ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สายการบิน Low-cost มีเทคนิคในการลด “ค่าใช้จ่าย” ในการดำเนินการอย่างไร


Logo Thai PBS
แชร์

สายการบิน Low-cost มีเทคนิคในการลด “ค่าใช้จ่าย” ในการดำเนินการอย่างไร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1456

สายการบิน Low-cost มีเทคนิคในการลด “ค่าใช้จ่าย” ในการดำเนินการอย่างไร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในยุคที่การบินนั้นมีต้นทุนต่ำลงและมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น สายการบิน Low-cost เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้โดยสารหลายคน เนื่องจากมีราคาที่ประหยัดกว่าสายการบินแบบ Full Service หลายสายการบิน สายการบิน Low-cost ใช้เทคนิคอะไรในการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เหตุใดจึงมีราคาถูกกว่าสายการบิน Full Service

การเพิ่มจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินเป็นหนึ่งในเทคนิคในการลดต้นทุน

หลายคนอาจจะทราบดีว่าสายการบิน Low-cost ลดค่าใช้จ่ายอย่างไรอยู่แล้วจากการเปรียบเทียบกับสายการบิน Full-service ซึ่งเห็นได้ชัด เช่น จำนวนที่นั่งที่มีความหนาแน่นสูง พื้นที่สำหรับวางขา (Leg Room) น้อยเพื่อเพิ่มจำนวนที่นั่ง การไม่มีอาหารระหว่างเที่ยวบิน การคิดค่าธรรมเนียมยิบย่อยสำหรับบริการต่าง ๆ เช่น บริการอาหาร บริการเลือกที่นั่งล่วงหน้า หรือน้ำหนักโหลดใต้เครื่อง ซึ่งเทคนิคเหล่านี้เป็นเทคนิคที่ใช้ในแทบทุกสายการบิน Low-cost  

อย่างไรก็ตาม ยังมีเทคนิคอีกมากมายที่มีความสำคัญต่อการลดต้นทุนสายการบินมากกว่านี้

Fleet เครื่องบิน Airbus A320 ของสายการบิน AirAsia ซึ่งเป็นเครื่องบินหลักของสายการบิน

สายการบิน Low-cost นั้นมักจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกิจการ (Operational Cost) ด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นเดียวกันเป็นจำนวนมาก และจัดที่นั่งภายในเครื่องบินให้มีคลาสหรือระดับชั้นของผู้โดยสารเพียงระดับชั้นเดียว ซึ่งมักจะเป็น “ชั้นประหยัด” เนื่องจากการสั่งเครื่องบินแบบเดียวกันเป็นจำนวนมากมักจะได้รับส่วนลดจากผู้ผลิตเครื่องบิน

การสั่งเครื่องบินรุ่นเดียวกัน แบบเดียวกัน ด้วยการจัดที่นั่งแบบเดียวกันทำให้สายการบินนั้นทำให้มีค่าดำเนินงานต้นทุนที่ถูกลงเนื่องจากจำเป็นต้องฝึกพนักงานและเจ้าหน้าที่ของสายการบินสำหรับการดูแลเครื่องบินเพียงแค่แบบเดียว สำหรับการซ่อมบำรุง การจ้างช่างหรือวิศวกรมีความเรียบง่าย เพราะจ้างเจ้าหน้าที่สำหรับเครื่องบินแบบเดียวเท่านั้น

ระบบส่งข้อความทางดาวเทียมหรือ ACARS ซึ่งเป็นระบบอำนวยความสะดวกสำหรับนักบิน

นอกจากนี้ เครื่องบินของสายการบิน Low-cost ยังอาจถูกตัดระบบอำนวยความสะดวกสำหรับนักบินออกไป เช่น ระบบ ACARS (Aircraft Communications Addressing Reporting System) ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารระหว่างภาคพื้นและนักบินด้วยดาวเทียม ซึ่งใช้ในการส่งข้อความตัวอักษรจากเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศหรือข้อความจาก Flight Dispatcher ของสายการบิน ไปยังนักบิน ACARS ระบบอำนวยความสะดวก เนื่องจากโดยปกติแล้ว นักบินจะสื่อสารกับทางภาคพื้นด้วยระบบวิทยุ

ระบบอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารมักจะถูกตัดออกอีกด้วย เช่น ที่นั่งแบบปรับเอนได้หรือระบบให้ความบันเทิงระหว่างเที่ยวบิน

บันไดสำหรับการ Boarding ซึ่งมักใช้โดยสายการบิน Low Cost แทนการใช้ Jet Bridge ซึ่งอาจมีต้นทุนที่สูงกว่า

อาจจะสังเกตได้ว่า สายการบิน Low-cost ส่วนใหญ่จะเลือกลงจอดในท่าอากาศยานที่มีขนาดเล็กในเมืองปลายทาง เช่น ท่าอากาศยานดอนเมือง แทนที่จะเป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าแต่ละท่าอากาศยานมีค่าธรรมเนียมลงจอด (Landing Fees) ที่แตกต่างกัน ค่าธรรมเนียมลงจอดเป็นค่าธรรมเนียมที่สายการบินจะต้องจ่ายให้กับบริษัทผู้ดูแลท่าอากาศยานสำหรับการลงจอดเที่ยวบินหนึ่ง ซึ่งค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละท่าอากาศยาน และมักจะมีค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้นในท่าอากาศยานที่มีความหนาแน่นสูง ดังนั้นสายการบิน Low-cost มักจะลงจอดในท่าอากาศยานที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ บางท่าอากาศยานอาจคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยาน เช่น Jet Bridge หรือทางเดินขึ้นเครื่องจากตึกผู้โดยสาร หรือคิดค่าธรรมเนียมในการใช้ Gate ที่แตกต่างกัน เช่น Gate ที่อยู่ไกลอาจจะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า Gate ที่อยู่ใกล้กับตึกผู้โดยสารหลัก ทำให้สายการบิน Low-cost มักจะใช้ Gate ที่อยู่ไกล หรือไม่ใช้ Gate เลย และหันไปใช้การ Board ด้วยบันไดแทน ซึ่งจำเป็นต้องให้ผู้โดยสารขึ้นรถโดยสารจากตึกผู้โดยสารมาที่เครื่องบินแทน

ยังมีเทคนิคยิบย่อยอีกมากมายในการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน Low-cost เช่น การที่เครื่องบินลำหนึ่งมี “Turnaround Time” ที่ต่ำ หมายความว่าเครื่องบินนั้นจะลงจอดและขึ้นบินใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดเวลาบนพื้น ซึ่งถือเป็นการใช้เวลาให้คุ้มค่า หรือการที่เที่ยวบิน Low-cost มักจะบินในเวลาที่เช้าเป็นปกติหรือดึกมาก ซึ่งอาจลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าธรรมเนียมของท่าอากาศยานต่าง ๆ ที่อาจแตกต่างกันไปตามเวลาได้

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สายการบิน Low-costสายการบินLow-costเครื่องบินThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech นวัตกรรมInnovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด