ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “การตรวจเพศในกีฬา” และ “ระดับเทสโทสเตอโรน” ส่งผลต่อการแข่งขัน


กีฬา

3 ส.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “การตรวจเพศในกีฬา” และ “ระดับเทสโทสเตอโรน” ส่งผลต่อการแข่งขัน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1463

รู้จัก “การตรวจเพศในกีฬา” และ “ระดับเทสโทสเตอโรน” ส่งผลต่อการแข่งขัน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

โอลิมปิก 2024 กำลังกลายเป็นเวทีของข้อถกเถียงครั้งใหญ่ หลังจากที่ แองเจล่า คารินี (Angela Carini) นักมวยหญิงจากอิตาลี ตัดสินใจยอมแพ้ต่อ อิมาน เคลิฟ (Iman Khelif) คู่ชกจากแอลจีเรีย พร้อมประท้วงถึงความไม่ยุติธรรมหลังชกเพียง 46 วินาที


เหตุเกิดจาก อินาม เคลิฟ คู่ชกที่ดูเหมือนผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เกิดเป็นกระแสข้อถกเถียงกันถึงความหลากหลายทางเพศ เพศทางชีววิทยา และความไม่ยุติธรรมในการแข่งขันมวย

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อถกเถียงจากการกรณีนักกีฬาหญิงที่ดูเหมือนชายเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตัวแปรในการตัดสินตอนนี้คือ การใช้การตรวจระดับ “เทสโทสเตอโรน” หรือฮอร์โมนเพศชายนั่นเอง

Thai PBS ขอชวนทุกคนไปรู้จัก การตรวจเพศในการแข่งขันกีฬา ระดับเทสโทสเตอโรนคืออะไร ? และส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรบ้าง ? แล้วที่มาที่ไปเหตุใดจึงใช้การตรวจระดับฮอร์โมนนี้ ?

อิมาน เคลิฟ (Iman Khelif)

ตรวจเพศในนักกีฬาเริ่มต้นอย่างไร ?

ย้อนกลับไปในอดีต โอลิมปิกยุคใหม่ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1896 นั้นมีแต่การแข่งขันสำหรับนักกีฬาชาย การแข่งขันสำหรับนักกีฬาหญิงเริ่มขึ้นในอีก 4 ถัดมาเท่านั้น ซึ่งการแบ่งเพศในยุคนั้นใช้เพียงเพศตามสูติบัตร หรือก็คือตามเพศกำเนิดที่หมอแจ้งนั่นเอง

ในช่วงแรกเริ่มนั้นการแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะประเภทกีฑาเกิดกรณีของนักกีฬาหญิงที่ดูเหมือนผู้ชาย โดยมีกรณีตั้งแต่ สเตลล่า วอลซ์ (Stella Walsh) นักกรีฑาหญิงจากโปแลนด์ ดอรา รัตเยน (Heinrich Ratjen) นักกีฬากระโดดสูงจากเยอรมัน จนถึงซเดน่า คุบโคน่า (Zdena Koubková) นักกีฑาหญิงจากเชโกสโลวะเกีย ในช่วงก่อนโอลิมปิกปี 1936

โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ ซเดน่า คุบโคน่า ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ทำลายสถิติหลายอย่างได้พบกับการความเปลี่ยนแปลงในร่างกายจนได้ทำการเปลี่ยนเพศ และเผยในเวลาต่อมาว่าตนเองมีภาวะเพศกำกวมหรือ intersex การศึกษาเกี่ยวกับการตรวจเพศ (sex testing) ในกีฬาอย่างเป็นระบบจึงค่อย ๆ เกิดขึ้น

ซเดน่า คุบโคน่า (Zdena Koubková)

ทั้งนี้ ฉากหลังของโอลิมปิก 1936 ที่เบอร์ลินมีความขัดแย้งในช่วงสงครามโลกที่ให้การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศเป็นเวทีแสดงพลังของชาติ จึงทำให้กรณีการโกงด้วยเพศ (sex fraud) กลายเป็นกรณีอ่อนไหว คือมีนักกีฬาหญิงถูกโจมตีว่าโกงด้วยเรื่องเพศจำนวนนึง ซึ่งในเวลาหลายปีต่อมาบางคนถูกเปิดเผยข้อมูลว่าเป็น intersex อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นการแข่งขันของพวกเธอก็ได้รับการยอมรับจากโอลิมปิก และไม่ถือว่าพวกเธอทำผิดกติกาสำหรับการแข่งชันในประเภทหญิง

แต่ผลสืบเนื่องจากข้อครหา “การโกงด้วยเพศ” จุดประเด็นให้เกิดการตรวจเพศอย่างเป็นระบบเริ่มมีการศึกษาและหาแนวทางการตรวจสำหรับกีฬาอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา

ตรวจเพศนักกีฬาหญิง ดูด้วยตาจนถึงโครโมโซม

การตรวจเพศนักกีฬาเริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 นั้นเอง โดยมีตั้งแต่การตรวจด้านเอกสารยืนยันทางการแพทย์ แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นมากนัก ประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพของนักกีฬาได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ความเป็นผู้หญิง” โดยสรุปรวมทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมเพื่อนำมาไปสู่นิยามที่ยอมรับได้ในกีฬาระดับชาติ และการตรวจเพศก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญหลังทศวรรษที่ 1960

ตัวแปรสำคัญในครั้งนี้คือความสำเร็จของทีมนักกีฬาหญิงจากสหภาพโซเวียดและเยอรมนีตะวันตก ทำให้องค์กรกีฬาในยุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นหญิง ยังมีสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ร่วมพูดคุยถึงประเด็นเรื่องเพศโดยเฉพาะกรณีของพี่น้องอิรินา และทามาร่า เพรส ทว่าความน่าสงสัยที่นำไปสู่การตรวจเพศกลับไม่เคยเกิดขึ้น (ที่ ณ เวลานั้นยังไม่มีขั้นตอนอย่างเป็นทางการ เป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้น) เนื่องจากทั้ง 2 ได้ขอถอนตัวไปเสียก่อน สิ่งนี้ยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับข้อถกเถียงว่า การตรวจเพศควรทำอย่างไร ?

ถึงตอนนี้การตรวจเพียงเอกสารทางการแพทย์ที่ยืนยันเรื่องเพศไม่เพียงพออีกต่อไป ในช่วงปีทศวรรษที่ 1950 (1952-1967) มีการตรวจเพศที่ใช้วิธีการที่เรียกกันว่า Physical Examination เป็นการให้แพทย์ตรวจดูอวัยวะเพื่อยืนยันว่าตรงกับเพศ แน่นอนว่านักกีฬาหญิงมากมายรู้สึกไม่ดีกับวิธีการดังกล่าว ทั้งยังมีข้อครหา เช่น แพทย์อาจวินิจฉัยว่านักกีฬาหญิงคนนั้น ๆ มีลักษณะทางเพศเป็นชายมากเกินไป อย่างการไม่มีหน้าอก หรือมีกล้ามเนื้อที่ถูกใหญ่เกินกว่าจะเป็นผู้หญิง และถูกตัดสิทธิ์ได้

การตรวจด้วยโครโมโซม (chromosomal test) ถูกค้นพบและนำมาใช้ในปี 1967 เอวา โคลบูคอฟส์กา (Ewa Kłobukowska) นักวิ่งระยะสั้นหญิงจากโปแลนด์กลายเป็นเคสแรก ๆ ที่ผ่านการตรวจด้วย Physical Examination แต่ไม่ผ่านการตรวจเพศด้วยโคโมโซม ซึ่งในเวลาต่อมาหลังจากที่เธอถูกลิบรางวัล เธอยังคงใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงและมีลูก การตรวจด้วยโครโมโซมเริ่มถูกตั้งคำถามถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

การตรวจด้วยโครโมโซมกลายเป็นวิธีตรวจเพศมาตรฐานในกีฬาระดับชาติกินเวลายาวนานถึง 30 ปี (1968 – 1996) การตรวจเพศด้วยโครโมโซมก็มาถึงจุดเปลี่ยนในปี 1996 เพราะผู้หญิงบางคนมีโครโมโซม XY เหมือนผู้ชาย กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นคือนักวิ่งข้ามรั้วหญิง Maria Martinez-Patino ที่ถูกตรวจพบว่ามีโครโมโซม XY โดยเธอต่อสู้มาอย่างยาวนานจนมีผลการตรวจระดับเทสโทสเตอโรน (testosterone) พบว่ามีปฏิกิริยาเป็น 0 หรือก็คือเธอไม่ได้มีความได้เปรียบใดใดเลย

จากการมีโครโมโซมแบบเพศชาย สาเหตุก็มาจากที่ว่าเธอเป็นมีกลุ่มอาการต่อต้านแอนโดรเจน (androgen insensitivity syndrome - AIS) ตอนนี้เองที่เทสโทสเตอโรนเริ่มเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งของการตรวจเพศในกีฬาสำหรับยุคปัจจุบัน

Maria Martinez-Patino

เทสโทสเตอโรน ความได้เปรียบในการแข่งขันกีฬา

เทสโทสเตอโรน (testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชาย ในโลกกีฬาถือเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญในการสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันกีฬาที่ต้องใช้พละกำลัง โดยปกติแล้วในเพศชายจะมีเทสโทสเตอโรนอยู่ที่ 7.7-29.4 nmol/L (หน่วยวัดปริมาณฮอร์โมนเป็นนาโนลิตร) ขณะที่ผู้หญิงโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 0.12-1.79 nmol/L

เมื่อเทสโทสเตอโรนส่งผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขันกีฬา การตรวจเพศในกีฬาจึงมีเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาหลังจากการตรวจโครโมโซมถูกตั้งข้อสงสัยหลายครั้ง มีนักกีฬาเกิดมาเป็นหญิงหลายคนมีความผิดปกติที่โครโมโซมเป็น XY ทั้งกรณีอาการกลุ่มอาการต่อต้านแอนโดรเจน (AIS) และอาการผิดปกติของพัฒนาการระบบอวัยวะเพศ (Disorder of Sexual Development - DSD)

ลักษณะของอาการมีกรณีที่เกิดมาพร้อมโครโมโซม XY แต่การทำงานของฮอร์โมนเพศมีความผิดปกติ ทำให้ร่างกายเกิดมาเป็นผู้หญิงแต่ก็มีการผลิตฮอร์โมนเพศชายขึ้นมาจนร่างกายมีความเป็นชายมากขึ้นในภายหลัง ทำให้นักกีฬาหญิงที่มีโครโมโซม XY สามารถลงแข่งได้

ทำให้ในช่วงเวลาหนึ่งที่การตรวจเพศด้วยโครโมโซนผ่อนปรนลง การตรวจเพศจะมีลักษณะเป็นรายกรณี พิจารณาตามชนิดกีฬา โลกยังคงพยายามทำความเข้าใจกับความหลากหลายของทางร่างกายของเพศตามแต่ละชนชาติ

กระทั่งกรณีของ คาสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) นักกรีฑาดาวรุ่งจากแอฟริกาใต้ ที่มีภาวะ DSD เธอคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาได้ 2 สมัย ด้วยมัดกล้ามที่ดูเหมือนผู้ชาย เสียงทุ้มต่ำ แม้จะมีการยืนยันตัวตนพร้อมข้อวินิจฉัยทางการแพทย์ว่ามีภาวะ DSD นั่นคือถือเป็นผู้หญิงแต่กำเนิดแน่นอน แต่ก็มีความได้เปรียบทางกายภาพอย่างชัดเจน

องค์กรด้านกีฬาที่เกี่ยวข้องจึงประชุมและได้ข้อสรุปเป็นการวัดระดับเทสโตสเทอโรน (Testosterone regulations) ซึ่งถือเป็นฮอร์โมนที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกีฬา โดยกำหนดขึ้นในปี 2011 มีการจำกัดให้ระดับเทสโทสเตอโรนของนักกีฬาหญิงต้องต่ำกว่า 10 nmol/L

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนก็ยังคงมีการศึกษากันอย่างต่อเนื่อง มีข้อค้นพบว่าระดับเทสโทสเตอโรนไม่มีความเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพในการแข่งขันกีฬาหญิงหลายชนิด แต่ในการแข่งขันที่เน้นพละกำลังอย่างการวิ่งระยะสั้น การขว้างจักร รวมถึงพุ่งหลาวนั้น ระดับเทสโทสเตอโรนยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่

กรณีอิมาน เคลิฟ เกิดอะไรขึ้น 

กรณีของอิมาน เคลิฟ นั้นไม่ผ่านตรวจเพศกับทางสมาคมมวยสากลนานาชาติ (International Boxing Association - IBA) เนื่องจากการตรวจเพศของ IBA นั้นมีการใช้การตรวจโครโมโซมร่วมด้วย ขณะที่การตรวจเพศในกีฬาโอลิมปิกนั้นมีการปรับมาจนใช้เกณฑ์หลักคือการตรวจระดับเทสโทสเทอโรนอย่างเดียวเท่านั้น

น่าสนใจว่าถึงตอนนี้การตรวจเพศกลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย และเกิดขึ้นหลายต่อหลายกรณี สิ่งสำคัญหนึ่งสำหรับเกณฑ์กีฬานั้น ย่อมหนีไม่พ้นการแข่งขันที่มีความยุติธรรม เพื่อให้เกิดทั้งความสนุกในการแข่งขันที่ปะทะกันด้วยความสามารถอย่างแท้จริง รวมถึงทำให้เกิดการยอมรับในความเป็นเลิศด้านการกีฬาของมนุษยชาติที่มีร่วมกัน

การพัฒนากฎต่าง ๆ ในเกมส์กีฬามีการปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสุดท้าย ที่กีฬาจะแข่งขันกันอย่างยุติธรรมและนำพามาซึ่งความสนุกสนาม การยอมรับในกันและกัน ทั้งในฐานะผู้แพ้และยินดีกับชัยชนะที่คู่ควร เพื่อให้กีฬากลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง

แองเจล่า คารินี (Angela Carini)

อ้างอิง
The Trans Athletes Who Changed the Olympics-in 1936
Testing sex and gender in sports; reinventing, reimagining and reconstructing histories
Sex verification in sports
“Because They Have Muscles, Big Ones”: Cold War Gender Norms and International Sport, 1952–1967

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โอลิมปิก 2024โอลิมปิกมวยหญิง
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด