ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตัวตาย...แต่ชื่อยัง "อิศรา อมันตกุล" ผู้ยอมแลกอิสรภาพกับความถูกต้อง


วันสำคัญ

17 พ.ค. 67

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

ตัวตาย...แต่ชื่อยัง "อิศรา อมันตกุล" ผู้ยอมแลกอิสรภาพกับความถูกต้อง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1169

ตัวตาย...แต่ชื่อยัง "อิศรา อมันตกุล" ผู้ยอมแลกอิสรภาพกับความถูกต้อง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

อิศรา อมันตกุล เดิมชื่อ อิบรอฮีม อะมัน  ผู้มีฉายาว่า นักบุญ  เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของประเทศไทย และ เป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก

อิศรา อมันตกุล เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2464 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 10 คน ของ นาย ม.ชาเลย์ และ นางวัน เรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบำรุงวิทยา และจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ทำงาน เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ร่วมกับคณะมิชชันนารี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 2 ปี   จึงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร

อิศรา อมันตกุล มีความถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีคะแนนยอดเยี่ยมทางภาษาอังกฤษในระดับประเทศ ผลงานคอลัมน์การใช้ภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกา  แฟรงค์ ฟรีแมน นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้ว เขานิยมเสนอความคิดทางการเมืองในรูปแบบงานประพันธ์และวรรณกรรม

ผลงานด้านการประพันธ์ทั้งเรื่องสั้น และเรื่องยาวหลายชิ้นมีการนำเสนอความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, นาถยา  สถาพร ผู้กลับมา และข้าจะไม่แพ้

เขาจัดหน้าและเขียนเองเป็นส่วนมาก เขามีความสามารถในการเขียนคอลัมน์และภาพประกอบได้อย่างดีพอสมควร เรื่องที่เขียนไม่ว่าเรื่องเล็กน้อย กระจุกกระจิกประการใด สำนวนโวหารมีเสน่ห์ชวนอ่านเสียทั้งสิ้น เขียนได้หลายแบบ ไม่เฉพาะนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องยาว สารคดีและคอลัมน์ต่าง ๆ ได้คล่องเท่ากัน

ชอบทำงานอิสระของตนเองมากกว่าที่จะเข้าสังกัด ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ  ประชามิตร ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ มาลัย ชูพินิจ และได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ ร่วมกับทองเติม เสมรสุตเป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวในครั้งนั้น), วิน บุญอธึก, สว่างวงศ์ กรีบุตร, เสนีย์ เสาวพงศ์ และวิตต์ สุทธเสถียร

ภายหลังได้ทำหนังสือพิมพ์อีกหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน, หนังสือพิมพ์เอกราช, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์

อิศรา อมันตกุล ถูกอำนาจเผด็จการยุคนั้นจับกุมไปคุมขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระโดยไม่มีการฟ้องร้องศาลแต่อย่างใด ภายหลังได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ชีวิตการต่อสู้เป็นแบบอย่างการทำข่าวเจาะ และเขาเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัดในหลักจริยธรรมวิชาชีพ จนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นำชื่อมายกย่องตั้งเป็นชื่อรางวัลอิศรา  ให้กับผลงานข่าว   ภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี

หนังสือพิมพ์ในสายตาของคนทั่วไปอาจเป็นเศษกระดาษ ซึ่งเมื่ออ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป หรืออย่างดีก็เก็บเอาไว้ชั่งกิโลขาย ถึงอย่างไร  ผมอยากจะกล่าวว่า หนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์วันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปี นั่นเอง หนังสือพิมพ์วันนี้ ย่อมจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันหน้าไปอย่างแน่นอนมิพักต้องสงสัย  เป็นคำพูดของอิศรา อมันตกุล

อิศรา อมันตกุล ถึงแก่กรรมเมื่อ 14 มีนาคม 2512 ด้วยโรคมะเร็ง แต่แบบอย่างที่งดงามในความหนักแน่นต่อหลักจริยธรรม ความรักในเสรีภาพ และการต่อสู้ต่ออำนาจเผด็จการแม้แลกด้วยอิสรภาพของตนเอง เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมวงการหนังสือพิมพ์ เสริมศรี เอกชัย (เรือใบ) เขียนถึงเขาไว้ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม ชื่อบทความ  อิศรา ตัวตายแต่ชื่อยัง

หนังสือ วันนักข่าว 2534 สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เขียนจากความทรงจำของ "เสริมศรี เอกชัย" ได้บันทึกว่า อิศรา อมันตกุล เป็นอะไรอีกหลายสิบอย่าง แต่ที่แท้จริงแล้ว เขาเป็นเพียงอย่างเดียวคือเป็น "ตัวอย่างที่ประเสริฐที่สุด" ของคนหนังสือพิมพ์ เป็นเบ้าหล่อหลอมแท่งคอนกรีตอันใช้ปู ทางเดินไปสู่เกียรติศักดิ์ของคนหนังสือพิมพ์ ผิดไปจากเส้นทางที่ "พี่อิศร์" ได้ปูเอาไว้ และเดินไปก่อนแล้ว คนที่เข้าสู่โลกหนังสือพิมพ์ทั้งหมดย่อมจะหลงทางเดินไปในทางผิด รุงรังด้วยมายา และความลวงโลกผลประโยชน์และความเห็นแก่ตัว ฯลฯ

และจบชีวิตในอาชีพของตัวเองไว้เพียงการทำตัวเป็น "ผู้เชียร์แขก" ซึ่งไม่แตกต่างไปจากผู้เชียร์แขกตามสถานที่อาบอบนวด ซ่องโสเภณี หรือหน้าร้านอาหารที่ตะโกนเย้ว ๆ พร้อมกวักมือเรียกลูกค้าให้เข้าไปเสพสุขหรือเสพสมกับผู้ให้บริการของเขา เพราะเช่นนี้...จึงไม่มีใครลืม "อิศรา อมันตกุล"

 ไม่ใช่ เพราะเขาเป็นเพียงบุรุษองอาจคมสันที่น่ามอง ไม่ใช่เพราะเขาสามารถใช้สำนวน "สวิง" ที่แหวกแนวและยวนยั่ว ไม่ใช่เพราะเขาคือ "ผู้นำ" ที่ฉลาดคมกริบของนักหนังสือพิมพ์ "กลุ่มหนุ่ม" ในยุคสมัยเดียวกัน

การอธิบายภาพอิศรา อมันตกุล นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายในเมื่อเขาคือ "หลักทางใจ" ของคนรุ่นน้อง เขาคือ "เพื่อนแท้" ของมิตรสหาย เขาคือ "ครู" ของนักข่าว

เขาคือ "ความฝัน" ของนักหนังสือพิมพ์รุ่นเยาว์เขาคือ "หลักชัย" ที่ทุกคนคิดว่าจะต้องตะกายไปให้ถึงเขาคือความหยิ่งและความภูมิใจของวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทย

ถ้าจะถามว่าเพราะเหตุไร อิศรา อมันตกุล จึงได้ก้าวมายืนในระดับแถวหน้าสุดของวงการหนังสือพิมพ์ และรักษาจุดยืนของเขาเอาไว้ได้นับเป็นเวลา 20 กว่าปีในเมื่อนักหนังสือพิมพ์ คนอื่นที่มีการศึกษาดีกว่าเขายังมีอีกมาก พี่อิศร์ เพียงจบชั้นมัธยม 8 ดีหน่อยที่สอบได้คะแนนเยี่ยมเป็นที่ 1 ของนักเรียน ม8. ทั่วประเทศ

นอกเหนือจากความรักในวิชาชีพ อุดมการณ์ และพรสวรรค์ ซึ่งใคร ๆ ก็อาจมีได้เป็นปัจจัยส่งหนุนแล้ว ที่ผลักดันให้พี่อิศร์ยืนอยู่แถวหน้าแห่งศรัทธาและความรักของเพื่อนพ้อง คือ ความ "เมตตา" ที่บรรจุไว้เต็มเปี่ยมในหัวใจของพี่อิศร์เอง...ความเมตตาต่อผู้อื่นที่ด้อยกว่าความเมตตาต่อผู้อ่อนแอและโง่เขลาความเมตตาต่อ ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ...มันเป็นความรู้สึกแสนสะอาดและมั่นคงของผู้ชายคนนี้ ที่จะอ้าแขนของเขาเข้ามาโอบอุ้ม พยุง ประคับประคอง ผู้ที่สมควรได้รับ ความเห็นใจและเมตตาจากเพื่อร่วมชาติด้วยกัน...มันเป็นความรู้สึกแข็งกร้าว และทรนงองอาจเปี่ยมด้วยความเสียสละของผู้ชายคนนี้ที่จะก้าวออกมายืนขวางหน้า เพื่อปกป้องผู้ที่ถูกข่มเหงรังแก ด้วยปลายปากกาของเขา

และนี่คือความทรงจำของ "เสริมศรี เอกชัย" อดีตนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยหลายสมัย ในมุมรุ่นน้อง

สำหรับมูลนิธิ อิศรา อมันตกุล นั้นก่อตั้งขึ้นมาได้สำเร็จด้วยความเสียสละร่วมกันของบุคคลต่างๆ มากมายหลายฝ่าย โดยมีความประสงค์ต้องตรงกันอยู่ที่เป้าหมายเดียวกันคือ ปณิธานที่จะเชิดชูเกียรติคุณของคุณอิศรา อมันตกุล ไว้ให้ปรากฏเพื่อจะได้เป็นพลังให้แก่เพื่อนนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนรุ่นหลัง และต่อมามูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้มอบหมายให้สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (ต่อมายุบรวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2543) ดำเนินการจัดการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อให้รางวัลแก่ผลงานข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี โดยเริ่มต้นการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 และมีพิธีมอบรางวัลครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2516

ที่มา : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อิศรา อมันตกุลวันนี้ในอดีตวันสำคัญ
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด