เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนมิถุนายน 2567
ตลอดเดือนมิถุนายน : “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจ ในความหลากหลายทางเพศที่เท่าเทียมของ LGBTQIA+
“Pride Month” ที่เฉลิมฉลองกันตลอดเดือนมิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนด้านสิทธิและวัฒนธรรมของ “กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+)” รวมถึงความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมทางเพศในแง่มุมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของขบวนการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียม
โดยกิจกรรม “Pride Month” ไม่ได้จำกัดแค่ “กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+)” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงกลุ่มคนชายขอบต่าง ๆ ทั้งชาวชนบทและคนผิวสี ผู้ถูกเลือกปฏิบัติในสังคม ให้มีพื้นที่ในการแสดงออก เรียกร้อง และขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมสังคมที่เท่าเทียม
ทั้งนี้ “Pride Month” มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2512 ตำรวจนครนิวยอร์กได้บุกเข้าไปยัง “Stonewall Inn” บาร์เกย์ชื่อดังในย่าน West Village ก่อนจะใช้กำลังเข้าจับกุมลูกค้าภายในร้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+)
แม้ว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในยุคที่สังคมยังมีความไม่เข้าใจและตีตราการชื่นชอบเพศเดียวกันว่าผิดกฎหมาย แต่การโต้กลับของผู้คนในร้าน จนกลายเป็นการปะทะใหญ่ ระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ในเวลาต่อมา ก็ได้ถูกขนานนามว่า “Stonewall Uprising” หรือ “การลุกฮือที่สโตนวอลล์” และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่จุดประกายให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ทั่วโลก ได้ออกมาแสดงจุดยืน เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมและขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ
ในปี 2513 ชาวนิวยอร์กได้จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ “Stonewall Uprising” โดยเดินขบวนจาก “Stonewall Inn” ไปถึง “Central Park” จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินพาเหรด “Pride Month” เพื่อแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศในเมืองอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา และแพร่หลายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
สำหรับ “ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag)” อีกหนึ่งสัญลักษณ์คุ้นตาในกิจกรรม “Pride Month” ถูกออกแบบโดย “Gilbert Baker” ศิลปินชาวอเมริกัน เพื่อใช้สำหรับการเฉลิมฉลอง “Pride Month” ในปี 2521 โดยต้นแบบดั้งเดิมมีทั้งหมด 8 สี สื่อความหมายแตกต่างกัน เช่น สีแดง หมายถึง ชีวิต / สีส้ม หมายถึง การเยียวยา / สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ / สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ / สีน้ำเงิน หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน / สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ และอีก 2 สี ที่ถูกลดออกไปในภายหลัง คือ สีชมพู หมายถึง เพศ และสีเทอร์คอยส์ หมายถึง เวทมนต์และศิลปะ
1 มิถุนายน : วันดื่มนมโลก (World Milk Day)
“องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO)” ได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันดื่มนมโลก (World Milk Day)” เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ พร้อมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภคนม รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์และกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการบริโภคนม โดยปัจจุบันมีมากกว่า 35 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมการจัดกิจกรรมนี้
2 มิถุนายน 2496 : “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” ทรงเข้าพิธีราชาภิเษก
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2496 “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II)” ทรงเข้าพิธีราชาภิเษก ณ มหาวิหารเวสมินเตอร์ (Westminster Abbey) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในขณะมีพระชนม์ 27 พรรษา พระองค์ทรงครองบัลลังก์สืบต่อจากพระบิดา “พระเจ้าจอร์จ ที่ 6 (King George VI)” ซึ่งเสด็จสวรรคตด้วยโรคมะเร็งปอด โดยพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้ ได้มีการแพร่ภาพออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร
“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II)” ทรงมีพระนามเดิมว่า “อลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี (Elizabeth Alexandra Mary)” ประสูติเมื่อ 21 เมษายน 2469 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าจอร์จ ที่ 6 (King George VI) กับ พระนางเจ้าเอลิซาเบธ (Queen Elizabeth) ต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2490 ทรงอภิเษกสมรสกับ “เจ้าชายฟิลิป (The Prince Philip, Duke of Edinburgh)”
พระองค์ทรงเป็นประมุขของรัฐต่าง ๆ ในเครือจักรภพอังกฤษ 16 ประเทศ ทรงปกครองประชาชนกว่า 128 ล้านคน ซึ่งเป็นผลเมืองกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลก
3 มิถุนายน : วันเฉลิมพระชนมพรรษา “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”
“สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2521 ทรงสำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อปี 2543 พระองค์ทรงเคยเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด (ปี 2543 - 2546) และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (ปี 2546 - 2551)
ทรงเริ่มงานราชการ ในปี 2553 ทรงดำรงตำแหน่ง รักษาราชการนายทหารยุทธการ ฝ่ายยุทธการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองกิจการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สน.ผบ.ทสส.
ในปี 2555 ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และ ผู้บังคับกองพันฝึกทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยฝึกทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สน.ผบ.ทสส.
ต่อมาในปี 2556 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการหน่วยฝึกทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นายทหารปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผู้บังคับการโรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
จากนั้นในปี 2557 ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ต่อมาในปี 2559 ทรงดำรงตำแหน่ง นายทหารปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก)
ในปี 2560 ทรงดำรงตำแหน่ง รองสมุหราชองครักษ์ กรมราชองครักษ์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) และทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ)
พระองค์ทรงจบหลักสูตรการอบรมด้านการทหาร และการฝึกอบรมด้านการบินต่าง ๆ ปัจจุบันทรงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักบินผู้ช่วย ทำการบินกับเครื่องบินพระราชพาหนะ Boeing 737-400 และ Boeing 737-800
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชินี” ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”
3 มิถุนายน : วันจักรยานโลก (World Bicycle Day)
ในปี 2561 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้ผ่านมติการประชุมจากรัฐสมาชิกที่ให้การสนับสนุนทั้ง 193 รัฐ (56 ประเทศ) ก่อนจะประกาศให้วันที่ 3 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันจักรยานโลก (World Bicycle Day)” อย่างเป็นทางการ
เพื่อผลักดันให้ประชากรโลกได้หยุดพักการขับรถยนต์ รวมถึงการขี่มอเตอร์ไซค์ แล้วหันมาใช้งานจักรยานให้มากขึ้น เพราะ “จักรยาน” คือพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้งานง่ายที่สุด แล้วยังช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้นด้วย
4 มิถุนายน : วันกอดแมวสากล (National Hug Your Cat Day)
วันที่ 4 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันกอดแมวสากล (National Hug Your Cat Day)” ที่ทาสแมวถือเป็นโอกาสที่จะได้กอดเจ้าแมวสุดที่รัก เพราะการสัมผัสเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารกับเพื่อนขนฟูแสนขี้อ้อนของเรา
นอกจากนี้ การกอดแมวยังมีประโยชน์อย่างเหลือเชื่อ ทั้งลดความเครียด ลดอาการเศร้า ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและหลับสบายเมื่อนอนกอดกัน ช่วยเพิ่ม “เซโรโทนิน (Serotonin)” สารแห่งความสุขในร่างกาย ช่วยลดความเจ็บปวด โดยเฉพาะส่วนข้อต่อ จากการที่ร่างกายปล่อย “ออกซิโทซิน (Oxytocin)” ฮอร์โมนแห่งความรัก และ “เอ็นโดรฟิน (Endorphin)” สารแห่งความสุข เมื่อเรากอดเจ้าเหมียว ทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทาสแมวกับเจ้านายอีกด้วย
4 มิถุนายน : วันชีสแห่งชาติ (National Cheese Day)
นี่คือวันที่ยืดที่สุด! ใช่แล้ว ในวันที่ 4 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันชีสแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Cheese Day)” วันที่ทุกคนจะได้เฉลิมฉลองด้วยกัน กับผลิตภัณฑ์จากนม มีสีเหลือง รสชาติเค็ม ๆ มัน ๆ ที่เราเรียกกันว่า “ชีส (Cheese)”
“ชีส (Cheese)” หรือ “เนยแข็ง” คือ ผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งสามารถผลิตได้จากนมวัว นมแพะ หรือนมของสัตว์อื่น ๆ โดยนำไปผ่านกระบวนการคัดแยกโปรตีน แล้วนำโปรตีนของนมมาทำการผสมเชื้อรา แบคทีเรีย หรือสารอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทชีส นี่เป็นจุดแตกต่างจากเนยที่ทำมาจากไขมันของนม
นอกจาก “ชีส (Cheese)” ผลิตภัณฑ์จากนมสุดมหัศจรรย์นี้ จะมีหลากชนิดแล้ว ยังสามารถนำไปทำได้หลายเมนูอีกด้วย เช่นในประเทศอิตาลี นิยมใช้ “ชีส (Cheese)” ในการทำพิซซา (Pizza) ส่วนในประเทศกรีซ มักจะนำไปทำเมนูของหวานที่เราคุ้นเคยอย่างชีสเค้ก (Cheesecake)
4 มิถุนายน 2532 : เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่ “จตุรัสเทียนอันเหมิน”
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2532 ได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่ “จตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen Square Massacre)” กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในยุคที่ “เติ้ง เสี่ยวผิง (邓小平)” เป็นผู้นำระบอบคอมมิวนิสต์ โดยกองกำลังทหารติดอาวุธพร้อมรถถัง เข้าระดมยิงในการสลายการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึงสิทธิเสรีภาพ
การชุมนุมนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2532 นำโดยปัญญาชนและนักศึกษาชาวจีน มีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับหมื่นคน การปราบปรามของทหารทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 2,000 คน บาดเจ็บอีกราว 7,000 - 10,000 คน การเรียกร้องของนักศึกษาประชาชนครั้งนี้ล้มเหลว ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์อยู่รอดแข็งแกร่งมาจนทุกวันนี้ แต่เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า รัฐบาลจีนได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
5 มิถุนายน : วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day)
ภายหลังการจัดประชุมใหญ่ระดับโลก ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 5 - 16 มิถุนายน 2515 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day)” เพื่อให้ผู้คนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เกิดความตระหนักในการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนให้มีการวางเป้าหมายด้านการอนุรักษ์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาคมโลกบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม แก้ไขภาวะโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป
5 มิถุนายน 2567 : วันวิ่งโลก (National Running Day)
“สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations : IAAF)” เป็นผู้ก่อตั้ง “วันวิ่งโลก (National Running Day)” โดยกำหนดให้ตรงกับวันพุธสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ด้วยความคิดริเริ่มที่อยากให้คนทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนออกมาเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายไปด้วยกัน
การเฉลิมฉลองกีฬาวิ่งในระดับนานาชาติ จุดเริ่มต้นของ “วันวิ่งโลก (National Running Day)” จัดขึ้นครั้งแรกขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 มีผู้เข้าร่วมถึง 2.5 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 177 ประเทศทั่วโลก เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมวิ่งได้ โดยไม่มีการแบ่งเพศ อายุ น้ำหนัก และส่วนสูง
6 มิถุนายน 2487 : วันเริ่มต้น “ยุทธการนอร์มังดี”
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2487 เป็นวันเริ่มต้น “ยุทธการนอร์มังดี (Battle of Normandy)” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวน 155,000 นาย นำโดย “นายพล ดไวท์ ดี. ไอเซนเฮาว์ (Dwight D. Isenhower)” พร้อมด้วยเรือรบ 5,000 ลำ และเครื่องบินอีก 12,000 ลำ ยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งเมืองนอร์มังดี (Normandy) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในการยึดครองของกองทัพนาซีเยอรมัน ส่งผลให้กองทัพเยอรมันต้องถอยร่นและทหารจำนวนมากถูกจับเป็นเชลย
วันเริ่มต้น “ยุทธการนอร์มังดี (Battle of Normandy)” ยังถือเป็นวันดีเดย์ (D-Day) ซึ่งย่อมาจาก “Deliverance Day” โดยวันแรกวันเดียว มีทหารล้มตายถึง 4,400 นาย นอกจากนี้ ปฏิบัติการครั้งนี้ใช้รหัสว่า “Operation Overlord” และดำเนินไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2487 จนสามารถปลดปล่อยปารีสได้ในที่สุด นับเป็นการรุกโต้ครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปของฝ่ายสัมพันธมิตร และนับเป็นการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์โลก
7 มิถุนายน 2497 : “อลัน แมธิสัน ทัวริง” บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ และผู้ไขรหัสอีนิกม่า เสียชีวิต
“อลัน แมธิสัน ทัวริง (Alan Mathison Turing)” บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ และผู้ไขรหัสอีนิกม่า (Enigma) เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2455 ย่านไมด้า เวล (Maida Vale) กรุงลอนดอน (London) สหราชอาณาจักร เขาเป็นผู้มีความสามารถหลากหลายด้าน ทั้งการเป็นนักคณิตศาสตร์ นักตรรกศาสตร์ นักรหัสวิทยา
ในปี 2479 เขาได้ผลิตผลงานชิ้นแรกคือ “เครื่องจักรทัวริง (Universal Turing Machine)” เครื่องจักรที่สามารถทำได้ทุกอย่าง เมื่อใส่วิธีการแก้ปัญหาหรืออัลกอริทึมลงไป เป็นต้นแบบของคอมพิวเตอร์ที่ประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์สร้างภาษาคอมพิวเตอร์ พัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ในปัจจุบัน
ต่อมาผลงานชิ้นนี้ ทำให้รัฐบาลอังกฤษเรียกตัวเขาไปช่วยงานไขความลับทางการสงครามระดับชาติ โดยการถอดรหัสของ “เครื่องอีนิกม่า (Enigma)” เครื่องเข้ารหัสซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 ใช้ในการป้องกันความลับในการสื่อสาร ทั้งในทางการทูต การทหาร การพาณิชย์ ซึ่งเป็นรหัสลับที่ทางวงการทหารและรัฐบาลของนาซีเยอรมนี (NAZI) ใช้เพื่อติดต่อสื่อสารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษสงครามโลก ที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบเร็วขึ้น 2 ปี และช่วยรักษาชีวิตผู้คนไว้กว่า 14 ล้านคน
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาต้องพบกับความทุกข์ทรมาน เพราะถูกดำเนินคดีความเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม เขาถูกตัดสิน ด้วยการลงโทษโดยทำให้เป็นหมันและถูกบังคับให้ฉีด “เอสโตรเจน (Estrogen)” ซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้เขาเป็นอย่างมาก
“อลัน แมธิสัน ทัวริง (Alan Mathison Turing)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2497 เมืองวิล์มสโลว์ (Wilmslow) สหราชอาณาจักร จากการได้รับสารพิษไซยาไนด์ (Cyanide) ซึ่งสาเหตุการตายยังคงเป็นปริศนาว่า เขาฆ่าตัวตาย เป็นอุบัติเหตุ หรือถูกฆาตกรรม
7 มิถุนายน 2567 : วันโดนัทแห่งชาติ (National Donut Doughnut Day)
โดนัทยังมีรู แล้วเมื่อไรจะรู้ว่า “วันโดนัทแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Donut Day)” มีที่มาอย่างไร ? รู้แล้วอาจอึ้งก็ได้ เพราะที่มาไม่ได้หวานอร่อยเหมือนเหตุผลที่เรารักการกินโดนัทเลยนะ
ในปี 2481 “The Salvation Army” องค์กรการกุศลระดับนานาชาติ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้กำหนดให้วันศุกร์สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนเป็น “วันโดนัทแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Donut Day)” หรือบางแห่งอาจสะกดว่า “Doughnut” ตามการสะกดแบบดั้งเดิมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่กลุ่มหญิงสาวที่เป็นสมาชิกขององค์กรฯ (Salvation Army Lassies) ซึ่งเสิร์ฟ “โดนัท (Donut)” ให้กับทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยระดมทุนให้กับ “The Salvation Army” ในชิคาโก สหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเหลือผู้ขัดสนในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
8 มิถุนายน : วันทะเลโลก หรือ วันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day)
ในปี 2552 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันทะเลโลก หรือ วันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day)” เพื่อเฉลิมฉลองและกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาคมโลกหันมาใส่ใจ ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล
ทั้งนี้ แนวความคิดริเริ่มในเรื่องของการอนุรักษ์ทะเล เริ่มมาจากประเทศแคนาดา เมื่อปี 2535 ในการประชุมความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) ที่เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล
8 มิถุนายน : วันโรคเนื้องอกสมองโลก (World Brain Tumor Day)
“สมาคมโรคเนื้องอกในสมองแห่งประเทศเยอรมนี (German Brain Tumour Association)” ได้กำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันโรคเนื้องอกสมองโลก (World Brain Tumor Day)” เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความอันตรายของโรคและให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค
“โรคเนื้องอกในสมอง (Brain Tumor)” เป็นภาวะที่มีการเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมอง ซึ่งมีทั้งเนื้องอกธรรมดา (Benign) หรือมะเร็ง (Malignant) ทั้งนี้ มะเร็งเนื้องอกในสมองถือว่าเป็นมะเร็งที่พบบ่อยชนิดหนึ่ง โดยเนื้องอกสมองทั้งสองชนิดสามารถลุกลามในสมองจนเป็นอันตราย ทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้
8 มิถุนายน 2518 : สหภาพโซเวียตส่งยาน “เวเนรา 9” ขึ้นสู่อวกาศ
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2518 สหภาพโซเวียต ส่งยาน “เวเนรา 9 (Venera 9)” ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อปฏิบัติการสำรวจดาวศุกร์ โดยบรรทุก “ยานลงจอด (Lander)” ลงสู่พื้นผิวดาวศุกร์ได้สำเร็จในวันที่ 22 ตุลาคม 2518
“ยานลงจอด (Lander)” ของ “เวเนรา 9 (Venera 9)” เป็นยานอวกาศจากโลกลำแรก ที่ส่งภาพถ่ายสภาพพื้นผิวดาวศุกร์ให้มนุษย์โลกได้เห็นอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก เป็นเวลา 53 นาที เผยให้เห็นสภาพพื้นผิวดาวศุกร์ที่แห้งผาก เต็มไปด้วยหินระเกะระกะ โดย “เวเนรา 9 (Venera 9)” กลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย ในวันที่ 26 ธันวาคม 2518
9 มิถุนายน : วันอานันทมหิดล
“วันอานันทมหิดล” ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 โดย “วันอานันทมหิดล” กำหนดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์และการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน 2468 ณ เมืองไฮเดเบอร์ก ประเทศเยอรมณี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ในปี 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่หน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อก่อตั้ง “มูลนิธิอานันทมหิดล” เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทย ผู้มีความสามารถทางวิชาการยอดเยี่ยม มีคุณธรรมสูง ได้มีโอกาสไปศึกษาวิทยาการขั้นสูงสุดในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์และพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า
11 มิถุนายน 2507 : “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม
“จอมพล ป. พิบูลสงคราม” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย มีนามเดิมว่า “แปลก ขีตตะสังคะ” เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2440 ที่จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2470 “ปรีดี พนมยงค์” ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน รวมเป็น 7 คน จัดประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อก่อตั้ง “คณะราษฎร” ที่กรุงปารีส ประกอบด้วย “ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี” นายทหารกองหนุน “ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ” (ต่อมาคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม)” นักศึกษาโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส “ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี” นักศึกษาโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส “ตั้ว ลพานุกรม” ทหารอาสาไทย “หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)” อดีตนายสิบตรีกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส “แนบ พหลโยธิน” เนติบัณฑิตอังกฤษ หลานพระยาพหลพลหยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และ “ปรีดี พนมยงค์”
ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ระหว่างปี 2481 - 2487 และครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2491 - 2500 นอกจากนี้ ท่านยังได้รับฉายาว่า “จอมพลกระดูกเหล็ก” เพราะมีชีวิตทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ เคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง ในบั้นปลายชีวิตท่านต้องลี้ภัยการเมืองไปพำนักในประเทศญี่ปุ่น เพราะทางการญี่ปุ่นเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีบุญคุณจากการยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
“จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 เมืองซางามิฮะระ (相模原) จังหวัดคานางาวะ (神奈川県) ประเทศญี่ปุ่น ขณะมีอายุได้ 67 ปี
12 มิถุนายน : วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก (World Day Against Child Labour)
เมื่อปี 2542 “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)” ได้กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก (World Day Against Child Labour)” ภายหลังการประชุมข้อตกลงร่วมกันของนานาประเทศ เพื่อให้ประเทศสมาชิกดำเนินการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปอย่างเร่งด่วน โดยประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544
13 มิถุนายน 2535 : “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ราชินีลูกทุ่ง เสียชีวิต
“พุ่มพวง ดวงจันทร์” ราชินีลูกทุ่ง มีชื่อจริงว่า “ผึ้ง - รำพึง จิตรหาญ” เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2504 ที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ประเทศไทย เธอชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก และเดินสายประกวดตั้งแต่อายุ 8 ปี โดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย”
เธอมีบทเพลงดังมากมาย อาทิ คนดังลืมหลังควาย หนูไม่รู้ กระแซะเข้ามาซิ นัดพบหน้าอำเภอ ตั๊กแตนผูกโบว์ โลกของผึ้ง เป็นต้น เธอได้รับโอกาสสูงสุดในชีวิตศิลปิน ด้วยการเป็นผู้ขับร้องเพลง “ส้มตำ” เพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นอกจากนี้ เธอยังได้มีโอกาสเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี 2526 จากเรื่อง “สงครามเพลง” กำกับภาพยนตร์โดย “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ออกฉายเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2526 และอีกหลายเรื่อง เช่น รอยไม้เรียว ผ่าโลกบันเทิง นักร้อง-นักเลง เป็นต้น
ในปี 2527 “พุ่มพวง ดวงจันทร์” สมรสกับพระเอกในวงการภาพยนตร์ไทย “ไกรสร แสงอนันต์” (ชื่อจริงคือ ไกรสร ลีละเมฆินทร์) ซึ่งทั้งคู่พบรักกันในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักนักเพลง” ก่อนที่ “ไกรสร แสงอนันต์” จะลาวงการภาพยนตร์ เพื่อมาดูแลและเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้คู่ชีวิต ต่อมาทั้งคู่มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ “เพชร - ภัควรรธน์ พิสิษวุฒิรัชต์” (ชื่อเดิม สรภพ ลีละเมฆินทร์)
“พุ่มพวง ดวงจันทร์” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2535 ด้วยอาการป่วยจากโรคเอสแอลอี (SLE : Systemic Lupus Erythematosus) หรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ขณะมีอายุได้ 31 ปี
14 มิถุนายน : วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day)
ในปี 2547 ได้มีการกำหนดให้วันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day)” โดยตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ “ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner)” แพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน ผู้ค้นพบการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O ซึ่งเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก
อีกทั้งยังพบว่าการถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกัน จะไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย การค้นพบเหล่านี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อยอดในวงการแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้อีกเป็นจำนวนมาก
องค์กรด้านการแพทย์ เช่น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies : IFRC) สหพันธ์ผู้บริจาคโลหิตระหว่างประเทศ (International Federation of Blood Donor Organizations : IFBDO) และสมาคมบริการโลหิตระหว่างประเทศ (International Society of Blood Transfusion : ISBT) จึงได้ขอความร่วมมือให้สภากาชาดทั่วโลก จัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้คนตระหนักและเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต รวมถึงเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้บริจาคโลหิต และส่งเสริมงานบริการโลหิตให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก
ทั้งนี้ “ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner)” แพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2411 ที่เมือง Baden bei Wien ประเทศออสเตรีย เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา หรือแพทยศาสตร์ ในปี 2473 จากผลงานค้นพบการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O
15 มิถุนายน : วันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day)
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 22 ประเทศสิงคโปร์ ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บูรไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ได้มีมติร่วมกัน โดยกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day)” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงการป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมถึงร่วมกันแก้ปัญหา เนื่องจากสถิติผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก พบมากที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ “โรคไข้เลือดออก” ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน อ่อนเพลีย ซึมลง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง รวมถึงมีเลือดออกบริเวณอื่น
15 มิถุนายน 2295 : “เบนจามิน แฟรงคลิน” ค้นพบประจุไฟฟ้าในอากาศ
“เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)” หนึ่งในรัฐบุรุษผู้สร้างชาติอเมริกา นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2249 ที่ถนนมิลค์ (Milk Street) เมืองบอสตัน (Boston) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เขามีฉายาว่า “นิวตันแห่งวงการไฟฟ้า”
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2295 เขาได้ทำการศึกษาและค้นพบประจุไฟฟ้าในชั้นบรรยากาศจาก “การทดลองว่าว (Kite Experiment)” กลางสายฝน ทำให้โลกได้ทราบถึงปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า และต่อมาเขาก็เป็นคนแรกที่ประดิษฐ์ “สายล่อฟ้า (Lightning Rod)” อุปกรณ์ที่ช่วยให้เราปลอดภัยในวันที่ฝนฟ้าคะนอง
ทั้งนี้ “สายล่อฟ้า (Lightning Rod)” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ติดตั้งอยู่บริเวณยอดตึก โดยจะมีสายไฟโยงจากสายล่อฟ้าไปยังพื้นดิน เมื่อมีประจุไฟฟ้าจำนวนมากในก้อนเมฆ จะเกิดการถ่ายโอนประจุจากก้อนเมฆมายังพื้นดินผ่านสายล่อฟ้า ทำให้ไม่เกิดฟ้าผ่าอาคารเสียหาย
“เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2333 ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา ขณะมีอายุได้ 84 ปี
16 มิถุนายน : วันเต่าทะเลโลก (World Sea Turtle Day)
วันที่ 16 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันเต่าทะเลโลก (World Sea Turtle Day)” ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเต่าทะเล ร่วมกันอนุรักษ์เต่าทะเล รวมถึงอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล เพื่อรักษาและคงความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล
โดยเฉพาะ “ปัญหาขยะพลาสติก” ที่ปนเปื้อนลงสู่ทะเล ทำให้เต่าป่วยตาย เนื่องจากพลาสติกเข้าไปติดในระบบทางเดินอาหาร เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุน ซึ่งเป็นอาหารหลักของเต่าทะเล
17 มิถุนายน : วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก (World Day to Combat Desertification and Drought)
ในปี 2533 “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก (World Day to Combat Desertification and Drought)” เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงภาวะวิกฤตของโลกที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
รวมถึงเพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลธรรมชาติ โดยช่วยกันดูแลป่า ต้นกำเนิดของน้ำ และลดการสร้างมลภาวะทางอากาศ ให้เกิดความสมบูรณ์ของธรรมชาติ
17 มิถุนายน : วันจระเข้โลก (World Crocodile Day)
วันที่ 17 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันจระเข้โลก (World Crocodile Day)” ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “จระเข้ (Crocodile)” และ “แอลลิเกเตอร์ (Alligator)” ซึ่งกำลังใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก
ทั้งนี้ “จระเข้ (Crocodile)” เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ เป็นสัตว์นักล่า อาศัยกึ่งบนบกกึ่งในน้ำ พบได้ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทุกทวีปทั่วโลก มีทั้งชนิดที่อาศัยในน้ำจืดและน้ำเค็ม อันดับจระเข้ครอบคลุมถึง “วงศ์จระเข้ (Crocodylidae)” “วงศ์แอลลิเกเตอร์ (Alligatoridae)” และ “วงศ์ตะโขง (Gavialidae)”
17 มิถุนายน : วันมาสคอตแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Mascot Day)
“มาสคอต (Mascot)” ที่เราเห็นในงานต่าง ๆ กันจนชินตา ที่แท้มีอายุอานามมากกว่าที่เรารู้ซะอีก!
ถ้าจะให้นับประวัติของ “มาสคอต (Mascot)” กันจริง ๆ ก็สามารถย้อนขึ้นไปได้ถึง 130 ปีก่อนนู้น โดยคำว่า “มาสคอต (Mascot)” มาจากคำภาษาฝรั่งเศสว่า “La Mascotte” เชื่อกันว่าเป็นผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงที่มีพลังลึกลับและสามารถนำโชคดีมาให้ได้
อีกแนวคิดหนึ่งก็อ้างอิงถึงละครโอเปร่าของฝรั่งเศสชื่อ “La Mascotte” ในปี 2423 ที่มีตัวละครเป็นสาวชาวไร่ ซึ่งได้มีการผลิต “มาสคอต (Mascot)” ออกวางจำหน่าย ก่อนจะโด่งดังไปทั่วยุโรป
ในภายหลัง เราจะพบ “มาสคอต (Mascot)” ได้บ่อย ๆ ตามงานกีฬาต่าง ๆ เรื่องนี้มีการคาดเดาจุดกำเนิดว่าอาจมาจากเหตุการณ์การแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีม “Middlesborough Association” และทีมที่จัดตั้งขึ้นใหม่ชื่อ “La Mascotte” ซึ่ง “W.E. Gregory” ผู้เล่นของทีมได้สวม “มาสคอต (Mascot)” ลงไปในสนาม ทำให้ผู้คนประทับใจและจดจำจุดเริ่มต้นของ “มาสคอต (Mascot)” ในงานกีฬาตัวแรกนี้
ปัจจุบัน “มาสคอต (Mascot)” ไปได้ทุกวงการ ตั้งแต่งานเปิดตัวสวนสนุก ไปจนถึงงานมหกรรมด้านการเงิน แต่หน้าที่ไม่ต่างกันเลย นั่นคือ การสร้างความสนุกสนาน ความบันเทิง รวมถึงให้ความรู้และประชาสัมพันธ์โดยที่เราไม่รู้สึกเบื่อเลย
18 มิถุนายน : วันซูชิสากล (International Sushi Day)
ก่อนจะพูดถึง “วันซูชิสากล (International Sushi Day)” ต้องขอย้อนไปทำความรู้จักถึงจุดเริ่มต้นของคำข้าวเล็ก ๆ ที่อร่อยมาก ๆ อย่าง “ซูชิ (すし - Sushi)” กันก่อน!
“ซูชิ (すし - Sushi)” มีต้นกำเนิดมาจาก “นาเระซูชิ (なれすし - Nare Sushi)” ซูชิแบบโบราณในช่วงศตวรรษที่ 10 เป็นการถนอมอาหารเพื่อให้เก็บไว้รับประทานได้เป็นเวลานาน โดยการหมักปลากับข้าวและเกลือเป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายปี จนมีรสเปรี้ยว (คล้ายกับการทำปลาส้ม) ก่อนที่จะนำออกมารับประทาน ซึ่งคนสมัยก่อนเมื่อดองเสร็จจะทิ้งข้าวไป และบริโภคแต่ปลาเท่านั้น
ต่อมาในสมัยเอโดะ (えど - Edo) ช่วงศตวรรษที่ 16 - 18 “ซูชิ (すし - Sushi)” แบบที่เรารู้จักก็ถือกำเนิดขึ้น แน่นอนว่าส่วนประกอบหลักยังเป็นปลาและผัก ห่อด้วยข้าวผสมกับน้ำส้มสายชู โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ก็ได้มีการพัฒนาจนเกิดเป็น “นิกิริซูชิ (にぎりすし - Nigiri Sushi)” ข้าวหนึ่งคำคลุมด้วยปลาหนึ่งชิ้น
ในปี 2466 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ภูมิภาคคันโต (関東 - Kanto) ทางตะวันออกของเกาะฮอนชู (ほんしゅう - Honshu) ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิด แต่เหตุการณ์นี้เองก็ทำให้ “ซูชิ (すし - Sushi)” ได้มีโอกาสแพร่หลายไปทั่วโลก
ข้ามฟากไปที่สหรัฐอเมริกา “ซูชิ (すし - Sushi)” ได้แจ้งเกิดในย่านลิตเติ้ลโตเกียว (Little Tokyo) เมืองลอสแอนเจลิส (Los Angeles : LA) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มด้วยการได้รับความนิยมในหมู่ดาราฮอลลีวู้ด ก่อนจะได้รับความสนใจจากสาธารณชน และกลายเป็นจุดกำเนิดของ “แคลิฟอร์เนียโรล (カリフォルニアロール - California Roll)” ซึ่งใช้ปูและอะโวคาโดแทนปลาดิบ
เมื่อทำถึง! จนอร่อยไม่หยุดฉุดไม่อยู่ขนาดนี้ ในปี 2552 ชาวโซเชียลในช่องทางของ Facebook จึงได้รวมตัวกัน กำหนดให้วันที่ 18 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันซูชิสากล (International Sushi Day)” เพื่อเฉลิมฉลองข้าวคำโปรดนี้ไปด้วยกัน
19 มิถุนายน 2488 : วันเกิด “ออง ซาน ซู จี” ผู้นำการเรียกร้องเสรีภาพชาวพม่า
“ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi)” นักการเมือง นักการทูต นักเขียนชาวพม่า ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League For Democracy : NLD) ผู้นำการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2488 ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา (พม่าในขณะนั้น)
เธอคือบุตรสาวของ “นายพลออง ซาน (Aung San)” ผู้นำในการเจรจาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า คุณแม่ของเธอคือ “ดอว์ขิ่นจี (Khin Kyi)” สตรีผู้เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตของพม่าประจำอินเดีย ในช่วงปี 2503
เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ รวมถึงได้พบรักและแต่งงานเมื่อปี 2515 กับ “ไมเคิล อริส (Michael Vaillancourt Aris)” เพื่อนนักศึกษา ที่ต่อมาเป็นนักวิชาการวิชาอารยธรรมทิเบต มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ อเล็กซานเดอร์ อริส (Alexander Myint San Aung Aris) และ คิม อริส (Kim Aris)
ในปี 2515 “ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi)” เริ่มงานที่ “องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN)” ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิจัยกระทรวงการต่างประเทศพม่า ต่อมาในปี 2531 เธอกลับประเทศบ้านเกิด เพื่อดูแลคุณแม่ “ดอว์ขิ่นจี (Khin Kyi)” ซึ่งกำลังป่วยหนัก ในขณะเดียวกันกับที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังร้อนระอุ เศรษฐกิจตกต่ำ มีการรวมกลุ่มของนักศึกษา-ประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ 26 ปี ของ “นายพลเน วิน (Ne Win)” ให้ลาออก
ภายหลังเหตุการณ์ 8888 (8888 Uprising) ในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ซึ่งผู้นำทหารสั่งปราบปรามประชาชนและผู้ประท้วง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 3,000 คน เธอได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาล ในวันที่ 15 สิงหาคม 2531 เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง และนี่คือจุดเริ่มต้นเส้นทางการทำกิจกรรมทางการเมืองของเธอนับตั้งแต่นั้น
เธอใช้หลักอหิงสาเผชิญหน้ากับกระบอกปืนอย่างไม่เกรงกลัว และได้ขึ้นปราศรัยครั้งแรกต่อประชาชนนับหมื่นคนที่เจดีย์ชเวดากอง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 ต่อมาในเดือนกันยายน 2531 เธอจึงได้ร่วมจัดตั้ง “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League For Democracy : NLD)” โดยเธอดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
ในวันที่ 5 เมษายน 2532 เกิดเหตุการณ์ที่ดินดอนสามเหลี่ยมอิรวดี “ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi)” เดินเข้าหาเหล่าทหารที่กำลังถือปืนไรเฟิลเล็งเข้าหาเธอ ก่อนที่เธอจะถูกทหารพม่ากักบริเวณไว้ในบ้านพัก โดยปราศจากข้อกล่าวหา ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2532
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2533 “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League For Democracy : NLD)” ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ได้ที่นั่งในสภาคิดเป็นร้อยละ 82 แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เธอยังคงถูกกักบริเวณ ทั้งยังมีการจับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่ “เรือนจำอินเส่ง” อันโหดร้ายทารุณ ทหารยื่นข้อเสนอให้เธอยุติบทบาททางการเมืองและออกนอกประเทศไปพร้อมครอบครัว แต่เธอปฏิเสธ
การกักบริเวณ “ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi)” ยังคงดำเนินไป สลับกับการปล่อยตัวและถูกจับกุมอีกหลายครั้ง แม้จะมีเสียงเรียกร้องของนานาชาติให้คืนอิสรภาพแก่เธอ แต่ในปัจจุบันเธอก็ยังคงถูกกักบริเวณในบ้านพัก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2534 คณะกรรมการโนเบล ประกาศชื่อ “ออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi)” เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ อเล็กซานเดอร์และคิม บุตรชายทั้งสองประคองภาพถ่ายมารดาขึ้นรับรางวัลที่กรุงออสโล ท่ามกลางเสียงปรบมือให้เกียรติอย่างกึกก้อง เงินรางวัล 1.3 ล้านเหรียญ ที่ได้ เธอมอบให้เป็นกองทุนเพื่อสุขภาพและการศึกษาของประชาชนชาวพม่า
20 มิถุนายน : วันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day)
เมื่อปี 2544 ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีการกำหนดให้วันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day)” เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่น จากความรุนแรงและการประหัตประหาร
“วันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day)” ยังเป็นโอกาสในการสร้างความห่วงใยและความเข้าใจต่อกลุ่มผู้ลี้ภัย ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันโหดร้าย อีกทั้งยังเป็นการส่งกำลังใจให้กลุ่มผู้ลี้ภัยได้มีความเข้มแข็งในการสร้างชีวิตใหม่ของตัวเองและครอบครัว
20 มิถุนายน 2369 : สยามลงนามใน “สนธิสัญญาเบอร์นี”
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2369 สยามได้ลงนามใน “สนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty)” กับอังกฤษ นับเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกของสยามที่ได้ทำกับประเทศตะวันตก ในสมัยรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ “ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นี (Henry Burney)” ทูตของอังกฤษ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในปี 2368 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมีความประสงค์ที่จะขอเปิดสัมพันธไมตรีกับสยาม และขอความสะดวกในการค้าได้โดยเสรี เขาต้องใช้เวลากว่า 5 เดือน จึงสามารถทำสนธิสัญญาได้สำเร็จ โดยจัดทำขึ้น 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ โปรตุเกส และมลายู
“สนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty)” มีสาระสำคัญ ได้แก่ อนุญาตให้พ่อค้าสยามทำการค้ากับพ่อค้าอังกฤษได้อย่างเสรี รัฐบาลสยามจะเก็บภาษีจากพ่อค้าอังกฤษตามความกว้างของปากเรือ เจ้าพนักงานสยามมีสิทธิ์ลงไปตรวจสอบสินค้าของพ่อค้าชาวอังกฤษ และชาวอังกฤษที่เข้ามาค้าขายในสยามจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสยามทุกประการ
การทำ “สนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty)” ก่อให้เกิดการขยายตัวด้านการค้าต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 2 ประการ คือ ทำให้รัฐต้องปรับวิธีการหารายได้และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในรูปแบบภาษีมากขึ้น และก่อให้เกิดการผลิตเพื่อการค้าส่งออกเพิ่มขึ้น
ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สยามได้หันกลับมาใช้นโยบายการค้าแบบผูกขาดอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงใน “สนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty)” ก่อให้เกิดปัญหาทางการค้าระหว่างสยามกับอังกฤษ นำไปสู่การทำ “สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty)” ในวันที่ 18 เมษายน 2398 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งสยามต้องยอมรับระบบการค้าเสรีของอังกฤษในที่สุด
21 มิถุนายน : วันยีราฟโลก (World Giraffe Day)
มูลนิธิอนุรักษ์ยีราฟ “The Giraffe Conservation Foundation (GCF)” ได้กำหนดให้วันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันยีราฟโลก (World Giraffe Day)” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับเจ้าคอยาวซึ่งเป็นสัตว์ที่สูงที่สุดในโลก รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการระดมทุนเพื่อการอนุรักษ์ประชากรยีราฟป่าทั่วโลก และสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนเกี่ยวกับ “ยีราฟ (Giraffe)” ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 “ยีราฟ (Giraffe)” ถูกล่าเพื่อการค้า ส่งผลให้มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ “ยีราฟ (Giraffe)” ยังได้รับผลกระทบจากการที่มนุษย์ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การลักลอบล่าเพื่อนำไปทำยาแผนโบราณ ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ “ยีราฟ (Giraffe)” ให้พ้นจากการเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
21 มิถุนายน : วันโยคะสากล (International Yoga Day)
วันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันโยคะสากล (International Yoga Day)” เนื่องจากความประสงค์ของ “นเรนทรา โมดี (Narendra Modi)” นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ที่ต้องการจะเผยแพร่ “โยคะ (Yoga)” ที่มีมานานกว่า 2,000 ปี ให้เป็นที่นิยมและรู้จักไปทั่วโลก
เหตุผลที่เขาเลือกวันที่ 21 มิถุนายน เป็น “วันโยคะสากล (International Yoga Day)” นั้น เพราะวันที่ 21 มิถุนายน เป็น “วันครีษมายัน (ครี-สะ-มา-ยัน)” หรือ “Summer Solstice” คือวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ ในทางฤดูกาลนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน จึงถือเป็นวันดีตามหลักศาสนาฮินดู เนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นของเทศกาลมงคล
ทั้งนี้ “โยคะ (Yoga)” มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียในสมัยโบราณ เป็นการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ ด้วยชุดท่าทางที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาความแข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย โดยจะใช้ท่าทางประกอบกับการหายใจ ทำให้เกิดสมาธิ
21 มิถุนายน 2567 : วันครีษมายัน
“วันครีษมายัน (ครี-สะ-มา-ยัน)” หรือ “Summer Solstice” เป็นคำในภาษาสันสกฤต หมายถึงวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ เนื่องจากเดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ประเทศทางซีกโลกเหนือได้รับปริมาณแสงจากดวงอาทิตย์นานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้เป็นวันที่กลางวันยาวที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ
คำว่า “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน โดย “Stice” หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น “Summer Solstice” หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เพราะดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม และจะหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนที่ลงมาทางใต้ ในทางฤดูกาลนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกใต้
21 มิถุนายน 2567 : วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Stop Cyberbullying Day)
องค์กรไม่แสวงหากำไร “Cybersmile Foundation” ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ได้กำหนดให้วันศุกร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนของทุกปีเป็น “วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Stop Cyberbullying Day)” เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงของการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และร่วมกันหยุดพฤติกรรม รวมถึงการกระทำต่าง ๆ ในทุกรูปแบบบนโลกออนไลน์ ซึ่งในปีนี้ “วันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Stop Cyberbullying Day)” ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2567
22 มิถุนายน 2415 : “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)” พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มรณภาพ
“สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)” พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2331 ท่านบวชเป็นสามเณรที่วัดเกศไชโย จังหวัดพิจิตร เมื่ออายุได้ 13 ปี จากนั้นได้ไปศึกษาธรรมะกับ “พระอรัญญิก เถระ (ด้วง)” ที่วัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) กรุงเทพมหานคร และไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพมหานคร
ท่านเป็นเณรนักเทศน์ที่หาตัวจับยาก แสดงธรรมได้ลึกซึ้งเข้าถึงจิตใจชาวบ้าน ในปี 2352 ท่านกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดตะไกร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมาจารย์ วัดท่าหลวง เป็นประธานที่พระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นพระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ได้นิมนต์ท่านกลับมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพมหานคร
ท่านเป็นผู้มีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในพระไตรปิฎก เป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนทั่วไป รวมถึงเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และพระเจ้าแผ่นดิน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามป่าเขา เพื่อฝึกจิตนานถึง 15 ปี
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงนิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม ต่อมาเมื่อ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน)” วัดสระเกศฯ ถึงแก่มรณภาพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาท่านขึ้นเป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)” สมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวัย 76 พรรษา
ท่านเป็นพระภิกษุที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการเทศนาธรรม โดยจะเลือกเทศน์ให้เหมาะกับบุคคล และกาลเทศะเสมอ ซึ่งบางครั้งท่านก็เทศน์เป็นปริศนาธรรมด้วย นอกจากนี้ ท่านเป็นผู้ค้นพบคัมภีร์โบราณที่วัดเก่าแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า “คาถาชิญบัญชร”
“สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)” มรณภาพเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2415 รวมพรรษาได้ 84 พรรษา
23 มิถุนายน : วันสีชมพู (National Pink Day)
แม้ว่าที่มาที่ไปของ “วันสีชมพู (National Pink Day)” จะไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัด แต่ผู้คนก็พร้อมจะจัดเต็มความสดใสในเครื่องแต่งกายและของใช้ต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลองด้วยกันในวันที่ 23 มิถุนายน ของทุกปีอย่างแน่นอน!
ประวัติศาสตร์ของ “สีชมพู (Pink)” เริ่มมีการบันทึกครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1700 โดยเป็นสีที่ได้มาจากดอกไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสีแดงอ่อน ความเป็น “สีชมพู (Pink)” พิเศษตรงที่สามารถให้ความรู้สึกถึงความอ่อนไหว ความอ่อนโยน ความโรแมนติก และความเป็นผู้หญิง
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 แฟชัน “สีชมพู (Pink)” เริ่มเป็นกระแสนิยมมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่แฟชันของผู้ชาย ซึ่งกินความหมายไปถึงการเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีและขบวนการสตรีนิยมที่กำลังขยายตัวในยุคนั้น
23 มิถุนายน 2561 : เกิดเหตุการณ์ “ทีมหมูป่า 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง”
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 “โค้ชเอก - เอกพล จันทะวงษ์” ผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลเยาวชน “หมูป่า อะคาเดมี” พร้อมด้วยสมาชิกทีม รวมทั้งสิ้น 13 คน ได้เดินทางไปที่ “ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน” ในบริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ภายหลังการฝึกซ้อมฟุตบอล จนเมื่อเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พบรถจักรยาน 11 คัน จอดอยู่บริเวณปากทางเข้าถ้ำหลวงฯ จึงได้เข้าไปตรวจสอบ
ตลอดคืนนั้น ได้มีการติดต่อประสานงานระหว่างหลายหน่วยงาน เพื่อออกตามหาทั้ง 13 ชีวิต ที่คาดว่าน่าจะติดอยู่ในถ้ำหลวงฯ จนเวลาล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 24 มิถุนายน 2561 เวลา 01.00 น. ทีมกู้ภัยและทีมกู้ชีพจังหวัดเชียงราย ได้นำถังออกซิเจนและเชือกเข้าไปในถ้ำ เพื่อติดตามค้นหากลุ่มผู้สูญหาย แต่พบเพียงรองเท้าแตะ จำนวน 12 คู่ และกระเป๋าจำนวนหนึ่ง จึงมีการยุติการค้นหาชั่วคราว เมื่อเวลา 04.00 น. ด้วยเหตุผลด้านกำลังพลและปัญหาน้ำขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคภายในถ้ำ
จนเมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน 2561 ทุกหน่วยได้เริ่มการค้นหาอีกครั้ง และค้นหาต่อเนื่องตลอดหลายวัน แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาน้ำขึ้นสูงภายในถ้ำ ปัญหาฝนตกหนัก ปัญหาการระบายน้ำออกจากถ้ำ ปัญหาการดำน้ำในน้ำขุ่นที่มองเห็นแค่ระยะใกล้ ปัญหาด้านการกู้ภัย เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ กระแสไฟเพื่อการกู้ภัยในถ้ำ รวมถึงการค้นหาทางเข้าถ้ำเพิ่มเติม เช่น การเข้าถ้ำด้วยวิธีโรยตัวจากปล่องด้านบนถ้ำ ซึ่งทุกหน่วยงานทั้งในไทยและต่างประเทศ ต่างทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำ
ในที่สุด ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น! ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เวลา 22.30 น. “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้แถลงว่า พบทีมฟุตบอลเยาวชน “หมูป่า อะคาเดมี” อยู่ห่างจากพัทยาบีช ไปประมาณ 400 เมตร ต่อมาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 เวลา 00.55 น. เฟซบุ๊ก “Thai Navy SEAL Foundation” ได้โพสต์คลิปวีดิโอ “หมูป่า อะคาเดมี” ที่กำลังนั่งเกาะกลุ่มกันอยู่บริเวณเนินนมสาว โดยพวกเขาทักทายกับนักดำน้ำชาวอังกฤษ 2 คนแรกที่ไปพบ ขณะกำลังปฏิบัติภารกิจวางเชือกนำทาง
ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เร่งลำเลียงอาหาร ยา ขวดอากาศ เข้าไปในโถง 3 ของถ้ำ โดย “พ.ท. นพ.ภาคย์ โลหารชุน” (ยศในขณะนั้น) แพทย์ทหารบกที่มีความสามารถในการดำน้ำสูง เข้าไปตรวจสุขภาพ ปฐมพยาบาล และใช้อาหารแบบพาวเวอร์เจล โดยระหว่างนี้มีการเติมออกซิเจนเข้าไปในถ้ำ รวมถึงมีการประชุมร่วมเพื่อประเมินว่า จะใช้วิธีการใดให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ในการนำตัว “หมูป่า อะคาเดมี” ออกมาจากถ้ำ
การลำเลียง “หมูป่า อะคาเดมี” ออกจาก “ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน” เพื่อไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2561 จนครบทุกคนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 รวมระยะเวลาการปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 17 วัน นับเป็นภารกิจกู้ภัยที่มีความยากระดับโลก
ทั้งนี้ ได้เกิดการสูญเสียกำลังพล ระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 โดย “จ่าแซม - จ.อ.สมาน กุนัน” นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ ที่เข้าปฏิบัติภารกิจดำน้ำเพื่อลำเลียงขวดอากาศ ได้หมดสติใต้น้ำ คู่ดำน้ำได้ทำการปฐมพยาบาล (CPR) แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้
24 มิถุนายน : วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 “คณะราษฎร” พร้อมสมาชิกทั้งทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน โดยมี “พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” เป็นหัวหน้าคณะราษฎร ได้ทำการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาคือ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง”
โดยได้มีการชุมนุมที่ “ลานพระบรมรูปทรงม้า” จากหลายกองพันในกรุงเทพฯ ตามด้วยประกาศแถลงการณ์ของ “คณะราษฎร” ถึงเหตุและความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” จากนั้น “คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร” คือ “พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” “พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)” และ “พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)” ได้ให้ “หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)” เชิญหนังสือไปยังพระราชวังไกลกังวล เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จนิวัติพระนคร ดังมีความสำคัญว่า
คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน
ในวันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง “คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร” มีความตอนหนึ่งว่า
คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก
24 มิถุนายน 2485 : พิธีเปิด “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ”
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 ได้มีพิธีเปิด “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” อนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ในกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในปี 2484 โดยรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเทิดทูน วีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน)
“อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เป็นวงเวียนอยู่กึ่งกลางระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนราชวิถี และถนนพญาไท มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นด้านบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร
ดาบปลายปืนส่วนด้าม ตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าของคนจริง เป็นรูปนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน
ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต โดยรายนามที่ได้รับการจารึกไว้มีทั้งสิ้น 160 นาย เป็นทหารบก 94 นาย ทหารเรือ 41 นาย ทหารอากาศ 13 นาย และตำรวจสนาม 12 นาย จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2483 - 2497 มีการจารึกไว้รวมทั้งสิ้น 801 นาย
“อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ยังเป็นต้นทางของถนนพหลโยธิน รวมไปถึงศูนย์กลางการคมนาคมที่มีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทางเป็นจำนวนมาก ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS และรถตู้ ซึ่งมีวินรถตู้หลากหลายเส้นทาง ทั้งภายในกรุงเทพและต่างจังหวัด บริการตลอด 24 ชั่วโมง จึงทำให้ “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
25 มิถุนายน : วันบีเทิลส์โลก (Global Beatles Day)
“วันบีทเทิลส์โลก (Global Beatles Day)” เป็นวันที่แฟนเพลงของวงดนตรีระดับตำนานของโลกอย่าง “เดอะ บีทเทิลส์ (The Beatles)” จะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองให้กับวงโปรดของพวกเขา รวมถึงยกย่องข้อความแห่งสันติภาพและความรักที่ซ่อนอยู่ในบทเพลง ซึ่งขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ดนตรีและวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) มาตั้งแต่ยุค 60
ในปี 2503 “เดอะ บีทเทิลส์ (The Beatles)” หรือที่ไทยรู้จักกันในนาม “คณะสี่เต่าทอง” ได้ถือกำเนิดขึ้น “จอห์น เลนนอน (John Lennon)” “พอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney)” “จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison)” และ “ริงโก สตาร์ (Ringo Starr : Richard Starkey Jr.)” กลายเป็นศิลปินที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
โลกได้รู้จัก “คณะสี่เต่าทอง” พร้อมกัน กับเพลงดังช่วงฤดูร้อน “All You Need Is Love” ในรายการ Our World ของช่อง BBC ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2510 มีผู้ชมประมาณ 400 ล้านคนทั่วโลกจาก 26 ประเทศ ต่อมาในปี 2552 จึงได้เริ่มเฉลิมฉลองด้วยการถือเอาวันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันบีทเทิลส์โลก (Global Beatles Day)”
25 มิถุนายน 2459 : รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “สถานีรถไฟกรุงเทพ”
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “สถานีรถไฟกรุงเทพ” ซึ่งเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อปี 2453 ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะเรอเนซองส์ (Renaissance) คล้ายกับสถานีรถไฟฟรังค์ฟูร์ท (Frankfurt) ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดย “มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno)” สถาปนิกชาวอิตาเลียน นายช่างฝรั่งของกรมโยธาธิการ
ด้านหน้าของ “สถานีรถไฟกรุงเทพ” เป็นอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีการจัดสร้างสวนหย่อมและน้ำพุ ประดับไว้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีนาฬิกาขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ซึ่งสั่งทำเป็นพิเศษ ติดตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารผู้โดยสารด้วย
ปัจจุบัน “สถานีรถไฟกรุงเทพ” เป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุด เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย รองรับรถไฟได้ประมาณ 200 ขบวนต่อวัน จากรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ และมีทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร รวมถึงให้บริการคู่ไปกับ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” สถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ “สถานีรถไฟกรุงเทพ” ซึ่งชาวบ้านมักนิยมเรียกว่า “สถานีรถไฟหัวลำโพง” มีการคาดเดาที่มาของชื่อไว้หลายทาง บ้างก็ว่ามาจากชื่อ “คลองหัวลำโพง” คลองขุดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง บ้างก็ว่ามาจากต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ชื่อ “ต้นลำโพง” ซึ่งมีอยู่มากในยุคนั้น หรืออาจเป็นเพราะในสมัยก่อน พื้นที่บริเวณนี้มีฝูงวัวจำนวนมาก อาศัยอยู่กลางทุ่งนา ชอบวิ่งกันให้คึกคะนอง จนชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งวัวลำพอง” และเพี้ยนเสียงมาเป็น “หัวลำโพง” ในที่สุด
26 มิถุนายน : วันคล้ายวันประสูติ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”
“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” ประสูติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2470 ที่บ้านตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ทรงเป็นบุตรคนโตในจำนวนบุตรธิดา 9 คน ของนายนับและนางตาล ประสัตถพงศ์
เมื่อพระชนมายุ 13 พรรษา ทรงบรรพชาสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้เสด็จไปทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอธิการโสตถิ์ สุมิตฺโต (ต่อมาคือ พระศรีธรรมานุศาสน์) วัดตรีญาติ จังหวัดราชบุรี ทรงสอบนักธรรมและบาลี ได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “อมฺพโร” โดยมี “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ” ขณะทรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธ จนทรงสำเร็จเปรียญธรรม 6 ประโยค
ทรงสมัครเข้าศึกษา ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย) ทรงเป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 ทรงสำเร็จปริญญา ศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี 2500 ต่อมาในปี 2509 ได้ทรงเข้ารับการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ โดยทรงเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ในปี 2510 ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banarus Hindu University) สาธารณรัฐอินเดีย จนทรงสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมื่อปี 2512
ทรงเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อปี 2516 ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ นครซิดนีย์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอรา เครือรัฐออสเตรเลีย พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงสนทนาธรรมอยู่เป็นประจำ เป็นปฐมเหตุให้ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในสมเด็จพระสังฆราชมานับแต่ยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระปริยัติกวี”
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดสถาปนาให้ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)” เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงาน พระธรรมทูต นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯลฯ ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” โดยมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560
26 มิถุนายน : วันต่อต้านยาเสพติดโลก
เมื่อเดือนมิถุนายน 2530 ได้มีมติการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN) กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก (International Day Against Drug Abuse and Illicit Trafficking : World Drug Day)” เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกร่วมกันตระหนักถึงโทษของยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหายาเสพติด
ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN) ได้เข้าร่วมกับประชาคมโลก ในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด โดยมีหน่วยงาน-องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด” วาระแห่งชาติในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ
26 มิถุนายน : วันสุนทรภู่
“พระสุนทรโวหาร (ภู่)” หรือ “สุนทรภู่” ครูกวี 4 แผ่นดินของไทย เจ้าของฉายา “กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” หรือ “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2329 ที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ท่านเกิดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 เริ่มเข้ารับราชการในรัชสมัยของรัชกาลที่ 2 รับราชการในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 และเป็นพระสุนทรโวหาร ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4
ในวัยเด็ก “สุนทรภู่” ได้คุ้นเคยกับชีวิตในรั้วในวัง เพราะแม่ได้ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ต่อมาคือ “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” หรือ กรมพระราชวังหลัง ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 1) ท่านจึงได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลังกับแม่
ต่อมาท่านได้เข้าเรียนในพระราชวังหลัง และที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ก่อนจะเข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางในกรมพระคลังสวน ด้วยความที่ท่านชื่นชอบการแต่งกลอน ท่านจึงได้แต่ง “นิราศพระบาท” ระหว่างติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ในฐานะมหาดเล็กตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี 2350
ปี 2359 ท่านได้แต่งกลอนบทละคร “รามเกียรติ์” ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถแต่งต่อได้ เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านเป็น “ขุนสุนทรโวหาร” ต่อมาในปี 2367 รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต ท่านจึงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดราชบูรณะ นานกว่า 18 ปี
ระหว่างนั้น ท่านได้เขียนนิราศต่าง ๆ ไว้มากมาย ก่อนที่จะถวายตัวอยู่กับ “สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์” (ต่อมาคือ “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”) ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร (ภู่)” ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี 2394 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
“พระสุนทรโวหาร (ภู่)” หรือ “สุนทรภู่” เสียชีวิตเมื่อปี 2398 ที่พระราชวังเดิม (พระราชวังกรุงธนบุรี) กรุงเทพมหานคร ขณะอายุได้ 69 ปี ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ตระกูลของ “สุนทรภู่” ได้ใช้นามสกุลว่า “ภู่เรือหงส์”
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปี ชาตกาล “องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)” ได้ยกย่องให้ “สุนทรภู่” เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ทางด้านวรรณกรรม
ตลอดชีวิตของท่าน มีผลงานนิราศ 9 เรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง ผลงานนิทาน 5 เรื่อง เช่น พระอภัยมณี ซึ่งได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทย ประเภทกลอนนิทาน ผลงานสุภาษิต 3 เรื่อง เช่น สุภาษิตสอนหญิง ผลงานบทละครและบทเสภา 3 เรื่อง เช่น บทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม ผลงานบทเห่กล่อมพระบรรทม 4 เรื่อง เช่น เห่เรื่องโคบุตร
ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันสุนทรภู่” เพื่อรำลึกและศึกษาชีวิต รวมถึงผลงานด้านวรรณกรรมอันทรงคุณค่าของ “กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ผู้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” หลายหน่วยงานจะร่วมกันจัดกิจกรรม เช่น นิทรรศการ การประกวดแต่งคำกลอน หรือการแต่งนิทาน เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและอนุรักษ์มรดกทางวรรณกรรมของไทยสืบไป
27 มิถุนายน : วันแว่นกันแดดแห่งชาติ (National Sunglasses Day)
องค์กรไม่แสวงผลกำไร “The Vision Council” ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพดวงตา ได้กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันแว่นกันแดดแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Sunglasses Day)” เพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของการสวมแว่นกันแดด ที่เป็นมากกว่าแฟชัน เพราะมันช่วยปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่รุนแรงของดวงอาทิตย์ได้ รู้แบบนี้ก็หยิบแว่นกันแดดคู่ใจขึ้นมาสวมกันไปเลยสิ!
29 มิถุนายน : วันกล้องถ่ายรูปแห่งชาติ (National Camera Day)
ทุกอย่างจะโฟกัสในวันนี้ เพียงแค่ยิ้มแล้วแชะ! ใช่แล้ว ในวันที่ 29 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันกล้องถ่ายรูปแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Camera Day)” ซึ่งเหล่าคนรักชัตเตอร์จะได้ร่วมกันรำลึกถึงอุปกรณ์การถ่ายภาพ สิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้เราสามารถเก็บความทรงจำอัดแผ่นกระดาษไว้ดูได้นานเท่านาน
“การถ่ายภาพ (Photography)” มีพื้นฐานมาจากภาษากรีกสองคำ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วได้ความหมายว่า “การเขียนด้วยแสง” มาจากกระบวนการการบันทึกภาพในยุคแรก ที่เลนส์ (Lens) ทำหน้าที่รูรับแสงของกล้อง แล้วแสงตกกระทบเข้าไปทำปฏิกิริยากับฟิล์ม เมื่อนำฟิล์มไปเข้ากระบวนการล้างอัดภาพ ก็จะกลายเป็น “รูปภาพ”
แม้ว่าครั้งหนึ่ง “การถ่ายภาพ (Photography)” จะเคยซับซ้อนจนนักวิทยาศาสตร์ต้องทำความเข้าใจ แต่ในวันนี้มันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราบนโลกโซเชียล นั่นอาจเป็นเพราะว่า
A picture is worth a thousand words
ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับคำพูดเป็นพันคำ
29 มิถุนายน 2445 : รัชกาลที่ 5 ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121”
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราและประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121” เนื่องจากการค้าขายในพระราชอาณาจักรเริ่มเจริญขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ตั๋วสำคัญที่ใช้แทนเงิน โดยเรียกว่า “ธนบัตร” เพื่อความสะดวกในการใช้จ่าย ตรวจตรา และการพกพา
ธนบัตรรุ่นแรกนี้ ได้ว่าจ้าง “บริษัท เดอ ลา รู (De La Rue Company Limited)” โดย “โทมัส เดอ ลา รู (Thomas De La Rue)” ของสหราชอาณาจักร ให้จัดพิมพ์ มีลักษณะเป็นธนบัตรหน้าเดียว เรียกว่า “ธนบัตรแบบที่ 1” มีทั้งหมด 5 ชนิด คือ ชนิดราคา 5 บาท ชนิดราคา 10 บาท ชนิดราคา 20 บาท ชนิดราคา 100 บาท และชนิดราคา 1,000 บาท ออกใช้ครั้งแรกตามประกาศเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ลงวันที่ 7 กันยายน 2445
จนกระทั่งปี 2512 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร จึงเริ่มพิมพ์ธนบัตรใช้เองภายในประเทศ และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ การจัดทำและนำธนบัตรออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว การออกใช้ธนบัตรจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ต้องมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังเต็มมูลค่าของธนบัตรออกใช้เสมอ
29 มิถุนายน 2494 : เกิดเหตุการณ์ “กบฎแมนฮัตตัน”
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 ได้เกิดเหตุการณ์ “กบฎแมนฮัตตัน” นำโดย “นาวาตรี มนัส จารุภา” ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ได้บุกจี้ตัว “จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่กำลังทำพิธีรับมอบ “เรือขุดแมนฮัตตัน” ซึ่งสหรัฐอเมริกามอบให้แก่ประเทศไทย ที่ท่าราชวรดิฐ จากนั้นได้เชิญ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)” ไปคุมขังไว้ที่เรือหลวงศรีอยุธยา ซึ่งจอดอยู่ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ
“นาวาเอก อานนท์ บุญฑริกธาดา” หัวหน้าผู้ก่อการ ได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้ง “พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์)” เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยเกิดเหตุสู้รบกันหลายแห่งในพระนคร ระหว่างฝ่ายทหารเรือกับฝ่ายรัฐบาล คือ ทหารอากาศ ทหารบก และตำรวจ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)” จึงสามารถหลบหนีออกมาได้ ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลก็ปรามปราม “กบฎแมนฮัตตัน” ได้สำเร็จ
ทั้งนี้ เนื่องด้วยการก่อกบฎเกิดขึ้นในพิธีรับมอบ “เรือขุดแมนฮัตตัน” ภายหลังจึงมีการเรียกเหตุการณ์นี้ว่า เหตุการณ์ “กบฎแมนฮัตตัน”
30 มิถุนายน : วันโซเชียลมีเดีย (Social Media Day)
ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์การติดต่อสื่อสาร ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล! นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรามี “วันโซเชียลมีเดีย (Social Media Day)” ช่องทางการสื่อสารที่เชื่อมโลกไว้ด้วยกัน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 “Mashable” บริษัทสื่อและความบันเทิงระดับโลก ได้กำหนดให้วันที่ 30 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันโซเชียลมีเดีย (Social Media Day)” เพื่อให้ผู้คนรับรู้ถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียที่มีต่อการสื่อสารทั่วโลก รวมถึงเป็นโอกาสให้โลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลองการเชื่อมต่อกับผู้คนอย่างไร้ขีดจำกัด ทั้งในด้านวัฒนธรรมและทุกกระแสความเคลื่อนไหวที่เราสนใจ
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มแรกที่เปิดตัวคือ “Sixdegrees” ในปี 2540 เว็บไซต์นี้ก่อตั้งโดย “แอนดรูว์ ไวร์รีช (Andrew Weinreich)” นักธุรกิจชาวอเมริกัน โดยอนุญาตให้ผู้ใช้ระบุรายชื่อเพื่อน สมาชิกในครอบครัว และมีฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น โปรไฟล์ กระดานข่าว และสังกัดโรงเรียน “Sixdegrees” มีผู้ใช้มากกว่าหนึ่งล้านคน แต่ในที่สุดก็ปิดตัวลงในปี 2544
นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสมัยใหม่อย่าง “Friendster” ในปี 2545 โดยอนุญาตให้ผู้คนได้รู้จักเพื่อนใหม่อย่างปลอดภัย และมีผู้ใช้มากกว่าร้อยล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย “LinkedIn” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้านธุรกิจเจ้าแรก เปิดตัวในปี 2546 “MySpace” เปิดตัวในปี 2547 ซึ่งเป็นปีเดียวกับ “Facebook” แต่ในช่วงแรกกลับประสบความสำเร็จมากกว่า ในปี 2549 “MySpace” กลายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากการที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งโปรไฟล์ ด้วยการโพสต์เพลงของตัวเองลงไปได้
ในปี 2548 “YouTube” เปิดตัวเว็บไซต์สำหรับวิดีโอโดยเฉพาะ ตามมาด้วย “Twitter” แพลตฟอร์มจำกัดข้อความ ในปี 2549 หลังจากนั้นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่าง “Instagram” ก็เปิดตัวในปี 2553 โดยมีผู้ใช้มากกว่าล้านคนภายใน 2 - 3 เดือนแรก และถูก “Facebook” ซื้อไปด้วยมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2555
สำหรับโซเชียลมีเดียที่มาแรงล่าสุดคือ “TikTok” ที่เปิดตัวในปี 2559 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างไม่น่าเชื่อ จากมีฟีเจอร์การตัดต่อเพลงและวิดีโอที่หลากหลาย