จากกระแส “สว.เกศกมล เปลี่ยนสมัย” ได้มีการใช้คำนำหน้าว่า “ศาสตราจารย์” (ศ.) ซึ่งเป็นตำแหน่งทางวิชาการ โดยจะมอบให้กับผู้มีความเชี่ยวชาญในศิลปะวิทยาการเฉพาะด้าน หรือผู้สอนผู้มีความชำนาญระดับสูง ด้วยเหตุนี้ Thai PBS จึงชวนรู้จัก “ศาสตราจารย์” ตำแหน่งทางวิชาการ ในเมืองไทยนั้นไม่ได้มีประเภทเดียว ซึ่งจะมีประเภทใดบ้างนั้นตามมาอ่านกันได้เลย
รู้จัก “ตำแหน่งทางวิชาการ”
ด้วยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ ได้จัดทำชุดคำศาสตราจารย์ (Professor) ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ตำแหน่งทางวิชาการให้ผู้สนใจสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง และเป็นมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
ศาสตราจารย์ (Professor)
เป็นตำแหน่งทางวิชาการซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี แต่ทราบหรือไม่ว่าตำแหน่งศาสตราจารย์ ยังมีแบ่งย่อยอีกหลายประเภท
โดย “ศาสตราจารย์” (Professor) เป็นตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในประเทศไทยตำแหน่งทางวิชาการตามกฎหมายสำหรับอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน คือ อาจารย์ (Instructor), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (Assistant Professor), รองศาสตราจารย์ (Associate Professor) และ ศาสตราจารย์ (Professor) ตามลำดับ เป็นการกำหนดตำแหน่งเหมือนในระบบของสหรัฐอเมริกา
ในระบบของอังกฤษ โดยมากกำหนดเป็น Lecturer เทียบเท่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ Senior Lecturer และ Reader เทียบเท่า รองศาสตราจารย์ และ Professor คือ ศาสตราจารย์
ในประเทศไทย ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ หรือ ศาสตราจารย์พิเศษ สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนนั้น แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยจะมีคำแนะนำเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ให้ความเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยมีหลักเกณฑ์คือ
1. มีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
2. มีผลการสอนและมีความเชี่ยวชาญในการสอน
3. ผลงานทางวิชาการมีคุณภาพในระดับดีมากหรือดีเด่น
4. มีจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
ศาสตราจารย์พิเศษ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยจากผู้ซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย อาจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทางวิชาการสูง เป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยมานาน หรือเคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยที่เกษียณอายุราชการ หรือมีคุณสมบัติของศาสตราจารย์พิเศษ เป็นไปตามข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัย
ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์พิเศษ” ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษา หรือพระราชบัญญัติของแต่ละมหาวิทยาลัย ใช้อักษรย่อว่า ศ. (พิเศษ) ส่วนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. 2536 ใช้อักษรย่อว่า ศ.
ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย (University Professor)
เป็นตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ที่เฉพาะมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง แต่งตั้งจากอาจารย์ประจำที่เป็นศาสตราจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในสาขาวิชาและเป็นผู้นำทางวิชาการในระดับนานาชาติ เช่น มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) เรียกตำแหน่งว่า James B. Duke Professor หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาซูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) เรียกตำแหน่งนี้ว่า Institute Professor ตำแหน่งนี้เทียบได้กับตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ (Distinguished Professor)
ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ (Distinguished Professor)
ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ “ศาสตราจารย์” ของมหาวิทยาลัยผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษ มีผลงานดีเด่น ประสบความสำเร็จในการค้นพบและการเรียนการสอน เป็นผู้นำทางวิชาการในสาขานั้น ๆ ในระดับนานาชาติ เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าศาสตราจารย์ปกติ เทียบได้กับ “ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย” (University Professor)
ศาสตราจารย์อาคันตุกะ หรือ ศาสตราจารย์รับเชิญ (Visiting Professor)
ตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยอื่น หรือผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย โดยเชิญมาทำการสอนหรือทำการวิจัยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยอาจดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ศาสตราจารย์อาคันตุกะ ไม่ใช่ตำแหน่งทางวิชาการ
บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาคันตุกะ (Visiting Assistant Professor) และ รองศาสตราจารย์อาคันตุกะ (Visiting Associate Professor)
ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ (Professor Emeritus, Emeritus Professor)
ตำแหน่งที่แต่งตั้งจาก “อาจารย์ประจำ” ผู้เคยดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” มีความรู้ความสามารถและความชำนาญเป็นพิเศษ และพ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีความผิด สภามหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งให้เป็น “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” หรือ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ” ในสาขาวิชาที่ “ศาสตราจารย์” นั้นมีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นเกียรติยศได้ ศาสตราจารย์ผู้นี้อาจสอนในมหาวิทยาลัยต่อไป แต่ไม่ใช่ศาสตราจารย์ที่ต่ออายุราชการ
การเรียกชื่อนั้นขึ้นอยู่กับพระราชบัญญัติของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกว่า “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ” หากเป็นสุภาพสตรีให้ใช้ภาษาอังกฤษว่า “Professor Emerita”
ศาสตราภิชาน (Named Professor)
ตำแหน่งที่ไม่ใช่การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย แต่งตั้งเพื่อดึงดูดผู้ทรงคุณวุฒิยิ่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งที่ได้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก ผู้ได้รับการแต่งตั้งอาจเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ หรือนักวิชาการที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการก็ได้ เป็นตำแหน่งที่กำหนดภารกิจชัดเจน มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและค่าตอบแทนของแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน
ศาสตรเมธาจารย์ หรือ ศาสตราจารย์อาวุโส (Chair Professor)
ตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดและเป็นนักวิชาการอาวุโสของมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา (Department Chair)
ตำแหน่งเกียรติยศเพื่อเป็นการยกย่อง “ศาสตราจารย์” ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำในมหาวิทยาลัย เป็นผู้นำทางวิชาการระดับนานาชาติและได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าเป็นผู้นำในการยกมาตรฐานของมหาวิทยาลัยในด้านการสอน การวิจัย และการบริการทางการศึกษา เช่น ศาสตรเมธาจารย์ทางฟิสิกส์ หรือ ศาสตราจารย์อาวุโสทางฟิสิกส์ (Chair Professor of Physics)
ศาสตราจารย์วุฒิคุณ (Adjunct Professor)
ตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติการสอน วิจัย หรือเป็นที่ปรึกษางานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา โดยทำงานไม่เต็มเวลา
มหาวิทยาลัยบางแห่งในต่างประเทศอาจแต่งตั้งอาจารย์ประจำของภาควิชาหนึ่งที่ไปช่วยสอนบางเวลาในอีกภาควิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยเดียวกัน เป็น “ศาสตราจารย์วุฒิคุณ” ก็ได้ เช่น รองศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์และศาสตราจารย์วุฒิคุณทางเคมี (Associate Professor of Physics and Adjunct Professor of Chemistry)
ศาสตราจารย์คลินิก (Clinical Professor)
ตำแหน่งทางวิชาการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคลากรฝ่ายเวชกรรมที่มีความรู้ ความชำนาญในด้านการสอน การวิจัย การค้นคว้าทดลอง และวิธีบำบัดรักษาในภาคเวชปฏิบัติ ซึ่งมีคุณค่าทางวิชาการ
ตัวอย่าง กรณีมหาวิทยาลัยมหิดล คุณสมบัติบางประการของศาสตราจารย์คลินิก คือจะต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป สอนและให้บริการทางวิชาการเป็นผลดีติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี มีคุณธรรมและประพฤติตามจรรยาบรรณของอาจารย์ มีภาระงานสอนและปฏิบัติการทางคลินิกตามข้อกำหนด มีผลการสอนระดับเชี่ยวชาญ มีเอกสารการสอนหรือสื่อการสอน อย่างน้อย 1 หัวข้อในระดับดีมาก งานปฏิบัติการทางคลินิกที่ทำเป็นประจำในมหาวิทยาลัยเป็นผลดีมาก ตำแหน่งศาสตราจารย์คลินิกใช้อักษรย่อว่า ศ. คลินิก
กิตติเมธี (Research Professor)
“ศาสตราจารย์” ผู้มีความเชี่ยวชาญยิ่งในศาสตร์สาขาเฉพาะตน ซึ่งมหาวิทยาลัยเชิญมาทำงานวิจัยและพัฒนาบุคลากรในศาสตร์สาขานั้น เป็นตำแหน่งที่กำหนดระยะเวลาและค่าตอบแทนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดมาจากกองทุนมหาวิทยาลัย ในประเทศไทยเป็นตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาปฏิบัติงานวิจัยและบริการวิชาการที่นอกเหนือและสูงกว่างานของศาสตราจารย์ประจำ
รองศาสตราจารย์ (Associate Professor)
ตำแหน่งทางวิชาการของบุคคลซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่ต่ำกว่าศาสตราจารย์ แต่งตั้งโดยสภาสถาบัน พิจารณาจากคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งและผลงานทางวิชาการ “รองศาสตราจารย์” ใช้อักษรย่อว่า รศ.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (Assistant Professor)
ตำแหน่งทางวิชาการของบุคคลซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าอาจารย์ แต่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ แต่งตั้งโดยสภาสถาบัน พิจารณาจากคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งและผลงานทางวิชาการ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” ใช้อักษรย่อว่า ผศ.
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล