ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรียนรู้ “บทเรียน” เรื่อง “เวลา” จากการเดินทางของ Crescendo


Lifestyle

13 ก.ค. 67

อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

Logo Thai PBS
แชร์

เรียนรู้ “บทเรียน” เรื่อง “เวลา” จากการเดินทางของ Crescendo

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1386

เรียนรู้ “บทเรียน” เรื่อง “เวลา” จากการเดินทางของ Crescendo
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผมพูดคุยกับศิลปินในรายการนักผจญเพลง Replay หนึ่งในวงที่มีเส้นทางที่แตกต่าง และไม่เหมือนใคร ก็ต้องยกให้กับ “Crescendo” วงดนตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งต้นสังกัดและสมาชิกอยู่บ่อยครั้ง แต่ยังรักษาสีสันความจัดจ้านทางดนตรีไว้ไม่มีเปลี่ยน ถึงแม้จะมีช่วงที่หยุดทำงาน แต่ชื่อพวกเขาแทบไม่เคยหายไปจากวงการเพลงเลย 

และในรายการนักผจญเพลง Replay ก็เป็นโอกาสอันดีที่แฟนเพลงได้มาเจอกับ นัท-ชาติชาย มานิตยกุล, นอ-นรเทพ มาแสง, เอก-เอกพงศ์ เชิดธรรม, จั๋ง-ธีรพงษ์ ธนานิกกุล และ แชมป์-ชินพัฒน์ หงส์อัมพร   ซึ่งเป็น 5 สมาชิกในยุคที่ทำอัลบั้ม Four Days ที่ได้โพสต์สื่อถึงการรวมตัวอีกครั้งในวันที่ 30 พฤษภาคม  พ.ศ. 2567  และการสัมภาษณ์พี่ ๆ ในรายการก็พบว่า เรื่องราวของ Crescendo นั้น สามารถเป็นบทเรียนเรื่องเกี่ยวกับเวลาได้เป็นอย่างดี

สมาชิก Crescendo ทั้ง 5 คน จากอัลบั้ม Four Days

ขอบคุณภาพจาก SONY BMG

เมื่อสิ่งหนึ่งสิ้นสุด สิ่งใหม่ก็จะตามมา  

นอ นรเทพ กับวง PAUSE ก่อนทำวง Crescendo ( ขอบคุณภาพจาก Facebook นรเทพ มาแสง)

ใน รายการนักผจญเพลง Replay หนึ่งในสมาชิกที่มาร่วมสัมภาษณ์อย่าง นอ นรเทพ ได้เล่าให้ทุกคนฟังว่าวง Crescendo เกิดขึ้นหลังการจากไปของ โจ้ อัมรินทร์ นักร้องนำวง Pause ซึ่งทำให้เขา และตัววงได้หยุดการทำงานไป และหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็มีโอกาสพบกับนักดนตรีมือฉกาจหลาย ๆ คนรอบตัว ซึ่งทำงานเบื้องหลังเป็นหลัก รวมถึงการมาของนักร้องนำคนแรกในวง Crescendo อย่าง บี-พีระพัฒน์ เถรว่อง

เอก มือกลอง Crescendo อดีตสมาชิกจากวงซีเปีย

นอ นรเทพ ผู้เป็นเหมือนโลโก้ Crescendo ยุคแรก

หลังจากสมาชิกยุคแรกได้รวมตัวครบ นอ ก็ได้เล่าว่า พวกเขาได้เริ่มทำผลงานในห้องอัดของค่ายเพลง Bakery Music ก่อนจะนำผลงานที่ทำออกมา ไปฝากโปรโมตตามคลื่นวิทยุอินดี้ ซึ่งประสบการณ์ของสมาชิกแต่ละคนก่อนเข้าวงต่างกันมาก 

อย่างเช่น เอก เอกพงศ์  เคยทำงานเป็นมือเบส ก่อนมาเป็นมือกลองของวงซีเปียและย้ายมาอยู่วง Crescendo ในขณะที่ตัวของ แชมป์ เป็นมือกีตาร์มากความสามารถ และจั๋ง ก็เป็นมือเพอร์คัชชันที่ร่วมงานกับหลายศิลปินมาก่อนหน้านี้ ทำให้วง Crescendo ได้มากับดนตรีที่มีความจัดจ้าน 

หลังสมาชิกทุกคนได้แจมและแลกเปลี่ยนสไตล์กัน จนผลงานวง Crescendo เป็นการผสมผสานหลายแนวดนตรี ทั้ง Soul, Funk, Jazz, Rock, Pop และ R&B ราวกับว่าเพลงของวง Crescendo คือการแจมดนตรีของเพื่อนศิลปินกลุ่มหนึ่ง แต่แล้วความท้าทายครั้งแรกก็มาถึง เพราะในวันที่วง Crescendo ปล่อยอัลบั้มแรกที่ใช้ชื่อเดียวกับชื่อวง ค่าย Bakery Music ก็ได้ปิดตัวลง…

การเปลี่ยนแปลง แม้ตอนแรกจะยาก แต่ก็จะมี “เรื่องดี” ตามมาเสมอ

นัท ชาติชาย นักร้องนำที่มาสานต่อความสำเร็จ Crescendo

สิ่งหนึ่งที่ Crescendo ต้องเจอตอนเข้าสู่จุดสูงสุดคือเหตุการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงนักร้องนำ อย่าง บี พีระพัฒน์ เนื่องจากมุมมองการทำงานไม่ตรงกัน จนตัดสินใจแยกทางจากกัน เพื่อลดแรงเสียดทาน โดยในรายการนักผจญเพลง REPLAY เอง นอก็มาเล่าเรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้ อย่างเช่นตอนที่วง Crescendo มีนักร้องนำหญิงอย่าง ริค วชิรปิลันธ์ 

บรรยากาศยุคนั้น พวกเขาเหมือนวงอินดี้เต็มตัว และเจอปัญหาจากการสูญเสียรายได้ เพราะวงไม่ได้รับความนิยมเหมือนที่บีทำหน้าที่นักร้องนำ ก่อนจะมาเล่าถึงวันที่ นัท ชาติชาย เข้ามาเป็นนักร้องนำคนที่ 3 โดย นัท ชาติชาย นักร้องนำในเวลานั้นได้เล่าว่า เขาเองตอนที่เข้ามาอยู่ในวงก็เจอการเปรียบเทียบที่เขาสัมผัสได้อย่างชัดเจน 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง การที่ตัวเขาไม่ได้จบด้านดนตรีมาโดยตรง ก็ทำให้เขาทำงานยากในช่วงแรก ยิ่งโดยเฉพาะตอนที่ทำเพลง “เห็นแก่ตัว” ที่ขั้นตอนการแต่งนั้นยากมาก และตอนแสดงสดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความสามารถของสมาชิกวง Crescendo ทำให้เวลาเล่นสด วงได้เปลี่ยนสไตล์การเล่น และ Improvise ไปเรื่อย ๆ แต่สำหรับอัลบั้ม Four Days ที่ นัท ชาติชาย เข้ามาทำหน้าที่นักร้องนำและที่มีเพลงดังอย่าง “ใจกลางความเจ็บปวด” ก็ประสบความสำเร็จ

“แชมป์ ชินพัฒน์” สมาชิกเพียงคนเดียว ที่อยู่กับวง Crescendo ตั้งแต่ชุดแรก จนถึงปัจจุบัน

หลังจากการเข้ามาของ นัท ชาติชาย นักร้องนำคนที่ 3 วง Crescendo ก่อนที่วงจะเจอกับการเปลี่ยนแปลงสมาชิกอีกหลายครั้ง ซึ่งในปัจจุบันนี้มีแค่มือกีตาร์อย่าง แชมป์ ชินพัฒน์ เป็นสมาชิกเพียงคนเดียว ที่อยู่กับวง Crescendo ตั้งแต่ชุดแรก จนถึงปัจจุบัน แต่ถึงแม้ Crescendo จะเปลี่ยนสมาชิกบ่อยครั้ง Crescendo ก็มีผลงานโดดเด่นออกมาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม

โปสเตอร์งาน Crescendo on the Run คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวง (ขอบคุณภาพจาก Crescendo)

ย้อนไปหาการแยกวงครั้งแรกของ Crescendo 

พอมาถึงจุดหนึ่งวง Crescendo ได้ประกาศยุบวง ซึ่งในรายการนักผจญเพลง Replay นอ นรเทพเล่าว่า มันมาจากเหตุผลที่วงไปต่อไม่ได้ เพราะวันที่อยู่ GMM Grammy พวกเขาเล่นเพลงที่ปล่อยกับต้นสังกัดที่ร่วมงานก่อนหน้านี้ไม่ได้ และต้องเล่นเพลงของศิลปินคนอื่นใน GMM Grammy 

และอีกปัญหาหนึ่งที่วง Crescendo เจอ ก็คือตัววงขายงานแสดงไม่ได้ ถึงแม้ว่า Crescendo จะมีคอนเสิร์ตใหญ่อย่าง Crescendo On The Run ที่สมาชิกมองว่าจะเป็นตัวพลิกชีวิตวง Crescendo ให้กลับมามีความนิยมได้ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่พวกเขาต้องการ 

และสมาชิก Crescendo ก็ให้สัมภาษณ์ในรายการอีกว่า อีกปัญหาที่ทำให้วงไปต่อไม่ได้ก็คือน่าจะเป็นเพราะวง Crescendo ไม่มีแฟนเพลง และเผยว่าเหตุการณ์วันที่วง Crescendo ขึ้นแสดงเทศกาลดนตรี Big Mountain ต่อจากวง Bodyslam แต่คนดูไม่ให้ความสนใจ เป็นสิ่งที่ทำให้สมาชิกในวงมีความคิดแบบนั้น

วง Crescendo กับสมาชิกในยุคที่กลับมาทำอัลบั้ม Holidays on Pluto (ขอบคุณภาพจาก LOVEiS)

แต่หลังจากที่สมาชิกแยกย้าย สุดท้ายแล้วในปี 2020 ก็มีการรวมตัว Crescendo ของบี, แชมป์, จั๋ง และ เอก ที่มาพูดคุยกัน จนได้นำผลงานอัลบั้มที่ไม่ได้ขาย มาทำใหม่ในชื่อ Holidays on Pluto โดยสมาชิกของวงอย่างเอกได้เล่าว่า การรวมตัวครั้งนี้ของ Crescendo มาจากตอนที่เขาเจอกับ บี อดีตนักร้องนำ ขณะทำงานในรายการหนึ่ง ซึ่งเวลาต่อมาวง Crescendo ก็แยกย้ายอีกรอบ เพราะวิธีการทำงานที่ไม่ลงตัว และตัวของนักร้องนำอย่างบีก็ยังไม่สามารถให้เวลาวงได้เต็มที่ เนื่องจากเขามีหน้าที่การเป็นนักร้องเดี่ยวที่เขาต้องรับผิดชอบอยู่

ภาพแรกที่สมาชิก Crescendo ยุค Four Days กลับมารวมตัวกัน (ขอบคุณภาพจาก Facebook นรเทพ มาแสง)

สำหรับการทำงานในปัจจุบัน นักร้องนำคนที่ 3 ที่กลับมาเป็นสมาชิกรุ่นปัจจุบันอีกครั้งอย่างนัท ชาติชาย ได้เล่าว่า เขามีโอกาสได้คุยกับมือกลองของวงอย่างเอก และชักชวนกันทำงานต่อ เพราะมันยังมีสิ่งที่ค้างคาในใจของนัทอยู่ 

และจากนั้นทั้งสองคนก็ได้มีการคุยกับจั๋งเรื่องการทำวง และในวันที่ เอก-นัท-นอ-จั๋ง-แชมป์ ได้มารวมตัวคุยกันและตัดสินใจว่าจะรวมวง พร้อมลงรูป 5 คนอยู่ด้วยกัน และหลังจากนั้น ความตื่นเต้นของแฟนเพลงก็ยิ่งทวีคูณ เมื่อวงได้บอกว่าจะมีเพลงใหม่ อัลบั้มใหม่ และทำคอนเสิร์ตด้วย และดีใจที่สมาชิกทุกคนสัมภาษณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า การกลับมาคราวนี้ทุกคนมีความสุขที่ได้กลับมาทำสิ่งที่พวกเขารักด้วยกันอีกครั้ง 

บทเรียนเรื่องเวลาจาก Crescendo

เรื่องราวของ Crescendo ผมว่าน่าจะเป็นบทเรียนเรื่องกาลเวลาได้ดีว่า ไม่มีอะไรถาวร แต่ในทุกการเปลี่ยนแปลงก็จะนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ อย่างเช่น นอ มือเบสของวง ที่ต้องหยุดเส้นทางของวง Pause ไป แต่สุดท้ายโอกาสก็ได้ทำวง Crescendo ต่อ และขณะเดียวกัน เราก็ได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง แม้มันจะนำพาความลำบากมาให้กับตัวเราในช่วงแรก แต่มันก็จะมีเรื่องดี ๆ เช่นกัน เหมือนวง Crescendo ที่ผ่านการเปลี่ยนนักร้องนำ และสมาชิกหลายยุค แต่ทุกยุคก็มีเพลงฮิตและผลงานโดดเด่นออกมาให้ทุกคนได้ฟัง 

ส่วนบทเรียนที่ 3 ที่เราได้เรียนรู้จากวง Crescendo ก็คือความเป็นจริงที่ว่า การจากลานั้นไม่ใช่เรื่องถาวรเสมอไป เพราะบางครั้งเราเองอาจจะได้กลับมาพบกับคนที่เราเคยโบกมือลาเมื่อหลายปีก่อน อย่างเช่นวง Crescendo ที่กลับมาอยู่ด้วยกัน หลังแยกย้ายไปหลายปี และมาสัมภาษณ์ พร้อมทำโชว์สุดพิเศษให้ทุกคนได้รับชมกัน 

โดยทุกคนสามารถติดตามชมการแสดงและย้อนความทรงจำกับวง Crescendo ได้ทางรายการ นักผจญเพลง Replay วันนี้ทาง YouTube Thai PBS หรือเว็บไซต์ https://www.thaipbs.or.th/program/SongHunterTV/ 
 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วง Crescendoรายการนักผจญเพลงศิลปินไทยคอลัมน์ เพลงหน้า A by นักผจญเพลง
อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์
ผู้เขียน: อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

ผู้ดำเนินรายการ นักผจญเพลง REPLAY รายการเพลงที่มากกว่าเรื่องราวของเพลง แต่บอกเล่าเรื่องราวของดนตรีในมุมที่แตกต่าง สร้างแรงบันดาลใจในชีวิตประจำวันได้

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด