ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การเสียชีวิตของ “อลัน ทัวริง” บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ผู้ถูกตีตราจาก “เพศวิถี”


วันสำคัญ

6 มิ.ย. 67

Thai PBS Sci & Tech

Logo Thai PBS
แชร์

การเสียชีวิตของ “อลัน ทัวริง” บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ผู้ถูกตีตราจาก “เพศวิถี”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1258

การเสียชีวิตของ “อลัน ทัวริง” บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ผู้ถูกตีตราจาก “เพศวิถี”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เรารู้จัก “อลัน ทัวริง” (เสียชีวิต 7 มิถุนายน ค.ศ. 1954) กันดีในฐานะของบิดาแห่งคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ แต่ชีวิตหลังจากจบสิ้นสงครามของเขากลับไม่ได้สวยงาม เมื่อความหลากหลายทางเพศของเขากลายเป็นสิ่งที่ทิ่มแทงชีวิตของเขา จนกลายเป็นบุคคลที่เกือบถูกลืมจากหน้าประวัติศาสตร์ เพียงเพราะความใจแคบต่อ “เพศวิถี” ที่เขาเป็น

ประติมากรรมอลัน ทัวริงถูกจัดแสดงใน Bletchley Park

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อลัน ทัวริง (Alan Turing) ผู้มีความรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์และศาสตร์การถอดรหัส (Cryptography) ได้ถูกทาบทามให้เข้ามาช่วยเหลือใน Bletchley Park ศูนย์การถอดรหัสของอังกฤษ ภารกิจที่เขาได้รับคือการถอดรหัสลับจากเครื่อง Enigma ที่ทางนาซีเยอรมันใช้ในการส่งสารข้อมูล

เครื่อง Enigma เป็นเครื่องเข้ารหัสข้อความที่สามารถแปลงข้อความเป็นชุดตัวอักษรเข้ารหัสที่ยากต่อการแปลงรหัสกลับเป็นคำความหมายเดิม เนื่องจากเครื่อง Enigma สามารถแปลงตัวอักษรตั้งต้นตัวเดียวกันให้เป็นตัวอักษรเข้ารหัสคนละตัวได้ สิ่งนี้ทำให้ความน่าจะเป็นในถอดรหัสข้อความจากเครื่อง Enigma ยากขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนมากจะเป็นการเข้ารหัสข้อความบอกตำแหน่งการโจมตีกับเรือดำน้ำอู (U-boat)

ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการให้มีโครงการถอดรหัสที่ได้จากเครื่อง Enigma นี้เพื่องานด้านหน่วยข่าวกรองและเพื่อต่อต้านการโจมตีทางยุทธวิธีจากฝั่งนาซี “อลัน ทัวริง” ที่ถูกทาบทามเข้ามาในงานด้านการถอดรหัสเห็นว่าสิ่งนี้เป็นการเข้ารหัสที่มีรูปแบบจึงเริ่มต้นการสร้างคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการถอดข้อความเข้ารหัส และเกิดเป็นเครื่อง Bombe เครื่องคอมพิวเตอร์ถอดรหัส

ภาพถ่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ถอดรหัส Bomebe ที่ใช้ในการถอดข้อความเข้ารหัสจาก Enigma

เครื่อง Bombe ช่วยถอดข้อความเข้ารหัสจากเครื่อง Enigma ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบแผนการโจมตีของฝ่ายนาซีและตอบโต้การโจมตีเหล่านั้น และด้วยความสามารถที่เครื่อง Bombe สามารถถอดข้อความเข้ารหัสได้ไวกว่าการคำนวณด้วยมนุษย์ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ช่วยทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบเหนือฝ่ายนาซีในหลายยุทธการและช่วยทำให้สงครามยุติได้เร็วขึ้นอย่างน้อยสองปี ช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้นับไม่ถ้วน

แม้ว่าอลัน ทัวริงจะสร้างผลงานมากมายให้กับโลก แต่หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1952 ทัวริงกลับถูกจับในข้อหา “ประพฤติตนไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรง” จากการยอมรับว่ามีความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นฐานความผิดทางอาญาในสหราชอาณาจักร ณ เวลานั้น เมื่อต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างการจำคุกหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนเพื่อลดความต้องการทางเพศ ทัวริงเลือกรับการลงโทษอย่างหลัง การรักษาดังกล่าวก่อให้เกิดความทุกข์ทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้ทัวริงสูญเสียศักดิ์ศรีและทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่ไม่ปกติที่เป็นผลอันเนื่องมาจากฮอร์โมนที่เขาได้รับ

เขารู้สึกโดดเดี่ยวภายหลังจากที่ถูกลงโทษอันเนื่องมาจากการที่ตัวเขายอมรับ “เพศวิถี” ของเขา ความเจ็บปวดกัดกินตัวของเขาจนสุดท้ายแล้ววันที่ 7 มิถุนายน 1954 แม่บ้านของเขาพบศพของทัวริงในบ้านของเขาที่เมือง Wilmslow ข้างเตียงของเขามีแอปเปิลที่กินไปแล้วครึ่งลูก คดีการเสียชีวิตของทัวริงได้รับการพิจารณาว่าเป็นการฆ่าตัวตายจากการรับประทานไซยาไนด์ที่อยู่ในผลแอปเปิลที่ตกอยู่ข้างเตียง แต่อนิจจาแอปเปิลลูกนั้นกลับไม่เคยถูกตรวจสอบหาสารพิษดังกล่าวเลย

ภาพถ่ายของอลัน ทัวริงในปี 1936

การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยวัย 41 ปีของทัวริงเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์โลก ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการสูญเสียจิตวิญญาณและความชาญฉลาดของผู้บุกเบิกศาสตร์ของคอมพิวเตอร์ การเสียชีวิตของเขาถือเป็นเครื่องเตือนใจถึงอคติของสังคมที่ไม่ยอมรับในความหลากหลายของเพศวิถี

เรื่องราวของอลัน ทัวริงได้รับการพูดถึงในสาธารณะมากขึ้นในช่วงหลัง และมีการยกย่องเขาเป็นบิดาแห่งคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ มีการตั้งรางวัลทัวริง (Turing Award) เพื่อให้เกียรติแก่ผู้สร้างคุณูปการกับวงการคอมพิวเตอร์โดยใช้ชื่อสกุลทัวริงเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

ในปี 2009 รัฐบาลอังกฤษได้มีการออกมายอมรับและขอโทษต่อสาธารณชนจากการปฏิบัติกับอลัน ทัวริงผ่านทางช่องทางอินเทอร์เน็ต และในปี 2013 สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่สองได้ทรงขออภัยจากบทลงโทษที่เขาได้รับ (Posthumous Pardon)

บทเรียนจากการลงโทษและการเสียชีวิตของอลัน ทัวริง เป็นเครื่องย้ำเตือนของการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การที่สังคมก้าวข้ามความอคติผู้คนเพียงเพราะมีการเลือกเพศวิถีหรือเพศสภาพที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ใครคนหนึ่งต้องการให้เป็นนับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีเพราะเราจะสามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีใครต้องสูญเสียชีวิตหรือตัวตนของเขาจากการที่เลือกดำเนินเพศวิถีไม่ตรงกับที่สังคมต้องการ

เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร : ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อลัน ทัวริงอลัน แมธิสัน ทัวริงAlan TuringAlan Mathison TuringEnigmaเครื่อง Enigmaเพศวิถีความหลากหลายวิทยาศาสตร์ScienceTechnologyเทคโนโลยีInnovationนวัตกรรมInnovation Tech WorldThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Thai PBS On This Dayวันสำคัญ
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด