ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “ลูกเห็บ” น้ำจากฟากฟ้า ถล่มหลายพื้นที่ประเทศไทย ผลพวงพายุฤดูร้อน


ข่าวทั่วไป

26 เม.ย. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “ลูกเห็บ” น้ำจากฟากฟ้า ถล่มหลายพื้นที่ประเทศไทย ผลพวงพายุฤดูร้อน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/146

รู้จัก “ลูกเห็บ” น้ำจากฟากฟ้า ถล่มหลายพื้นที่ประเทศไทย ผลพวงพายุฤดูร้อน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ช่วงนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเผชิญกับพายุฤดูร้อน ทั้งลมพายุกระโชกแรง ลูกเห็บตก สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สิน แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี แต่หลายคนก็ยังสงสัยและค้นหาว่า “ลูกเห็บเกิดจากอะไร” 

ยิ่งเห็นเป็นก้อนน้ำแข็ง อยากลองเอาไปรับประทาน จะเป็นอะไรไหม ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูลลูกเห็บมาให้รู้จัก

ลูกเห็บเกิดจากอะไร ? 

ลูกเห็บคือ ละอองน้ำที่รวมตัวกันในชั้นบรรยากาศ จนมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากก่อนตกลงมายังพื้นโลก ในสถานะของแข็ง ลักษณะคล้ายก้อนน้ำแข็ง มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 0.2-5 เซนติเมตร แต่ในบางครั้งมีขนาดใหญ่กว่า และอาจตกลงมาเป็นก้อน ๆ หรือเกาะรวมกันเป็นก้อนขรุขระ

ลูกเห็บตก เนื่องจากพายุฤดูร้อน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ วันที่ 24 เม.ย. 66

ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายการเกิดจากลูกเห็บอย่างละเอียด คือ มาจากหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็งในเมฆคิวมูโลนิมบัส ถูกกระแสอากาศในเมฆพัดวนกลับขึ้นไป และในขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวกับละอองน้ำหรือผลึกน้ำแข็ง ทำให้เกิดการพอกตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นอีก เมื่อถูกพัดขึ้นไประดับที่สูงและมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง จากนั้นจะตกลงมาด้วยน้ำหนักที่มากกว่าเดิม

ถ้าขนาดและน้ำหนักยังไม่มากพอ อาจถูกกระแสอากาศพัดกลับขึ้นไปอีก ทำให้เกิดการพอกตัวของน้ำแข็งเพิ่มขึ้นเป็นชั้น ๆและเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนก้อนน้ำแข็งมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่กระแสอากาศจะพัดกลับขึ้นไปได้ จึงตกลงมาเรียกว่าลูกเห็บ

ถ้าเราผ่าลูกเห็บออกแล้วสังเกตอย่างละเอียด บางครั้งอาจต้องใช้แว่นขยายช่วย จะพบว่าลูกเห็บมีน้ำแข็งพอกเป็นชั้น ๆ ซ้อนกันคล้ายหัวหอม

ในประเทศไทยลูกเห็บมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองในฤดูร้อน ระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค. จะเกิดมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลูกเห็บตก เนื่องจากพายุฤดูร้อน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ วันที่ 24 เม.ย. 66

ลูกเห็บกินได้ไหม ?

กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่าไม่ควรนำลูกเห็บมารับประทาน เนื่องจากบนพื้นดิน พื้นถนน มีเชื้อโรคอยู่ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคและทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ ส่วนประชาชนบางกลุ่มที่มีความเชื่อว่ากินลูกเห็บแล้วจะทำให้ไม่เจ็บป่วยนั้น เป็นความเชื่อที่ไม่มีการพิสูจน์ยืนยันทางวิทยาศาสตร์

ลูกเห็บตก เนื่องจากพายุฤดูร้อน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ วันที่ 24 เม.ย. 66

5 วิธีรับมือเมื่อเจอพายุเห็บ ? 

1.สำรวจที่อยู่อาศัยและรีบทำการซ่อมแซมวัสดุที่ไม่มั่นคง ให้มีความแข็งแรงและทนทานต่อพายุลูกเห็บได้

2.หาที่หลบในบ้านหรือเพดานและหลังคาที่แข็งแรง และปิดประตู หน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันการกระแทกและสิ่งของปลิวเข้ามาในบ้านเรือน

3.ห้ามหลบบริเวณหลังคากระจก หรืออยู่ใกล้ประตูและหน้าต่างที่เป็นกระจก

4.ดูแลเด็กไม่ให้ออกไปเก็บลูกเห็บเล่น เพราะอาจได้รับอันตรายจากลูกเห็บตกได้

5.อยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด ไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน เป็นต้น งดเว้นการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดชั่วคราว เพราะในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง มักเกิดฟ้าผ่า อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ลูกเห็บตก เนื่องจากพายุฤดูร้อน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ วันที่ 24 เม.ย. 66

 

ที่มา มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรมอุตุนิยมวิทยา, ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 

อ่านเพิ่มเติม :  
-ใช่หรือไม่ ไทยเผชิญ “คลื่นความร้อน”
- "ลูกเห็บ" มาจากไหน ?
-พายุฤดูร้อนถล่มเชียงใหม่ “ลูกเห็บ” ตกหนัก “ม่อนแจ่ม” ไฟดับทั้งดอย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สภาพอากาศพายุฤดูร้อนลูกเห็บ
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด