ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | The Booksellers โลกใบเล็กของคนลุ่มหลง ปัญญาชน และคนแปลกประหลาด


Lifestyle

15 พ.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | The Booksellers โลกใบเล็กของคนลุ่มหลง ปัญญาชน และคนแปลกประหลาด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1152

Secret Story | The Booksellers โลกใบเล็กของคนลุ่มหลง ปัญญาชน และคนแปลกประหลาด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ณ อะพาร์ตเมนต์คับแคบที่อัดแน่นด้วยหนังสือ ห้องประมูลใหญ่โตโอ่อ่า หอจดหมายเหตุที่มีฝุ่นละอองคละคลุ้ง ในเทศกาลหนังสือที่ผู้คนเดินขวักไขว่ พร้อมสอดส่ายสายตาหาสิ่งที่มุ่งหวัง เบื้องหลังประตูโกดังที่ภายในแทบไม่เหลือที่สำหรับสิ่งอื่นใดอีกแล้วนอกจากชั้นหนังสือ ฯลฯ คือสถานที่ที่หนังสารคดีเรื่องนี้พาเราไปเยือน 

เพื่อทำความรู้จักตัวละครหลากหลาย ตั้งแต่นักวิชาการผู้รอบรู้ นักเขียนปากร้าย ไปจนถึงนักสะสมผู้มีความหลงใหลแปลกประหลาด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ล้วนคือลมหายใจของ “วงการหนังสือหายาก” อันแสนมีสีสันของนครนิวยอร์ก

เทศกาลหนังสือเก่าและหนังสือหายาก จัดขึ้นที่นิวยอร์ก

ดับเบิลยู ยังก์ ผู้กำกับสารคดี The Booksellers ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตัวเขาเองก็เป็นคนหลงใหลหนังสือเก่ามาตั้งแต่อายุแค่สิบขวบ หลังจากป้า และลุงของเขา (ซึ่งเป็นคนขายหนังสือหายากและหนังสือมือสองในฟิลาเดลเฟีย) มอบหนังสือชุด "ลอร์ดออฟเดอะริงส์" สามเล่มสุดพิเศษแก่เขาเป็นของขวัญคริสต์มาส และเรื่องราวเทพนิยายไตรภาคพร้อมภาพประกอบสุดมหัศจรรย์ชุดนี้ สร้างความตื่นตะลึงให้แก่เขาทันที 

นับจากนั้นยังก์ก็เริ่มสังเกตเห็นวิถีชีวิตที่น่าพิสมัยของลุงกับป้าในฐานะคนขายหนังสือเก่า “พวกเขาดูราวกับคนที่หลุดมาจากยุค 1940 เลยครับ เขาดูมีความสุขมาก”

ชั้นหนังสือของอดัม

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ แดน เวคส์เลอร์ นักขายหนังสือและโปรดิวเซอร์ ติดต่อเชื้อเชิญให้ยังก์ทำสารคดีเกี่ยวกับโลกหนังสือหายากของนิวยอร์ก ยังก์จึงตอบตกลงทันทีด้วยเหตุผลว่า “เรารู้ว่า เราจะไม่มีปัญหาในการหาคนขายหนังสือและนักสะสมที่น่าสนใจมาพูดคุยด้วยแน่นอน เราเชื่อเสมอว่าผู้คนในแวดวงนี้จะมีเรื่องราวน่าสนใจมากมายให้เราได้เล่าถึง” (น่าเสียดายที่ลุงกับป้าของเขาเสียชีวิตไปแล้ว เขาอยากให้ทั้งสองได้ดูหนังเรื่องนี้มาก ๆ)

เจ้าของร้านหนังสืออาร์โกซี ในนิวยอร์ก (Argosy Book Store)
เควิน ยัง (Kevin Young)

ยังก์พาเราไปสำรวจการทำงานของพ่อค้าแม่ค้าชั้นนำในแวดวงหนังสือเก่าและหนังสือหายากในนิวยอร์ก เช่น จิม คัมมินส์ ซึ่งสะสมหนังสือกว่า 400,000 เล่ม, สตีเฟน แมสซีย์ ผู้ก่อตั้งแผนกหนังสือของคริสตีส์ สลับกับการสัมภาษณ์ทัศนะของนักเขียน ผู้ได้รับอานิสงส์จากหนังสือเก่าและวัฒนธรรมการอนุรักษ์งานเขียน เช่น ฟราน เลโบวิตซ์, ซูซาน ออร์ลีน หรือเจ้าของร้านหนังสืออิสระดัง ๆ เช่น ร้านเดอะสแตรนด์ ร้านอาร์โกซี และร้านของคนรุ่นใหม่ เช่น ร้านฮันนีแอนด์แว็กซ์ ร้านเลฟต์แบงก์บุ๊กส์ ไปจนถึงนักสะสม คนทำห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ ส่งผลให้หนังไม่เพียงนำเสนอภาพอาชีพการขายหนังสืออย่างครอบคลุมเท่านั้น 

แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่าง “ผู้คน” กับ “ถ้อยคำ” ตลอดจนพลังของหนังสือและความทุ่มเทของคนที่พยายามรักษามรดกทางวรรณกรรมเหล่านี้เอาไว้ในหลากหลายวิธีด้วย 

ฟราน เลโบวิตซ์ (Fran Lebowitz)
เฮนรี่ เวสเซลส์ (Henry Wessells)

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ The Booksellers ยิ่งน่าสนใจคือมันไม่ได้มุ่งพูดแต่เรื่องของเก่าของโบราณด้วยท่วงท่าถวิลหาหวงแหนอดีตด้านเดียว แต่ยังให้ความสำคัญมาก ๆ ต่อประเด็นเรื่อง “การปรับตัว” ของแวดวงนี้เพื่อจะรักษาธุรกิจและวัฒนธรรมต่อไปให้ได้ ท่ามกลางยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว 

หนังพูดถึงผลกระทบของอินเทอร์เน็ตว่า การที่ปัจจุบันเราสามารถค้นหาหนังสือหายากได้อย่างง่ายดายเพียงแค่คลิกไม่กี่ครั้งและสั่งซื้อนั้น อาจส่งผลโดยตรงต่อพ่อค้าหนังสือเก่า (ที่เคยสร้างอาชีพด้วยการเดินทางตระเวนตามหาสินค้าสูงค่าด้วยสองเท้าของตัวเอง) ให้ต้องล้มหายตายจากอาชีพนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลอาจมีบทบาทสำคัญด้านบวกในการอนุรักษ์หนังสือเก่าด้วยในลักษณะของการทำดิจิทัลไลบรารีขนาดใหญ่ 

ขณะที่พ่อค้าสูงวัยบางคนเชื่อว่า “หนังสือเล่ม” กำลังจะหมดอายุขัย ก็มีคนขายหนังสือรุ่นใหม่อีกไม่น้อยที่มั่นใจว่ามันจะยังมีที่ทางอยู่ในโลกของนักอ่านอยู่เสมอ

อีกประเด็นหนึ่งที่หนังสำรวจได้อย่างน่าสนใจ ก็คือปัญหาด้าน “ความหลากหลาย” ในแวดวงหนังสือหายาก ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายด้านเพศหรือสีผิว (กล่าวง่าย ๆ ว่าวงการคนขายหนังสือ หรือแม้แต่งานประชุมด้านหนังสือและชมรมนักอ่าน เคยถูกผู้ชายผิวขาวยึดครองพื้นที่ตลอดมา)

จนต้องอาศัยเวลาและการต่อสู้ถางทางอย่างต่อเนื่อง กว่าที่จะเกิดผู้เล่นใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้หญิงได้เผยตัวในฐานะนักสะสม เจ้าของร้านหนังสือ เจ้าของสำนักพิมพ์ คนผิวสีได้มีบทบาทในการอนุรักษ์และนำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของตน และนักสะสมนอกกระแส (เช่น ผู้สะสมผลงานตีพิมพ์และสิ่งของเกี่ยวกับศิลปินฮิปฮอป) ได้มีที่ทางเป็นของตัวเอง 

ซึ่งสารคดีชี้ว่า พวกเขาเหล่านี้แหละคือผู้ที่จะนำพลังงานและมุมมองใหม่ ๆ มาสู่วงการอันจะส่งผลต่อการพัฒนาและความอยู่รอดของแวดวงหนังสือหายากอย่างแท้จริง

เดฟ เบิร์กแมน (Dave Bergman)

ยังก์บอกไว้ว่า สิ่งที่เขาคาดหวังอยากให้คนดูได้รับมากที่สุดจาก The Booksellers ก็คือ 

การเห็นคุณค่าของผู้คนที่เกี่ยวข้องในแวดวงนี้ โดยเฉพาะนักสะสมและคนขายหนังสือ ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแค่พ่อค้า แต่งานของพวกเขานั้นเป็นส่วนสำคัญในการบันทึกและส่งต่อประวัติศาสตร์ 

ทั้งยังมีบทบาทสูงมากในด้านการอนุรักษ์ด้วย “พวกเขาเป็นคนฉลาดมาก บางคนมีมุมมองที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” ยังก์สรุป "นอกจากนี้ เรายังอยากให้คนดูรู้สึกว่า 'วัสดุสิ่งพิมพ์และวัฒนธรรมของหนังสือ' นั้นมีความหมายมากกว่าที่เราอาจเคยคิดครับ"

VIPA ชวนดู The Booksellers สารคดีที่พาเราดำดิ่งสู่โลกอันน่าหลงใหลของ “คนขายหนังสือ และหนังสือหายากในนิวยอร์ก” พบและฟังผู้คนมากมายที่น่าสนใจในธุรกิจนี้ ทั้งผู้จำหน่าย นักสะสม นักประมูล และนักเขียนผู้โด่งดัง รวมทั้งติดตามการไล่ล่าหาหนังสือสุดพิเศษทั้งหลาย รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeสารคดีต่างประเทศสารคดี The Booksellersหนังสือเก่าหนังสือหายากนิวยอร์กนักเขียนนักอ่านอ่านหนังสือวงการหนังสือหายาก
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด