Secret Story | The Professional: Garbage as a Calling ความสะอาดนี้ท่านได้แต่ใดมา


Lifestyle

30 พ.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | The Professional: Garbage as a Calling ความสะอาดนี้ท่านได้แต่ใดมา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1219

Secret Story | The Professional: Garbage as a Calling ความสะอาดนี้ท่านได้แต่ใดมา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ใครเคยไปประเทศญี่ปุ่นแล้วเกิดอาการประทับใจ เชื่อได้ว่าหนึ่งในที่มาของอาการนั้นก็คือ “ความสะอาด” อันเป็นคุณสมบัติเลื่องชื่อของดินแดนอาทิตย์อุทัย ถนนหนทางที่ปราศจากขยะ ห้องน้ำสาธารณะที่แสนจะน่าไว้ใจ ล้วนเป็นภาพจำที่ทำให้ชาวโลกทึ่งและเกิดคำถามซ้ำ ๆ ว่าทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่รักษาความสะอาดได้เก่งกาจถึงขนาดนี้

รถเก็บขยะในประเทศญี่ปุ่น

ใน “The Professional: Garbage as a Calling มืออาชีพ: ขยะกับชีวิต" ที่ผลิตโดย NHK เราจะได้พบคำตอบส่วนหนึ่งของคำถามข้างต้น สารคดีเรื่องนี้ใช้เวลา 150 วันตามติดชีวิต "พนักงานเก็บขยะ" ผู้ทุ่มเทกับหน้าที่อย่างยิ่งยวด กระทั่งช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ยังมิอาจหยุดยั้งเขาได้ ความพากเพียรแรงกล้าไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ เช่นนี้ ดูจะเป็นคุณลักษณะของคนญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันดี 

ในสารคดี ทำให้เราเห็นว่าอาชีพที่อาจถูกสังคมมองข้ามหรือประเมินค่าว่าต่ำต้อยนี้ แท้จริงแล้วเป็นอาชีพที่มีคุณค่าสูงส่งแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่เลือกทำมันนั้นทำไปด้วยจิตวิญญาณของมนุษย์ ที่เคารพทั้งตนเองและคนอื่น ๆ

ทาเกะ ยูสึเกะ พนักงานเก็บขยะ วัย 34 ปี
พนักงานเก็บขยะทำงานอย่างคล่องแคล่ว แต่ระมัดระวังเรื่องเสียงดังรบกวน และความสะอาด

พ้นไปจากเรื่องอาชีพ อันที่จริงแล้วยังกล่าวได้ด้วยว่า ความสะอาดเป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นโดยทั่วไป หรือพูดให้ยิ่งกว่านั้นคือ มันเป็นสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมและถูกถือว่าเป็น “คุณธรรม” อันควรปฏิบัติเลยด้วยซ้ำ (ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความสะอาดบริสุทธิ์ในศาสนาชินโต และพิธีกรรมการทำความสะอาดในศาสนาพุทธ) 

พวกเขาจึงมีธรรมเนียมการอาบน้ำเป็นกิจวัตรประจำวัน, มีเซนโต (โรงอาบน้ำสาธารณะ) ที่ถือว่าเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์, ทุกครอบครัวจะสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักดูแลตนเองและที่อยู่อาศัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จะเข้าบ้านต้องถอดรองเท้าและใช้รองเท้าแตะแยกต่างหาก, โรงเรียนสอนเด็ก ๆ ให้เก็บกวาดทำความสะอาดโรงเรียนและบริเวณโดยรอบ แม้แต่ผู้ใช้แรงงานก็ยังเคร่งครัดเรื่องการรักษาเสื้อผ้าและยานพาหนะให้สะอาดเอี่ยมอยู่เสมอ

ไม่เพียงในขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวเท่านั้น แต่เมื่อออกสู่ภายนอก ก็เป็นที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นมีจิตสำนึกสูงมากด้านการดูแลพื้นที่สาธารณะ ทั้งโดยการไม่ทิ้งขยะลงพื้นเรี่ยราด, แต่ละบ้านแยกขยะตามประเภทอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ขยะสามารถนำไปรีไซเคิลหรือกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ, มีกิจกรรมรวมตัวกันทำความสะอาดชุมชนเป็นประจำ ฯลฯ 

ขณะที่ภาครัฐเองก็มีบทบาทสำคัญ ทั้งด้วยการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความสะอาดอย่างเข้มงวด เช่น จัดระบบการกำจัดขยะและการแยกขยะอย่างเอาจริงเอาจัง รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้เรื่องความสะอาดอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ตาม ไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อม คนเที่ยวญี่ปุ่นคงต้องเคยปวดหัวกับการพยายามจะหาถังขยะมาแล้ว เพราะมันยากราวกับเดินตามล่าหาสมบัติ ความที่คนท้องถิ่นพร้อมใจกันทิ้งขยะไว้ในที่ส่วนตัวมากกว่าที่สาธารณะ ทำให้เราต้องพลอยพกขยะติดตัวไปด้วยกว่าจะหาที่ทิ้งเจอสักที่ หนักกว่านั้นคือขณะที่ภาพโดยรวม ๆ ของประเทศนั้นดูสะอาดเรี่ยมเร้ 

แต่บางคนก็ต้องเคยช็อกเมื่อโคจรโดยไม่ตั้งใจไปเจอสถานที่ที่เต็มไปด้วยก้นบุหรี่ เศษกระดาษ ทิชชู่ใช้แล้ว ซองขนม ฯลฯ หล่นเกลื่อนกลาดอยู่ตามขอบฟุตบาทหรือล้นทะลักออกมาจากถุงขยะ โดยเฉพาะในย่านท่องเที่ยวบันเทิงกลางคืน เช่น คาบูกิโจในโตเกียว โดตงบุริในโอซากา หรือโรงแรมขนาดเล็ก ๆ ในพื้นที่ชนบทซึ่งมักจะถูกบ่นเรื่องความไม่เป็นระเบียบและสกปรกอยู่บ่อย ๆ

สาเหตุของปัญหาขยะล้นเมืองที่ว่านี้ก็คงไม่แตกต่างจากบ้านเมืองเราเองสักเท่าไหร่ หลัก ๆ มักเกิดจากการจัดการที่ยังไม่ดีพอของส่วนกลาง (เช่น ขาดแคลนถังขยะสาธารณะ, การบริหารจัดการงบไม่เพียงพอ) ลักษณะนิสัยของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ยังทิ้งขยะไม่ถูกที่ถูกเวลา (ซึ่งถ้าดูในสารคดีก็จะเห็นว่าคนที่ทิ้งนี่ก็ทิ้งกันแบบน่าโมโหสุด ๆ) ลักษณะการจัดสรรตัวพื้นที่เอง (เช่น มีสิ่งก่อสร้างที่เต็มไปด้วยซอกหลืบหรือพื้นที่ที่มองไม่ค่อยเห็น) นโยบายการควบคุมนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติที่ไม่เข้มงวด ไปจนถึงปัญหาความยากจน การไร้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

พนักงานเก็บขยะต้องทำหน้าที่ขับรถ และลงไปเก็บขยะด้วยตัวเอง

ความบกพร่องเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้อาชีพคนทำความสะอาดยังเป็นที่ต้องการในสังคมญี่ปุ่น มีการสำรวจพบว่าแรงงานในอาชีพนี้ที่เป็นคนญี่ปุ่นเองนั้นมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ 

จึงต้องทดแทนด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งแม้จะไม่สามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้มากนัก แต่ก็ยังมีโอกาสเข้าถึงอาชีพนี้ได้ และน่าสนใจ ถึงแม้จะเป็นงานใช้แรงงาน สังคมญี่ปุ่นก็ไม่ได้มองคนเก็บขยะอย่างด้อยค่า แต่มองว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำงานด้วยความเสียสละและมีความหมายมาก ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นนัยที่เรารับรู้ได้อย่างชัดเจนจากสารคดี The Professional: Garbage as a Calling นั่นเอง

▶ ตามไปสำรวจกับหนึ่งในอาชีพคนทำงานที่ขาดไม่ได้ของญี่ปุ่น "พนักงานเก็บขยะ" ทำไม ? ถึงมีขยะบนพื้นในเมืองต่าง ๆ ของญี่ปุ่นน้อยนัก คำตอบคือความทุ่มเทของคนเก็บขยะอย่าง "ทาเกะ ยูซุเกะ" โดยทีมงานของ NHK ใช้เวลา 150 วัน เพื่อตามติดการทำงานของเขา รับชมสารคดี The Professional: Garbage as a Calling มืออาชีพ: ขยะกับชีวิต ได้ทาง www.VIPA.me  หรือ  VIPA Application 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeVIPAสารคดี VIPAประเทศญี่ปุ่นญี่ปุ่นพนักงานเก็บขยะปัญหาขยะThe Professional: Garbage as a Calling มืออาชีพ: ขยะกับชีวิตพนักงานเก็บขยะในญี่ปุ่นความสะอาดขยะอาหารการแยกขยะขยะขยะพลาสติกJapan
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด