ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องควรรู้ “แผลไฟไหม้” มีกี่ระดับ รักษา - รับมืออย่างไร ?


Thai PBS Care

10 ก.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

เรื่องควรรู้ “แผลไฟไหม้” มีกี่ระดับ รักษา - รับมืออย่างไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1369

เรื่องควรรู้ “แผลไฟไหม้” มีกี่ระดับ รักษา - รับมืออย่างไร ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

จากเหตุไฟไหม้เยาวราช ถือเป็นเหตุร้ายที่เกิดอย่างไม่ทันตั้งตัว Thai PBS ชวนตั้งรับก่อนเกิดเหตุร้ายกับ เรื่องควรรู้ของ “แผลไฟไหม้” เพื่อสามารถรับมือหรือปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที หากต้องเผชิญกับเหตุไม่คาดฝัน

แผลไฟไหม้ คืออะไร ?

แผลไฟไหม้ หรือแผลไหม้ (Burn wound) คือความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อของร่างกาย เกิดจากความร้อนหรือความเย็นที่สูงมาก เกิดได้จากทั้งน้ำร้อน ไฟฟ้าช็อต สารเคมี สัมผัสวัตถุที่มีความร้อนสูง และอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยมีระดับของแผลไฟไหม้ที่แตกต่างกันไป แต่ละระดับเป็นการประเมินความรุนแรงของการบาดเจ็บ รวมถึงแนวทางการรักษาที่ต่างกัน
ความรุนแรงของแผลไฟไหม้จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและระยะเวลาที่สัมผัส โดยรวมแล้วความรุนแรงของแผลไฟไหม้ถูกแบ่งไว้ 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่


1. แผลไฟไหม้ระดับแรก (First degree burn) 

ความเสียหายจำกัดอยู่ที่ผิวหนังขั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ผิวหนังมีสีแดง มีอาการแสบร้อน กดแล้วรู้สึกเจ็บ ไม่มีตุ่มพองปรากฏ อาจเกิดได้จากการถูกน้ำร้อนลวก หรือไปเที่ยวตากอากาศ ตากแดดมาก ๆ แล้วผิวเป็นสีแดง นั่นคือแผลไฟไหม้ในลักษณะเดียวกัน ใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ไม่ทิ้งรอยไว้ ถือเป็นแผลไฟไหม้ระดับตื้น สร้างความเสียหายเฉพาะผิวชั้นนอกเท่านั้น สามารถใช้ครีมทาแผลรักษาได้
 

2. แผลไฟไหม้ระดับที่สอง (Second degree burn) 

แผลไฟไหม้ระดับนี้มักเกิดจากการถูกน้ำร้อนมาก ๆ ลวก ถูกน้ำมันทอดอาหารกระเด็นใส่ หรือสัมผัสถูกเปลวไฟ สามารถแบ่งได้อีก 2 แบบ

แผลไฟไหม้ระดับที่สองแบบตื้น (Superficial partial-thickness burn) เกิดความเสียหายที่หนังกำพร้าทั้งหมด จนถึงหนังแท้บางส่วน มีลักษณะที่สังเกตได้คือมีตุ่มพองใสขึ้น หากมีการลอกตุ่มใสออกจะเจอเนื้อสีชมพูอ่อน มีอาการปวดแสบร้อนมาก แต่เส้นประสาทที่ผิวหนังยังไม่ถูกทำลาย ทำให้สร้างผิวหนังคืนกลับมาได้ ใช้เวลารักษาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ โดยไม่เกิดแผลเป็นทิ้งไว้ รักษาได้ด้วยการทาครีมหรือด้วยที่ปิดแผล 

แผลไฟไหม้ระดับที่สองแบบลึก (Deep partial-thickness burns) เกิดการไหม้ที่ส่วนหนังแท้ส่วนลึก ลักษณะแผลจะต่างจากแผลไฟไหม้ระดับที่สองแบบตื้น ตัวแผลไฟไหม้ระดับที่สองแบบลึกจะไม่มีตุ่มพอง แผลมีสีเหลือง แห้ง และไม่ค่อยปวด สามารถเปิดแผลเป็นได้ แต่จะเกิดได้น้อย หากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
 

3. แผลไฟไหม้ระดับที่สาม (Third degree burn)

แผลไฟไหม้ที่สร้างความเสียหายลึกลง ชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ รวมถึงเส้นเลือดฝอย เซลล์ประสาทและต่อมเหงื่อ ไม่รู้สึกเจ็บมากนัก เพราะเส้นประสาทถูกทำลาย แผลอาจกินลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก  แผลจะมีลักษณะขาว ซีด เหลือง น้ำตาลไหม้ หรือดำ คล้ายแผ่นหนังแห้ง ๆ แผลไฟไหม้ระดับที่สามนี้จะไม่หายเอง ต้องได้รับการรักษาเป็นการเฉพาะ ด้วยการผ่าตัดปลูกผิวหนัง หายแล้วจะเป็นแผลเป็น แผลลักษณะนี้มักเกิดจากไฟไหม้ ถูกของร้อนเป็นเวลานาน หรือไฟฟ้าช็อต

หลังเหตุการณ์ไฟไหม้เยาวราช


แผลไฟไหม้ จากอุบัติเหตุรับมืออย่างไร ?

เมื่อเกิดแผลไฟไหม้ขึ้น การรับมืออย่างทันท่วงทีเป็นเรื่องสำคัญ มีข้อปฏิบัติที่ควรรู้ไว้ และมีบางข้อปฏิบัติที่หลายคนอาจเข้าใจผิด มีอะไรมาดูกัน

1. ควรล้างด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง เมื่อเกิดเหตุแผลไฟไหม้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือลดอุณหภูมิของแผล สามารถทำได้ด้วยการล้างแผลด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง อาจใช้วิธีเปิดน้ำอุณหภูมิห้องให้ไหลผ่านแผล น้ำที่ไหลผ่านจะช่วยลดอุณหภูมิแผลลง ลดการไหม้ของแผลได้ และอาจใช้น้ำผสมสบู่อ่อน ๆ ช่วยล้างสิ่งสกปรกได้ หากยังคงอยู่ใกล้ความร้อน ควรถอดเอาอุปกรณ์ที่เป็นโลหะออกจากตัว เช่น นาฬิกาข้อมือ สร้อยคอ

2. ประคบเย็นได้ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด หรือน้ำแข็ง สามารถประคบเย็นได้ด้วยการใช้ผ้าห่อน้ำแข็ง ให้ความเย็นผ่านสู่บริเวณแผลเท่านั้น และควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากเย็นเกินไปอาจทำให้แผลลึกขึ้นได้ ในกรณีแผลไฟไหม้ระดับสองขึ้นไป การประคบเย็นเป็นเพียงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป 

3. ห้ามทาแผลด้วย ยาสีฟัน ไข่ขาว น้ำมัน น้ำปลา ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจทำให้ยากต่อการทำความสะอาด และยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ ส่วนว่านหางจระเข้สามารถใช้เพื่อช่วยสมานท์แผลได้ เฉพาะกรณีแผลไฟไหม้ระดับที่หนึ่งและสองเท่านั้น

4. กรณีแผลไม้ไหม้ที่ควรเร่งพบแพทย์ ได้แก่ แผลไฟไหม้ระดับที่สาม มีขนาดมากกว่า 2 ฝ่ามือ แผลไฟไหม้ระดับที่สอง มีขนาดมากกว่า 2 ฝ่ามือในเด็ก หรือ 15 ฝ่ามือในผู้ใหญ่ แผลไฟไหม้บริเวณตา หู ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะสืบพันธุ์ หรือข้อพับต่าง ๆ หรือมีแผลไฟไหม้ในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เหล่านี้ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

หลังเกิดแผลไฟไหม้ รักษาตัวอย่างไร ?

การรักษาตัวหลังเกิดแผลไฟไหม้ ควรรักษาแผลไฟไหม้ตามระดับความรุนแรง โดยมากแล้วจะเป็นการรักษาด้วยทำความสะอาดแผลอย่างสม่ำเสมอ ทายาที่แผล รวมถึงรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

ควรหลีกเลี่ยงการให้แผลสัมผัสกับฝุ่นหรือสิ่งสกปรก เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองรวมถึงอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
ควรเลือกรับประทานอาหารที่เน้นโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ และถั่วชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื้อใหม่เข้ามาได้เร็วขึ้น หากแผลหายดีแล้วควรใช้ครีมกันแดดหรือโลชั่นเพื่อลดอาการแห้งและคัน เป็นเวลาประมาณ 3 – 6 เดือน

อ้างอิง
การดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burn Management)
ทำความรู้จักบาดแผลไฟไหม้
แผลไฟไหม้ / น้ำร้อนลวก

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เยาวราชไฟไหม้ไฟไหม้เยาวราชแผลไฟไหม้
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด