โอลิมปิก 2024 ใกล้เข้ามาทุกที หนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือ พิธีเปิดโอลิมปิก และชุดที่เหล่านักกีฬาสวมใส่ในวันเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ก็ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ
ล่าสุด “ชุดผ้าไหมไทยสีฟ้า” ของทัพนักกีฬาไทย ที่จะใช้สวมใส่ตอนร่วมพิธีเปิด ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง Thai PBS ชวนทุกคนมาดูความหมายและคุณค่าของผ้าไหม เหตุใดจึงมักเป็นผ้าที่ถูกหยิบยกมาใส่ในงานพิธีการสำคัญในสังคมไทย
ที่มาผ้าไหมไทย จาก “ไท” สู่ “ไทย”
ผ้าไหม เกิดมาจากการใช้เส้นใยโปรตีนธรรมชาติของหนอนไหน ที่ชักใยพันรอบตัวขณะเป็นดักแด้ นำมาถักทอเป็นเนื้อผ้าที่มีความสวยงาม ทั้งนี้ความเป็นมาของผ้าไหมมีที่มาอันหลากหลาย
โดยจุดกำเนิดหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีที่มาจากประเทศจีน ปรากฏหลักฐานยาวนานกว่า 7,000 ปี เป็นหลักฐานการเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้า จนผ้าไหมถือเป็นสินค้าหรูชื่อดังของจีน อันเป็นที่มาของชื่อ “เส้นทางสายไหม” ที่ใช้เรียกเส้นทางที่ชาวจีนใช้เดินทางเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาติตะวันตก
อีกจุดกำเนิดในประวัติศาสตร์ของผ้าไหม คือ “ชนเผ่าไท” ชนเผ่าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย มีหลักฐานเกี่ยวข้องกับวิทยาการในการทำผ้าไหมในชนเผ่านี้ ทั้งยังพบวัฒนธรรมชุดแต่งกายต่าง ๆ ที่ในเวลาต่อมา ชนเผ่าไทกลายเป็นต้นทางของผ้าไหมสู่ประเทศจีน ผ่านมเหสีชีเลงสี ซึ่งเป็นมเหสีของจักรพรรดิเหลือง (หวงตี้) ที่มีบรรพบุรุษเป็นชนเผ่าไท โดยได้ชื่อว่าเป็นมหาสีผู้นี้เป็นผู้ค้นพบผ้าไหมเป็นคนแรก ๆ
นอกจากชนเผ่าไทยังมีอพยพย้ายถิ่นต่างกันไป ตั้งรกรากเป็นอาณาจักรโบราณต่าง ๆ รวมถึงอาณาจักรล้านช้าง ล้านนา และสุโขทัย จนถึงปัจจุบันผ้าไหมกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญหนึ่งของไทย โดยมีหลักฐานสำคัญคือร่องรอยการเลี้ยงตัวไหม และการทอผ้าในวัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ภูมิปัญญาผ้าไหมไทยมีการสืบสานส่งต่อกัน จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ต่างลวดลายสะท้อนวัฒนธรรมของตนเอง
ทำไมคนไทยนิยมใช้ผ้าไหมตัดเย็บเสื้อผ้าในพิธีสำคัญ
ผ้าไหมมีประวัติอันยาวนานในสังคมไทย มักใช้กันในกลุ่มชนชั้นสูง ขณะที่ชาวบ้านจะใช้ผ้าฝ้ายเป็นหลัก ทำให้ผ้าไหมเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง แสดงถึงสถานะทางสังคม
นอกจากนี้ ผ้าไหมยังมีวัฒนธรรมการใช้ในพิธีกรรมของศาสนาพุทธ ทั้งในประเทศไทยและหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย โดยใช้ในพิธีทอดกฐิน มีการถวายผ้าไหม รวมถึงมีการใช้ในพิธีศพเพื่อแสดงถึงฐานะของผู้ตาย
ผ้าไหมมักจะมีราคาสูง เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อน ตั้งแต่การผลิตเส้นใยไหมที่ต้องมีการเลี้ยงหนอนไหม ไปจนถึงการทอผ้าที่ต้องใช้ความชำนาญ ในแง่ของคุณสมบัติและประโยชน์ใช้สอย ผ้าไหมมีเนื้อผ้าที่อ่อนนุ่ม เหนียว ทนทาน มีความยืดหยุ่น ดูดซับความชื้นได้ดี ย้อมสีง่าย และสวมใส่สบาย มีข้อเสียเพียงแค่เส้นใยไหนทนความร้อนสูงมากไม่ได้ จึงต้องเก็บรักษาอย่างดี
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ผ้าไหมกลายเป็นผ้าที่มีเสน่ห์ ทรงคุณค่า จนถูกนำมาใช้ในโอกาสพิเศษ หรือมักใช้พิธีการอยู่บ่อยครั้ง
ผ้าไหมไทยสร้างชื่อระดับโลก
ผ้าไหมไทยมีจุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งมาจากชายที่ชื่อ “จิม ทอมป์สัน” ผู้ได้ชื่อว่าราชาไหมไทย หรือ King of Thai Silk จากที่เติบโตมาในบ้านที่ทำธุรกิจสิ่งทอ เมื่อมาอยู่ไทยก็ได้พบเจอกับความหลงใหลในเสน่ห์ความสวยงามของผ้าไหมไทย หลังจากได้ศึกษากระบวนการทำผ้าไหมไทยแบบดั้งเดิมที่ทอมือทั้งหมด เขากลายเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนในการฟื้นฟูการทำผ้าไหมไทยแบบดั้งเดิม ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของผ้าที่ผลิตโดยเครื่องจักร
ผ้าไหมไทยจากการผลิตโดยช่างฝีมือไทยถูกส่งออกไปขายในต่างประเทศ สร้างชื่อเสียง โดยเฉพาะการไปปรากฎในวงการแฟชันตามหน้านิตยสารชั้นนำจนเป็นที่รู้จัก ส่งผลให้ผ้าไหมไทยได้รับความสนใจจากนักออกแบบเสื้อผ้าทั่วโลก นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ผ้าไหมไทยก็เริ่มเป็นที่รู้จักและชื่นชอบในระดับสากล
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผ้าไหมไทยได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาการผลิตผ้าไหมไทยให้ทันสมัยขึ้น ผ้าไหมไทยถูกยกระดับจนกลายเป็นงานฝีมือที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
ศิลปะเป็นเรื่องของมุมมอง แต่คุณค่าและประโยชน์ใช้สอยของวัตถุดิบ ยังคงเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ และสะท้อนถึงคุณค่าในตัวของมันเองได้อยู่เสมอ…
อ้างอิง
ศักยภาพและโอกาสของสินค้าไหมไทยในอาเซียน
ผ้าไหมไทยและงานออกแบบ
“ผ้า” สื่อกลางระหว่างความเชื่อกับพิธีกรรม : กรณีศึกษา ผ้านาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
พบหลักฐาน “ผ้าไหม” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 8,500 ปี ในเหอหนาน
วัฒนธรรมผ้าเผ่าไท ในประเพณีแต่งงาน