Secret Story | Orlando, My Political Biography ไม่เป็นชาย ไม่ใช่หญิง พวกเราคือ ‘ออร์แลนโด’


Lifestyle

28 มิ.ย. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
Secret Story | Orlando, My Political Biography ไม่เป็นชาย ไม่ใช่หญิง พวกเราคือ ‘ออร์แลนโด’

ความรู้สึกหนึ่งที่อาจเกิดกับหลาย ๆ คนหลังจากชม “Orlando, My Political Biography” ก็คือความแปลกประหลาดใจในหน้าตาและรสชาติที่ดูพิลึกพิลั่นของมัน ซึ่งเมื่อครั้งที่หนังเรื่องนี้เข้าประกวดในเทศกาลหนังเบอร์ลินปี 2023 (และสามารถคว้ามาได้ 4 รางวัล) ความรู้สึกดังกล่าวก็เกิดขึ้นเช่นกันกับนักวิจารณ์และผู้ชมอีกจำนวนหนึ่ง จนอาจเรียกปฏิกิริยาต่อหนังได้ว่า “เสียงแตก” เพราะด้านหนึ่งบ่นอุบว่าหนังโดดเด่นเรื่องสไตล์ยิ่งกว่าแก่นที่ต้องการนำเสนอ ขณะที่อีกด้านก็ชื่นชมความกล้าหาญก๋ากั่นและประเด็นที่หนังท้าทายให้เราขบคิด

ภาพยนตร์สารคดี Orlando, My Political Biography

ไม่แปลกที่ Orlando, My Political Biography จะทำให้คนดูมีความรู้สึกหลากหลาย เพราะอาจกล่าวได้ว่า หนังเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นจากส่วนผสมแปลก ๆ หลากหลายจริง ๆ ผู้กำกับ พอล บี พรีซิอาโด นั้นไม่ได้เติบโตมาในสายงานภาพยนตร์ เขาเป็นนักเขียน นักปรัชญา นักเคลื่อนไหววัย 53 ปี ผู้ต่อสู้มายาวนานเพื่อสิทธิ์ของชาวทรานส์หรือคนข้ามเพศ และเคยเป็นศิษย์ของ ฌาคส์ แดร์ริดา นักปรัชญาผู้เลื่องชื่อ 

เขาโด่งดังในฝรั่งเศสจากการเป็นคนเขียนคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ Libération ด้วยประเด็นแหลมคมแต่ใช้ภาษาที่เรียบง่าย, วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาว่าด้วยการ “ล้วงลึกคฤหาสน์เพลย์บอย” (Playboy Mansion คฤหาสน์อื้อฉาวของ ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ เจ้าของนิตยสาร Playboy) และหนังสือเล่มแรกของเขาที่ต่อมาถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษมีชื่อว่า “Testo Junkie: Sex, Drugs, and Biopolitics in the Pharmacopornographic Era” (ซึ่งเขาผูกโยงเรื่องเชื้อชาติและอำนาจ เข้ากับการพัฒนาของยาเม็ดคุมกำเนิด และบันทึกความทรงจำทางเพศที่เล่าถึงการทดลองฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอย่างผิดกฎหมายของตัวเขาเอง)

ด้วยประวัติสุดเปรี้ยวแบบนี้ ทำให้พรีซิอาโด มีสาวกที่รักใคร่ติดตามไม่น้อย เขาได้รับการยกย่องเป็นปัญญาชนเพื่อมวลชน บางคนถึงขั้นขนานนามเขาเป็น “เดวิด โบวี่ แห่งวงการนักปรัชญาร่วมสมัย” และเพราะแบบนี้นี่เอง แม้เขาจะออกตัวว่าไม่เคยสนใจการเป็นคนทำหนังมาก่อนเลย แต่เมื่อวันหนึ่งมีเหตุให้ต้องทำ เราก็คงพอจะจินตนาการกันได้ว่าหนังของเขาน่าจะมีรูปลักษณ์แบบไหน และเล่นสนุกกับประเด็นอะไรบ้าง

พรีซิอาโดเล่าไว้น่าสนใจมากว่า "ผมเคยอ่านนิยายเรื่อง Orlando: A Biography ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ตั้งแต่ตอนยังเป็นวัยรุ่นที่สเปน เป็นครั้งแรกที่ผมได้อ่านหรือได้ยินเรื่องราวที่ตัวละครหลักเปลี่ยนเพศไปกลางเรื่อง (นิยายเล่าถึงตัวละครหลักชื่อ ออร์แลนโด ขุนนางยุคอลิซาเบธแห่งอังกฤษ ผู้มีชีวิตอันมหัศจรรย์ยาวนานหลายศตวรรษ และมีการเปลี่ยนแปลงเพศ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ตัวละครต้องพบชีวิตที่พลิกผัน) ซึ่งทำให้ผมช็อกมาก 

แต่ในตอนนั้น ผมยังไม่มีความคิดจะเป็นคนข้ามเพศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะในช่วงกลางทศวรรษ 1980 นั้น แม้แต่ 'การมีอยู่ทางการเมือง' ของคนข้ามเพศก็ยังไม่เป็นที่รู้จักเลย อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมค้นพบว่า อย่างน้อยการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เป็นไปได้ในจินตนาการ การดำรงอยู่ของตัวตนแบบคนข้ามเพศของผมอาจจะเป็นไปได้ แม้ยังไม่ใช่ในความเป็นจริง แต่ก็ในนวนิยาย

“ผ่านมาหลายปี จนในปี 1992 หนังสือเล่มนี้ก็ถูกดัดแปลงเป็นหนังเรื่อง Orlando โดย แซลลี พอตเตอร์ ซึ่งมันกลายเป็นหนังที่น่าผิดหวังสำหรับคนข้ามเพศและนอนไบนารีอย่างผม เพราะมันยึดติดมาก ๆ กับกรอบวิธีคิดแบบไบนารีว่าโลกนี้มีแค่สองเพศคือชายกับหญิง รวมทั้งยังยึดติดกับสุนทรียศาสตร์แบบเกย์ ขณะที่วัฒนธรรมนอนไบนารีถูกทำให้ไร้ตัวตนไปอย่างน่าเสียดาย


“จนถึงปลายศตวรรษที่ 20 แม้ว่าการมองเห็นคนข้ามเพศและการยอมรับทางกฎหมายจะเพิ่มขึ้น แต่ในโลกของภาพยนตร์ เมื่อเราจะนำแนวคิดสตรีนิยมมามองหนัง เราก็ยังมักพูดถึงแค่อำนาจเบื้องหลังของ 'สายตาแบบผู้ชาย' อยู่ดี ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องพูดถึง 'สายตาแบบไบนารี' ได้แล้ว เมื่อ ARTE (ทีวีสาธารณะของฝรั่งเศส) เตรียมทำโปรแกรมเกี่ยวกับเควียร์และติดต่อผมมาว่าต้องการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับผม ปฏิกิริยาแรกของผมจึงคือการคิดว่า 'เรามาเคลียร์ประเด็นที่ยังค้างคานี่กันก่อนเถอะ !'”

พรีซิอาโดมองว่าระบบวิธีคิดแบบไบนารีนั้นล้าสมัย ไม่สามารถสะท้อนถึงความหลากหลายของประสบการณ์มนุษย์ที่แท้จริง ความคิดนี้ไม่แค่จำกัดเสรีภาพของมนุษย์ แต่ยังนำมาสู่การกดทับต่าง ๆ โดยตัวอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดที่เขาเล่าให้เห็นในหนังคือ การที่สังคมพยายามนำกรอบทางการแพทย์เข้ามาประเมินและตัดสินนอนไบนารีว่าผิดปกติ ต้องเข้ารับการรักษา ต้องใช้ยา ใช้การบำบัด หรือแม้แต่การผ่าตัดเพื่อให้ ‘กลับมาเป็นปกติ’ 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการที่รัฐใช้อำนาจควบคุมเพศผ่านการออก ‘ใบรับรอง’ (เช่น บัตรประชาชน) ที่กำหนดว่าทุกคนต้องมีคำนำหน้าแบบระบุเพศใดเพศหนึ่งระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น จนกลายเป็นการจำกัดสิทธิ์อันพึงได้อีกหลาย ๆ อย่างของนอนไบนารีไปทันที

ด้วยแรงบันดาลใจจากนิยายที่ท้าทาย และคำถามที่ยังมีคั่งค้างอยู่ในใจ พรีซิอาโดนำทั้งสองอย่างมารวมกันแล้วทำให้ Orlando, My Political Biography กลายเป็นสารคดีที่หลาย ๆ ช่วงก็ดูราวกับละครเวที มีการตัดเรื่องข้ามเส้นกระโดดไปมาไม่ต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เขามีต่อนิยายของวูล์ฟ ที่มักมีการสลับคำพูดของตัวละครในหลายสถานะและมีการสลับข้ามเวลา รวมทั้งให้บรรยากาศแบบบทกวีและเหนือจริง) 

ขณะเดียวกัน เขาก็จงใจให้หนังเรื่องนี้ไม่ใช้สุนทรียภาพของภาพยนตร์แบบสารคดีทั่วไป แต่เป็น "สารคดีพังค์ที่มีความเป็น DIY - Do It Yourself” เพื่อให้สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งการกบฏและการปลดปล่อย Orlando, My Political Biography ในแง่หนึ่งจึงเป็นสารคดีชีวประวัติของพรีซิอาโดเอง แต่พร้อมกันนั้นมันก็ประกอบด้วยประวัติศาสตร์ร่วมของ “ออร์แลนโดผู้ไร้ตัวตน” อีกนับพันคน

“มันคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ภายในกรอบอำนาจของเพศสภาพแบบชาย-หญิง การเป็นทรานส์ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากความเป็นหญิงไปเป็นชาย (หรือในทางกลับกัน) แต่เป็นการเข้าสู่กระบวนการ ‘การกลายเป็นออร์แลนโด’ ภายใน ซึ่งเป็นการเดินทางอันงดงามที่สร้างภาษาใหม่ให้แก่การนิยามตัวเองและโลก” เขาสรุป 

“การเปลี่ยนเพศคือการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นการปลดแอกจากการจำกัดนิยาม  และเป็นการปฏิบัติเพื่อเสรีภาพ ดังนั้นหนังเรื่องนี้จึงพยายามวาดให้เห็นภาพโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและการปฏิวัติครั้งใหญ่ในเรื่องเพศสภาพที่ยังคงดำเนินอยู่”

▶ ติดตามสารคดี Orlando, My Political Biography จากนิยายของ Virginia Woolf ในปี 1928 ซึ่งเล่าชีวประวัติของตัวละครสมมตินาม "Orlando" กวีที่เกิดและเติบโตด้วยร่างกำเนิดเพศชาย แต่เมื่ออายุได้ 36 ปี เขาก็สลับเพศมาเป็นสตรีอย่างน่าอัศจรรย์ และใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงนับจากนั้นอีก 300 ปีโดยที่ไม่แก่ชราลงเลย 

🎬รับชมทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Secret StoryVIPAdotMeVIPAสารคดี VIPAสารคดีต่างประเทศฝรั่งเศสกลุ่มหลากหลายทางเพศเพศวิถี LGBTQIAN+Pride Monthสารคดีสารคดี Orlando: My Political Biographyการกำหนดบทบาททางเพศชายข้ามเพศหญิงข้ามเพศ
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ