ตอนอายุ 12 ปี คุณทำอะไรอยู่ ? สำหรับสาวน้อยที่ชื่อ เอสที - วารีรยา สุขเกษม เธอแพ็คกระเป๋าบินไปฝรั่งเศส ไม่ได้ไปเที่ยว แต่ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024!
นี่คือความไม่ธรรมดาของสาวน้อยคนนี้ แถมที่มากไปกว่านั้น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ครั้งนี้ เอสที ยังได้ชื่อว่า เป็นนักกีฬาสเก็ตบอร์ดคนแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่ได้ไปแข่งขันในโอลิมปิก รวมทั้งยังเป็นนักกีฬาสเก็ตบอร์ดที่อายุ “น้อยที่สุด” ในโอลิมปิก 2024 อีกด้วย
เส้นทางการเป็น “นักสเก็ตบอร์ด” ของสาวน้อยวัย 12 ปีคนนี้เป็นมาอย่างไร Thai PBS ไปพูดคุย ทั้งเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อให้คุณและเรา รู้จักเธอมากกว่านี้กัน…
ย้อนเส้นทางนักสเก็ตบอร์ดของ “เอสที”
ก่อนมาติดทีมชาติ เป็นตัวแทนนักกีฬาไทยไปแข่งขันในโอลิมปิก 2024 ย้อนกลับไปราว 5 ปี เอสทีเริ่มต้นรู้จักการเล่นสเก็ตบอร์ดเป็นครั้งแรก จากการที่คุณแม่ (ตุลย์รยา จันทะวงศ์) เป็นผู้ซื้อสเก็ตบอร์ดให้
“ตอนเห็นหน้าสเก็ตบอร์ดครั้งแรก หนูไม่ชอบเลยนะ” เอสที ย้อนเล่าประสบการณ์ที่พบเจอกับเจ้าสเก็ตบอร์ดให้ฟังแบบขำ ๆ
“หนูเคยเล่นโรลเลอร์เบลดตั้งแต่เด็ก ๆ เอามาเล่นในหมู่บ้าน บางทีแม่ก็พาไปเล่นสนามเล็ก ๆ ที่เด็ก ๆ พอเล่นได้ หนูก็บอกแม่ว่า ไม่ค่อยชอบโรลเลอร์เบลดเท่าไร แม่เลยบอกว่า งั้นลองไปเล่นสเก็ตบอร์ดดูไหม เดี๋ยวแม่ซื้อให้ ตอนนั้นมันมีสนามสเก็ตบอร์ดอยู่ใกล้ ๆ บ้าน แม่ก็พาไปเล่นหลังเลิกเรียนเป็นประจำ”
เอสที เล่าต่อว่า ตอนนั้นเธออายุเพียง 7 ขวบ แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบรู้ชอบลอง จึงไม่รู้สึกกลัวการเล่นสเก็ตบอร์ดแต่อย่างใด
“ด้วยความที่เป็นคนที่ขี้สงสัย อันนี้มันคืออะไร มี 4 ล้อด้วย หนูก็ลองขึ้นไปไถดู ช่วงแรกขึ้นไปไถอยู่คนเดียว รอบสนาม 10-20 รอบ ก็เบื่อ (หัวเราะ) พอเล่นมาได้สักพักนึงจึงมีเพื่อน มีรุ่นพี่มาเล่นด้วย พี่บางคนก็ให้เทคนิคใหม่ ๆ หรือบางทีเราก็ไปเห็นคนอื่นเขาเล่นท่าที่น่าสนใจ ก็ลองเอามาพลิกแพลงเล่นดูบ้าง”
ถามเอสทีว่า จากที่ไม่คอยชอบหน้า ทำไมถึงได้ชอบสก็ตบอร์ดขึ้นมาได้ ?
“มันดูท้าทายดี" เอสทีบอก "ตอนเด็ก ๆ หนูเป็นคนที่ชอบลุย ชอบทำอะไรแรง ๆ พอมาเจอสเก็ตบอร์ดเข้า มันเหมือนเป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งในชีวิตของเราไปเลย”
เมื่อทำความรู้จัก “สเก็ตบอร์ด” ได้ไม่นานนัก เอสที ก็พาตัวเองเข้าสู่การแข่งขันสก็ตบอร์ด แต่ในเวลานั้น ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเล่นสเก็ตบอร์ดได้ไม่นาน เวลาที่ไปแข่งขันจึงยังไม่ประสบความสำเร็จนัก กระทั่งมีจุดเปลี่ยนที่เธอเห็นเพื่อน ๆ ได้รางวัลชนะเลิศ ทำให้ตัวเองมีแรงฮึด อยากก้าวไปเป็นที่หนึ่งได้อย่างเพื่อนบ้าง
“มีการแข่งขันอยู่หนหนึ่ง หนูได้ที่ 4 แล้วเพื่อนหนูได้อันดับ 1 อันดับ 2 อันดับ 3 แถมถ้วยรางวัลของสนามนั้นยังสวยมาก ๆ ตอนที่เห็นเพื่อนถือถ้วยชนะใบนั้น เราคิดในใจ โอ้ย ทำไมฉันไมได้บ้าง (หัวเราะ) ตั้งแต่วันนั้นจึงเริ่มจริงจังกับการเล่นสเก็ตบอร์ดมากขึ้น”
เส้นทางสู่การเป็นทีมชาติ
เมื่อเริ่มฝึกฝนอย่างจริงจังมากขึ้น เวลาผ่านไปราว 3 ปี เอสที ก้าวขึ้นมาคว้ารางวัลชนะเลิศได้ในที่สุด แถมการแข่งขันครั้งดังกล่าว ยังเป็นการคัดเลือกทีมชาติไทยอีกด้วย
“เอสทีได้ที่ 1 ครั้งแรกตอนคัดเลือกทีมชาติ พอดีตอนนั้นมีคัดเลือกทีมชาติหญิง เป็นการแข่งขันแบบ Women Open คือรวมทุกรุ่น ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ก็มาแข่งขันได้หมด ตอนนั้นเอสทีอายุ 11 มีเด็กกว่าที่มาแข่งเหมือนกัน อายุราว 7-8 ขวบ ส่วนที่โตสุดน่าจะ 19-20 ปรากฏว่าในการแข่งขัน เราทำเพอร์เฟครันได้ ผลออกมาเราได้ที่หนึ่ง แล้วก็ได้กลายเป็นทีมชาติตั้งแต่ตอนนั้น”
เอสที เล่าต่อว่า ปัจจุบันนักสเก็ตบอร์ดทีมชาตไทยมีตัวหลักอยู่ 2 คน ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ยังมีตัวสำรองอีก 1 คน โดยนักกีฬาตัวหลัก ถูกวางตัวให้ไปแข่งขันในรายการใหญ่ระดับนานาชาติ ส่วนตัวสำรองจะได้เล่นในการแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชีย-อาเซียน ลดหลั่นกันลงมา
เอสที ย้อนเล่าให้ฟังต่อว่า ช่วงแรกที่เป็นนักกีฬาสเก็ตบอร์ดทีมชาติไทย เธอต้องตระเวนแข่งขันหลาย ๆ รายการ มีแพ้บ้าง ชนะบ้าง ทั้งหมดถือเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้เธอพัฒนาการเล่นมากขึ้นเป็นลำดับ
“ครั้งแรกที่ได้ออกนอกประเทศ คือไปแข่งที่อินโดฯ จำได้ว่า มันมีอยู่ 5 อันดับ เราจบที่ 6 (หัวเราะ) ส่วนตัวก็รู้สึกเสียใจนะ ไม่ได้ถ้วยกับเขา แต่สนามนั้นมันก็ทำให้เราโตขึ้น โดยเฉพาะในการเล่นกับอุปกรณ์ขนาดใหญ่กว่าเดิม เมื่อก่อนเล่นอุปกรณ์ขนาดเล็กยังไม่ค่อยชัวร์เลย แต่พอไปแข่งครั้งนั้น เราต้องเล่นกับอุปกรณ์ใหญ่ เรียกว่าแงะตัวเองจากเดิมสุด ๆ (หัวเราะ) แต่ทำให้เราพัฒนามากขึ้นเลย”
เส้นทางสู่โอลิมปิก 2024
เดินทางแข่งขันมาพอสมควร กระทั่งเข้าสู่การแข่งขันคัดเลือกไปโอลิมปิก 2024 สำหรับเด็กอายุ 12 ปีแล้ว คำว่า “โอลิมปิก” ดูเป็นภาพที่ไกลตัว แต่สำหรับเอสที เธอคิดว่า เมื่อโอกาสเดินทางอยู่ตรงหน้า ก็ต้องสู้กันสักตั้ง
“ก่อนเข้าโอลิมปิก มันจะมีแข่ง 2 เฟส เฟสแรกมี 6 สนาม และเฟสสองอีก 2 สนาม ทีนี้ 4 สนามแรกของเฟสหนึ่งเราไม่ได้ไป ซึ่งจริง ๆ พ่อหนูอยากส่งหนูไปตั้งแต่สนามแรก ๆ แล้วล่ะ แต่ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง ทั้งค่าใช้จ่าย ค่าเครื่องบิน ค่ากิน ค่าอยู่ จึงทำให้ต้องล้มเลิกความคิดที่จะพาไป”
“แต่แล้วมีอยู่สนามหนึ่งในเฟสแรก เป็นสนามที่ 5 เขาจัดแข่งที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พ่อก็มาบอกว่า เอสทีสนามนี้มันใกล้นะ พ่ออาจจะไหว เราไปกันหมดทั้งบ้านเลย พอแม่รู้เรื่อง ทีแรกแม่บอกไม่ไปนะพ่อ มันเปลืองเงิน มันไม่คุ้ม แต่ว่าพ่อก็บอกแม่ว่า ถ้าไม่ไปในตอนนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ลองไปสัมผัสเรื่องแบบนี้อีกแล้วนะ สุดท้ายแม่ก็เลยบอกว่า เอ้า ลุย ๆ”
หลังจากตัดสินใจเดินทางไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น ปรากฏว่า เอสที ทำผลงานได้ดีเกินคาด จนมีความหวังในการไปโอลิมปิก 2024 ขึ้นมา
“ด้วยความว่า สนามที่ 5 เป็นสนามแชมเปียนชิพ ที่จะได้คะแนนมากกว่าปกติ โค้ชบอกว่า อย่างน้อยเราต้องได้อันดับไม่เกินท็อป 30 จะมีความหวังได้ไปต่อ ผลออกมา เอสทีได้อันดับที่ 25 คือทะลุท็อป 30 ไปเลย ทำให้ในสนามสุดท้ายสนาม 6 เรามีโอกาสที่จะเข้าเฟสสอง โชคดีตอนนั้นทางสมาคมฯ มาช่วยเรื่องค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก จนพอไปแข่งที่สนาม 6 เราก็ทำได้ดีอีกครั้ง ตอนนั้นน่าจะจบอันดับที่ 20 ทำให้เป็น 1 ในท็อป 44 คน ได้เข้ามาแข่งต่อในเฟสสอง”
ในเฟสสอง มีการแข่งขันอีก 2 สนาม ความฝันในการไปโอลิมปิก 2024 อยู่แค่เอื้อม แต่ในสนามแรกของเฟสสอง เอสทีกลับทำผลงานได้ไม่ดีอย่างที่หวัง
“หนูเกิดความเข้าใจผิดกับการแข่งขันบางอย่าง แล้วตอนนั้นแม่ไม่อยู่ ปกติแม่จะช่วยเรื่องการวางแผนการแข่ง ทำให้สนามแรกที่เซี่ยงไฮ้ เราตกไปถึงอันดับที่ 29 ซึ่งถ้าอยากลุ้นไปโอลิมปิก อย่างน้อยต้องจบอันดับไม่เกินที่ 23 เพื่อไปลุ้นต่อในสนามสุดท้ายของเฟสสองที่บูดาเปสต์”
“ตอนนั้นรู้สึกความหวังเหลือน้อย แต่พ่อก็บอกตลอดว่า เอสทีรอบนี้เราต้องไม่กลับมามือเปล่า"
“จำได้ว่า คะแนนตอนนั้นเรามีอยู่ราว ๆ หมื่นสอง ส่วนคนที่มีโอกาสเข้ารอบอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นกว่า รู้สึกเครียดเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ผลสุดท้ายที่บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ซึ่งมีการแข่งขันทั้งหมด 4 ฮีท เราทำผลงานได้ค่อนข้างดี จนได้เข้ารอบเซมิไฟนอลเป็นคนสุดท้าย”
"จากนั้นก็แข่งต่อในรอบเซมิไฟนอล แล้วจบที่ 3 ตอนแรกยังไม่รู้ว่าคะแนนรวมจะออกมาอย่างไร ปรากฏว่าแม่ทักมาบอก เอสที เราได้เข้าโอลิมปิกแล้วนะ ผลคะแนนรวมออกมาเราจบอันดับที่ 12 ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนพลาดไป 1 คน ทำให้คะแนนเราติด 1 ใน 22 คนที่จะได้ไปโอลิมปิก 2024 จนได้ พอเรารู้เรื่องจากแม่ เราร้องไห้เลย ดีใจมาก”
โอลิมปิก 2024 เวทีเพื่อประสบการณ์
เราได้พูดคุยกับเอสที ก่อนเดินทางไปแข่งโอลิมปิก 2024 ไม่นาน เธอบอกว่า ตั้งใจที่จะทำผลงานอย่างเต็มที่ เพราะนี่คือ “โอลิมปิกครั้งแรก” ในชีวิต แถมเธอยังเพิ่งอายุ 12 ปี เด็กที่สุดในรุ่นที่แข่งขันครั้งนี้ ดังนั้น เรื่องเหรียญรางวัล อาจจะสำคัญน้อยกว่าเรื่องประสบการณ์
“เราไม่ได้หวังอะไรเลย หนูแค่หวังจะทำให้ดีที่สุดก็พอ แม้ว่าเราจะไม่ได้เอาเหรียญกลับมา แต่อย่างน้อยเราก็ได้เป็นนักสเก็ตบอร์ดหญิงคนไทยคนแรกที่ได้ไปโอลิมปิก แล้วก็อายุน้อยที่สุดด้วย”
เอสที บอกต่อว่า ถึงตอนนี้ เธอภูมิใจ และขอบคุณพ่อกับแม่ ที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เธอก้าวมาถึงจุดนี้
“สิ่งที่ได้ยินเป็นประจำจากพ่อกับแม่คือ ไม่เป็นไร งานหน้าค่อยไปเอาใหม่ กลับไปซ้อมใหม่ ท่านี้ต้องชัวร์ขึ้นนะ ท่านี้ต้องอึดขึ้นนะ ต้องต่อท่านี้ให้ได้นะ เราคุยกันอย่างนี้ตลอด พ่อแม่ไม่เคยกดดัน แต่ให้กำลังใจเราตลอด”
“เอสทีรู้สึกภูมิใจ และดีใจเหมือนกันนะ ที่ตัวเองได้มาถึงขนาดนี้ จากวันที่เรายังนั่งเชียร์ไอดอลของเราที่บ้าน วันนี้เราได้มาขอลายเซ็นเขา ได้ไปยืนใกล้ ๆ เขา สเก็ตบอร์ดพาเรามาได้ไกลจริง ๆ จากเด็กที่ไม่รู้อะไรเลย ไร้เดียงสามาก ๆ จนมาถึงตอนนี้ ก็ยังคาดไม่ถึงเหมือนกัน”
ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าใด ขอเพียงมี “ความฝัน” และ “ซื่อสัตย์” ต่อความฝันของตัวเอง ความพยายามและความตั้งใจจะนำพาให้ก้าวไปยังจุดที่ฝันได้เสมอ
“อยากฝากพี่ ๆ น้อง ๆ ใครที่กำลังชอบอะไรอยู่ แต่ไม่กล้าทำ อยากให้ลองก่อน เพราะบางทีสิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เราชอบไปตลอดกาล หรืออาจจะทำเป็นอาชีพได้ แล้วถ้าเอสทีมายืนในจุดนี้ได้ เชื่อว่าทุกคนก็ต้องยืนในจุดที่เอสทียืนได้เหมือนกัน บางคนอาจจะทำได้กว่าเอสทีก็ได้ ขอให้ลองทำ และสู้เข้าไว้ค่ะ”
ไม่ว่า “เอสที” จะจบที่อันดับเท่าไรในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ครั้งนี้ แต่เชื่อมั่นว่า สาวน้อยวัย 12 คนนี้ ยังมีอนาคตในเส้นทางกีฬาที่เธอรักไปอีกยาวไกล และเป็นกำลังสำคัญของนักกีฬาทีมชาติไทยต่อไปอีกอย่างแน่นอน…
ถ่ายภาพโดย สุภณัฐ รัตนธนาประสาน
ขอบคุณสถานที่ สนามซ้อมกีฬาเอ็กตรีม การกีฬาแห่งประเทศไทย
กระโดดคว้าฝัน "เอสที - วารีรยา สุขเกษม" สเก็ตบอร์ดไทยอายุน้อยที่สุดในโอลิมปิก 2024
ชมรายการ Made My Day วันนี้ดีที่สุด ตอน ไถสเก็ตไปเด็ดเหรียญ - เอสที วารีรยา, ตุลย์รยา สุขเกษม