ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | พลังลับแห่งเงามืด เผยตำนานนินจาหญิงผู้ลี้ลับของญี่ปุ่น


Lifestyle

21 พ.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | พลังลับแห่งเงามืด เผยตำนานนินจาหญิงผู้ลี้ลับของญี่ปุ่น

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1181

Secret Story | พลังลับแห่งเงามืด เผยตำนานนินจาหญิงผู้ลี้ลับของญี่ปุ่น
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ชุดดำคลุมกาย เชี่ยวชาญการปลอมตัวและการสังหารอันเงียบเชียบ ต่อสู้สกัดการรุกของศัตรูด้วยการปาดาวกระจาย แล้วหายตัววับไปพร้อมเสียงร้อง “นิน ๆ ๆ” ...อะไรเหล่านี้อาจเป็นภาพจำแรก ๆ ที่เรามีต่อคำว่า “นินจา” ยอดฝีมือลี้ลับที่เราคุ้นเคยกันดีจากทั้งหนัง ซีรีส์ การ์ตูน เกมของญี่ปุ่น

ไม่กี่ปีมานี้หลายคนอาจได้ยินข่าวที่ทั้งน่ารักและน่าทึ่ง อย่างข่าวการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตร “นินจาและนินจุตสึศึกษา” ด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมิเอะกับหอการค้าอุเอโนะ  หรือการเปิดตัวชั้นเรียนวิชานินจาอย่างเป็นทางการของ Japan Ninja Council (องค์กรนินจาแห่งเดียวของโลก) ที่โตเกียว อันล้วนยืนยันว่าสำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว พี่นินจาเขาไม่ได้มากันเล่น ๆ

และล่าสุดอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันความไม่เล่นแต่เอาจริงที่ว่านั้น ก็คือสารคดี Ninja Truth เจาะลึก...โลกนินจา ที่ออกอากาศทาง NHK WORLD-JAPAN ซึ่งมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวหลากหลายมุมเกี่ยวกับนินจา ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่มา ทักษะที่นินจาต้องมี อาวุธอุปกรณ์ที่ถนัด ศิลปะการต่อสู้ เคล็ดลับการจำ แล้วเสริมความจริงจังขึ้นไปอีก ด้วยการพยายามหาคำอธิบายภายใต้บริบทของโลกสมัยใหม่ เช่น การเชื่อมโยงความสามารถบางอย่างของนินจาเข้ากับเหตุผลตามหลักจิตวิทยา ฯลฯ

ในทั้ง 10 ตอนของสารคดีนี้ ตอนที่ทำให้ผู้เขียนตื่นเต้นที่สุดคือตอนที่ 3 “ตามหานินจาหญิง” ซึ่งดูจะมีความลึกลับซับซ้อนมากที่สุด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกแห่งเงามืดของอาชีพสุดเท่นี้ การมีอยู่ (หรือไม่มี ?) ของพวกเธอยิ่งอยู่ใต้เงามืดเข้าไปอีกชั้น นินจาหญิงเป็นคนกลุ่มที่น้อยคนจะรู้จัก เรื่องเล่าเกี่ยวกับพวกเธอป็นการผสมผสานระหว่างข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นบ้าน และตำนานอันน่าตื่นตาตื่นใจ 

จนทุกวันนี้แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนินจาก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ว่าพวกเธอเคยมีตัวตนอยู่จริง หรือเป็นแค่ตัวละครในอุดมคติที่ถูกสร้างขึ้นอย่างโรแมนติกเท่านั้น

ในภาษาญี่ปุ่น คำที่แปลว่านินจาหญิงคือ “คุโนะอิจิ” ซึ่งแค่ชื่อเรียกก็สร้างประเด็นถกเถียงเสียแล้ว คำนี้แบ่งออกเป็นตัวอักษรคันจิ 3 ตัว ได้แก่ "คุ" แปลว่า "เก้า", "โนะ" แปลว่า "ของ" และ "อิจิ" แปลว่า "หนึ่ง" ทั้งหมดแปลตามตัวอักษรได้ว่า "เก้าหนึ่ง" ซึ่งไม่เห็นจะเกี่ยวกับนักสู้ผู้หญิงตรงไหน

นักวิชาการบางคนจึงเชื่อว่านี่อาจจะเป็นรหัสลับสำหรับสื่อสารกันเฉพาะผู้รู้ และมีบางทฤษฎีอธิบายว่า ในยุคเอโดะนั้น "คุโนะอิจิ" อาจหมายถึง "ผู้หญิง" ดังนั้นเหล่านินจาหญิงจึงไม่ได้ถูกเรียกด้วยคำเฉพาะ แต่ถูกระบุด้วยเพศของพวกเธอเพื่อให้เข้าใจกันในบรรดาผู้ฝึกวิชานินจุตสึเฉย ๆ จนกระทั่งในทศวรรษ 1960 หลังจากนิยายเรื่อง Ninpo Hakkenden ของ ยามาดะ ฟุตาโระ (ซึ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของคุโนะอิจิ ในฐานะนินจาหญิงที่มีฝีมือ) ถูกตีพิมพ์นั่นเอง คำคำนี้จึงเริ่มถูกใช้ในความหมายดังกล่าวอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แม้หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพวกเธอยังคงคลุมเครือ แต่ก็มีข้อมูลจากตำรายุคเก่าหลายชิ้นที่เป็นแหล่งข้อมูลให้สืบค้นกันได้อยู่ เช่น ตำราเกี่ยวกับนินจาชื่อดัง อย่าง "บันเซ็นชูไก" จากศตวรรษที่ 17 ตอนปลาย 

ภาพจากตำราชื่อดังเกี่ยวกับนินจา "บันเซ็นชูไก"

ซึ่งปรากฏคำว่า “คุโนะอิจิ โนะ จุตสึ" ในความหมายว่าเป็นเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผู้หญิงไปปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจบางอย่าง ถึงจะไม่ระบุว่าหน้าที่อะไร แต่ก็เป็นที่เล่าขานกันในแหล่งอีกหลากหลายว่าอาวุธลับที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดของพวกเธอ คือความสามารถในการกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม 

นินจาหญิงที่ปลอมตัวเป็นคนใช้ภายในบ้าน

โดยพวกเธอจะใช้ประโยชน์จากค่านิยมทางสังคมในยุคนั้น ด้วยการปลอมตัวเป็น “บุคคลที่ไม่น่าสงสัย” เช่น สาวใช้ เกอิชา หรือแม้แต่ผู้หญิงที่ทำงานให้กับศาลเจ้า (ในรายการ Ninja Truth ขยายความเรื่องนี้ไว้ด้วยค่ะ น่าสนใจมาก) ซึ่งล้วนแต่เป็นงานที่ทำให้พวกเธอเข้าถึงบ้านเรือนของศัตรูได้สะดวก เพื่อแอบฟังบทสนทนา รวบรวมข่าวกรองอันมีค่า ขโมยเอกสารสำคัญ หรือแม้กระทั่งวางยาเป้าหมายได้ นอกจากนั้น ความรู้ด้านยาพิษและสมุนไพรของพวกเธอยังกว้างขวาง และเธอยังฝึกฝนวิทยายุทธ์จนมีทักษะในการต่อสู้และใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัวหรือโจมตีแบบลับ ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย

กรงเล็บโลหะ เชื่อกันว่าเป็นอาวุธแบบหนึ่งที่คุโนะอิจิต้องมี

แต่แม้วัฒนธรรมสมัยนิยมมักจะวาดภาพว่าคุโนะอิจิเป็นนักฆ่าผู้ร้ายกาจ เราก็ลืมไม่ได้ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพวกเธอยังมีน้อย หากนินจาหญิงเหล่านี้เคยมีตัวตนอยู่จริง หลายคนก็เชื่อว่าหน้าที่หลัก ๆ ของพวกเธอน่าจะมุ่งเน้นไปที่การรวบรวมข้อมูล แล้วปล่อยให้การต่อสู้แบบประจันหน้า เป็นหน้าที่ของนินจาชายเสียมากกว่า

การปรากฏตัวของคุโนะอิจิน่าจะตรงกับยุคเซ็งโงกุ (ค.ศ. 1467-1615) ซึ่งเป็นยุคแห่งความโกลาหลนองเลือดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเพราะเต็มไปด้วยสงครามระหว่างไดเมียว (เจ้าครองแคว้น) ที่แย่งชิงอำนาจและการปกครองกัน แน่นอนว่าในสภาพแบบนี้ ความต้องการสายลับกับนักฆ่าฝีมือดีย่อมเพิ่มมากขึ้น และความเป็นหญิงของคุโนะอิจิก็อาจกลายเป็นจุดแข็งที่ไม่เหมือนใคร เพราะเอื้อให้เธอได้ใช้ความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปยังพื้นที่และแวดวงสังคมที่ผู้ชายเข้าไม่ได้นั่นเอง

ไม่ว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร แต่ตำนานของคุโนะอิจิยังคงดึงดูดใจผู้คนอยู่ทุกยุค พวกเธอเป็นตัวแทนของการล้มล้างบรรทัดฐานทางสังคม แสดงให้เห็นพลังของสตรีเพศและสติปัญญาในโลกที่ผู้ชายครอบงำ ภาพเชิงโรแมนติกเหล่านี้เองที่เป็นแรงดลใจให้ยังมีนักวิชาการและผู้คนที่สนใจพยายามศึกษาค้นหาความจริงเกี่ยวกับพวกเธอกันต่อไป ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งอาจช่วยฉายแสงให้แก่ผู้หญิงเก่งกาจผู้ปฏิบัติภารกิจภายใต้เงามืดแห่งโลกอดีตเหล่านี้ได้สำเร็จ

▶ ติดตามสารคดี Ninja Truth เจาะลึก...โลกนินจา เพื่อเข้าใกล้ความจริงของโลกนินจาไปอีกก้าว รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeญี่ปุ่นนินจานินจาหญิงสารคดี Ninja Truth...เจาะลึกโลกนินจาคุโนะอิจิวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด