ท่ามกลางความตื่นเต้นและความกังวลของเหล่านักวิทยาศาสตร์ ที่กำลังมุงอยู่รอบหน้าจอในห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL-เจพีแอล) รัฐแคลิฟอร์เนีย ชายคนหนึ่งยืนอยู่ตรงนั้น...ตรงที่ที่ความฝันวัยเด็กของเขากลายมาเป็นความจริงขึ้นตรงหน้า

เขาผู้นี้มีชื่อว่า ไบรอัน ค็อกซ์ (ฺBrian Cox) ศาสตราจารย์หนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังโครงการอันสุดทะเยอทะยานของนาซา นั่นคือ ภารกิจสำรวจดาวอังคารเป็นเวลาเจ็ดวัน อันอาจนำมาซึ่งข้อมูลที่จะเปลี่ยนความเข้าใจของเราต่อสิ่งมีชีวิตในจักรวาลไปตลอดกาล

Seven Days on Mars เป็นสารคดีความยาว 88 นาที ที่พาเราไปติดตามการปฏิบัติงานของยานสำรวจเพอร์เซอเวียแรนซ์ (Perseverance) มีชื่อเล่นว่า เพอร์ซี (Percy) ในภารกิจ “มาร์ส 2020” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่นาซาพยายามค้นหาความลับของดาวอังคาร โดยเฉพาะการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการดำรงชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ แน่นอนว่าประเด็นนี้เป็นที่สนใจของคนมากมายทั่วโลก แต่สำหรับไบรอัน ค็อกซ์แล้ว มันยังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นการส่วนตัวด้วย
เนื่องจากตอนเด็ก ๆ เขาเคยเขียนจดหมายไปยังเจพีแอลเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับงานต่าง ๆ และนาซาก็อุตส่าห์ตอบรับความสนใจของเด็กชายด้วยการส่งภาพถ่ายมาให้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ค็อกซ์หลงใหลงานด้านนี้อย่างจริงจัง
จนเลือกเดินบนเส้นทางของการเป็นนักฟิสิกส์ ก่อนที่หลายสิบปีต่อมาเขาจะมีโอกาสได้ก้าวเข้ามาอยู่ในเจพีแอลเพื่อติดตามภารกิจเพอร์เซอเวียแรนซ์ด้วยตนเอง

ความน่าสนใจของสารคดีอยู่ตรงการบันทึกเหตุการณ์ของภารกิจดังกล่าวแบบเรียลไทม์ เพื่อให้คนดูได้ร่วมเป็นพยานไปพร้อมกับเหล่านักวิทยาศาสตร์ ว่าการสำรวจนี้จะคลี่คลายลงแบบไหน ข้อดีคือมันเป็นวิธีที่ทำให้หนังเต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น แต่ขณะเดียวกันมันก็ย่อมมาพร้อมกับความไม่แน่นอนด้วย แอชลีย์ พ็อตเทอร์ตัน (Ashley Potterton) โปรดิวเซอร์ของ Seven Days on Mars ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ทีมงานเราเดินทางไปที่นั่นเป็นเวลาเจ็ดวัน โดยที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้าเลยจริง ๆ ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นไหม”

เดิม Seven Days on Mars มีแผนจะเริ่มถ่ายในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2022 แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ถึงแม้จะทำให้ทีมงานต้องผิดหวังในตอนแรก ทว่ามันกลับกลายเป็นโชคดี เพราะเดือนมกราคมนั้นปรากฏว่ายานเพอร์เซอเวียแรนซ์เกิดความขัดข้องต้องหยุดทำงานพอดี ครั้นเลื่อนมาถ่ายในเดือนมีนาคมแทนก็กลายเป็นจังหวะเหมาะเจาะ เพราะตรงกับช่วงเวลาที่ยานกำลังจะออกเดินทางไกลไปยังหลุมอุกกาบาตเจซีโร ซึ่งเป็นสถานที่หลักสำหรับการเก็บตัวอย่างและค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตโบราณ และก็เป็นในช่วงสัปดาห์นี้เองที่ยานได้ทำลายสถิติระยะทางการเดินทางไกลที่สุดในระบบสุริยะภายในระยะเวลา 7 วัน

ความพิเศษอีกประการของสารคดีเรื่องนี้คือ ทีมงานได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังเจพีแอล รวมถึงพื้นที่ที่โดยปกติแล้วไม่อนุญาตให้บุคลากรนอกนาซาเข้า ทำให้เราได้เห็นเบื้องหลังของการสำรวจอวกาศที่หาดูได้ยาก รวมทั้งได้เห็นหนึ่งในเหตุการณ์น่าตื่นเต้นที่สุดคือ เมื่อยานสำรวจส่งข้อมูลกลับมาแบบเรียลไทม์ (ซึ่งจริง ๆ กว่าจะส่งมาถึงก็ล่าช้าไปราว 16 นาที ทำให้จังหวะลุ้นการค้นพบข้อมูลใหม่น่าตื่นเต้นขึ้นไปอีก)

ไม่ได้มีแต่เรื่องราวความสำเร็จเท่านั้น แต่สารคดียังเปิดเผยให้เห็นอุปสรรคทั้งหลายที่ทีมนาซาต้องเผชิญตามรายทางด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่ชิ้นส่วนของยานติดอยู่บนก้อนหินจนเกิดปัญหาในการเคลื่อนที่ และการสูญเสียการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network) ทำให้ทีมงานต้องเลือกทางออกที่มีความเสี่ยงด้วยการส่งข้อมูลไปยังเพอร์เซอเวียแรนซ์เป็นเวลาสองวันโดยไม่มีการสื่อสารโดยตรง

ความพิเศษประการสุดท้ายของ Seven Days on Mars อยู่ตรงที่ทีมงานชักชวนศิลปิน ฌอน โดแรน (Seán Doran) มารับหน้าที่เปลี่ยนข้อมูลภูมิทัศน์บนดาวอังคารจากนาซาให้กลายเป็นภาพเสมือนจริงที่น่าทึ่ง ซึ่งเมื่อถูกนำมาใช้ร่วมกับภาพจริงที่ยานเพอร์เซอเวียแรนซ์และยานอื่น ๆ ถ่ายมาได้ ก็ยิ่งทำให้เราได้สัมผัสประสบการณ์การค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารได้อย่างน่าตื่นเต้นขึ้นอีก
และที่สำคัญที่สุดคือ หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงบทบันทึกความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีอวกาศเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ความอยากรู้อยากเห็น ความเพียรพยายามของมนุษย์ และพลังของวิทยาศาสตร์ที่สามารถผลักดันเราไปสู่การไขปริศนาของดินแดนลี้ลับไกลโพ้นได้ไม่มีวันจบสิ้น

🪐VIPA ชวนดูสารคดี Seven Days on Mars 7 วันตะลุยดาวอังคาร ติดตามการเดินทาง 7 วันของหุ่นยนต์สำรวจเพอร์เซอเวียแรนซ์ จากจุดลงจอดที่ก้นแอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโรไปยังดินดอนสามเหลี่ยมเจซีโร ซึ่งเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโบราณ นับเป็นการเดินทางไกลที่สุด โดยใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่หุ่นยนต์สำรวจลำใด ๆ เคยทำมา
🎬รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application