ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เหตุผลที่ทำให้วง Gear Knight และ ไอ..น้ำ ไม่ได้ไปต่อ


Lifestyle

31 ก.ค. 67

อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

Logo Thai PBS
แชร์

เหตุผลที่ทำให้วง Gear Knight และ ไอ..น้ำ ไม่ได้ไปต่อ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1450

เหตุผลที่ทำให้วง Gear Knight และ ไอ..น้ำ ไม่ได้ไปต่อ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ฟลุ๊ค-จิตรกร บุญสอน นักร้องนำวง ไอ..น้ำ และ เบน-เบนจามิน เจมส์ ดูลลี่ นักร้องนำวง Gear Knight ได้มาเยือนรายการนักผจญเพลง ตอน เป็นศิลปินยุค 2000 มันไม่ง่าย พร้อมเล่าความลำบากของศิลปินยุค 2000 ในแง่มุมต่างๆ 

อย่างเช่น การทำงานหนักจนแทบไม่มีช่วงชีวิตวัยรุ่น รวมถึงปัญหาเรื่องเทปผีซีดีเถื่อนที่ทำให้ศิลปินสูญเสียรายได้ ซึ่งทำให้ศิลปินหลากหลายคนต้องไปถึงจุดที่ต้องหยุดการทำงานเพลง และใครที่ติดตามวงการเพลงตั้งแต่ยุค 2000 มาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นภาพของสิ่งที่ทั้งสองแขกรับเชิญเล่าได้เป็นอย่างดี ว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการเพลงตอนนั้น แล้วสถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปในทิศทางไหน

รู้จักวง ไอ..น้ำ และวง Gear Knight ศิลปินดังจากยุค 2000

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ RS Group

วง ไอ..น้ำ และ วง Gear Knight เป็นสองวงดนตรีที่เริ่มต้นเส้นทางในการเป็นศิลปิน หลังจากที่เข้าแข่งขันในเวที “Panasonic Star Challenge” จนได้รับโอกาสให้มาเป็นศิลปินฝึกหัดที่ ค่าย RS โดยวง Gear Knight มีเพลงฮิตอย่าง เพลงตายในหน้าที่, เพลงตกลงเราเป็นอะไรกัน, เพลงตบหน้า และ เพลงคนมีคู่ไม่รู้หรอก ซึ่งในยุคนั้น การแจ้งเกิดแล้วมีเพลงฮิตทันทีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ว่าเพลง “ตกลงเราเป็นอะไรกัน” กลับได้รับความนิยมมากในเวลานั้น หลายคลื่นวิทยุได้เปิดเพลงนี้ จนคนฟังวิทยุ หรือชมรายการเพลง จะได้เห็นมิวสิกวิดีโอ และฟังเพลงนี้บ่อยครั้ง  

ในขณะที่วง ไอ..น้ำ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่โดดเด่นของค่ายเพลง RS ในยุค 2000 เพราะหลังจากอัลบั้มแรกที่มีเพลง “ที่หนึ่งไม่ไหว” หรืออัลบั้มชุด 2 ที่มีชื่อว่า “รักคนมีเจ้าของ” ได้สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นอัลบั้มล้านตลับ ซึ่งย้อนความทรงจำกลับไป เพลง “ที่หนึ่งไม่ไหว” ก็เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ได้ฟังบ่อยครั้งตามที่สื่อช่องทางต่าง ๆ นำเสนอออกมา ส่วนเพลง “รักคนมีเจ้าของ” ก็ได้รับความนิยมจนเป็นปรากฏการณ์ เพราะเพลงนี้ถูกเปิดทั้งในวิทยุ และรายการเพลง รวมถึงตามที่สาธารณะ ทั้งห้างร้าน โรงเรียน หรือลานออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังเป็นเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือยอดฮิตของคนในยุคนั้นอีกด้วย

เส้นทางของ Gear Knight และ ไอ..น้ำ

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ RS Group

ที่ผ่านมา แม้วง Gear Knight จะมีเพลงดังมากมาย แต่ว่าพวกเขาได้พักวงหลังจากทำอัลบั้มชุด 2 ที่มีชื่อว่า 2Battle ขณะที่ วง ไอ..น้ำ มีผลงาน 7 อัลบั้ม ก่อนที่จะพักวงไปในปี พ.ศ. 2558 ต่อมาภายหลัง เบน นักร้องนำของวง Gear Knight จะกลับมาทำผลงานเพลงในปัจจุบันนี้  

ซึ่งการพักวงของ Gear Knight และ ไอ..น้ำ นั้นมาจากการอิ่มตัว โดยเฉพาะฟลุ๊คที่เปิดใจเล่าว่า เขาทำงานตั้งแต่อายุน้อย จนเวลาผ่านไป 10 ปีอย่างรวดเร็ว ซึ่งเขายังได้เล่าต่ออีกว่าตัวเขาแทบไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นเลย เพราะต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลาย ๆ คน คงเห็นภาพในสิ่งที่พวกเขาพูดถึงทันทีตอนได้ฟัง เพราะหลังแจ้งเกิดจากเพลง “รักคนมีเจ้าของ” เรามักจะเห็นวงไอ..น้ำ ออกสื่อตลอดเวลา ไปที่ไหนก็เห็นพวกเขา จนบางทีก็ยังคิดว่า พี่เขาเอาเวลาตอนไหนไปพักกันนะ

“เทปผีซีดีเถื่อน” เทคโนโลยีที่สร้างปัญหาให้วงการเพลงยุค 2000 

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ GMM Grammy

นอกจากเหตุผลเรื่องการอิ่มตัวที่ทำให้วงไม่ได้ไปต่อ เบน Gear Knight และ ฟลุ๊ค ไอ..น้ำ ได้เล่าให้ฟังว่า การเข้ามาของเทปผีซีดีเถื่อน ทำให้ศิลปินหลาย ๆ คน ไม่ได้รับรายได้จากการขายเทปและซีดี ทำให้บริษัทต้องมาหักค่าลิขสิทธิ์ และเงินส่วนแบ่งรายได้จากคอนเสิร์ต ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ Gear Knight และ ไอ..น้ำ หยุดทำเพลง แต่ก็ทำให้ศิลปินได้รับรายได้น้อยลง จนศิลปินหลายคนตัดสินใจหยุดการทำเพลง และหันเหไปทำงานด้านอื่น 

โดยผลกระทบของเทปผีซีดีเถื่อนเริ่มเห็นได้ชัดในช่วงยุค 2000 ตอนต้น เพราะในเวลานั้นการได้ยอดขายล้านตลับของศิลปินเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมาก เพราะถ้าหากนับในยุค 2000 ทางฝั่งศิลปินป็อปและร็อกของค่าย GMM Grammy จะมีแค่ผลงาน “อัลบั้มชุดรับแขก” ของซูเปอร์สตาร์เมืองไทย เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ และอัลบั้มชุดที่ 2 ของวงร็อคอย่าง Clash ที่มีชื่อว่า “อัลบั้ม SOUNDSHAKE” และ “อัลบั้มชุดพิเศษ เบิร์ด-เสก” ของ เบิร์ด ธงไชย และ เสก-เสกสรรค์ ศุขพิมาย นักร้องนำวง LOSO ที่มียอดขายทะลุล้านตลับเท่านั้น

ขอบคุณภาพจาก GMM Grammy

และในวันที่เทปผีซีดีเถื่อนได้รับความนิยม แม้จะมีกิจกรรมต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และการทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ออกสื่อบ่อยครั้ง หรืออย่างวง LOSO ก็มีเพลง “พันธ์ทิพย์” ที่พวกเขาทำออกมาในอัลบั้มชุดที่ 5 ที่มีชื่อว่าชุด “ปกแดง” ในปี พ.ศ. 2544 เพื่อระบายความรู้สึกเจ็บปวดในวันที่ยอดขายอัลบั้มชุด LOSOLAND ได้รับผลกระทบจากการละเมิดลิขสิทธิ์จนไม่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย 

ซึ่งแม้จะมีการต่อต้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อเนื่อง แต่การหาซื้อเทปผีซีดีเถื่อนก็ยังทำได้ง่ายมาก จนกลายเป็นสินค้าผิดกฎหมายที่หาซื้อง่ายสุดแล้วในเมืองไทย เพราะเรามักจะเจอคนขายเทปผีซีดีเถื่อน ทั้งริมถนน ในตลาดนัด และยังมีเหตุการณ์ที่ศิลปินระดับโลกอย่าง “Bruno Mars” ที่ยังเคยเจออัลบั้มละเมิดลิขสิทธิ์ของตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่อ่านข่าวนั้นทีไรก็รู้สึกอายขึ้นมาทันที เพราะเจ้าของผลงานเอาเรื่องนี้มาเล่าต่อหน้าคนเป็นล้านที่ติดตามเขาในโซเชียลมีเดีย

และพอเข้าสู่ยุคการฟังเพลงออนไลน์เต็มตัว แม้ว่าซีดีละเมิดลิขสิทธิ์จะได้รับความนิยมน้อยลง แต่คนก็ยังสามารถส่งเพลงผ่านเว็บไซต์ที่เปิดพื้นที่ให้คนทำไฟล์มาฝากไว้ ราวกับว่าเพลงเป็นของฟรีที่แจกจ่ายได้ทั่วไป เรียกได้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เริ่มจากเทปผีซีดีเถื่อนนั้นเป็นปัญหาที่ลากยาวหลายปี และดูเหมือนเป็นปัญหาจะไม่มีทางออกเลย

วันที่วงการเพลง เจอผลกระทบจากพื้นที่สื่อที่หายไป

นอกจากเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว สิ่งที่เป็นอีกปัญหาของวงการเพลงในยุคนั้น คือการหายไปของรายการเพลงบนโทรทัศน์และวิทยุ ทำให้ศิลปินไม่มีช่องทางเข้าหาแฟนเพลง และโปรโมตผลงานเหมือนแต่ก่อน ขณะเดียวกัน เพลงสากลก็เริ่มเข้ามาเป็นอีกตัวเลือกของคนฟังเพลงในยุคนั้น จนทำให้การสร้างชื่อเสียงและฐานแฟนเพลงของศิลปินในเวลานั้นเป็นเรื่องยาก เพราะศิลปินต้องเป็นคนรอโอกาสที่จะถูกโปรโมตผลงาน และถ้าศิลปินคนไหนไม่เป็นที่รู้จักของแฟนเพลง หรือผลงานเพลงไม่ดัง จะไม่สามารถสร้างรายได้จากการแสดงคอนเสิร์ต หรือยอดขายเพลงได้ 

ฟ้าหลังฝนจากวิกฤตเทปผีซีดีเถื่อน

ปี พ.ศ. 2558  เป็นต้นมา การมาถึงของแอปพลิเคชันฟังเพลงที่หลายคนเรียกว่า มิวสิกสตรีมมิ่ง ซึ่งผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถฟังเพลงได้ฟรี ทำให้ศิลปินเริ่มมีรายได้ที่เป็นตัวเงินมากขึ้น จากส่วนแบ่งรายได้ที่ทางแอปพลิเคชันมอบกลับไปยังผู้สร้างผลงาน 

แม้ว่ารายได้เหล่านั้นจะไม่มากเท่ากับสมัยยุคที่ยังขายเทปซีดีได้ แต่ศิลปินก็ยังได้รายได้จากผลงานที่ทำออกมา และในขณะเดียวกัน การทำเพลงในยุคสตรีมมิ่งก็มีต้นทุนในแง่การจัดจำหน่ายลดลงเมื่อเราเทียบกับการขายผลงานยุคเทปและซีดี เพราะเราสามารถทำเพลงแล้วปล่อยให้ทุกคนฟังผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ขายเพลง จนทำให้หลาย ๆ ศิลปินสามารถทำผลงานได้แม้จะไม่มีต้นทุนมาก 

โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา เพลงที่ได้รับความนิยมหลาย ๆ เพลง มาจากศิลปินอิสระที่ไม่มีค่าย และขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เนตเริ่มพัฒนามากขึ้น ศิลปินที่ทำผลงานในยุคปัจจุบันมีช่องทางการโปรโมตผลงานรูปแบบใหม่ เช่น การให้สัมภาษณ์ผ่านรายการที่ออกอากาศผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งบางรายการตัวศิลปินสามารถพูดคุยแบบโต้ตอบกับผู้ชมได้ และบางรายการก็เปิดโอกาสให้ศิลปินได้แสดงความสามารถร้องเพลง เต้น หรือ เล่นดนตรีพร้อมเผยแพร่คลิปตอนแสดงออกไปทั่วโลก จนทำให้หลาย ๆ ศิลปินกลายเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นด้วย

บทสรุป

นอกจากการอิ่มตัวจากการทำงานหนัก ที่ทำให้วง ไอ..น้ำ และวง Gear Knight หยุดเส้นทางการทำเพลงแล้ว การละเมิดลิขสิทธิ์ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทางอ้อม ที่กระทบการทำงานของศิลปิน และทำให้คนฟังอย่างเราต้องเห็นภาพที่ไม่อยากเห็นในวงการ ไม่ว่าจะเป็นการยุติการทำเพลงของศิลปินที่เรารัก เพราะการทำเพลงไม่สามารถสร้างรายได้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้ หรือค่านิยมที่มองว่าเพลงเป็นของฟรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการฟังเพลง แต่สุดท้ายแล้วเหตุการณ์ที่เคยเป็นปัญหากับวงการเพลงก็คลี่คลาย เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้า และเปิดช่องทางการสร้างรายได้และวิธีนำเสนอผลงานรูปแบบใหม่ให้กับศิลปินนั่นเอง

และหากคุณอยากฟังความเข้มข้นของศิลปินทั้งสองให้มากขึ้น สามารถติดตามบทสัมภาษณ์จุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปินของ 2 ตัวแทนศิลปินยุค 2000 ฟลุ๊ค ไอ..น้ำ และ เบน Gear Knight จนถึงการกลับมาในปัจจุบันของพวกเขา ได้ในรายการนักผจญเพลง REPLAY  ตอน เป็นศิลปินยุค 2000 มันไม่ง่าย รวมถึงโชว์เพลงฮิตของทั้งสองวง ที่แฟน ๆ ต้องคิดถึง ได้ทางช่อง YouTube Thai PBS หรือเว็บไซต์ https://www.thaipbs.or.th/program/SongHunterTV/episodes/100143 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วง Gear Knightวงไอน้ำรายการนักผจญเพลง Replayคอลัมน์ เพลงหน้า A by นักผจญเพลง
อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์
ผู้เขียน: อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

ผู้ดำเนินรายการ นักผจญเพลง REPLAY รายการเพลงที่มากกว่าเรื่องราวของเพลง แต่บอกเล่าเรื่องราวของดนตรีในมุมที่แตกต่าง สร้างแรงบันดาลใจในชีวิตประจำวันได้

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด