โอลิมปิก ปารีสเกมส์ กับไอเดียรักษ์โลก


กีฬา

8 ส.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

โอลิมปิก ปารีสเกมส์ กับไอเดียรักษ์โลก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1478

โอลิมปิก ปารีสเกมส์ กับไอเดียรักษ์โลก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

โอลิมปิก 2024 มีการประกาศชัดเจนที่จะเป็นโอลิมปิกที่รักษ์โลกมากที่สุด ทว่าที่ผ่านมาโอลิมปิกมักมาคู่กับการเป็นมหกรรมกีฬาสุดยิ่งใหญ่ ที่รวมตัวของผู้คนมากมาย ทั้งนักกีฬาและผู้ชมจากทั่วโลก แล้วจะทำอย่างไรเพื่อช่วยรักษ์โลกไปด้วยได้

Thai PBS พาไปดูไอเดียรักษ์โลกจากโอลิมปิก 2024 กัน มีอะไรน่าสนใจและคุณอาจคิดไม่ถึงบ้าง

อาคารและสนามกีฬา เน้นใช้ของเดิม เพิ่มเติมด้วยความยั่งยืน

โอลิมปิกที่ผ่าน ๆ มา เมืองที่ได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพ มักมีการสร้างอาคารสำหรับใช้ประโยชน์เพื่องานครั้งนั้นโดยเฉพาะ หลังจากนั้นอาจมีการรื้อทิ้ง แต่กับโอลิมปิก 2024 เจ้าภาพเน้นใช้อาคารที่มีอยู่เดิม แล้วนำมาปรับปรุงเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน 

ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาที่ใช้สำหรับแข่งขัน สนามกีฬาสำหรับฝึกซ้อม รวมถึงที่พักนักกีฬา มีการสร้างสนามกีฬาใหม่เพียง 2 แห่งจากที่ใช้งานทั้งหมด 35 แห่ง และจะใช้งานต่อไปในอนาคตอีกด้วย

หนึ่งในสนามกีฬาที่สร้างใหม่คือ ศูนย์กีฬาทางน้ำโอลิมปิก หรือ Olympic Aquatics Centre ที่ตั้งอยู่ในแซงต์-เดอนีส์ โดยเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ใช้คอนกรีตคาร์บอนต่ำ และโลหะรีไซเคิล โดยเป็นโลหะที่มาจากการรื้อซากอาคารที่พักแล้วนั่นเอง

ศูนย์กีฬาทางน้ำโอลิมปิก (Olympic Aquatics Centre)

ออกแบบอาคารเพื่อไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ

ห้องพักนักกีฬาในโอลิมปิกครั้งนี้ จะไม่มีเครื่องปรับอากาศ ผู้จัดงานเผยว่าหมู่บ้านนักกีฬาที่เมืองแซงต์ เดนีส์ ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ได้มีการออกแบบให้หน้าอาคารมีส่วนที่รับแดดไม่มากเกินไป และมีการใช้ฉนวนกันความร้อนประสิทธิภาพสูง และมีการใช้น้ำเย็นจากใต้ดินเพื่อช่วยทำความเย็นให้กับอาคาร 

อย่างไรก็ตาม โอลิมปิกที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศให้กับนักกีฬา กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ทำให้ทีมกีฬาจากหลายชาติ ต้องจัดเตรียมแอร์มาให้กับนักกีฬาของตนเอง

หมู่บ้านนักกีฬาที่เมืองแซงต์ เดนีส์

อาหารท้องถิ่นและอาหารจากพืชเป็นหลัก (plant-based food)

โอลิมปิกครั้งนี้มีการคาดการณ์กันว่าจะมีการทำอาหารสำหรับทั้งผู้ชมและนักกีฬารวมแล้วมากถึง 13 ล้านมื้อ คณะกรรมโอลิมปิกเจ้าภาพตั้งเป้าให้แต่ละมื้ออาหารในโอลิมปิกครั้งนี้ เป็นอาหารท้องถิ่น เพื่อลดคาร์บอนจากการขนส่ง และเน้นอาหารจากพืช (plant-based food) เป็นส่วนใหญ่ราว 60 %

มื้ออาหารส่วนใหญ่ที่เสิร์ฟในโอลิมปิกครั้งนี้จึงจะเป็นอาหารที่เป็นมิตรกับสัตว์ (animal - free) ได้แก่ อาหารที่ส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบกับชีวิตสัตว์ หรือเป็นอาหารมังสวิรัติ เชฟตามร้านอาหารในงานโอลิมปิกมีการสร้างสรรค์เมนูเฉพาะขึ้นจากเมนูดั้งเดิม เช่น สตูว์เนื้อตุ๋นไวน์แดงที่เป็นเมนูท้องถิ่นขึ้นชื่อของฝรั่งเศส จะมีการปรับให้เป็นมังสวิรัติโดยใช้พืชผักเป็นส่วนผสมแทน โดยพืชผักเหล่านั้นก็มาจากแหล่งปลูกใกล้กับกรุงปารีสที่เป็นแหล่งพืชพันธุ์ขั้นยอดอีกด้วย

ขณะที่เมนูอาหารที่มีชื่อเสียงอย่างฟัวกราส์ (Foie Gras) หรือตับเป็ดจะไม่มีการเสิร์ฟ เนื่องจากเป็นอาหารที่กระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ ส่วนอะโวคาโด้ก็ไม่สามารถหาได้ในโอลิมปิกครั้งนี้เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ต้องนำเข้าจากพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังต้องใช้น้ำปริมาณมากในการปลูกซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงอีกด้วย 

นอกจากเมนูอาหารบนจานแล้ว โอลิมปิก 2024 ผู้จัดงานได้แบนการใช้จาน ภาชนะใส่อาหารต่าง ๆ และขวดพลาสติกที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แม้แต่ในการแข่งวิ่งมาราธอน ซึ่งจะให้ทุกคนใช้ภาชนะแบบใช้ซ้ำได้เท่านั้น

ขนส่งมวลชนและจักรยาน หัวใจหลักของการเดินทาง

การเดินทางภายในโอลิมปิกครั้งนี้จะให้ใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะเป็นหลัก เมืองปารีสเจ้าภาพได้มีการวางแผนรับมืองานโอลิมปิกที่คาดกันว่าจะมีคนเข้าร่วมกว่า 2 ล้านคน เพื่อมอบประสบการณ์การใช้ขนส่งมวลชนคาร์บอนต่ำที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ โดยมีการเพิ่มทางเลือกในสำหรับการใช้บริการมากขึ้น ทั้งเส้นทางการเดินทางเพิ่มขึ้น และจำนวนรอบการให้บริการที่มากขึ้นเพื่อลดระยะเวลาการรอของทั้งนักกีฬาและผู้เข้าชม

ส่งเสริมการใช้จักรยานด้วยเพิ่มจุดให้บริการและเพิ่มเส้นทางจักรยานที่เชื่อมถึงกัน มีการเชื่อมไปถึงขนส่งมวลชนสาธารณะ และไม่อนุญาตให้รถส่วนตัวเข้าถึงส่วนด้านใน โดยมีบริการที่จอดรถให้รอบนอกเพื่อให้จอดและสัญจรเข้ามาด้วยขนส่งมวลขนสาธารณะเท่านั้น

การเดินทางคมนาคมคาร์บอนต่ำทั้งเมือง

พลังงานหมุนเวียน พลังงานของโอลิมปิก 2024 

พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโอลิมปิด 2024 ทั้งหมดเป็นพลังงานหมุนเวียน โดยที่ผ่าน ๆ มา โอลิมปิกมีการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อหลังมากขึ้น 13,000 ตัน พลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในโอลิมปิกครั้งนี้ทั้งหมดมาการผลิตจากหลายทาง ตั้งแต่หลังคาโซลาร์เซลล์ในตามอาคารที่จัดงานรวมถึงแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่แม่น้ำแซน มีการสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้า โซลาฟาร์ม (solor farm) ซึ่งหลังจบโอลิมปิกไปแล้ว หลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ก็จะยังคงมีการใช้ต่อไปอีกด้วย

ปลูกและปกป้องป่าทดแทนคาร์บอนเครดิต

โอลิมปิก 2024 มีเป้าหมายที่ให้เป็นโอลิมปิกที่จะปราศจากการใช้คาร์บอน ทว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินไป แม้จะใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด แต่ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดคาร์บอนซึ่งยากจะหลีกเลี่ยง เช่น การบินมาร่วมแข่งขันของนักกีฬาจากประเทศที่อยู่ไกล

จากการแนวคิดคาร์บอนเครดิตที่แปลงการก่อคาร์บอนเป็นเครติดกลางที่สามารถนทดแทนได้ เจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนี้จึงมีแผนการลงทุนในโครงการเพื่อปกป้องแหล่งธรรมชาติใหญ่เต็มไปด้วยความหลากหลายในประเทศเคนย่าและกัวเตมาลา นอกจากนี้มีการทำโครงการปลูกป่า 4 แห่งภายในประเทศฝรั่งเศสเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกกว่า 145,000 ตัน

โอลิมปิก 2024 นี้กำลังจะได้ชื่อว่าเป็นโอลิมปิกรักษ์โลก และยั่งยืนที่สุด มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นไอเดียแปลกใหม่ บ้างก็น่าสนใจ แต่บางไอเดียก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทว่าก็สิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนถึงความพยายามที่จะไปให้ถึงโลกในอุดมคติที่ต้องการทั้งความสะดวกสบายและลดผลกระทบที่มีต่อโลกอย่างยั่งยืน
 

อ้างอิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โอลิมปิกโอลิมปิก 2024รักษ์โลกเทรนด์รักษ์โลก
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ