารถอุ้มท้องนานถึง 9 เดือนได้”

เมื่อต้องเห็นแม่ ตั้งครรภ์-แท้งลูก-คลอดลูก-ตั้งครรภ์ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้มาร์กาเร็ตอยากเป็นพยาบาล เพราะอยากดูแลสุขภาพแม่ให้แข็งแรงขึ้น และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เห็นว่าชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งต้องแบกรับความเสี่ยงมากมายแค่ไหนจากการเป็น “แม่”

หลังร่ำเรียนวิชาการพยาบาลมาอย่างยาวนาน วันหนึ่งมาร์กาเร็ตได้มีโอกาสเข้าไปทำงานที่โรงพยาบาลทางตอนใต้ของมหานครนิวยอร์ก ในแผนกสูติศาสตร์ ซึ่งมีผู้หญิงเข้ามาฝากครรภ์ในวัน ๆ หนึ่งเป็นจำนวนมาก ไล่มาตั้งแต่เด็กสาวอายุ 17 ปี ไปจนถึงผู้หญิงอายุ 40 กว่า ๆ  ที่ล้วนมีปัญหาชีวิตในมุมที่แตกต่างกัน

ผู้หญิงอายุ 40 ปี คนหนึ่ง ถูกหามส่งโรงพยาบาล และสุดท้ายก็ต้องมาตกเลือดตาย เพราะแท้งลูก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีลูกมาแล้วนับสิบคน จนร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะอุ้มท้องลูกต่อไปอีก 9 เดือนได้ เพราะขาดสารอาหาร เนื่องจากฐานะยากจน

ในขณะที่เด็กสาวอายุ 17 ปี ซึ่งมาจากครอบครัวชนชั้นสูง แต่ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาล เพราะติดเชื้อทางกระแสเลือด เป็นผลมาจากการแอบหนีไปทำแท้งเถื่อนตามคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ และสุดท้ายก็ต้องเสียชีวิตไปในที่สุด

การที่มาร์กาเร็ตได้พบเห็นชีวิตของผู้หญิงหลายต่อหลายคน ที่วนเวียนเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ในโรงพยาบาล ทำให้เธอตระหนักขึ้นได้ว่าปัญหาชีวิตของผู้หญิงเหล่านั้นเกิดจากการเป็นแม่คนด้วยความไม่พร้อม ทั้งทางร่างกาย วุฒิภาวะ และฐานะทางสังคม เธอจึงลาออกจากการเป็นพยาบาล มาทำงานขับเคลื่อนด้านการคุมกำเนิดแบบเต็มตัว 

จากพยาบาลสาว สู่นักขับเคลื่อนสิทธิสตรี

สิ่งแรกที่มาร์กาเร็ตทำในฐานะนักขับเคลื่อนสิทธิสตรี เพื่อการคุมกำเนิด คือการเขียนบทความชื่อ ‘สิ่งที่แม่ทุกคนควรรู้’ (What Every Mother Should Know) ในปี ค.ศ. 1911-1912 ที่พูดถึงความสำคัญของการคุมกำเนิด ตามมาด้วยบทความ  ‘การต่อสู้เพื่อการคุมกำเนิดของฉัน’ (My Fight for Birth Control) ซึ่งบอกเล่าถึงการมีเพศสัมพันธ์, การอธิบายว่าผู้หญิงท้องได้อย่างไร , หน้าที่และความสำคัญของอวัยวะเพศชายและหญิง ที่เธอเชื่อมั่นว่า “หลายครอบครัวจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้ามีขนาดครอบครัวที่เล็กลง”

ในยุคสมัยที่เรื่องเพศและการสืบพันธุ์ถูกมองเป็นเรื่องวิตถาร บทความของมาร์กาเร็ตเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติปี 1873 ของสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการควบคุมวรรณกรรมประเภทสื่อลามกอนาจาร บทความทางเพศผิดศีลธรรม และอุปกรณ์คุมกำเนิด และกฎหมายคอมสตอก (Comstock) ที่ห้ามใช้ไปรษณีย์เพื่อเผยแพร่การคุมกำเนิดหรือข้อมูลหรืออุปกรณ์คุมกำเนิด นอกจากนี้ยังมีกฎหมายต่อต้านการคุมกำเนิดในหลายรัฐด้วย

ดังนั้น การเขียนบทความเรื่องการคุมกำเนิดของมาร์กาเร็ต จึงไม่ใช่แค่การต่อสู้กับค่านิยมเดิมในสังคมชาวอเมริกัน แต่ยังเป็นการต่อสู้กับกฎหมายและความเชื่อเรื่องคริสตจักรคาทอลิก ซึ่งถือว่าการคุมกำเนิดเป็นบาปอีกด้วย

นางงามหนึ่งร้อยศาล

ถัดมาในปี ค.ศ. 1914 มาร์กาเร็ตเดินสายขึ้นโรงพักและสถานีโทรทัศน์แทบจะวันเว้นวัน จนได้มีโอกาสเป็นนักเขียนบทความให้นิตยสาร The Woman Rebel ซึ่งเป็นนิตยสารหัวก้าวหน้าสำหรับผู้หญิงที่โด่งดังในอเมริกา และได้เขียนบทความเรื่อง ‘ข้อจำกัดของการสร้างครอบครัว’ (Family Limitation) เพื่อให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเข้าใจความสำคัญของการคุมกำเนิด เป็นผลงาน Masterpiece อีกชิ้นหนึ่งในชีวิตของมาร์กาเร็ต จนเธอต้องไปฉลองความสำเร็จบนชั้นศาล เพราะมีคนเอาบทความของเธอไปฟ้องร้องว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่ขัดต่อหลักศีลธรรมศาสนา

จากนั้นอีก 2 ปี มาร์กาเร็ตได้เปิดคลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.  1916 โดยใช้ความรู้ด้านการแพทย์ที่ตัวเองมี แต่เปิดได้ไม่นานก็ถูกจับเข้าคุก ในข้อหาสร้างความรำคาญในที่สาธารณะ และเปิดสถานพยาบาลที่มีข้อความชักชวนให้ผู้หญิงออกมาคุมกำเนิด ผิดพระราชบัญญัติปี 1873 ว่าด้วยการควบคุมวรรณกรรมประเภทสื่อลามกอนาจารและอุปกรณ์คุมกำเนิด ซึ่งเป็นข้อหาเดิมที่ทำให้เธอเคยโดนจับเข้าคุกมาแล้ว แต่ผลลัพธ์ในครั้งนี้รุนแรงกว่ามาก เพราะเธอถูกตัดสินจำคุกนานถึง 1 เดือน แต่เธอก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการฝากเพื่อนที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นแรก ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีออกสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง ด้วยความหวังลึก ๆ ว่าข้อเขียนของเธอ อาจจะทำให้เกิดการตั้งคำถามในสังคมขึ้นมาได้ว่า “ผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิเลือกที่จะเป็น หรือไม่เป็นแม่ใครสักคน ในวันที่เธอยังไม่พร้อม”

มีครั้งหนึ่งที่มาร์กาเร็ตต้องขึ้นไปให้การบนชั้นศาล ถ้าเป็นคนอื่น คงขึ้นไปด้วยความหวาดหวั่น แต่นั่นไม่ใช่มาร์กาเร็ต แซงเกอร์ สิ่งที่เธอเลือกทำคือการพูดกับศาลอย่างตรงไปตรงมาว่า พระราชบัญญัติปี 1873 เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง และไม่เข้าใจความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน โดยเล่าถึงประสบการณ์ทั้งหมดที่เธอเคยเจอ จากการทำงานเป็นพยาบาลในแผนกสูติศาสตร์ มีผู้หญิงจากหลายครอบครัวต้องพบเจอกับความสูญเสีย เจ็บป่วยและล้มตายจากการตั้งครรภ์ทั้งที่ร่างกายตัวเองไม่พร้อม แต่ไม่สามารถคุมกำเนิดได้ เพราะขาดความรู้ ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ไม่เข้าใจถึงการคุมกำเนิดหรือวางแผนครอบครัว ซึ่งเธอยืนยันว่า “หากนิวยอร์กยังใช้พระราชบัญญัติแบบนี้ต่อไป ก็คงไม่ต่างอะไรกับดินแดนห่างไกลที่อื่น”

ด้วยการพูดที่ทรงพลัง ทำให้เรื่องสิทธิในการคุมกำเนิดถูกกล่าวถึงในวงกว้าง จนเกิดการประท้วงเพื่อให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชบัญญัติปี 1873  ท้ายที่สุดรัฐบาลอเมริกันในสมัยนั้น จึงตัดสินใจยกเลิกการควบคุมวรรณกรรมประเภทสื่อลามกอนาจารและอุปกรณ์คุมกำเนิด และอนุญาตให้โรงพยาบาลในนิวยอร์กนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาคุมกำเนิดได้


จาก “มารดาแห่งการคุมกำเนิด” สู่ “ประธานสหพันธ์การเลี้ยงดูบุตรระดับนานาชาติ” คนแรกของโลก

หลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการคุมกำเนิดได้สำเร็จ มาร์กาเร็ตก่อตั้ง “สมาคมคุมกำเนิด” ที่ทำงานภายใต้สมาพันธ์การคุมกำเนิดแห่งอเมริกา โดยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมกิตติมศักดิ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 - 1928 ได้ศึกษาถึงปัญหาของการคุมกำเนิดในประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป และได้รับตำแหน่งประธานสหพันธ์การเลี้ยงดูบุตรระดับนานาชาติคนแรกของโลก จากการออกเดินสายรณรงค์ สร้างความเข้าใจใหม่ให้กับคนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอินเดียและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะจนติดอันดับโลก ว่าการคุมกำเนิดไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ถ้าเรายังไม่พร้อม ก่อนที่เธอจะจากโลกใบนี้ไปในปี ค.ศ. 1966 ด้วยวัยเพียง 87 ปีเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่ตัวผู้เขียนรู้สึกได้จากการค้นคว้าเรื่องราวของมาร์กาเร็ต แซงเกอร์ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเธอ นั่นคือความเซอร์ไพร์ส เราคงไม่สามารถตัดสินได้ว่าการคุมกำเนิดเป็นเรื่องผิดหรือถูก เพราะสิ่งที่สำคัญและเห็นได้ชัดที่สุดจากการต่อสู้ของมาร์กาเร็ตคือการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เลือกทางเดินชีวิตของตัวเองบ้าง ว่าตัวเองอยากจะเป็นทั้งแม่และเมียที่ดี หรือพร้อมที่จะเสียสละชีวิตอีกมุมหนึ่งเพื่อเป็น “แม่” ให้ใครสักคนจริง ๆ หรือไม่  

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
Margaret Sanger (American social reformer)

The National Women’s History Museum

The Archives of Women's Political Communication 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันแม่แห่งชาติวันสำคัญมาร์กาเร็ต แซงเกอร์การคุมกำเนิดมารดาแห่งการคุมกำเนิดการคุมกำเนิด
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ผู้อุทิศชีวิตให้ชานมไข่มุกหวาน 100%

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด