Thai PBS On This Day | กรกฎาคม 2567


วันสำคัญ

5 ก.ค. 67

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
Thai PBS On This Day | กรกฎาคม 2567

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนกรกฎาคม 2567

1 กรกฎาคม : วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

“พลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell)” หรือ “B-P (บี-พี)” ผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือขึ้นที่อังกฤษเป็นแห่งแรกของโลก มีแรงจูงใจจากการที่ท่านไปรับราชการทหาร ทำหน้าที่รักษาเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) อันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสหภาพแอฟริกาใต้ ซึ่งขณะนั้นเกิดสงครามขึ้นกับพวกบัวร์ (Boer)

ท่านได้ทำการฝึกเยาวชนหน่วยหนึ่งขึ้น เพื่อช่วยในราชการงานสงคราม โดยหน่วยเยาวชนนี้มีหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว สอดแนม รักษาความสงบเรียบร้อย รวมไปถึงการทำครัว ซึ่งเยาวชนที่เข้าฝึกสามารถปฏิบัติหน้าที่ในมอบหมายได้อย่างเข้มแข็ง ว่องไว ได้ผลดีไม่แพ้ผู้ใหญ่ และบางอย่างกลับทำได้ดีกว่าผู้ใหญ่ด้วย

เมื่อท่านกลับจากราชการเมืองมาฟฟิคิง (Mafiking) ท่านจึงได้ร่างโครงการอบรมเยาวชน ซึ่งมีหลักการคล้ายลูกเสือในปัจจุบัน ต่อมาในปี 2450 ท่านได้ทดลองตั้ง “กองลูกเสือ (Boy Scout)” ขึ้นเป็นกองแรกที่เกาะบราวน์ซี ไอแลนด์ (Brown Sea Island) ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จนเมื่อปี 2451 “พลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell)” หรือ “B-P (บี-พี)” ก็ได้เป็นผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือขึ้นที่อังกฤษเป็นแห่งแรกของโลก

ท่านได้แต่งหนังสือฝึกอบรมลูกเสือ “Scouting For Boys” เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน คำว่า “ลูกเสือ (Scout)” มีความหมายตามตัวอักษร คือ

  • S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน
  • C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี
  • O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท
  • U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี
  • T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

ต่อมาในปี 2455 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศรับรองฐานะของลูกเสืออังกฤษอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งออกกฎหมายคุ้มครอง จากนั้น “กิจการลูกเสือ” ก็เริ่มแพร่ขยายไปในประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา จนได้ตั้งเป็น “กองลูกเสือ” ขึ้นเป็นประเทศที่สองต่อจากอังกฤษ

สำหรับประเทศไทย “กิจการลูกเสือ” เริ่มต้นขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กองเสือป่า” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการพลเรือนให้เรียนรู้วิชาการด้านทหาร เป็นกำลังสำรองในยามศึกสงคราม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้ยังทรงเห็นว่า “กิจการลูกเสือ” จะช่วยให้คนไทยรักชาติ มีมนุษยธรรม ความเสียสละ สามัคคี และความกตัญญู

ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 มีพระบรมราชโองการให้จัดตั้ง “กองลูกเสือ” ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่สามของโลก ต่อจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยลูกเสือไทยคนแรกคือ “เสวกตรี นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค)” จากการกล่าวคำปฏิญาณได้เป็นคนแรก

ลูกเสือกองแรกของไทย ก่อตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เรียกว่า “ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1” ก่อนที่จะขยายตัวไปจัดตั้งตามโรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานคติพจน์ “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” เพื่อให้เยาวชนที่จะเข้าประจำการในกองลูกเสือได้ปฏิญาณตน

ในสมัยนั้น กิจการลูกเสือไทยเลื่องลือไปยังนานาชาติว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง” ทำให้กองลูกเสือที่ 8 ของอังกฤษ ได้มีหนังสือขอพระราชทานนามลูกเสือกองนี้ว่า “กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม” ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามความประสงค์ โดยลูกเสือกองนี้ได้ติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเสื้อทั้งสองข้าง ซึ่งยังปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ เมื่อนานาชาติจัดตั้งกองลูกเสือเป็นจำนวนมากขึ้น ทำให้ “กิจการลูกเสือ” กลายเป็นองค์การสากล และมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก โดยถือว่า “ลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกัน”

2 กรกฎาคม 2476 : “ศาลาเฉลิมกรุง” เปิดให้บริการเป็นวันแรก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชปรารถในการฉลองกรุงเทพมหานครครบ 150 ปี (ปี 2475) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์” หรือ “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” เชื่อมฝั่งพระนครกับกรุงธนบุรี พร้อมสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไว้ที่เชิงสะพานฝั่งพระนคร เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระผู้ทรงประดิษฐานกรุงเทพมหานคร และพระบรมราชจักรีวงศ์

อีกทั้งทรงมีพระราชดำริให้มีสถานที่มหรสพขนาดใหญ่ ทันสมัยทัดเทียมต่างประเทศสักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ประกอบกับพระราชนิยมในการผลิตและทอดพระเนตรภาพยนตร์ จึงทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า 9 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงภาพยนตร์แห่งแรกในประเทศไทย ให้เป็นที่อำนวยความบันเทิงแก่ประชาชนทั่วไป และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยด้วย

การก่อสร้าง “ศาลาเฉลิมกรุง” เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกผู้สำเร็จการศึกษาในสถาบันชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

โดยได้พระราชทานนามของโรงมหรสพ เพื่อเป็นเกียรติกับผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ 150 ปี ว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” ทำการเปิดฉายภาพยนตร์เสียงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2476 และดำเนินกิจการให้ความบันเทิงแก่ประชาชนทั่วไปจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในสมันนั้น “ศาลาเฉลิมกรุง” ถือเป็นอาคารที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย เป็นโรงมหรสพแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย รวมถึงผู้คนในวงการภาพยนตร์ เป็นสถาบันในการผลิตบุคลากรด้านภาพยนตร์และละครไทยอีกด้วย

ปัจจุบัน “ศาลาเฉลิมกรุง” เปิดทำการทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ตั้งแต่เวลา 9.00 น. - 18.00 น. นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรที่จุดจำหน่ายบัตรศาลาเฉลิมกรุง ในราคา 100 บาท หรือซื้อบัตรที่จุดจำหน่ายบัตรพระบรมมหาราชวัง ในราคาพิเศษ 500 บาท (เข้าชมพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเข้าชมการแสดงโขน ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง) โดยมีรถบริการรับส่งจากประตูวิมานเทเวศร์ พระบรมมหาราชวัง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ 0-2224-4499 หรือทางเว็บไซต์ www.salachalermkrung.com

3 กรกฎาคม : วันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day)

วันที่ 3 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day)” กำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีต้นเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

“Zero Waste European” องค์กรในยุโรปด้านการลดการปล่อยของเสียในชุมชน ได้รายงานตัวเลขเกี่ยวกับขยะพลาสติก ว่าถูกใช้งานจริงเพียงแค่ 25 นาที ต่อใบ แต่ต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานกว่า 100 - 500 ปี (ขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติก) โดยเฉลี่ยแล้วประชากรโลกใช้ถุงพลาสติก 1 ล้านใบ ทุก ๆ 1 นาที

“วันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day)” จึงนับเป็นกิจกรรมระดับโลก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Used Plastic) ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ การใช้ถุงผ้าหรือวัสดุอื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3 กรกฎาคม 2547 : “รถไฟฟ้ามหานคร” เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ

ในปี 2514 รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมัน ในการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษา สำรวจ และวางแผนแม่บท สำหรับการจราจรและขนส่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางและการจราจรในกรุงเทพมหานคร โดยคณะผู้เชี่ยวชาญได้เสนอให้มี “ระบบรถขนส่งมวลชนแบบเร็ว (Mass Rapid Transit System)”

ต่อมาได้มี “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515” จัดตั้ง “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” เพื่อจัดสร้าง “ทางพิเศษ” ซึ่งประกอบด้วย ระบบทางด่วน (Express Way) / ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Rapid Transit System) / การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

28 กรกฎาคม 2535 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้จัดตั้งรัฐวิสาหกิจและมีการตรา “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร พ.ศ. 2535” ต่อมาจึงมาการตรา “พระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543” จัดตั้ง “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)”

ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2547 “รถไฟฟ้ามหานคร” เปิดบริการเป็นครั้งแรก โดยเริ่มการเดินรถในเส้นทาง “เฉลิมรัชมงคล” เส้นทางสายแรกอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการเดินรถเป็นสิริมงคล

ปัจจุบัน “รถไฟฟ้ามหานคร” เปิดให้บริการจำนวน 4 เส้นทาง คือ สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ประกอบด้วยช่วงที่ 1 หัวลำโพง - บางซื่อ ช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพง - สถานีหลักสอง ช่วงที่ 3 บางซื่อ - สถานีท่าพระ / สายสีม่วง (สายฉลองรัชธรรม) ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ / สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี / สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง

ทั้งนี้ เส้นทางในอนาคต คือ สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน - มีนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 และสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571

4 กรกฎาคม : วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งยังเป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ทรงศึกษาระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนจิตรลดา ต่อมาทรงศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงได้รับรางวัลเรียนดีตลอดระยะเวลา 4 ปีการศึกษา ทรงสำเร็จปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกเคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 ทรงได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี และทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2528 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังทรงเข้าศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่สนพระทัย อาทิ การเข้าอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมนี ศึกษาด้านพิษวิทยา ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีการศึกษา 2549 ศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีการศึกษา 2560

พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ผู้มีผลงานดีเด่นของโลก ในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ทรงก่อตั้ง “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 ซึ่งทรงเป็นองค์ประธาน ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง ทั้งทรงเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2525 ได้มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) กับ เรืออากาศโท วีระยุทธ ดิษยะศริน (อดีตพระสวามี) ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562

4 กรกฎาคม 2477 : “มารี กูรี” นักเคมีชาวโปแลนด์ เสียชีวิต

“มารี กูรี (Marie Curie)” นักเคมีชาวโปแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2410 ที่เมืองวอร์ซอ เขตวิสทูลา จักวรรดิรัสเซีย ปัจจุบันคือประเทศโปแลนด์ เธอเป็นบุตรสาวของ “บรอนีสลาวา (Bronislawa)” กับ “วลาดีสวอฟ (Wladyslaw)” มีพี่น้องจำนวน 5 คน

พ่อของเธอเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์และมักพาไปห้องปฏิบัติการอยู่เสมอ ทำให้เธอสนใจในวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก ต่างจากค่านิยมสังคมของผู้หญิงในสมัยนั้น ที่จะเน้นการเรียนและการเตรียมตัวเป็นแม่บ้าน

ด้วยฐานะทางบ้าน ทำให้เธอเสียสละส่งพี่สาวเรียนจนจบ ก่อนที่พี่สาวจะส่งเธอเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ในสาขาด้านวิชาฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ เธอจบปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ได้สำเร็จในปี 2436

เธอเริ่มทำงานในห้องปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมของ “ศาสตราจารย์ กาเบรียล ลิพพ์มานน์ (Abriel Lippmann)” นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส-ลักเซมเบิร์ก และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส จนจบปริญญาโทในปี 2437

ต่อมา เธอเข้าทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์ด้านการตรวจหาคุณสมบัติทางแม่เหล็กของเหล็กกล้าหลายชนิด ในปีเดียวกัน เธอพบรักกับ “ปิแอร์ กูรี (Pierre Curie)” นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ด้วยความชอบและความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้ทั้งคู่สนิทสนมและตัดสินใจแต่งงานกันเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2438 ทุกคนจึงรู้จักเธอในนาม “มาดาม มารี กูรี (Marie Curie)”

ในปี 2446 เธอจบการศึกษาระดับปริญญาเอก และเป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศฝรั่งเศสที่ได้รับปริญญาเอก ในปลายปีเดียวกันเธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล จากผลงานการค้นพบปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสี โดยมีผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ 3 ท่าน คือ “แบ็กเกอร์แรล” อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบ ปิแอร์และมารี ผู้ทำการทดลอง ค้นคว้าและหาคำอธิบายปรากฏการณ์นี้

ต่อมาในปี 2454 เธอได้รับรางวัลโนเบลอีกครั้ง ในสาขาเคมี จากการค้นพบธาตุพอโลเนียม (Polonium : Po) และ เรเดียม (Radium : Ra) ทำให้เธอเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง ใน 2 สาขา นอกจากนี้ เธอยังเป็นศาสตราจารย์หญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยแห่งปารีสอีกด้วย

ในปี 2476 เธอได้ทำการจัดตั้งมูลนิธิ “Curie Foundation” เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านงานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และสนับสนุนทางการแพทย์ ต่อมาในปี 2496 สถาบันแห่งนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของสถาบันวิจัยมะเร็งในหลายประเทศ ทำให้งานด้านวิทยาศาสตร์ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสังคมมากขึ้น

“มารี กูรี (Marie Curie)” ป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เธอเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลโอตซาวัว (Haute Savoie) ประเทศฝรั่งเศส และเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม 2477 ขณะอายุได้ 67 ปี โดยภายหลัง เธอและสามี “ปิแอร์ กูรี (Pierre Curie)” ได้รับเกียรติ โดยนำชื่อสกุล “กูรี (Curie)” ไปตั้งเป็นชื่อธาตุลำดับที่ 96 ว่า “คูเรียม (Curium : Cm)” อีกด้วย

6 กรกฎาคม : วันไก่ทอดสากล (National Fried Chicken Day)

นี่คือวันของผู้ชื่นชอบความชุ่ม ฉ่ำ นุ่ม รสสัมผัสที่จัดว่าเด็ดของ “ไก่ทอด (Fried Chicken)” เมนูฮิตระดับโลกที่ทุกคนหลงใหล

ประวัติศาสตร์ของ “ไก่ทอด (Fried Chicken)” เริ่มขึ้นในยุคกลาง เมื่อผู้อพยพชาวสก็อต ได้เดินทางไปยังตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาและนำประเพณีการทำไก่ทอดติดตัวมาด้วย ด้วยสไตล์ดั้งเดิมแบบไม่มีการปรุงรส สูตรนี้จึงจืดชืดเล็กน้อย

ต่อมาทาสชาวแอฟริกันของผู้อพยพชาวสก็อต จึงได้ปรับสูตรไก่ทอดเพื่อความเข้มข้น โดยการเพิ่มเครื่องเทศลงไปตามสไตล์ของพวกเขา “ไก่ทอด (Fried Chicken)” เลยกลายเป็นอาหารหลักของหลายครัวเรือนในอเมริกาใต้

แต่ผู้ที่ทำให้ “ไก่ทอด (Fried Chicken)” เป็นที่รู้จักและนิยมไปทั่วโลก จนเขาได้รับฉายา “ราชาแห่งไก่ทอด” จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “พันเอกฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส (Colonel Harland David Sanders)” หรือ “ผู้พันแซนเดอส์ (Colonel Sanders)”

เขาเกิดไอเดียในการใช้เครื่องปรุงรสและหม้ออัดแรงดันในการทำเมนู “ไก่ทอด (Fried Chicken)” โดยเริ่มวางขายในร้านของเขา “Kentucky Fried Chicken” ก่อนจะขายแฟรนไชส์ไปกว่า 600 แห่ง ทั่วสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทย “ไก่ทอด (Fried Chicken)” ของเราก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งไก่ทอดสมุนไพรพื้นถิ่น ไก่ทอดน้ำปลา และไก่ทอดชื่อดังประจำอำเภออย่าง “ไก่ทอดหาดใหญ่” อำนวยความอร่อยคู่กับหอมเจียวทอด เครื่องเคียงที่ขาดไม่ได้!!!

ผู้อพยพชาวสก็อต นำประเพณีการทอดไก่ด้วยน้ำมันมาสู่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา จากนั้นไก่ทอดก็กลายเป็นอาหารหลักและได้รับความนิยม จนเกิดสูตรใหม่ ๆ ขึ้น โดยเพิ่มเครื่องปรุงและเครื่องเทศเพื่อเพิ่มรสชาติของไก่

6 กรกฎาคม : วันจูบสากล (International Kissing Day)

“การจูบ (Kissing)” เป็นการกระทำที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยชาวโรมันได้อธิบายไว้ 3 แบบ คือการจูบที่แก้มอย่างเป็นมิตร (Osculum) การจูบด้วยความรักบนริมฝีปาก (Basium) และการจูบที่ปากอย่างเร่าร้อน (Savium) ซึ่งในสังคมโรมัน การจูบเมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร จะเป็นตัวบ่งชี้สถานะทางสังคมได้

เคยมีนักมานุษยวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ ได้เอ่ยถึงทฤษฎีการจูบถึง 2 ทฤษฎี โดยทฤษฎีแรกมองว่า “การจูบ (Kissing)” เป็นพฤติกรรมที่พัฒนามาจากการป้อนอาหารจากแม่สู่ลูก โดยใช้ริมฝีปาก ขณะที่อีกทฤษฎีมองว่าเป็นสัญชาตญาณที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งนี้ มีข้อมูลบ่งชี้ว่า คนมากถึง 2 ใน 3 บนโลก มักจะเอียงคอไปด้านขวาขณะจูบ

ในบางวัฒนธรรมยังใช้ “การจูบ (Kissing)” เพื่อสื่อความหมายดี ๆ สู่คนสำคัญ เช่น การจูบเบา ๆ ที่แก้ม เพื่อกระชับมิตรภาพดี ๆ การจูบเพื่อแทนคำอวยพร การจูบเบา ๆ ที่มือ แทนการทักทาย การจูบเพื่อแสดงความเคารพ หรือแม้แต่การจูบระหว่างแม่กับลูก เพื่อแสดงความรัก

7 กรกฎาคม : วันพูดความจริง (Tell the Truth Day)

วันที่ 7 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันพูดความจริง (Tell the Truth Day)” โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2558 โดยเว็บไซต์ด้านวันสำคัญทางฝั่งของสหรัฐอเมริกา ในหมวดวันแปลก เป็นวันแห่งความจริงที่ผู้คนจะแสดงความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน รวมถึงหยุดการโกหกเป็นเวลาตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

กิจกรรมของวันนี้มีเพียงหนึ่งเดียว! คือทุกคนต้อง “พูดความจริง” หลีกเลี่ยงการโกหกเพื่อแสดงความจริงใจในทุกความสัมพันธ์ และยังถือเป็นการฝึกนิสัยพูดจริงทำจริงอีกด้วย

7 กรกฎาคม 2473 : “เซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์” ผู้แต่ง “เชอร์ล็อค โฮล์มส์” เสียชีวิต

“เซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle)” นักเขียนและอดีตนายแพทย์ชาวสกอตแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2402 ที่เมืองเอดินเบิร์ก (เอดินเบอระ - Edinburgh) สกอตแลนด์ (Scotland) สหราชอาณาจักร เขาเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก นอกจากเป็นแพทย์แล้ว เขายังมีผลงานเขียนเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ตามนิตยสารต่าง ๆ อยู่เสมอ

เขาเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนตอนอายุ 27 ปี หลังจากนิยายเรื่อง “A Study in Scarlet” ได้รับการตีพิมพ์ โดยนิยายเรื่องนี้มีตัวละครเอกชื่อ “เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes)” เป็นผู้ไขปริศนาฆาตกรรม ความโด่งดังทำให้เขาเขียนนิยายเรื่องนี้มาจนถึงตอนที่ 12 และคิดจะจบความเบื่อหน่ายด้วยการเขียนให้ตัวเอกตาย แต่ความผิดหวังของคนอ่านที่ถึงขั้นขู่จะทำร้ายหรือเผาบ้าน ทำให้เขาต้องเขียนให้ “เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes)” ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

ภายหลังเขาเลิกอาชีพแพทย์ เพื่อมาเป็นนักเขียนเต็มตัว ผลงานของเขามีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนิยาย เรื่องสั้น สารคดี และบทความเชิงประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่มีผลงานไหนที่สร้างชื่อเสียงให้เขาได้มากที่สุด เท่ากับการเป็นผู้สร้างตัวละครนักสืบชื่อดังระดับตำนาน “เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes)” นั่นเอง

ทั้งนี้ ในการ์ตูนเล่มอย่าง “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน (Detective Conan)” ยังได้กล่าวถึงชื่อตัวละคร “เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes)” ในตอนต้นเรื่อง และใช้ชื่อผู้แต่งเป็นที่มาของชื่อ “เอโดงาวะ โคนัน (江戸川 コナン)” ตัวละครเอกในเรื่องอีกด้วย

“เซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2473 ขณะมีอายุได้ 71 ปี

7 กรกฎาคม 2510 : เปิดใช้ “สะพานสารสิน” เป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2510 มีการเปิดใช้ “สะพานสารสิน” เชื่อมระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นเส้นทางการเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตโดยรถยนต์ได้เป็นครั้งแรก

“สะพานสารสิน” เป็นสะพานที่สร้างข้ามช่องปากพระ เพื่อเชื่อมระหว่างจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะ ตรงบริเวณท่าฉัตรไชยกับท่านุ่น จังหวัดพังงา โดยสะพานมีความยาวทั้งหมด 660 เมตร “กรมทางหลวง” เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ด้วยงบประมาณ 28,770,000 บาท ใช้ชื่อตามนามสกุลของ “พจน์ สารสิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้น

ทั้งนี้ ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ “ตำนานรักสะพานสารสิน” โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจริงในอดีต เมื่อสองหนุ่มสาวได้ตัดสินใจจบปัญหาชีวิตรักที่ถูกขัดขวางจากครอบครัว ด้วยชาติตระกูลและฐานะทางสังคม ทั้งคู่เลือกจบชีวิตลงสู่พื้นน้ำที่สะพานแห่งนี้ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516

8 กรกฎาคม 2536 : “พุทธทาสภิกขุ” บุคคลสำคัญของโลก มรณภาพ

“พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือ “พุทธทาสภิกขุ” เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมชื่อ “เงื่อม พานิช” ท่านเป็นพระผู้ผลิตสื่อธรรมะในยุคที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนา

ท่านได้ร่วมกับ “ธรรมทาส พานิช” ผู้เป็นน้องชาย ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดร้างตระพังจิก ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมโดย “พุทธทาสภิกขุ” ท่านให้ชื่อว่า “สวนโมกขพลาราม” เพราะบริเวณที่ตั้งมีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่มาก มีความหมายว่า “สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์” ต่อมาในปี 2486 “สวนโมกขพลาราม” ได้ย้ายมาอยู่ที่ “วัดธารน้ำไหล” บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ท่านมีความปรารถนาให้ “สวนโมกขพลาราม” หรือ “สวนโมกข์” เป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม โดยภายในมี “โรงมหรสพทางวิญญาณ” ซึ่งเป็นอาคารที่รวบรวมภาพศิลปะ คำสอนในศาสนานิกายต่าง ๆ ภาพพุทธประวัติ รอบบริเวณวัดเป็นสวนป่าร่มรื่นเต็มไปด้วยปริศนาธรรม ปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป เหมาะสำหรับเป็นที่ฝึกอบรมจิตใจและศึกษาพุทธศาสนา ทั้งยังมีการฝึกสอนสมาธิสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติด้วย

“พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)” หรือ “พุทธทาสภิกขุ” มรณภาพเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 ที่วัดสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2548 “องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)” มีมติประกาศยกย่องให้ “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก

10 กรกฎาคม : วันลูกแมวแห่งชาติ (National Kitten Day)

“คอลลีน เพจ (Colleen Paige)” นักเขียน - ผู้เชี่ยวชาญด้านไลฟ์สไตล์และสัตว์เลี้ยง เป็นผู้ก่อตั้ง “วันลูกแมวแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Kitten Day)” ทุกวันที่ 10 กรกฎาคม ของทุกปี จะเป็นวันที่เหล่าทาสแมวได้ร่วมเฉลิมฉลองให้กับเจ้านายขนฟูตัวเล็กที่ร้องเหมียว!

นอกจากจะเป็นโอกาสให้เราได้มอบความรักให้กับเจ้าของหัวใจตัวจริงแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลชีวิตน้อย ๆ ของลูกแมว ทั้งแมวบ้านและแมวจรที่ยังเฝ้ารอการอุปการะจากบ้านแสนอบอุ่น ให้ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมอีกด้วย

11 กรกฎาคม : วันประชากรโลก (World Population Day)

วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันประชากรโลก (World Population Day)” ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะมนตรีประศาสน์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาเมื่อปี 2532 เพื่อให้ผู้คนเกิดความตระหนักในประเด็นของปัญหาประชากรโลก

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการก่อตั้ง “กองทุนประชากรโลกแห่งสหประชาติ (United Nations Population Fund : UNFPA)” เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุนและปกป้องสิทธิของเยาวชน รวมถึงประชากรโลก ให้ได้รับความรู้และข้อมูลข่าวสารพื้นฐานต่าง ๆ อีกทั้งช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนโลกได้เข้าถึงข้อมูลทางด้านการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะประชากรผู้ด้อยโอกาสและเด็กวัยรุ่นให้ตระหนักถึงการเพิ่มประชากรโลก

13 กรกฎาคม : วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2500 ณ โรงพยาบาลกายส์ เขตเซาท์วาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงเป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร ทรงมีพระขนิษฐาคือ หม่อมหลวงสราลี กิติยากร

ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร” โดยพระนาม “โสมสวลี” มีความหมายว่า “น้ำผึ้งพระจันทร์” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

ทรงเติบโตด้วยการเลี้ยงดูอย่างสามัญในวังเทเวศร์ ทรงปฏิบัติงานบ้านด้วยพระองค์เอง เช่น จัดที่นอนให้เป็นระเบียบ กวาดบ้าน ถูพื้น รวมไปถึงการปลูกผักและตัดหญ้า ทรงโปรดการประกอบอาหาร และวิชาภาษามากกว่าวิชาใด ๆ แต่ไม่โปรดวิชาคำนวณ

ทรงเข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา รุ่นที่ 5 เมื่อปี 2504 รุ่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ทรงลาออก เนื่องจากหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2510 ทรงย้ายไปประทับที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเข้าศึกษาที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี เมื่อย้ายกลับมายังกรุงเทพฯ ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนราชินี ตามลำดับ

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธีหมั้นระหว่างพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และในวันที่ 3 มกราคม 2520 ได้มีพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ 7 ธันวาคม 2521 ทรงมีพระประสูติกาลพระธิดา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ทรงมีพระนามว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ” และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ กับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1

ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะด้านสังคมสงเคราะห์และด้านสาธารณสุข โดยทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โครงการคืนชีวิตให้พ่อแม่เพื่อลูกน้อยที่ติดเอดส์ กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุ สำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย กองทุนนมสำหรับเด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก นอกจากนี้ ทรงรับโครงการต่าง ๆ ของสภากาชาดไทยไว้ในพระอุปถัมภ์หลายโครงการ และทรงจัดตั้งมูลนิธิรวมถึงโครงการส่วนพระองค์อีกหลายโครงการด้วย

17 กรกฎาคม : วันอีโมจิโลก (World Emoji Day)

ก่อนจะไปรู้จัก “วันอีโมจิโลก (World Emoji Day)” เราต้องย้อนไปเริ่มที่ยุคแรก ๆ ที่เรามีแต่คีย์บอร์ดไว้สื่อสารผ่านตัวหนังสือ ในตอนนั้นก็ยังมีช่องว่างของการอธิบายอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่อาจจะส่งผ่านตัวอักษรภาษาใดได้

ทำให้เกิดการพัฒนาโดยใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ มาพิมพ์รวมกัน ให้กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “อีโมติคอน (Emoticon)” ซึ่งมาจากคำว่า “Emotion (อารมณ์)” บวกรวมกับคำว่า “Icon (รูปหรือสัญลักษณ์)” หน้าตาประมาณนี้ไง! ◕‿◕✿

ต่อมา “อีโมติคอน (Emoticon)” ก็เดินทางมาถึงร่างสอง กลายเป็น “อีโมจิ (絵文字 - Emoji)” จากสำนวนในภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึง “คำรูปภาพ” สร้างขึ้นโดย “ชิเกทะกะ คุริตะ (しげたか くりた - Shigetaka Kurita)” ในปี 2533

“ชิเกทะกะ คุริตะ (しげたか くりた - Shigetaka Kurita)” ทำงานให้กับบริษัทโทรคมนาคมของญี่ปุ่น “NTT Docomo” โดยมีหน้าที่ในการออกแบบ “อีโมจิ (絵文字 - Emoji)” หรือ “คำรูปภาพ” เหล่านี้ ให้เป็นคุณสมบัติในเพจเจอร์ เพื่อดึงดูดความสนใจของวัยรุ่นยุค 90 นั่นเอง

ทั้งนี้ การแสดงอารมณ์แทนตัวหนังสือในปัจจุบัน ก็ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น “สติกเกอร์ไลน์” ที่หลายคนใช้สติกเกอร์เหล่านี้ แชทเล่าเรื่องได้รวดเร็วและเก่งกว่าการพิมพ์ซะอีก

18 กรกฎาคม : วันเนลสันแมนเดลาสากล (Nelson Mandela Day)

“องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 18 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันเนลสันแมนเดลาสากล (Nelson Mandela Day)” โดยเลือกวันคล้ายวันเกิดเพื่อเป็นเกียรติแก่ “เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)” อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ผู้รณรงค์ยุติการแบ่งแยกสีผิว เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2536

“เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)” เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2461 ที่ดินแดนปกครองตนเองทรานสไก ประเทศแอฟริกาใต้ ท่านมีคุณูปการต่อวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและเสรีภาพ อุทิศตนในการแก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การประนีประนอม ความเสมอภาคทางเพศ และสิทธิของเด็ก รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ การต่อสู้กับความยากจน การส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม

“เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 ที่ย่าน Houghton Estate เมืองโยฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) ประเทศแอฟริกาใต้ ขณะมีอายุได้ 95 ปี

18 กรกฎาคม 2441 : “มารี กูรี” และ “ปิแอร์ กูรี” ค้นพบธาตุ “พอโลเนียม”

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2441 “มารี กูรี (Marie Curie)” นักเคมีชาวโปแลนด์ และ “ปิแอร์ กูรี (Pierre Curie)” นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส คู่สามีภรรยาที่ชื่นชอบด้านวิทยาศาสตร์ ได้ประกาศการค้นพบธาตุกัมมันตรังสีชนิดใหม่ โดยทั้งคู่ตั้งชื่อว่า “พอโลเนียม (Polonium : Po)” เพื่อเป็นเกียรติแก่บ้านเกิดเมืองนอนของทั้งคู่ คือ ประเทศโปแลนด์ (Poland)

ทั้งสองได้ทำการทดลองในอาคารเล็ก ๆ ที่เป็นห้องเก็บฟืนของภาควิชาฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ที่ “ปิแอร์ กูรี (Pierre Curie)” เป็นอาจารย์สอนหนังสือ หลังจากนั้น 6 เดือน ทั้งคู่ก็ค้นพบธาตุ “เรเดียม (Radium : Ra)” ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีตามมา จากการค้นพบ “พอโลเนียม (Polonium : Po)” และ “เรเดียม (Radium : Ra)” ทำให้ทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ในปี 2454

“พอโลเนียม (Polonium : Po)” หมายเลขอะตอม 84 มีลักษณะเป็นของแข็งสีเทาเงิน มีจุดหลอมเหลว 254 องศาเซลเซียส และจุดเดือด 962 องศาเซลเซียส ละลายได้ในกรดเจือจาง (Dilute Acids) สารละลายที่เกิดขึ้นจะระเหยได้ดี นับเป็นธาตุหายากชนิดหนึ่ง พบปริมาณเล็กน้อยในธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะพบในสินแร่ที่มียูเรเนียม

ทั้งนี้ “พอโลเนียม (Polonium : Po)” เป็นธาตุที่สามารถปล่อยรังสีแอลฟาในปริมาณที่มากกว่าธาตุเรเดียมถึง 5,000 เท่า หากเข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายมากกว่าไซยาไนด์ 250 ล้านเท่า

19 กรกฎาคม 2490 : “นายพล ออง ซาน” ผู้นำการเรียกร้องเอกราชของเมียนมา ถูกสังหารเสียชีวิต

“นายพล ออง ซาน (Aung San)” เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2458 ที่ประเทศเมียนมา (พม่าในขณะนั้น) ในครอบครัวชาตินิยมที่ต่อต้านอังกฤษ ซึ่งเข้ายึดครองพม่าเป็นอาณานิคมตั้งแต่ปี 2428 เขาเข้าศึกษาวิชาวรรณคดีอังกฤษ ประวัติศาสตร์และการเมือง จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ระหว่างนั้น เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา รวมถึงเป็นบรรณาธิการหนังสือ เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมือง จนในที่สุดก็ถูกไล่ออกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2479

หลังจากนั้น เขาเข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติ ขับไล่จักรวรรดินิยมอังกฤษ และเรียกร้องเอกราชให้พม่า โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma : CPB)” ในเดือนสิงหาคม 2482

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธในการก่อตั้ง “กองกำลังปลดปล่อยพม่า (Burmese Independence Army : BIA)” ในปี 2484 หลังจากญี่ปุ่นยึดพม่าได้จากอังกฤษในวันที่ 1 สิงหาคม 2486 ก็ได้ประกาศให้พม่าเป็นเอกราช และแต่งตั้งให้ “นายพล ออง ซาน (Aung San)” เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ภายหลังกลับพบว่า เอกราชที่ญี่ปุ่นสัญญาไว้ไม่เป็นความจริง ในช่วงปลายสงครามโลก จึงได้กลับไปเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากพม่าได้สำเร็จ ในวันที่ 27 มกราคม 2490 เขาได้ลงนามในสัญญากับ “คลีเมนต์ แอตท์ลี (Clement Attlee)” นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ โดยอังกฤษยินยอมจะมอบเอกราชให้พม่าภายใน 1 ปี

จากนั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 เขาก็ลงนามใน “สนธิสัญญาปางโหลง (Panglong Conference)” กับหัวหน้าชนกลุ่มชาติต่าง ๆ ในลุ่มน้ำอิระวดี โดยในสนธิสัญญาระบุว่า เมื่อพม่าได้รับเอกราชครบ 10 ปี แต่ละชนชาติ ได้แก่ กะเหรี่ยง คะเรนนี มอญ ไทใหญ่ และคะฉิ่น จะสถาปนาเอกราชของตนเอง

สนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้นักการเมืองและทหารบางกลุ่มไม่พอใจ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากอยู่ในดินแดนของชนชาติอื่น ดังนั้นหากมีการแยกตัวเป็นอิสระแล้ว พม่าจะมีปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในที่สุดกองกำลังลึกลับจึงบุกเข้าสังหาร “นายพล ออง ซาน (Aung San)” พร้อมกับรัฐมนตรีอีก 6 คน ขณะกำลังร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐบาลชั่วคราว โดยฝีมือของ “อู ซอ (U Saw)” นักการเมืองคู่แข่ง

“นายพล ออง ซาน (Aung San)” วีระบุรุษนักปฏิวัติและผู้นำในการเรียกร้องเอกราชของเมียนมา เสียชีวิตในวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 ขณะมีอายุได้ 32 ปี หลังจากนั้น “อู นุ (U Nu)” ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และอ้างว่า “สนธิสัญญาปางโหลง (Panglong Conference)” เป็นเพียงการทำสัญญาระหว่างชนกลุ่มน้อยกับนายพลอองซานเท่านั้น จึงฉีกสนธิสัญญาทิ้ง ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกองกำลังของชนชาติอิสระต่าง ๆ กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยังคงร้อนระอุมาจนทุกวันนี้

20 กรกฎาคม : วันแห่งพระจันทร์ (National Moon Day)

That’s one small step for man, one giant leap for mankind

นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

คำกล่าวเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 ของชายผู้เหยียบดวงจันทร์คนแรก “นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong)” มนุษย์อวกาศผู้เดินทางไปกับ “ยานอะพอลโล 11 (Apollo 11)” ก่อนจะตามมาด้วยรอยเท้าของ “เอดวิน อัลดริน (Edwin Aldrin)” และ “ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins)” สองนักบินอวกาศที่โดยสารมาด้วยกัน

20 กรกฎาคม ของทุกปีจึงเป็น “วันแห่งพระจันทร์ (สหรัฐอเมริกา) (National Moon Day)” เพื่อรำลึกถึงความสำเร็จในภารกิจของ “โครงการอะพอลโล (Apollo Mission)” ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับชาติที่ถูกประกาศโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “จอห์น เอฟ เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy : JFK)” ถือเป็นความสำเร็จของวงการวิทยาศาสตร์และเป็นก้าวแรกของมวลมนุษยชาติ

20 กรกฎาคม 2516 : “บรูซ ลี” ปรมาจารย์ศิลปะการต่อสู้แห่งโลกภาพยนตร์ เสียชีวิต

“บรูซ ลี (Bruce Lee)” นักแสดงภาพยนตร์บู๊ ผู้เป็นปรมาจารย์ศิลปะการต่อสู้แห่งโลกภาพยนตร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2483 ที่โรงพยาบาล Chinese Hospital ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ผู้เป็นพ่อพร้อมคณะงิ้วกวางตุ้ง กำลังตระเวนแสดงไปทั่วอเมริกา โดยนางพยาบาลคนหนึ่ง ตั้งชื่อให้เขาว่า “บรูซ ลี (Bruce Lee)” เพราะเรียกง่าย และฟังดูเป็นฝรั่ง

ต่อมาพ่อและคณะงิ้วกวางตุ้ง พร้อมด้วยตัวเขาได้เดินทางกลับฮ่องกง จากนั้นเขาก็ได้เริ่มเฉิดฉายเข้าสู่โลกของภาพยนตร์ตั้งแต่อายุเพียง 3 เดือน ในเรื่อง “Golden Gate Girl” ซึ่งถ่ายทำในซานฟรานซิสโก โดยเขาเล่นเป็นทารกเพศหญิง พออายุ 6 ขวบ เขาก็ได้เล่นภาพยนตร์อีกเรื่องคือ “The Birth of Mankind”

เขาเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ของสำนักมวยหย่งชุนของปรมาจารย์ “ยิปมัน” แม้ว่าเขาจะหันหลังในการเรียน แต่เขาก็เอาจริงเอาจังทางด้านกังฟูและศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ พร้อมการใช้ชีวิตที่โลดโผนและอิสระ ทั้งการเป็นครูสอนมวยจีน เป็นนักแสดง เป็นครูสอนเต้นสามช่า แชมป์การแข่งขันเต้นชะชะช่าปี 2501 ที่ฮ่องกง

หลังจากผิดหวังในฮอลลีวูด เขากลับฮ่องกงในปี 2514 และพบกับ “เรย์มอนด์ เชา (Raymond Chow)” ผู้ผลิตหนังในฮ่องกง หลังจากเปิดฉากด้วย “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง (The Big Boss)” ก็ทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นฉายาของเขา และหลายเรื่องก็กลายเป็นหนังกังฟูฮ่องกงที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกในยุคนั้น เขาฝากผลงานการแสดงไว้ทั้งหมด 32 เรื่อง มีผลงานระดับตำนานอย่าง “Game Of Death (1978)” ที่เขาแสดงค้างไว้ก่อนจะไปเป็นมังกรบนฟากฟ้า

“บรูซ ลี (Bruce Lee)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2516 ขณะอายุได้ 33 ปี ด้วยสาเหตุที่ยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ หลายคนต่างคาดเดาไปต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ร่างกายเกิดขีดจำกัดจากความเป็นคนมุ่งมั่นของเขา จากการฆาตกรรม หรือจากการใช้สารเสพติด

20 กรกฎาคม 2567 : วันอาสาฬหบูชา

“วันอาสาฬหบูชา” มาจากคำว่า “อาสาฬหปุรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ซึ่งเป็นเดือน 4 ตามปฏิทินของอินเดีย ตรงกับเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย คือวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 โดยในปีนี้ “วันอาสาฬหบูชา” ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม 2567

“วันอาสาฬหบูชา” มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ

ทั้งนี้ “พระอัญญาโกณฑัญญะ” ได้ธรรมจักษุและบรรลุธรรม พร้อมขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

21 กรกฎาคม 2567 : วันเข้าพรรษา

“วันเข้าพรรษา” เป็นหนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธ ที่ต่อเนื่องมาจาก “วันอาสาฬหบูชา” โดยเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์จะอธิษฐานว่า จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับพระสงฆ์ไว้ว่า ในฤดูฝนให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ 3 เดือน เรียกว่า “จำพรรษา” ซึ่งมาจากคำว่า “พรรษา” ที่แปลว่า ฤดูฝน และคำว่า “จำ” ที่แปลว่า พักอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยพุทธกาลตอนต้น พระพุทธเจ้าไม่ได้กำหนดให้พระสาวกจำพรรษา ภิกษุทั้งหลายจึงเดินทางเที่ยวจาริกไปทุกฤดู แม้ในฤดูฝนที่ชาวบ้านทำไร่ทำนา จึงเหยียบย่ำข้าวกล้าและสัตว์เล็ก ๆ นานาชนิด เช่น มด ปลวก ชาวบ้านจึงพากันตำหนิติเตียน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสในที่ประชุมสงฆ์ บัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์จำพรรษาตลอด 3 เดือนในฤดูฝน

ช่วงระยะเวลา “จำพรรษา” ตลอด 3 เดือน ยังถือเป็นโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาจำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

ทั้งนี้การเข้าพรรษา แบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ คือ “เข้าพรรษาแรก” เรียกว่า “ปุริมพรรษา” เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงกลางเดือน 11 ถ้าเข้าพรรษาแรกไม่ทันก็ “เข้าพรรษาหลัง” เรียกว่า “ปัจฉิมพรรษา” เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงกลางเดือน 12 แต่เข้าพรรษาหลังจะรับกฐินไม่ทัน เพราะหมดเวลาทอดกฐิน ปีใดมีเดือน 8 สองหน ปีนั้นให้ถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง เป็นวันเข้าพรรษาแรก

21 กรกฎาคม 2567 : วันงดดื่มสุราแห่งชาติ

“วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” มีที่มาจากการรณรงค์งดดื่มสุราในปี 2546 โดย “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” ร่วมกับ “สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)” และองค์กรภาคี จัดตั้งโครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวคิดในการผลักดันภาครัฐให้กำหนดวันสำหรับงดดื่มสุรา

ต่อมาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ได้มีการรวมตัวกันระหว่าง เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เพื่อเข้าพบ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช) พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง

จึงทำให้มีมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ประกาศให้ “วันเข้าพรรษา” ของทุกปีเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” เพิ่มเติมจากการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ที่มีมาแต่เดิม โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาในปีนั้น

24 กรกฎาคม 2508 : “อาภัสรา หงสกุล” คว้ามงกุฎนางงามจักรวาล เป็นคนแรกของไทย

“ปุ๊ก - อาภัสรา หงสกุล” นางงามจักรวาล คนแรกของไทย เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2490 ที่กรุงเทพมหานคร เธอเป็นบุตรสาวของ “นาวาอากาศเอก (พิเศษ) เพิ่ม หงสกุล” ผู้มีผลงานการแสดงและกำกับภาพยนตร์-ละครโทรทัศน์จำนวนมาก เธอจบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนศึกษาวิทยา และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

ระหว่างนั้น เธอได้ถูกเรียกตัวกลับมา เพื่อให้เข้าร่วมประกวด “นางสาวไทย ประจำปี 2507” โดยสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นการประกวดครั้งแรกที่จัดขึ้น หลังจากที่ว่างเว้นมานาน นับตั้งแต่ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดการประกวดนางสาวไทยในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2497

ด้วยรูปร่างหน้าตาที่งดงาม อ่อนหวาน และความสามารถที่ชนะใจกรรมการ ทำให้เธอสามารถคว้ามงกุฎ “นางสาวไทย ประจำปี 2507” มาครองได้สำเร็จ โดยเป็นนางสาวไทยคนที่ 14 ต่อมาในปี 2508 เธอเป็นตัวแทนจากประเทศไทย เดินทางไปประกวดนางงามจักรวาล ณ เมืองไมอามี่ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าประกวดกว่า 57 ประเทศทั่วโลก

ในที่สุด วันที่ 24 กรกฎาคม 2508 สาวน้อยวัยเพียง 18 ปี ก็ได้รับการตัดสินให้เป็น “นางงามจักรวาล ประจำปี 2508 (Miss Universe 1965)” เป็นนางงามจักรวาลคนที่ 14 ของโลก โดยเป็นนางงามจักรวาลคนที่ 2 ของทวีปเอเชีย และเป็นนางงามจักรวาลคนแรกของไทย

25 กรกฎาคม 2521 : วันเกิด “เด็กหลอดแก้ว” คนแรกของโลก

“หลุยส์ บราวน์ (Louise Joy Brown)” เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby) คนแรกของโลก เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2521 ที่โรงพยาบาลรอยัล โอลด์แฮม (Royal Oldham Hospital) สหราชอาณาจักร โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์สองท่านคือ “โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Robert Edwards)” และ “แพทริค สเต็ปโท (Patrick Steptoe)” จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร

การเกิดของเธอ นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่น่าทึ่งที่สุดในศตวรรษที่ 20 โดย “โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Robert Edwards)” นักวิจัยทางการแพทย์ชาวอังกฤษ เจ้าของฉายา “บิดาผู้ให้กำเนิดเด็กหลอดแก้ว” และ “แพทริค สเต็ปโท (Patrick Steptoe)” แพทย์สูตินรีเวช จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ได้พบกับพ่อแม่ของเธอ ในปี 1976 หลังจากที่ใช้ชีวิตคู่มานานถึง 9 ปี แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ

เทคนิคการทำ “เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby)” ได้รับการยกย่องว่าเป็นปาฏิหาริย์ทางการแพทย์ แม้ว่าจะก่อให้เกิดประเด็นด้านจริยธรรมและการแพทย์ก็ตาม แต่วิธีนี้ก็ได้พิสูจน์ยืนยันแล้วว่าปลอดภัย เป็นการนำความหวังมาให้พ่อแม่ที่มีปัญหามีบุตรยาก และเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นจวบจนปัจจุบัน

ในประเทศไทย “เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby)” คนแรกคือ “ปวรวิทย์ ศรีสหบุรี” เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2530 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยอยู่ในความดูแลของ “ศาสตราจารย์นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน” และทีมแพทย์ ซึ่งเป็น “เด็กหลอดแก้ว (Test-Tube Baby)” ที่เกิดหลังจาก “หลุยส์ บราวน์ (Louise Joy Brown)” 9 ปี

27 กรกฎาคม 2464 : “เฟรเดอริก แบนติง” แถลงข่าวการค้นพบฮอร์โมน “อินซูลิน”

“เฟรเดอริก แบนติง (Frederick G. Banting)” นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ประเทศแคนนาดา แถลงข่าวการค้นพบฮอร์โมน “อินซูลิน (Insulin)” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2464 โดยเขากับผู้ช่วย “ชาร์ลส์ เบสท์ (Charles Herbert Best)” ได้ศึกษาเรื่องกลุ่มของเซลล์ “lslets of Langerhans” ที่กระจายอยู่ในตับอ่อน (Pancreas)

พบว่าเซลล์ดังกล่าว ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในร่างกายให้กลายเป็นความร้อนและพลังงาน พวกเขาเรียกฮอร์โมนชนิดนี้ว่า “อินซูลิน (Insulin)” ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาละติน “Insula” ที่แปลว่า “เกาะ”

การค้นพบ “อินซูลิน (Insulin)” นับเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาสาเหตุของ “โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM)” ทั้งนี้ฮอร์โมน “อินซูลิน (Insulin)” มีหน้าที่ในการช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงาน เมื่อ “อินซูลิน (Insulin)” ในร่างกายไม่พอ น้ำตาลก็ไม่ถูกนำไปใช้ จึงเกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือดและอวัยวะต่าง ๆ เมื่อน้ำตาลคั่งในเลือดมาก ๆ ก็จะถูกไตกรองออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะหวานและมีมดขึ้นได้

ต่อมา การค้นพบ “อินซูลิน (Insulin)” ทำให้ “เฟรเดอริก แบนติง (Frederick G. Banting)” ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2466 โดยเขาแบ่งเงินรางวัลส่วนหนึ่งให้ “ชาร์ลส์ เบสท์ (Charles Herbert Best)” ผู้ช่วยของเขาด้วย

27 กรกฎาคม 2496 : วันสิ้นสุด “สงครามเกาหลี”

“สงครามเกาหลี (Korean War)” เป็นสงครามที่เริ่มต้นสู้รบกันอย่างเต็มรูปแบบในพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2493 หลังจากที่ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)” ได้ส่งกองทัพเข้ารุกราน “สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)”

จนกระทั่งสงครามได้สิ้นสุดลง เมื่อมีการทำสัญญาสงบศึกในวันที่ 27 กรกฎาคม 2496 มีผลให้เกิดการจัดตั้งเขตปลอดทหาร ดินแดนถูกเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตามเส้นขนานที่ 38 เมื่อมองในมุมแคบ “สงครามเกาหลี (Korean War)” เป็นการยกระดับสงครามกลางเมืองเกาหลีที่ทำการต่อสู้ระหว่างสองระบอบที่มีมหาอำนาจให้การสนับสนุน ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามโดยผ่านวิธีทางการเมืองและยุทธวิธีกองโจร

แต่ถ้ามองในมุมกว้างจะพบว่า ความขัดแย้งได้ถูกขยายให้รุนแรงขึ้น โดยการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่า “สงครามเกาหลี (Korean War)” นั่นคือ “สงครามเย็น (Cold War)” ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก “สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II)” หรือในระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2493 – 27 กรกฎาคม 2596

และจนถึงทุกวันนี้ เขตปลอดทหารที่เส้นขนานที่ 38 ยังคงใช้เป็นเส้นแบ่งประเทศ ใน “สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)” ยังคงมีกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์และต่อต้าน “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)” อยู่ แต่สำหรับในสหรัฐอเมริกา “สงครามเกาหลี (Korean War)” ไม่ได้รับความสนใจมากเหมือนกับ “สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II)” หรือ “สงครามเวียดนาม (The Vietnam War)” บางครั้งสงครามนี้จึงถูกเรียกว่า “สงครามที่ถูกลืม”

28 กรกฎาคม : วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มีพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ”

ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีพระราชพิธีสมโภชน์เดือนและขึ้นพระอู่ ในวันที่ 14 - 15 กันยายน 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงมีพระเชษฐภคินีคือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีพระกนิษฐภคินีคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาในปี 2509 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนคิงส์มีด (King's Mead School) เมืองซีฟอร์ด (Seaford) แคว้นซัสเซกซ์ (Sussex) สหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) และโรงเรียนมิลล์ฟีลด์ (Millfield School) เมืองสตรีท (Street) แคว้นซอเมอร์เซท (Somerset) สหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาในปี 2513

ด้วยความสนพระราชหฤทัยในวิชาการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่คิงส์ สกูล (The King's School) เขตพาร์รามัตตา (Parramatta) นครซิดนีย์ (Sydney) รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) เครือรัฐออสเตรเลีย (Australia) ในเดือนสิงหาคม ปี 2513

ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารชั้นสูง ที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน (The Royal Military College, Duntroon) กรุงแคนเบอร์รา (Canberra) เครือรัฐออสเตรเลีย (Australia) ระหว่างปี 2515 - 2519 ทรงได้รับการถวายสัญญาบัตรจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต การศึกษาด้านทหาร คณะการศึกษาด้านทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales University)

เมื่อพระชนมมายุ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีสถาปนา “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ” เฉลิมพระราชอิสริยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์ที่ 3 ของไทย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ทรงผนวช ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุศาสน์ ทรงประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยทรงศึกษาพระธรรมเป็นเวลา 15 วัน จึงทรงลาผนวช

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 ปี 2520 และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 และยังทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

จากพระอัจฉริยภาพและความสนพระราชหฤทัยด้านการบินและอากาศยาน ทรงเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหาร ด้านการบินหลายหลักสูตร อาทิ เครื่องบินปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับการฝึกและศึกษาตามโครงการของกองทัพบก สหรัฐอเมริกา ณ ฟอร์ต แบรกก์ (Fort Bragg) รัฐนอร์ทแคโลไรนา (North Carolina)

หลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐาน ไอพ่น T-33 ณ กองบิน 1 ฝูงบิน 101 หลักสูตรการบินขับไล่พื้นฐาน หลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูงแบบ F-5 E/F ณ William Air Force Base รัฐแอริโซนา (Arizona) หลักสูตรการบินรบขั้นสูง และทรงทำการบินเครื่องบินขับไล่ F-5E เข้าแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 737 (Boeing 737) ด้วยพระปรีชาชาญด้านการบิน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จึงได้รับการขนานพระนามให้เป็น “เจ้าฟ้านักบิน”

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ ห้อง ว.ป.ร. พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสกับ “พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา” (พระยศในขณะนั้น) พร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสุทิดา” และต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน “พระราชพิธีฉัตรมงคล” เป็นเวลา 3 วัน คือ วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 “วันฉัตรมงคล” ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ทั้งนี้ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 จะมีการจัดงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยจะมีการใช้เรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือรวม 2,200 นาย

28 กรกฎาคม : วันตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day)

“องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)” ได้กำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันตับอักเสบโลก (World Hepatitis Day)” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคตับอักเสบ และรับรู้ถึงวิธีการป้องกันตัวเองจากโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการป้องกัน การวินิจฉัยและการรักษาทั่วโลก

“ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis)” เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และเมื่อเข้าสู่เซลล์ตับ จะก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ส่งผลให้มีการทำลายเนื้อตับ ทำให้ตับทำงานผิดปกติ ซึ่ง “ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis)” มีหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Virus : HAV) ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B Virus : HBV) ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C Virus : HCV) ไวรัสตับอักเสบ ดี (Hepatitis D Virus : HDV) และ ไวรัสตับอักเสบ อี (Hepatitis E Virus : HEV)

โดยแต่ละชนิด จะมีอาการแสดง การดำเนินโรค การพยากรณ์โรค รวมถึงการรักษาที่แตกต่างกัน การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจนำไปสู่โรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ อีกทั้งยังมีโอกาสแพร่เชื้อสู่คนทั่วไปจากการติดต่อทางเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ การถ่ายเลือด ทางเพศสัมพันธ์ หรือการติดต่อจากแม่สู่ลูก เป็นต้น

ส่วนการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอและอี มีการติดต่อหรือแพร่เชื้อทางอาหาร น้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือการสัมผัสโดนอุจจาระ การป้องกันที่ดีทำได้โดยการดื่มน้ำสะอาด ใช้ภาชนะส่วนตัว กินอาหารปรุงสุก ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ในปัจจุบันสามารถลดความเสี่ยงหรือป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ในส่วนของไวรัสตับอักเสบอีนั้น ยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่แนะนำให้ในประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบ บี ซี และดี สามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การติดต่อจากมารดาสู่บุตร หรือการสัมผัสเลือด สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ เป็นผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 และไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เนื่องจากคนเกิดหลังปี 2535 จะได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในชุดสิทธิประโยชน์ของเด็กอยู่แล้ว ในปัจจุบันทารกหลังคลอดทุกรายจึงได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

29 กรกฎาคม : วันภาษาไทยแห่งชาติ

“วันภาษาไทยแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่ง ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้น มีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

หลายหน่วยงานจะจัดกิจกรรมใน “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เช่น นิทรรศการเกี่ยวกับภาษาไทย การประกวดแต่งคำขวัญ ร้อยแก้ว-ร้อยกรอง ประกวดเรียงความ งานอภิปรายทางวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และส่งเสริมการใช้ภาษาไทย

29 กรกฎาคม : วันอนุรักษ์เสือโลก (International Tiger Day)

วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์เสือโลก (International Tiger Day)” ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของ “เสือ (Tiger)” ในระบบนิเวศ รวมถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ ปกป้องประชากร “เสือ (Tiger)” ทั้งในด้านสายพันธุ์และด้านถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

“วันอนุรักษ์เสือโลก (International Tiger Day)” เริ่มขึ้นในปี 2553 หลังจากมีการสำรวจพบว่า 97% ของเสือป่าทั้งหมด หายไปในศตวรรษที่ผ่านมา โดยเหลือประชากรอยู่เพียง 3,000 ตัวเท่านั้น เท่ากับ “เสือ (Tiger)” กำลังใกล้จะสูญพันธุ์

โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “เสือ (Tiger)” กำลังใกล้จะสูญพันธุ์คือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การล่าเพื่อการค้าที่ผิดกฎหมาย และการรุกล้ำถิ่นที่อยู่ของเสือ ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชากร “เสือ (Tiger)” ลดลงทั่วโลก

30 กรกฎาคม : วันมิตรภาพสากล (International Friendship Day)

ในปี 2501 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้มีมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) กำหนดให้วันที่ 30 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น “วันมิตรภาพสากล (International Friendship Day)” เพื่อให้ผู้คนเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมสันติภาพ ความสุข และความสามัคคี ทั้งยังทำให้โลกเชื่อมโยงความเข้าใจในความหลากหลายและไม่แบ่งแยก

“วันมิตรภาพสากล (International Friendship Day)” ถูกผลักดันโดย “ดร.รามอน อาร์เทมีโอ บราโช (Dr. Ramón Artemio Bracho)” ผู้ก่อตั้งองค์กร World Friendship Crusade องค์กรพลเมืองระหว่างประเทศ ที่รณรงค์เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมที่สงบสุขผ่านมิตรภาพ โดยในปี 2501 เขาเสนอให้มี “วันมิตรภาพสากล (International Friendship Day)” ก่อนจะได้รับความนิยมจากประเทศแถบอเมริกาใต้ และค่อย ๆ แพร่หลายไปยังทวีปอื่นทั่วโลก

นอกจากการเฉลิมฉลองให้กับทุกมิตรภาพอันงดงามที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้แล้ว “วันมิตรภาพสากล (International Friendship Day)” ยังเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะใช้เพื่อการกระชับมิตร เติมความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวอีกด้วย

30 กรกฎาคม 2470 : “โชคสองชั้น” ภาพยนตร์ฝีมือคนไทยเรื่องแรก ออกฉายเป็นครั้งแรก

ภาพยนตร์ฝีมือคนไทยเรื่องแรก “โชคสองชั้น” ได้ออกฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กรกฎาคม 2470 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก “โชคสองชั้น” เป็นภาพยนตร์เงียบ ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำขนาด 35 มิลลิเมตร ยาว 6 ม้วน (กินเวลาฉายประมาณ 90 นาที) ผลิตโดย “กรุงเทพฯ ภาพยนตร์บริษัท” (ต่อมาคือ ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง) กิจการของพี่น้องตระกูล “วสุวัต”

“โชคสองชั้น” อำนวยการสร้างโดย “มานิต วสุวัต” บทภาพยนตร์โดย “หลวงบุณยมานพพาณิชย์ (อรุณ บุณยมานพ)” ถ่ายภาพโดย “หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต)” ตัดต่อโดย “กระเศียร วสุวัต” กำกับโดย “หลวงอนุรักษ์รัถการ (เปล่ง สุขวิริยะ)” นอกจากนี้ยังจ้างทีมงานบางส่วน และอุปกรณ์การถ่ายทำ จากกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ซึ่งในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ที่มีศักยภาพที่สุด นำแสดงโดย “มานพ ประภารักษ์” รับบท “กมล” / “หม่อมหลวงสุดจิตตร์ อิศรางกูร” รับบท “วลี” / “หลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฏ)” รับบท “วิง”

เรื่องราวในภาพยนตร์ “โชคสองชั้น” กล่าวถึง “กมล” นายอำเภอหนุ่มที่ได้รับมอบหมาย ให้มาจับโจรที่หนีมาซ่อนตัวในกรุงเทพฯ ระหว่างนี้เขาได้พบรักกับ “วลี” สาวสวยที่มีหนุ่มหมายปองอยู่แล้ว เขาคือ “วิง” คนร้ายที่พระเอกตามหา ซึ่งก็ตามจับได้ในที่สุด จึงเป็นบทสรุปและที่มาของชื่อเรื่อง “โชคสองชั้น”

เมื่อปี 2538 “หอสมุดแห่งชาติ (National Library)” ได้ค้นพบเศษฟิล์มเนกาติฟของภาพยนตร์เรื่อง “โชคสองชั้น” ความยาว 140 ฟุต และพิมพ์สำเนาใหม่เอาไว้ได้เพียง 82 ฟุต เนื่องจากฟิล์มมีความเก่าและเสื่อมสภาพ คิดเป็นภาพนิ่งทั้งหมด 1,319 ภาพ รวมความยาวประมาณ 1 นาที แต่ก็นับว่าเป็นนาทีที่มีคุณค่าของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยในยุคเริ่มต้น

31 กรกฎาคม 2466 : “รถแท็กซี่” เริ่มให้บริการเป็นครั้งแรกในไทย

“รถแท็กซี่ (Taxi)” เริ่มให้บริการเป็นครั้งแรกในไทย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2466 โดย “พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)” เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังปลดจากราชการ โดยนำเอา “ออสติน (Austin)” รถเก๋งขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง คิดค่าโดยสารไมล์ละ 15 สตางค์ ด้วยเหตุนี้ จึงนิยมเรียกกันว่า “รถไมล์”

เมื่อแรกเริ่มกิจการ “รถแท็กซี่ (Taxi)” มีให้บริการอยู่เพียง 14 คัน ทั้งยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการ ต่อมาประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากค่าโดยสารแพง จนต้องเลิกกิจการในที่สุด

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2490 “รถแท็กซี่ (Taxi)” กลับมาเป็นกิจการที่เฟื่องฟูอีกครั้ง โดยมีผู้ประกอบการนำรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ยี่ห้อ “เรโนลต์ (Renault)” มาให้บริการ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วกว่าการว่าจ้างรถจักรยานสามล้อถีบ ที่เป็นพาหนะพื้นฐานในสมัยนั้น

“รถแท็กซี่ (Taxi)” หรือที่นิยมเรียกกันในสมัยนั้นว่า “เรโนลต์ (Renault)” ตามชื่อยี่ห้อรถยนต์ที่นำมาให้บริการนี้ ไม่ได้มีให้บริการเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังได้แพร่หลายไปยังต่างจังหวัด จนต่อมาต้องมีการควบคุมและกำหนดจำนวนรถในการให้บริการ ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

31 กรกฎาคม 2487 : “อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี” ผู้แต่ง “เจ้าชายน้อย” หายสาบสูญ

“อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupery)” นักบินและนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ผู้แต่ง “เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince : The Little Prince)” เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2443 เขามีนิสัยชอบเล่นมาตั้งแต่เด็ก และมักหวนนึกถึงช่วงเวลาอันสนุกสนานในวัยเด็กอยู่เสมอ พ่อของเขาจากไปเมื่อเขาอายุได้ 4 ขวบ ทำให้เขาเติบโตมากับแม่ผู้อ่อนโยน

เขาเข้ารับราชการทหารเป็นนักบินอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก และฝึกหัดบินจนได้รับใบอนุญาตเป็นนักบินอาชีพ เขาได้เข้าเป็นนักบินประจำเส้นทางตูลูส-กาซาบลังกา ต่อมาได้ถูกส่งไปเป็นหัวหน้าหน่วยประจำสถานีการบินที่กาปจูบีในแอฟริกา เขามีหน้าที่ส่งวิทยุติดต่อกับศูนย์หน่วยงาน คอยให้อาณัติสัญญาณนักบิน จัดถุงพัสดุไปรษณีย์ และคอยช่วยเหลือค้นหานักบินที่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้เขาเป็นทั้งช่างซ่อมเครื่องบินและแพทย์ในขณะเดียวกัน

ชีวิตที่แสนโลดโผนของเขา ดำเนินไปเหมือนเครื่องบินที่ขึ้นลงตามใจ เขาเป็นทั้งผู้จัดการบริษัทขนส่งทางอากาศในกรุงบูเอโนสไอเรสในอเมริกาใต้ เป็นนักบินขับเครื่องบินแบบสะเทินน้ำสะเทินบก (เมืองมาร์แซย์ - แอลเจียร์) เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Paris Soir ประจำกรุงมอสโก เป็นผู้สื่อข่าวสงครามกลางเมืองสเปน กรุงมาดริด และปี 2473 เขาได้รับอิสริยาภรณ์เลซียองดอนเนอร์ ในฐานะนักบินพลเรือนที่ปฏิบัติงานได้ดีที่กาปจูบี

ในปี 2478 เขาทดลองบินเพื่อทำลายสถิติ ในเส้นทางปารีส - ไซ่ง่อน ระยะทาง 12,000 กิโลเมตร แต่เครื่องบินขัดข้อง ต้องร่อนลงจอดกลางทะเลทรายในประเทศลิเบีย เขาต้องเดินฝ่าทะเลทรายกว่า 5 วัน ก่อนจะพบกับกองคาราวาน

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาถูกเกณฑ์ให้เป็นผู้สอนเทคนิคการบิน สังกัดหน่วยบินลาดตระเวนหมู่ 2/33 จนวันหนึ่งเขาได้ออกบินลาดตระเวนเหนือดินแดนฝรั่งเศสแถบเมืองเกรอนอเบลอะ ตั้งแต่เช้าจนบ่าย ซึ่งน้ำมันน่าจะหมดแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้กลับมา ทุกคนคาดการณ์ว่าเครื่องบินของเขาคงประสบอุบัติเหตุ หรืออาจถูกเครื่องบินขับไล่ของเยอรมนียิงตก

“อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupery)” หายสาบสูญไปในวันที่ 31 กรกฎาคม 2487 ในขณะมีอายุได้ 44 ปี เหลือไว้เพียงตัวหนังสือจากประสบการณ์ในชีวิตของเขา ที่ทำให้เขามีผลงานมากมาย ทั้งนวนิยายเรื่อง ไปรษณีย์ใต้ (Courrier Sud) ในปี 2472 นวนิยายเรื่อง เที่ยวบินกลางคืน (Vol de Nuit) ซึ่งได้รับรางวัล Prix Femina ประจำปี 2474 นวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา (Terre des Hommes) ในปี 2482 ซึ่งได้รับรางวัล Grand Prix du Roman จากบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส งานเขียนเรื่อง นักบินยามสงคราม (Pilote de Guerre) งานเขียนเรื่อง จดหมายถึงเชลย (Lettre a un Otage) ในปี 2486 วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince : The Little Prince)” ในปี 2486 งานเขียนเรื่อง ป้อมปราการ (Citadelle)

สำหรับวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince : The Little Prince)” ในปี 2486 เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงของ “อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupery)” มีคำกล่าวว่า การอ่านในแต่ละครั้ง แต่ละช่วงวัย จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวได้แตกต่างกันออกไป เหมือนกับที่สุนัขจิ้งจอกได้บอกกับเจ้าชายน้อยว่า

เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น

สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา

🗝 เล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS On This DayThai PBS Digital MediaThai PBSไทยพีบีเอสวันสำคัญวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติศาลาเฉลิมกรุงวันปลอดถุงพลาสติกสากลInternational Plastic Bag Free Dayรถไฟฟ้ามหานครMRTสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีมารี กูรีMarie Curieวันไก่ทอดสากลNational Fried Chicken DayวันจูบสากลInternational Kissing DayWorld Kissing DayวันพูดความจริงTell the Truth DayArthur Conan Doyleเชอร์ล็อค โฮล์มส์Sherlock Holmesสะพานสารสินตำนานรักสะพานสารสินพุทธทาสภิกขุวันลูกแมวแห่งชาติNational Kitten DayวันประชากรโลกWorld Population Dayพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถวันอีโมจิโลกWorld Emoji DayวันเนลสันแมนเดลาสากลNelson Mandela DayพอโลเนียมPoloniumนายพล ออง ซานAung Sanวันแห่งพระจันทร์National Moon Dayบรูซ ลีBruce Leeไอ้หนุ่มซินตึ๊งวันอาสาฬหบูชาวันเข้าพรรษาวันงดดื่มสุราแห่งชาติอาภัสรา หงสกุลนางสาวไทย 2507Miss Universe 1965เด็กหลอดแก้วTest-Tube BabyFrederick G. BantingอินซูลินInsulinสงครามเกาหลีKorean Warพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10วันตับอักเสบโลกWorld Hepatitis Dayวันภาษาไทยแห่งชาติวันอนุรักษ์เสือโลกInternational Tiger DayวันมิตรภาพสากลInternational Friendship Dayโชคสองชั้นภาพยนตร์ไทยแท็กซี่TaxiAntoine de Saint-Exuperyเจ้าชายน้อยLe Petit Prince
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ