ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรียกให้ถูก“ผักเป็ด” ไม่ใช่ “วอเตอร์เครส”


เปิดบ้านไทยพีบีเอส

16 ก.ค. 66

เปิดบ้านไทยพีบีเอส

Logo Thai PBS
แชร์

เรียกให้ถูก“ผักเป็ด” ไม่ใช่ “วอเตอร์เครส”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/142

เรียกให้ถูก“ผักเป็ด” ไม่ใช่ “วอเตอร์เครส”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เรียกให้ถูก“ผักเป็ด” ไม่ใช่ “วอเตอร์เครส”

     เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 รายการ “มหาอำนาจบ้านนา” ได้นำเสนอตอน “วอเตอร์เครส ราชินีผักของคนรักสุขภาพ” หลังจากการออกอากาศไปก็มีคุณผู้ชมหลายท่านสังเกตเห็นว่า    ผักที่รายการนำเสนอไม่ใช่ผัก “วอเตอร์เครส” แต่มีชื่อเรียกว่า “ผักเป็ด” 

อย่างเช่นความคิดเห็นของคุณผู้ชมท่านหนึ่งบอกว่า “ผักสองชนิดนี้อาจดูละม้ายคล้ายกัน เลยมีการเข้าใจผิดแม้แต่ในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง ยังบรรจุขายผิด ทั้ง ๆ ที่มันเป็นผักคนละวงศ์กัน” 

คุณปรางมณีก็ให้ข้อมูลว่า “สรรพคุณผักที่นำเสนอในรายการคือสรรพคุณของผักวอเตอร์เครส แต่ผักที่เกษตรกรปลูกคือ ผักเป็ด คนไทยสับสนมานานและยังสับสนต่อไป” 

คุณเอ็ดดี้ก็บอกว่า “เห็นคนไทยเรียกผัก 2 ชนิดนี้ผิดมานานแล้ว” 

      เปิดบ้านไทยพีบีเอสจึงนำความคิดเห็นของคุณผู้ชมไปสอบถามความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการจำแนกพืช ไปทำความรู้จักกับผักวอเตอร์เครสให้ถูกต้องกัน 

 

“ผักวอเตอร์เครส” 
     ผักชนิดหนึ่งที่เป็นขวัญใจคนรักสุขภาพ และได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ราชินีผัก” รู้จักกันในนาม วอเตอร์เครส (Watercress ) หรือ ผักน้ำ เป็นผักที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แต่...เชื่อหรือไม่ว่า มีหลายคนกำลังบริโภคผักชนิดนี้ผิดฝาผิดตัวกัน !!!

วอเตอร์เครส
 

 วอเตอร์เครส (Watercress ) ราชินีผักกับคุณค่าทางโภชนาการ

     วอเตอร์เครส(Watercress) หรือเรียกกันอีกชื่อว่า ผักน้ำ เป็นผักที่เจริญเติบโตในน้ำและชอบอากาศเย็นผู้คนนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารเช่น ต้มจืดทำซุป หรือสลัดซึ่งวอเตอร์เครสนั้นมีแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด
 

     Yamuna Pandey, Siddharth S.Bhatt และ Nadia Debbarma ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของ Watercress ไว้ว่า“วอเตอร์เครส เป็นแหล่งของโปรตีน ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ มีแคลเซียมสูงนอกจากนี้ยังพบว่าวอเตอร์เครสมีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น ด้วยจุดเด่นที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมายจึงทำให้วอเตอร์เครสได้รับฉายาว่าเป็น “ราชินีผัก”

 

แต่มีผักชนิดหนึ่งที่ใช้ชื่อ และอ้างสรรพคุณของวอเตอร์เครส
แต่แท้จริงแล้วผักที่ว่านี้คือ “ผักเป็ด”ทำให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะคนไทยสับสน และเรียกชื่อผิด
 

  

ผักเป็ด
 

     

     ผักเป็ด” และ “วอเตอร์เครส” ต่างกันอย่างไร ?
     หากมองเผิน ๆ อาจเห็นว่าผักสองชนิดนี้มีความละม้ายคล้ายกัน แต่ถ้านำมาเปรียบเทียบลักษณะภายนอก สรรพคุณ รสชาติ และวิธีการเพาะปลูกผักทั้งสองชนิดนี้จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน


     รศ. ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำแนกพืช อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายถึงข้อแตกต่างระหว่าง วอเตอร์เครส (Watercress) กับ ผักเป็ด ในรายการเปิดบ้านไทยพีบีเอสไว้ดังนี้


     วอเตอร์เครส(Watercress) หรือ ผักน้ำ ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Nasturtium officinale เป็นพืชในวงศ์ Cruciferae หรือ วงศ์กะหล่ำปลี ส่วน ผักเป็ด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Alternanthera เป็นพืชซึ่งอยู่ในวงศ์ (Amaranthaceae) วงศ์ผักโขมหรือวงศ์ของดอกบานไม่รู้โรย

     หากสังเกตลักษณะภายนอกของพืชทั้งสองชนิด ไม่ว่าจะเป็นใบ ลำต้น รวมไปถึงดอก จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เนื่องจากใบของวอเตอร์เครส (Watercress) หากขยี้แล้วนำมาดมจะมีกลิ่นอ่อน ๆ เหมือนกลิ่นมัสตาร์ด การเรียงตัวของใบจะเวียนรอบลำต้น ใน 1 ใบ มีใบประกอบ 3-8 ใบ ย่อย ส่วนลักษณะของดอกคล้ายกับดอกของผักกะหล่ำหรือดอกหัวไชเท้า (มี 4 กลีบ สีขาวหรือสีม่วงกากบาทพาดกันเหมือนไม้กางเขน) ดอกของวอเตอร์เครสจะมีขนาดเล็กสีขาว สามารถเห็นกลีบดอกได้อย่างชัดเจน


     ส่วน ผักเป็ด ใบจะมีกลิ่นเหม็นเขียวอ่อน ๆ ใบมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจเล็ก ๆ ไม่มีใบประกอบ การเรียงตัวของใบสองใบจะติดอยู่ตรงข้ามกันที่ข้อของลำต้น ดอกของผักเป็ดคล้ายดอกของผักโขมหรือดอกบานไม่รู้โรย ดอกจะเป็นกระจุกเล็ก ๆ สีขาวอยู่ในซอกใบ ไม่สามารถมองเห็นกลีบดอกได้ชัดเจน

 
การปลูกผักเป็ด ปลูกได้ทั่วไปในดิน
 

     วิธีการปลูกและการเจริญเติบโตของพืชทั้งสองชนิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วอเตอร์เครส (Watercress) นั้น จะขึ้นในที่ที่มีอากาศเย็น เกิดในน้ำบริเวณที่มีน้ำใสไหลผ่าน ส่วนการปลูกวอเตอร์เครสจะคล้ายกับการปลูกนาข้าวขั้นบันได น้ำที่ใช้ปลูกต้องสะอาดหากน้ำขุ่นหรือมีสารพิษเจือปน วอเตอร์เครสจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และอาจมีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรกที่มาจากน้ำ ในการเพาะปลูกจึงต้องระวังเรื่องการให้ปุ๋ย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีต่าง ๆ เพราะอาจจะไปสะสมในแปลงปลูกผัก ซึ่งผักจะดูดสารที่ตกตะกอนในน้ำขึ้นมาสะสมในลำต้นเพราะฉะนั้น ต้องคำนึงถึงสถานที่ปลูกอย่างมาก โดยในประเทศไทยมีแหล่งเพาะปลูกวอเตอร์เครสที่ อ.เบตง จ.ยะลา ทำให้วอเตอร์เครสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ผักน้ำเบตง”
     ส่วน ผักเป็ด จะปลูกบนดินทั่ว ๆ ไป สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งอากาศร้อนและหนาว การดูแลรักษาเหมือนปลูกผักทั่ว ๆ ไป ให้ปุ๋ยให้น้ำและหากต้องการให้ต้นมีการเจริญเติบโตเต็มที่ต้องใส่ปุ๋ยกลุ่มไนโตรเจนลงไป

 

ภาพข้าวผัดวอเตอร์เครส
 

     ด้านสรรพคุณมีงานวิจัยระบุอย่างชัดเจนว่า วอเตอร์เครส เป็นผักที่มีแคลเซียมสูงช่วยบำรุงกระดูก มีวิตามินเคสูง ช่วยป้องกันเลือดออกภายในและเลือดไหลไม่หยุด มีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา มีวิตามินซีสูงรักษาหวัด แถมยังต้านโรคมะเร็ง และดูแลโครงสร้างของ DNA ในขณะที่  ผักเป็ด ยังไม่มีการวิจัยที่แน่ชัดทางด้านสรรพคุณและคุณค่าทางโภชนาการ จึงไม่สามารถระบุได้ว่า การบริโภคอย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อร่างกายหรือไม่

     เนื่องจาก วอเตอร์เครส เป็นพืชที่ใช้กระบวนการผลิตที่ค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยอุณหภูมิที่เย็นและแหล่งน้ำที่สะอาด ส่งผลให้การผลิตไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค ในขณะที่ผักเป็ดสามารถปลูกได้ทั่วไป เพราะเป็นพืชเขตร้อน จึงมีการนำ “ผักเป็ด” มาอ้างสรรพคุณเป็น“วอเตอร์เครส” ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับพืชทั้งสองชนิด คิดว่าเป็นพืชชนิดเดียวกัน

 

รศ. ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา ให้เสนอแนะเพิ่มเติม       “อยากให้เปลี่ยนความคิดและยอมรับความจริงว่า           วอเตอร์เคส” ไม่ใช่ ผักเป็ด เรียกชื่อผักให้ถูกต้องเพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันถูกต้องทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค”



 



 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เกษตร
เปิดบ้านไทยพีบีเอส
ผู้เขียน: เปิดบ้านไทยพีบีเอส

รับฟังข้อเสนอแนะ ติชม จากผู้ชมทางบ้าน และชวนคุณผู้ชม "รู้เท่าทันสื่อ" ผ่านเบื้องหลังการทำงานของสื่อสาธารณะ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด