Secret Story | Iris Apfel แฟชั่นไอคอนผู้เปล่งประกายแม้วัยเกินร้อย


Lifestyle

18 ก.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | Iris Apfel แฟชั่นไอคอนผู้เปล่งประกายแม้วัยเกินร้อย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1402

Secret Story | Iris Apfel แฟชั่นไอคอนผู้เปล่งประกายแม้วัยเกินร้อย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

"แฟชั่นคือสิ่งที่คุณใช้เงินซื้อได้ แต่สไตล์คือสิ่งที่อยู่ในตัวคุณ ถ้าคุณไม่รู้จักตัวเอง คุณก็ไม่มีวันมีสไตล์ได้ เคล็ดลับอยู่ตรงที่คุณต้องเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นใคร ซึ่งสิ่งนี้ต้องใช้เวลา ไม่มีฮาวทูสำหรับการค้นพบสไตล์หรอก มันคือการแสดงออกซึ่งตัวตน และที่เหนืออื่นใด มันคือการแสดงออกซึ่ง ‘ทัศนคติ’"

เจ้าของคำพูดนี้คือ ไอริส แอพเฟล...ซึ่งหากคุณยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าเธอเป็นใคร เราก็ขอสรุปสั้น ๆ ว่า เธอคือคุณทวดผู้เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมาด้วยวัย 102 ปี

เป็นวัย 102 ปีที่ยังคงอยู่คู่กับสถานะแฟชั่นไอคอนผู้โดดเด่นและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมายทั้งในและนอกวงการแฟชั่น เป็นคุณทวดชาวอเมริกันผู้กล้าเป็นตัวของตัวเอง ไม่เคยยอมจำนนต่อกาลเวลา และเป็นสิ่งที่เธอลั่นวาจาเสมอว่าตัวเธอ…เป็น “วัยรุ่นที่มีชีวิตอยู่นานที่สุดในโลก !”

ก่อนจะก้าวมาสู่สถานะที่หาใครเลียนแบบไม่ได้อีกแล้วนี้ ไอริสเริ่มต้นอาชีพในฐานะนักออกแบบลายผ้าและนักตกแต่งภายใน โดยเมื่อปี ค.ศ. 1948 เธอแต่งงานกับ คาร์ล แอพเฟล และร่วมกันก่อตั้งบริษัท Old World Weavers โดยไอริสรับหน้าที่ออกแบบผ้า ส่วนคาร์ลดูแลด้านการขาย แม้จะเริ่มต้นด้วยทุนจำกัดและไม่มีแผนการตลาดที่ชัดเจน แต่บริษัทของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยสไตล์การออกแบบที่ไม่เหมือนใคร ไอริสมีความสามารถในการผสมผสานแนวความคิดจากหลากหลายแหล่ง ทั้งจากตลาดของเก่า ร้านขายของมือสอง หนังสือประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เธอยึดมั่นในคุณภาพและความประณีตของงาน จนถึงขั้นเดินทางไปทั่วโลกเพื่อค้นหาและว่าจ้างช่างทอฝีมือดีที่ใช้กี่ทอผ้ารุ่นดั้งเดิมเท่านั้น

ไอริส และคาร์ล แอพเฟล

งานออกแบบของเธอเป็นที่ชื่นชอบของบุคคลสำคัญมากมาย เช่น แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส, เกรตา การ์โบ, และเอสเต ลอเดอร์ นอกจากนี้ เธอยังได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาด้านการบูรณะทำเนียบขาวถึง 9 สมัย ตั้งแต่ยุคทรูแมนจนถึงยุคคลินตัน

ไอริสมีความเชื่อว่าประวัติศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบ เธอกล่าวว่า 

"ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ๆ ไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่มีราก ไม่มีความใคร่รู้ ทั้งที่ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญมากและทุกอย่างก็เชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นการเมือง วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือแฟชั่น ล้วนเกี่ยวข้องส่งผลถึงกัน"

แม้ไอริส และคาร์ลจะเกษียณจากธุรกิจการออกแบบในปี 1992 โดยขายกิจการ Old World Weavers ให้กับ Stark Carpet Company ไป แต่อิทธิพลของเธอในวงการแฟชั่นกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2005 เมื่อพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art เล็งเห็นรสนิยมด้านการแต่งตัวอันจัดจ้าน สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ตลอดจนทึ่งกับคลังเครื่องประดับที่เธอหาซื้อจากทั่วโลกและสะสมไว้เป็นจำนวนมหาศาล พวกเขาจึงตัดสินใจจัดแสดงนิทรรศการเครื่องประดับเหล่านี้ภายใต้ชื่อ "Rara Avis (Rare Bird): the Irreverent Iris Apfel" (ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์สำคัญแห่งนี้จัดแสดงผลงานของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ แถมยังไม่ใช่นักออกแบบแฟชั่นอาชีพอีกต่างหาก) ผลคือนิทรรศการได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าชมมากมาย ทำให้ชื่อเสียงของไอริสพุ่งทะยานและกลายเป็นที่ต้องการของแบรนด์ต่าง ๆ ทันที

ไอริส และคาร์ลกับคลังของสะสมจากทั่วโลก

ความน่าทึ่งของไอริสไม่ได้อยู่เพียงแค่สไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่น แต่ยังรวมถึงทัศนคติและปรัชญาชีวิตของเธอด้วย เธอมักพูดว่า

หัวใจสำคัญของการแต่งกายไม่ใช่แบรนด์หรูหราหรือราคาสูงลิบของเสื้อผ้าที่สวมใส่ แต่ "สำหรับฉันแล้ว ความผิดพลาดทางแฟชั่นที่ร้ายแรงที่สุดก็คือเมื่อคุณส่องกระจกแล้วไม่เห็น 'ตัวคุณเอง' ...ตราบใดที่ฉันส่องกระจกแล้วเห็นตัวเอง ตราบใดที่ส่องกระจกแล้วรู้สึกดี ฉันก็จะรู้ว่าสิ่งที่สวมใส่อยู่นั้นเหมาะกับฉัน ฉันไม่ได้แต่งตัวเพื่อให้ใครมอง ฉันแต่งตัวเพื่อตัวฉันเอง"

การพบกันของสองตำนาน
และแล้วในปี ค.ศ. 2014 เส้นทางของไอริสก็โคจรมาบรรจบกับ อัลเบิร์ต เมย์เซิลส์ ผู้กำกับสารคดีผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกัน (ซึ่งได้รับการจารึกเป็นตำนานในฐานะผู้บุกเบิกการทำสารคดีแบบ direct cinema ที่ใช้กล้องตามเก็บความจริงโดยไม่แทรกแซง) เมย์เซิลส์ประทับใจในตัวไอริส และตัดสินใจมารับหน้าที่กำกับสารคดีชื่อ Iris ภายใต้แนวคิดหลัก 3 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง – “ผมอยากรู้ว่าหลังแว่นตานั้น จริงๆ แล้วเธอเป็นใคร” เขามุ่งมั่นที่จะค้นหาตัวตนที่แท้จริงของไอริส ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ภายนอกที่ทุกคนรู้จัก
สอง – “เพราะผมชอบมนุษย์” เขาเชื่อในการเปิดใจรับฟังและดูผู้คนโดยไม่ตัดสินหรือพยายามควบคุม ทำให้ไอริสรู้สึกสบายใจและเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่เมื่อต้องถูกตามถ่ายแทบตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเป็นส่วนตัว
สาม – “หนังสารคดีไม่จำเป็นต้องมีเสียงบรรยาย” อัลเบิร์ตใช้วิธีเก็บภาพทุกอย่างที่สำคัญในขณะที่มันกำลังเกิดขึ้น เพื่อให้ภาพเหล่านั้นสามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยบทหรือเสียงพากย์อธิบายใด ๆ ช่วย

Iris เป็นสารคดีที่มีทั้งรอยยิ้ม เสน่ห์ และความอบอุ่น เรื่องราวถูกเล่าอย่างง่าย ๆ แต่สร้างความประทับใจให้คนดูได้เปี่ยมล้น ที่สำคัญคือเราจะสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนถึงมิตรภาพและการให้เกียรติกันระหว่าง “คนทำสารคดี” และ “ซับเจ็กต์” ซึ่งล้วนเป็นรุ่นใหญ่ไม่ธรรมดาด้วยกันทั้งคู่ ความอ่อนโยนเช่นนี้เป็นรสชาติที่อาจพบได้ไม่บ่อยนักในสารคดีชีวิตบุคคลและแสดงถึงความจัดเจนอยู่มือของอัลเบิร์ต เมย์เซิลส์ได้เป็นอย่างดี

แม้ไอริส แอพเฟลจะจากไปแล้ว แต่แรงบันดาลใจที่เธอมอบให้ผู้คนมายาวนานนั้นยังคงอยู่ ทั้งในด้านแฟชั่น การออกแบบ และทัศนคติต่อชีวิต เธอได้พิสูจน์ให้เห็นตลอดมาว่า 

ไม่มีคำว่า “สายเกินไป” สำหรับการค้นพบตัวเอง และไม่มีคำว่า “มากเกินไป” สำหรับการใช้ชีวิตให้เต็มไปด้วยสีสันและความหมาย ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยใดก็ตาม 

▶ ติดตามสารคดี IRIS ได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Secret StoryVIPAdotMeสารคดีสารคดี VIPAสารคดีต่างประเทศแฟชั่นIris Apfelสไตลิสต์สารคดี IRISไอริส แอพเฟลDocumentary Club
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด