22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์รัฐประหารกับการเข้ามาเปลี่ยนโฉมการเมืองไทยของ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่การเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของไทย
เป็นเวลา 10 ปี ที่มีการยึดอำนาจ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมการเมืองไทยไปสิ้นเชิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวจากผู้บัญชาการทหารบกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาถึงหลังเลือกตั้ง ท่ามกลางข้อครหาสืบทอดอำนาจ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เข้าสู่การเป็นนักการเมืองเต็มตัว และทำให้กองทัพเข้ามามีบทบาทแทบทุกมิติ
หากเป็นแบบนี้ผมขอยึดอำนาจ
เป็นวรรคทองการเมืองไทยที่ถูกพูดถึงมาตลอด และนับจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกลางวงเจรจา 7 ฝ่าย ที่ตกลงกันไม่ได้ จึงกลายเป็นการแก้วิกฤตการเมือง ในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ แถลงประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ฉบับที่ 1 เรื่องควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ วินาทีนั้น คือการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
จากนั้น คสช.ประกาศโรดแม็ป 3 ระยะสู่การเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่ควบคุมทุกกลุ่มก้อนการเมืองให้หยุดนิ่ง ผ่านกลไกศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ควบหัวหน้า คสช.
ภายใต้ข้อสังเกตยืดอายุ เพื่ออยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ล้มร่าง-ร่างใหม่ กว่าจะสำเร็จใช้เวลากว่า 3 ปี ถึงจะมีเลือกตั้งครั้งแรก 24 มีนาคม 2562 ยังถูกครหาสืบทอดอำนาจ เขียนกฎหมายเอื้อให้กลับเข้าสู่ตำแหน่ง โดยเฉพาะที่มาของวุฒิสภา วางหลักเกณฑ์เลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้น
ปิดฉากภารกิจ หัวหน้า คสช. 5 ปี แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปิดฉากเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ แม้จะไม่พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ "ป๊อบปูล่าโหวต" คือความชอบธรรมของพรรคอันดับ 2 ในการเลือกตั้ง เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลผสม 20 พรรค
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 และนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ของประเทศย้ำมาตลอดว่า ไม่ได้ต้องการอำนาจและผลประโยชน์ แต่ต้องการให้ทุกกลุ่ม-ทุกฝ่ายใช้กลไกประชาธิปไตยสร้างประเทศ ไม่สร้างเงื่อนไข-ขัดแย้งรอบใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ ได้พารัฐนาวาแล่นฝ่าคลื่นลมมาจนเกือบครบ 4 ปี จนถึง วันที่ 20 มีนาคม 2566 ก็ได้ยุบสภา ท่ามกลางคำครหาว่าใช้เทคนิคยุบสภาก่อนครบวาระ เพื่อชิงความได้เปรียบก่อนเลือกตั้ง ที่จัดขึ้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผลการเลือกตั้งคือ พรรคก้าวไกล เป็นพรรคอันดับ 1 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จได้ ทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หายหน้าไปจากการเมือง พล.อ.ประวิตร หายไปจากตำแหน่งในรัฐบาล
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะผ่านมาแล้ว 10 ปี หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แม้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งแล้ว 2 ครั้ง และได้รัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศแล้ว แต่ทุกวันนี้ คสช. ก็ยังเผชิญกับแรงเสียดทานและข้อครหาสืบทอดอำนาจ ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกว่าประเทศไทยยังไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะเชื่อว่า คสช. ได้มีการทิ้งมรดกเอาไว้ นั้นคือ รัฐธรรมนูญ 2560