“วันนี้ฝนมากี่โมง?” คนไทยหลายพื้นที่ เริ่มเข้าสู่ภาวะ “ลุ้นฝนฉ่ำ” ฝนจะมากี่โมงก็ว่าลุ้นหนักแล้ว แต่พอฝนมาแล้ว “จะท่วมไหม” จุดนี้ลุ้นหนักกว่า โดยเฉพาะประชาชนชาว กทม. ที่เพียงแค่จินตนาการเหตุการณ์ “น้ำรอการระบาย” ก็ไปทั่วทุกถนน ชวนขนลุกซู่!
ที่ผ่านมา กทม. นำโดยผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีความพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมจากปริมาณฝนที่ตกหนักใน กทม. โดยหนึ่งใน “ตัวช่วยใหม่” นั่นคือ ท่อระบายน้ำ โดย กทม.เสริมท่อระบายน้ำบนผิวถนน จากเดิมที่ใช้ท่อลักษณะ U Gutter ถูกเสริมด้วย O Gutter ซึ่งคาดหมายว่า จะช่วยทำให้การระบายน้ำบริเวณผิวถนนเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงทำคิ้วขมวด “U Gutter – O Gutter” คืออะไร ? ที่สำคัญ ท่อแบบใหม่ ระบายน้ำได้เร็วกว่าจริงหรือ ? ทั้งหมดมีเรื่องราวมาบอกกัน
รู้จักท่อระบายน้ำ “U Gutter” และ “O Gutter” คืออะไร?
ก่อนหน้านี้ การระบายน้ำบนพื้นผิวถนนในกรุงเทพ ใช้ท่อระบายน้ำที่เรียกว่า U Gutter ลักษณะเป็นท่อระบายน้ำรูปตัว U ด้านบนของท่อ ถูกปิดด้วยตะแกรงเหล็กขนาดยาว มีช่องระบายน้ำ ซึ่งแต่เดิม U-Gutter ใช้ในพื้นที่ต่ำที่มีปัญหาท่อระบายน้ำล่าช้า
แต่ปัญหาของ U-Gutter คือ ตะแกรงเหล็กมีความหนา เมื่อรถจักรยานยนต์วิ่งผ่าน ทำให้เกิดเสียงดัง และมีประชาชนร้องเรียน นอกจากนี้ เมื่อฝนตกลงมา ทำให้มีขยะไปอุดตันท่อตะแกรงเหล็ก ส่งผลให้การระบายน้ำไม่ดี
จึงเป็นที่มาของการเสริมมาใช้ท่อระบายน้ำ O Gutter โดยลักษณะของ O Gutter แตกต่างจาก U Gutter ตรงที่เป็นรางน้ำปากแคบ บริเวณปากท่อออกแบบให้มีขนาดเล็กยาวเป็นแนวเดียว หรือเรียกว่าร่องเดี่ยว มีข้อดีคือ ลดโอกาสที่ขยะจะเข้ามาอุดตัน ทำให้น้ำบริเวณผิวถนนระบายได้รวดเร็วขึ้น
รวมทั้งยังออกแบบให้มีบ่อพักของท่อในทุก ๆ 15 เมตร กรณีที่ท่ออุดตันจากขยะชิ้นเล็ก ๆ สามารถเปิดฝาเพื่อเก็บขยะหรือดูดเลนได้สะดวกขึ้น
สิ่งพึงระวังของ ท่อระบายน้ำ O Gutter คืออะไร ?
แม้จะมีปากท่อระบายน้ำที่เล็กแคบ แต่ท่อระบายน้ำ O Gutter มีข้อกังวลจากประชาชนคือ การเกิดอุบัติเหตุ กรณีขี่จักรยานแล้วล้อจักรยานตกลงไปในช่องของท่อ ทว่าเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากทีมงานผู้ว่าฯ กทม. ว่า โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากส่วนที่เป็น “ร่องเดี่ยว” อยู่ชิดกับคันหินของฟุตบาธพอดี
กทม. ใช้ท่อระบายน้ำ O Gutter แล้วที่ไหน ?
ท่อระบายน้ำ O Gutter ถูกนำมาใช้ในย่านสุขุมวิท บริเวณซอยอุดมสุข (สุขุมวิท 103) ถือเป็นจุดนำร่องพื้นที่แรก เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมขังยามเมื่อมีปริมาณฝนตกลงอยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เกิดฝนตกลงมากว่า 3 ชั่วโมง และเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งทาง กทม. เผยว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังลดลงเร็ว โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
ต่อมา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากรณีเกิดน้ำท่วมขังระบายได้ช้าจากฝนตกบริเวณถนนอุดมสุข (สุขุมวิท 103) และได้มีการสุ่มเปิดท่อระบายน้ำบริเวณดังกล่าว พบว่า บางท่อระบายน้ำมีท่อประปาเก่าขวางอยู่เล็กน้อย มีเศษอิฐเศษปูน ระดับก้นท่อระบายน้ำไม่เท่ากัน รวมถึงพื้นทางเท้าบางจุดไม่ลาดเอียง
จึงประเมินในเบื้องต้นได้ว่า การเสริมกำลังการระบายน้ำด้วยท่อ O Gutter เป็นตัวช่วยที่ทำได้จริง แต่จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น การนำท่อระบายน้ำ O Gutter มาใช้งาน เบื้องต้นเน้นปรับปรุงในซอยที่มีคนเดินเป็นจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินการต้องคำนึงถึงงบประมาณ และคาดว่าจะทันในปีงบประมาณปี 2568
“น้ำท่วม” ยังเป็นปัญหาสำคัญของชาว กทม. และยังต้องอาศัย “ตัวแปร” อีกหลายส่วน แม้จะมีความพยายามใช้อุปกรณ์เสริมที่เปลี่ยนไป แต่พฤติกรรมผู้คนก็จำต้องปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะการใส่ใจเรื่องการทิ้งขยะ และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง หากไม่มีสิ่งใดกีดขวางทางน้ำ และน้ำไหลลงท่อได้รวดเร็ว อาการลุ้นว่า “น้ำจะท่วมไหม” คงพอบรรเทาลงได้
อ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
-กทม.แก้ 179 จุดเสี่ยงน้ำท่วม ห่วงพื้นที่เปราะบาง "สุขุมวิท"
-ฤดูฝนวันแรก กทม.ตกหนักช่วงเย็น "ดอนเมือง-หลักสี่" ท่วมขังหลายจุด
-21 พ.ค.ไทยเข้าสู่ฤดูฝนวันแรก-ฝนมากกว่าค่าปกติ 1%
อ้างอิง
-ติดตามความคืบหน้ารูปแบบฝารางระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลดปัญหาอุบัติเหตุ
-ผู้ว่าฯ กทม.คุยท่อใหม่ ระบายน้ำดีสู้ภัยหน้าฝน ชวนติดตามผลงาน 2 ปี 28 พ.ค.นี้
-ท่อระบายน้ำแบบใหม่ที่อุดมสุขทำงานยังไง? จะแก้ปัญหาน้ำท่วมแยก