ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พระพิราพ ท่ารำศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะหายไป ใครเล่าจะเป็นผู้สืบต่อ


ประวัติศาสตร์

26 ก.ค. 67

เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์

Logo Thai PBS
แชร์

พระพิราพ ท่ารำศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะหายไป ใครเล่าจะเป็นผู้สืบต่อ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1424

พระพิราพ ท่ารำศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะหายไป ใครเล่าจะเป็นผู้สืบต่อ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เมื่อกล่าวถึงนาฏศิลป์ไทยชั้นสูงที่ใคร ๆ ต่างนึกถึง คงหนีไม่พ้น "โขน" ที่รวบรวมนาฏยศาสตร์หลายแขนงไว้ด้วยกัน เปรียบดั่งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มาจนถึงยุคสมัยนี้ ลูกหลานชาวไทยได้สัมผัสกับโขนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น โขนได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี 2018 ก็ยิ่งเพิ่มการรับรู้ในระดับนานาชาติได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปจะรู้จักโขนในบทบาทของวรรณคดี “รามเกียรติ์” เสียเป็นส่วนใหญ่ หากแต่ศิลปะโขนยังมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่กำลังค่อย ๆ สูญหายไปนั่นคือ ท่ารำหน้าพาทย์ โดยในปี พ.ศ.2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปรารภห่วงใยท่ารําที่สําคัญของนาฏศิลป์ไทย เกรงจะสูญหายไปตามกาลเวลา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดหาครูผู้รํา ดําเนินการถ่ายทําเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง จัดทำเป็นภาพยนตร์เพื่อสืบต่อวิชาเอาไว้

แต่ในครั้งนั้น ยังขาดท่ารําที่สําคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในวิชานาฏศิลป์ไทยอยู่อีก 1 อย่าง นั่นคือ ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ เนื่องจากไม่มีศิลปินผู้ใดในกรมศิลปากรได้รับการถ่ายทอดไว้เลย

ท่ารำอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ทำไมจึงไม่มีใครสืบทอด

  • ท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ มีกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ทั้งการบรรเลงและการร่ายรํา เพราะถือว่าเป็นการประกอบกิริยาของพระพิราพซึ่งเป็นอสูรเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ ทางศิลปินโขนและละครไทยต่างเคารพสักการะ ในฐานะเป็นบรมครูทั้งในวิชานาฏยศาสตร์และดุริยางคศาสตร์ โดยเชื่อกันว่าพระองค์เป็นภาคหนึ่งของพระอิศวร ในคติดั้งเดิมเรียกพระองค์ว่า พระไภรวะ เมื่อเข้ามาในไทยก็เรียกผิดเพี้ยนไปกลายเป็นพระพิราพ 
  • เนื่องจากเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง การรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อมีการแสดงมหรสพในงานพระราชพิธีสําคัญเท่านั้น จึงทำให้ไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก
  • กฎเกณฑ์การถ่ายทอดท่ารําองค์พระพิราพนั้นเข้มงวดมาก เป็นต้นว่า การจะต่อเพลงและท่ารำ ต้องมีพิธีมอบให้แก่ศิลปินที่เลือกสรรไว้แล้ว คือต้องเป็นศิลปินอาวุโส มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินด้วยกันเอง และผ่านการเรียนมาแล้ว ที่สำคัญ ต้องเป็นผู้มีกําลังมาก เพราะเพลงหน้าพาทย์นั้นเป็นเพลงที่มีความยาว 
  • สถานที่ต่อท่ารําจะต้องเป็นวังหรือวัดเท่านั้น จะกระทำตามบ้านกันเองนั้น ไม่ได้เป็นอันขาด และการถ่ายทอดท่ารําก็ไม่สามารถทําได้ ถ้าไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระมหากษัตริย์
    ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงทำให้ผู้ที่สามารถรำพระพิราพได้ มีน้อยลง ๆ จนหาได้ยาก

ฤาท่ารำพระพิราพ จะสาบสูญไป ตามกาลเวลา

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงถามหาผู้รู้จากบรรดาศิลปินต่าง ๆ จนในที่สุดหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ปราโมทย์ กราบบังคมทูลว่ายังมีผู้สืบทอดท่ารำพระพิราพอยู่อีก 1 คน นั่นคือ นายรงภักดี ตํารวจหลวงผู้เคยฝึกฝนวิชาโขนอย่างแตกฉาน เป็นอาจารย์ของเหล่าศิลปินโขนหลายท่านในสมัยนั้น และเป็นศิลปินเพียงผู้เดียวที่ได้รับการถ่ายทอดท่ารําเพลงหน้าพาทย์สูงสุดซึ่งถือเป็นท่ารําศักดิ์สิทธิ์ในทางนาฏศิลป์นั่นคือ ท่ารําเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเต็มองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงมีพระบรมราชโองการรับสั่งหานายรงภักดี เข้าไปรําถวายบันทึกภาพไว้ โดยการถ่ายทําภาพยนตร์ในครั้งนั้นกระทําต่อหน้าพระที่นั่ง ณ พระราชวังสวนจิตรลดาในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 
โดยหลังจากนั้น พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรพิจารณาหาผู้สมควรถ่ายทอดท่ารําเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพไว้เพื่อมิให้วิชาเสื่อมสูญ หากไม่มีผู้สืบทอดต่อจากนายโรงภักดี จนได้ศิลปินชั้นครูที่มีความรู้ความสามารถได้จํานวน 4 คนคือ

  • นายอร่าม อินทรนัฏ
  •  นายอาคม สายาคม
  •  นายยอแสง ภักดีเทวา
  •  นายหยัด ช้างทอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายรงค์ภักดีประกอบพิธีครอบองค์พระพิราพเป็นครั้งแรกแก่ศิลปินครูดังกล่าวในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 ณ บริเวณโรงละครพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

เวลาล่วงเลยไปราว 20 ปี ศิลปินทั้ง 4 ท่านที่ได้รับสืบทอดท่ารำพระพิราพ ต่างทยอยถึงแก่กรรมจนเหลือเพียง หยัด ช้างทอง ซ้ำนายรงภักดีเอง ก็อายุมากถึง 86 ปีแล้ว คงถึงเวลาที่ท่ารำพระพิราพ ต้องถ่ายทอดต่อไปอีกครั้ง กรมศิลปากรจึงเรียนปรึกษากับนายรงภักดีถึงการต่อท่ารําให้แก่ศิลปินที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

กรมศิลปากรได้นําความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ทรงประกอบพิธีต่อท่ารําเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพในโอกาสพระราชพิธีพระราชทานครอบประทานประกอบพิธีไหว้ครูโขนละคร  เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีตามที่ขอ โดยได้เลือกสรรนาฏศิลปินผู้รับสืบทอดท่ารำศักดิ์สิทธิ์นี้จำนวน 7 คน ในการต่อท่ารําครั้งนี้นายรงภักดีซึ่งมีอายุมากแล้วไม่สามารถออกแสดงท่ารํานำศิษย์ได้ จึงใช้ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่ถ่ายทําไว้เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นแบบ โดยมีครูหยัด ช้างทอง เป็นครูผู้ช่วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้ท่ารำองค์พระพิราพยังคงมีผู้สืบทอดอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ในยุคต่อ ๆ ไป ท่ารำศักดิ์สิทธิ์อันสูงค่านี้ จะยังอยู่คู่วงการนาฏศิลป์ไทยต่อไปได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพลังของคนรุ่นใหม่ ที่จะสามารถส่งต่อ มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ให้ยั่งยืนต่อไป

หากแฟน ๆ อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ท่ารำพระพิราพ สามารถติดตามได้ในสารคดี   พระพิราพ Master of khonThai เสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 ทางไทยพีบีเอส 

ข้อมูล : สารคดี สยามศิลปิน ตอน รงภักดี
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

พระพิราพท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพรำพระพิราพ
เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์
ผู้เขียน: เชษฐ์ธิดา พิเชษฐไพบูลย์

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์ สายสุ่มกาชา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด