Secret Story | Water, Not Weapons: The Greening of Afghanistan จากทุ่งนาเอโดะสู่ความหวังของอัฟกานิสถาน


Lifestyle

19 มิ.ย. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | Water, Not Weapons: The Greening of Afghanistan จากทุ่งนาเอโดะสู่ความหวังของอัฟกานิสถาน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1304

Secret Story | Water, Not Weapons: The Greening of Afghanistan จากทุ่งนาเอโดะสู่ความหวังของอัฟกานิสถาน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

แม้ในดินแดนที่เต็มไปด้วยร่องรอยของสงครามอันน่าหดหู่และแห้งแล้งอย่างที่สุด สิ่งที่เรียกว่า “ความหวัง” ก็ยังอาจส่องประกายขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อมันผุดขึ้นจากความมุ่งมั่นในหลักมนุษยธรรมของคนที่เชื่อในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นี่คือสิ่งที่สารคดี Water, Not Weapons: The Greening of Afghanistan บอกกล่าวแก่เรา ผ่านเรื่องราวน่าทึ่งของ “ดร.เท็ตสึ นากามูระ” แพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้ทุ่มเทชีวิตเกือบสองทศวรรษ เพื่อนำน้ำและฟื้นฟูชีวิตให้กลับคืนมาสู่ภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน

สารคดี Water, Not Weapons-The Greening of Afghanistan

ย้อนกลับไปในปี 2000 ดร.นากามูระ ในฐานะหัวหน้าองค์กร Peace Japan Medical Services (PMS) ได้เห็นสภาพความเลวร้ายของความขัดแย้งและภัยแล้งในดินแดนแห่งนี้ด้วยตาตัวเอง เด็ก ๆ ขาดสารอาหาร หมู่บ้านถูกทิ้งร้างเนื่องจากไม่สามารถเพาะปลูกได้อีกต่อไป ความทุกข์เหล่านั้นจุดประกายให้เขาหาทางแก้ปัญหา ...และความน่าสนใจก็อยู่ตรงนี้นี่แหละ เมื่อนากามูระตัดสินใจเดินทางกลับไปแสวงหาคำตอบและแรงบันดาลใจจากนวัตกรรมโบราณอายุหลายร้อยปีที่มีชื่อว่า “ทำนบยามาดะ” ในประเทศบ้านเกิดของเขาเอง


แน่นอนว่าความท้าทายอย่างหนึ่งที่นากามูระกับทีมงานต้องเจอ ก็คือการจะประยุกต์เทคโนโลยีท้องถิ่นเก่าแก่นั่นให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอันสุดโหดร้ายของอัฟกานิสถานให้ได้ ซึ่งรายละเอียดในปฏิบัติการของเขามีให้เราดูอยู่แล้วในตัวสารคดี บทความนี้จึงขอทำหน้าที่เสริมข้อมูลว่า แล้วอะไรหรือ คือความไม่ธรรมดาของเจ้าทำนบที่ว่านี้

ทำนบยามาดะ (Yamada Weir)
ทำนบยามาดะ (Yamada Weir) © そらみみ, via Wikimedia Commons

ทำนบยามาดะ (Yamada Weir) เป็นระบบชลประทานหินโบราณที่ตั้งอยู่ในเมืองอาซากุระ จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคเอโดะ (สร้างในราวปี ค.ศ. 1790) โดยจุดเด่นแรกของมันอยู่ตรงการออกแบบอันชาญฉลาด ให้ตัวคันกั้นน้ำก่อสร้างด้วยหินขนาดใหญ่เล็กที่วางเรียงกันเฉียง 20 องศากับแม่น้ำชิคุโกะ เพื่อทำหน้าที่ปะทะและลดแรงดันสูงของแม่น้ำ ช่วยควบคุมน้ำท่วมน้ำหลาก (เนื่องจากแม่น้ำชิคุโกะเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 3 สายที่มีโอกาสเกิดน้ำท่วมมากที่สุดในญี่ปุ่น) แล้วเบี่ยงเบนน้ำเข้าสู่คลองชลประทาน เพื่อส่งต่อไปยังกังหันน้ำและไหลไปยังนาข้าวกว่า 4 พันไร่โดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จอันงดงามของทำนบยามาดะ ทำให้ในยุคเอโดะเกิดการสร้างทำนบลักษณะเดียวกันขึ้นอีกหลายแห่ง 

เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายร้อยปี ทำนบอื่น ๆ ล้วนเสียหายหมดสภาพไปแล้ว ทว่าทำนบยามาดะกลับยังคงสภาพเดิม โดยเป็นทำนบโครงสร้างเช่นนี้แห่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ และใช้งานได้จนถึงปัจจุบันแม้จะเผชิญน้ำท่วมมาหลายต่อหลายครั้ง นี่เป็นความไม่ธรรมดาอีกข้อหนึ่งซึ่งทำให้เมื่อปี ค.ศ. 2014 องค์การคณะกรรมการชลประทานระหว่างประเทศ (ICID) ต้องยกย่องสิ่งก่อสร้างนี้ให้เป็น  "แหล่งมรดกชลประทานโลก" (World Heritage Irrigation Structure) เพื่อย้ำให้เห็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เทคนิคการก่อสร้าง และความพยายามอันไม่ย่อท้อของเหล่าเกษตรกรในอดีต

ทำนบคามา (Kama Weir)

นอกจากที่ว่ามา ทำนบยามาดะยังมีจุดเด่นอีกข้อคือ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในการดึงน้ำ ใช้เพียงวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ทำให้เป็นระบบที่ชุมชนสามารถดูแลรักษาเองได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำ เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่แห้งแล้งยากจนต่าง ๆ ได้ไม่ยาก นี่เองคือเหตุผลที่ทำให้ดร.นากามูระเลือกใช้มันเป็นต้นแบบในการสร้าง “ทำนบคามา” เพื่อบรรเทาความทุกข์จากภัยแล้งในอัฟกานิสถาน เปลี่ยนทะเลทรายที่นั่นให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีที่อุดมสมบูรณ์ จนทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานตัดสินใจประกาศให้รูปแบบและการก่อสร้างระบบชลประทานนี้กลายเป็นมาตรฐานประจำชาติไปในที่สุด


ทำนบคามา (Kama Weir) ทำให้พื้นที่กว่า 16,000 ไร่ ได้รับการฟื้นฟู และประชาชนกว่า 600,000 คนเกิดความมั่นคงด้านอาหาร  หมู่บ้านที่เคยร้างคนกลับมาคึกคักอีกครั้ง ชุมชนเกษตรกรรมกลับมาเติบโต ผลที่ประจักษ์ต่อสายตาอันเกิดจากนวัตกรรมเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยสติปัญญาและหัวใจนี้ ช่างยิ่งใหญ่สมกับที่นากามูระเองกล่าวไว้ว่า 

"การสร้างคลองชลประทานเพียงแห่งเดียว สามารถสร้างคุณประโยชน์ได้มากกว่า การมีหมอรักษาโรคหนึ่งร้อยคน"

ติดตามสารคดี Water, Not Weapons: The Greening of Afghanistan ความเขียวขจีของอัฟกานิสถาน เรื่องราวชีวิตนายแพทย์ผู้สู้รบกับความแห้งแล้งในอัฟกานิสถาน นานถึง 15 ปี "เทตสึ นากามูระ" แพทย์ชาวญี่ปุ่นอายุ 70 ปี พบว่ามีคนจำนวนมากในอัฟกานิสถานเสียชีวิต เนื่องจากสุขอนามัยที่ย่ำแย่อันเนื่องจากการขาดแคลนน้ำ เป้าหมายของเขาคือการช่วยชีวิตคนให้มากที่สุด 

▶ รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeSecret Storyสารคดี VIPAสารคดีต่างประเทศประเทศญี่ปุ่นประเทศยากจนทำนบคันกั้นน้ำเขื่อนอัฟกานิสถานสารคดี Water, Not Weapons: The Greening of Afghanistan ความเขียวขจีของอัฟกานิสถานสิ่งประดิษฐ์สุดยอดสิ่งประดิษฐ์การขาดแคลนน้ำยุคเอโดะ
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด