“ฝนตกหนัก” ทำให้เกิด “น้ำท่วม” ฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงการเกิดเหตุการณ์ “ไฟไหม้จตุจักร” และเหตุสลด “นักเรียน” ถูกไฟดูดตรงตู้กดน้ำ ถือเป็นบทเรียนราคาแพงเกี่ยวกับ ไฟไหม้, ไฟฟ้าลัดวงจร, ไฟดูด ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด มองเหตุการณ์แล้วกลับมาย้อนดู “ไฟฟ้า” ที่เราใช้กันทุกวี่วันทั้งบ้าน คอนโดมิเนียม ห้องพัก และอื่น ๆ ก็ดี แล้วยิ่ง “หน้าฝน” ซึ่งมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อผนวกกับ “ไฟฟ้า” อาจกลายเป็นอันตรายจนถึงชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ไฟฟ้า” หน้าฝน มาให้ทราบ เป็นแนวทางเซฟตี้ตัวเราและคนที่รักจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
รู้จัก 3 องค์ประกอบ รวมตัวกันก่อให้เกิด “ไฟ”
1. เชื้อเพลิง : เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดการลุกไหม้ อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ
2. ออกซิเจน : ซึ่งมีอยู่ในอากาศประมาณ 21% โดยปริมาตร ที่ช่วยให้ติดไฟ แต่หากออกซิเจนลดต่ำลงไฟก็จะไหม้ช้าลงหรือดับมอดไป
3. ความร้อน (HEAT) : ที่ทำให้เชื้อเพลิงเปลี่ยนสถานะเป็นไอหรือก๊าซ ที่เรียกว่า ความร้อนถึงจุดวาบไฟ และอีกอย่างคือ ความร้อนถึงจุดติดไฟ หรือจุดชวาล (FIRE POINT) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเร็ว พอเพียงที่จะติดไฟได้จะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับลักษณะทางสารสมบัติของเชื้อเพลิงด้วย
ดังนั้น หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไป “ไฟ” จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้
📌อ่าน : หน้าร้อน ต้องระวัง สาเหตุเสี่ยง "ไฟไหม้" กับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ไฟ”
การเกิด “ไฟ” แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
ไฟประเภท A ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ไม้ กระดาษ เสื้อผ้า พลาสติก เศษใบไม้ และขยะแห้ง วิธีดับไฟประเภทนี้ คือ ลดความร้อน (Cooling) โดยใช้น้ำ
ไฟประเภท B ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากวัตถุเชื้อเพลิงเหลว และ ก๊าซ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ทินเนอร์ แอลกอฮอล์ วิธีดับไฟประเภทประเภทนี้คือ กำจัดออกซิเจน โดยใช้ผงเคมีแห้ง ใช้ฟองโฟม
ไฟประเภท C ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากอุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้า วิธีดับไฟประเภทนี้คือ ตัดกระแสไฟฟ้า แล้วใช้ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์หรือน้ำยาเหลวระเหยที่ไม่มี CFC ไล่ออกซิเจนออกไป
ไฟประเภท D สารเคมีติดไฟ เช่น ผงแมกนีเซียมเซอร์โครเมียม ไทเทเนียม ผงอะลูมิเนียม วิธีดับไฟประเภทนี้คือ ทำให้อับอากาศหรือใช้สารเคมีเฉพาะ (ห้ามใช้น้ำเป็นอันขาด)
📌อ่าน : สัตว์เลี้ยงในจตุจักร ความปลอดภัยที่ถูกตั้งคำถาม ?
ระยะเวลาการเกิดไฟไหม้และลุกลามของไฟ
ยกตัวอย่าง เกิดเหตุไฟไหม้ภายในห้อง
1 นาที : ไฟลุกลามกระจายทั่วห้อง
2 นาที : ควันไฟลอยตัวปกคลุมชั้นบน
3 นาที : พื้นห้องมีควันไฟปกคลุมหนาแน่น
4 นาที : ไฟลุกลามทั่วบริเวณ ครอบคลุมทั้งชั้นบนและชั้นล่าง
5 นาที : มีควันพิษและความร้อนสูง ทำให้ผู้ประสบเหตุเสียชีวิตได้
ชวนสังเกตลักษณะของควันไฟ
- ควันไฟที่พุ่งออกจากช่องประตูและหน้าต่างอย่างรวดเร็ว แสดงว่า จุดที่เป็นต้นเพลิงอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว
- ควันไฟสีดำและเคลื่อนที่เร็ว แสดงว่า อยู่ใกล้จุดต้นเพลิง
- ควันไฟสีจางและเคลื่อนที่ช้า แสดงว่า อยู่ไกลจากต้นเพลิง
- ควันไฟหนาแน่น แสดงว่า เพลิงไหม้บริเวณดังกล่าว มีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
- ควันไฟที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งรูปร่าง สี และความเร็วพุ่งออกมาจากช่องต่าง ๆ แสดงว่า ต้นเพลิงเป็นพื้นที่อับอากาศหรือไฟลุกไหม้เต็มที่แล้ว
- ควันไฟสีดำหนาแน่น แสดงว่า มีแนวโน้มที่ควันอาจลุกติดไฟกลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่และมีการเผาไหม้ต่อเนื่องในจุดที่ห่างออกมาจากต้นเพลิง
- ควันไฟสีเทา (ไม่เป็นสีดำ หรือสีขาว) ลอยออกมาจากช่องประตูและหน้าต่างที่ปิดอยู่หรือรอยต่อฝาผนัง แสดงว่า เพลิงลุกไหม้เต็มพื้นที่และกำลังลุกลามออกมา ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณดังกล่าวและให้รีบอพยพออกจากอาคาร
จากเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการเกิด “ไฟ” และ “ไฟไหม้” สู่เรื่องต้องรู้ในการใช้ “ไฟฟ้า” หน้าฝน
เมื่อ “ฤดูฝน” มาเยือน มักมีลมกระโชกแรง เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติภัยทางไฟฟ้า เช่น ไฟรั่ว ไฟฟ้าดูด-ช็อต รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจร บวกกับ “สื่อนำไฟฟ้า” หรือสิ่งที่เป็นทางเดินของไฟฟ้า เช่น เส้นลวด สายไฟ วัสดุที่เป็นโลหะ รวมไปถึงผิวหนังของคนเรา อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรือไฟไหม้ได้ Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำเรื่องต้องรู้ในการใช้ “ไฟฟ้า” หน้าฝน มาให้ได้ทราบพร้อมกับข้อแนะนำเพื่อป้องกันอันตรายซึ่งจะมีอะไรบ้างตามมาอ่านกันได้เลย
รู้จัก 4 จุดเสี่ยงไฟช็อต-ไฟรั่ว ในฤดูฝนที่พบบ่อย ๆ
1. เสาไฟฟ้าหน้าบ้าน
จุดต้นทางที่ส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามาบ้านเราให้ได้ใช้กัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งส่งกระแสไฟฟ้าไปยังบ้านอื่น ๆ ด้วย ฝนตกอาจทำให้เกิดไฟรั่วได้ หากฝนตกพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณดังกล่าว
2. กริ่งประตู
เนื่องจากน้ำฝนอาจซึมเข้าไปที่สวิตช์ได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องกดกริ่ง ควรใช้หลังนิ้วกดหรือเคาะ เพราะหากเกิดมีไฟรั่วกล้ามเนื้อจะกระตุกหดกลับ
3. โคมไฟสนาม
เป็นจุดที่อุปกรณ์สัมผัสกับน้ำโดยตรงเวลาฝนตก ซึ่งมักมีคนเดินผ่านไปมาเป็นประจำ ดังนั้นควรเช็กสภาพของฉนวนอยู่เสมอ
4. ปั๊มน้ำ
เป็นอีกหนึ่งจุดที่มักเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วโดยเฉพาะหน้าฝน ดังนั้นแนะนำว่าควรต่อสายดิน หรือใช้สวิตช์ตัววงจรอัตโนมัติ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้หากจำเป็นต้องไปเช็กปั๊มน้ำช่วงฝนตก ควรถอดปลั๊กหรือปิดสวิตช์ให้เรียบร้อยเสียก่อน
จากจุดที่พบ “ไฟรั่ว” บ่อย สู่การแนะนำวิธีการใช้ “ไฟฟ้า” อย่างถูกต้องและปลอดภัยช่วงหน้าฝน
- เมื่อเกิดฟ้าคะนอง ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเปียกน้ำ เมื่อจะนำไปใช้งานควรเช็ดหรือผึ่งให้แห้งก่อน เพื่อป้องกันมิให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจรภายในเครื่องใช้ไฟฟ้า
- เมื่อร่างกายเปียกชื้น ห้ามแตะต้องส่วนที่มีกระแสไฟฟ้าเพราะอาจเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว เนื่องจากความต้านทานของผิวหนังที่เปียกชื้นจะลดลงมาก ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายได้โดยสะดวก เกิดกระแสไฟฟ้าดูดอาจถึงแก่ชีวิตได้
- ควรติดตั้งสายดินป้องกันไฟฟ้ารั่ว และหากจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น เช่น การใช้เครื่องทำน้ำอุ่น นอกจากติดตั้งสายดินแล้ว ยังต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้ารั่ว เพื่อเสริมการทำงานของสายดินให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย
- ตรวจสอบต้นไม้ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้า หากมีกิ่งไม้อยู่ใกล้เกินไปหรือคาดว่าเมื่อมีลมพัดแรง อาจทำให้กิ่งไม้เอนไปแตะสายไฟฟ้า หรือต้นไม้หักโค่นล้มทับสายไฟฟ้า ให้แจ้ง PEA หรือ MEA ในพื้นที่ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไข
- ให้ความร่วมมือในการตัดต้นไม้หรือตัดกิ่งไม้ที่กีดขวางแนวเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าและจุดปักเสาไฟฟ้า ไม่ควรตัดต้นไม้เอง เพราะอาจถูกกระแสไฟฟ้าดูดได้
- หากพบกิ่งไม้ที่หักโค่นทับหรือพาดสายไฟฟ้าแรงสูง อย่าเข้าใกล้เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ควรรีบแจ้ง PEA หรือ MEA ในพื้นที่ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไข
สำหรับ “ไฟฟ้าลัดวงจร” นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เราจึงต้องทำการป้องกันหลายวิธี เช่น ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์, เปลี่ยนสายไฟที่เก่าและขาด, ตรวจสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ, ไม่ใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง รวมถึงเลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
หากเราสงสัยว่าเกิด “ไฟรั่ว” แนะนำ 5 ขั้นตอนดังนี้
5 ขั้นตอน ตรวจสอบ “ไฟฟ้ารั่ว” เบื้องต้นได้ด้วยตนเอง กรณีไม่ได้ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว
ขั้นตอนที่ 1
ตรวจสอบที่มิเตอร์ไฟฟ้า โดยการปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าและหลอดไฟฟ้า พร้อมถอดปลั๊กตู้เย็น แล้วดูมิเตอร์ว่าแผ่นจานโลหะในมิเตอร์ยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่ แสดงว่าเกิดไฟรั่วภายในบ้านจุดใดจุดหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 2
หากแผ่นจานโลหะในมิเตอร์ไม่หมุน อาจเป็นไปได้ว่ามีไฟรั่วแต่น้อยมาก ๆ ให้จำตำแหน่งจานหมุนและเลขมิเตอร์ แล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง หากตำแหน่งจานหมุนและเลขมิเตอร์ไม่อยู่ตำแหน่งเดิม แสดงว่าเกิดไฟรั่ว
ขั้นตอนที่ 3
เมื่อตรวจสอบพบมีไฟรั่วให้ปิด (OFF) เบรกเกอร์ย่อยที่ตู้แผงเมนสวิตช์ทั้งหมดแล้วเปิด (ON) เบรกเกอร์ย่อยทีละตัวสลับกันไป แล้วดูมิเตอร์แต่ละครั้ง ว่าแผ่นจานโลหะในมิเตอร์หมุนหรือไม่ “ถ้าหมุน” แสดงว่ามีไฟรั่วที่วงจรของเบรกเกอร์ย่อยตัวที่เปิด (ON) ให้ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นโลหะทั้งหมดของวงจรที่ตรวจพบไฟรั่ว แล้วแจ้งช่างผู้ชำนาญการแก้ไขโดยเร็ว
ขั้นตอนที่ 4
หากมีความรู้ในการใช้ไขควงลองไฟอย่างปลอดภัยสามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้ให้เปิด (ON) เบรกเกอร์ย่อยวงจรที่พบไฟรั่ว แล้วใช้ไขควงลองไฟ แตะเปลือกโลหะเครื่องใช้ไฟฟ้าและฉนวนสายไฟของวงจรย่อยนั้นทั้งหมดหากหลอดไฟที่ไขควงลองไฟติด แสดงว่ามีไฟรั่วที่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟนั้น ๆ ให้ถอดปลั๊กใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ จนกว่าจะให้ช่างผู้ชำนาญการแก้ไขให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 5
ต้องการคำแนะนำหรือปรึกษาแก้ไขไฟฟ้ารั่ว ติดต่อ PEA หรือ MEA เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า อย่าลืม ติดตั้งสายดินและเบรกเกอร์ป้องกันไฟรั่ว และหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าให้มีสภาพพร้อมใช้งาน
📌อ่าน : ป้องกัน "ไฟไหม้" ความรู้เบื้องต้นที่ทุกคนต้องรู้
หากพบ “ผู้ประสบภัย” จากไฟฟ้า ควรช่วยเหลืออย่างไร ?
ผู้ที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้าต้องรู้จักวิธีที่ถูกต้องในการช่วยเหลือดังนี้
- อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้า หรือตัวนำที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าจนได้รับอันตรายไปด้วย
- รีบหาทางตัดกระแสไฟฟ้าโดยไว จะด้วยการถอดปลั๊กหรือเอาสวิตช์ออกก็ได้
- ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกที่แห้ง สายยาง หรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยาง หรือผ้าแห้งพันมือให้หนาแล้วถึงผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว เขี่ยสายไฟให้หลุดออกจากตัวผู้ประสบอันตราย
- หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูงให้พยายามหลีกเหลี่ยง แล้วรีบแจ้ง PEA หรือ MEA ให้เร็วที่สุด
- อย่าลงไปในน้ำกรณีที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง ต้องหาทางเขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้นหรือตัดกระแสไฟฟ้าก่อนจึงค่อยไปช่วยผู้ประสบอันตราย
ข้อสำคัญจำขึ้นใจ : การช่วยผู้ประสบอันตรายจาก “ไฟฟ้า” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ และระมัดระวังเป็นพิเศษประกอบกัน เพื่อให้ปลอดภัยทั้งผู้ถูกช่วยและผู้ช่วยเหลือ
สำหรับ “การปฐมพยาบาล” นั้น การให้ความช่วยเหลือในขั้นแรกที่ทำได้ ทันทีทันใด หรือในสถานที่เกิดเหตุ โดยใช้เครื่องมือเท่าที่จะหาได้ ประกอบกับความรู้ในการช่วยเหลือ เพื่อลดอันตรายของผู้ป่วยในขณะที่ส่งไปหาแพทย์ ทั้งนี้ เมื่อได้ทำการช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายมาได้แล้วจะโดยวิธีใดก็ตาม
หากปรากฏว่าผู้เคราะห์ร้ายที่ช่วยออกมานั้นหมดสติ ไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเตือนและไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้น เช่น ริมฝีปากเขียว สีหนาซีดเซียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะคลำชีพจรไม่พบ ม่านตาขยายค้างไม่หดเล็กลง หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลทันที เพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA), การไฟฟ้านครหลวง (MEA)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech