ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เล่าเรื่องดึกดำบรรพ์ให้ทันสมัย กับเพจ “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ”


Interview

11 พ.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

เล่าเรื่องดึกดำบรรพ์ให้ทันสมัย กับเพจ “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1136

เล่าเรื่องดึกดำบรรพ์ให้ทันสมัย กับเพจ “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

พูดคำว่า “ไดโนเสาร์” หลายคนนึกถึงสัตว์ที่อยู่ในโลกยุคโบราณ แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายร้อยล้านปี ทว่าปัจจุบัน มนุษย์ยังคงสืบค้นเรื่องราวของพวกมันอยู่เสมอ

ทำไมเราถึงต้องขุดค้นหาซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ ? เสน่ห์ของสัตว์ในยุคดดึกดำบรรพ์คืออะไร ? นี่อาจเป็นตัวอย่างคำถามที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์เรื่องราวของสัตว์โลกดึกดำบรรพ์ จนเป็นที่มาของเพจที่ชื่อว่า “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ”

เพจสนุก ๆ ของพวกเขา ดำเนินการมาแล้วกว่า 4 ปี นอกจากจะนำเสนอเรื่องไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบโดยงานวิจัยที่เชื่อถือได้แล้ว พวกเขายังสื่อสารมันออกมาในรูปแบบอันหลากหลาย ทั้งเป็นภาพประกอบ แอนิเมชัน แถมยังมีคำกลอนอธิบายคุณลักษณะของไดโนเสาร์ อันเป็นคอนเซปต์ของเพจ ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ นั่นเอง

ปัจจุบัน คณะทำงานของเพจไดโนเสาร์เล่าแบบไทย ๆ มีทีมงานด้วยกันราว 9 ชีวิต มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กราว 2.4 หมื่นคน และมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจำหน่าย ทั้งพวงกุญแจ หนังสือ และมีจัดกิจกรรมเพื่อพบปะกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องราวเดียวกันอยู่เป็นระยะ 

จากความรัก ความชอบ ตลอดอยากเผยแพร่สาระความรู้ด้าน “บรรพชีวินวิทยา” ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จัก เมื่อเวลาผ่านไป เพจดังกล่าวได้พัฒนากลายเป็นชุมนุมผู้คนที่สนใจเรื่องสัตว์โลกล้านปี และเร็ว ๆ นี้ พวกเขากำลังจะยกระดับเป็น “สื่อด้านบรรพชีวิน” ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

Thai PBS ชวนสมาชิกส่วนหนึ่ง อันประกอบไปด้วย ชัชรินทร์ สมบูรณ์ (โอ้), กษิดิศ เอี่ยมลออ (เคน), วงศ์เวชช เชาวน์ชูเวชช (จ๊อบ) และ วรทย์ ธุวดารากุล (เทียน) มาร่วมพูดคุยกัน แรงบันดาลใจในการสร้างเพจนี้มาจากอะไร และสิ่งที่ทำอยู่สร้างคุณค่าตลอดจนมีสิ่งที่ได้รับกลับคืนมาอย่างไร รวมถึงเรื่องราวของโลกบรรพชีวินวิทยานั้นน่าสนใจเพียงใด ไปหาคำตอบได้จากการพูดคุยครั้งนี้กัน...

จุดเริ่มต้น ที่มาของเพจ “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ”

“เจตนาของพวกเราคือ เล่าเรื่องไดโนเสาร์ เล่าเรื่องดึกดำบรรพ์ ในมุมมองที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย” ชัชรินทร์ หรือ โอ้ เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของการสร้างเพจ “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ” ให้ฟัง ซึ่งที่มาที่ไปของเพจนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยความที่สมาชิกในทีมสนใจเรื่องไดโนเสาร์ แถมส่วนใหญ่ยังศึกษาด้านนี้มาโดยตรง 

ไล่เรียงไปตั้งแต่ โอ้เรียนจบทางด้านเกษตรศาสตร์ เคนกำลังเรียนปริญญาโทด้านธรณีวิทยา ส่วนจ๊อบก็กำลังเรียนโทด้านวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และเทียน กำลังเรียนปริญญาตรีด้านชีววิทยา ด้วยปัจจัยทั้งหมด ทำให้พวกเขาอยากลองนำความรู้ที่มี มานำเสนอให้คนทั่วไปได้รู้จักเช่นกัน

เคน, จ๊อบ, เทียน และโอ้ ทีมงานเพจ ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ

เราอยากพูดเรื่องไดโนเสาร์ แต่จะทำยังไงให้เขามาฟังเรา ทำยังไงให้เขาเห็นว่าเรามีความแปลกใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ มีเพจที่ให้ความรู้ด้านนี้โดยตรงอยู่มากมาย ทั้งเพจของหน่วยงานราชการ หรือเพจของพิพิธภัณฑ์ แต่บทความ หรืองานวิจัยที่นำเสนอออกมา ส่วนใหญ่อ่านยาก ถ้าเป็นคนทั่วไปมาอ่าน เขาอาจจะไม่เข้าใจ เพราะเนื้อหามีความเป็นวิชาการ เราจึงสบช่องตรงนี้ ลองทำเพจที่นำเสนอเรื่องเดียวกันนี่แหละ แต่ทำให้เข้าใจง่าย และแตกต่างไปกว่าที่เคยโอ้เล่าขยายที่มาให้ฟัง

คำว่า แตกต่าง ที่ว่ามานั้น นอกจากจะเป็นการนำบทความวิจัยทางวิชาการมาย่อย และเล่าแบบง่าย ๆ สิ่งที่ทีมงานพยายามทำให้แตกต่างมากขึ้นไปอีก นั่นคือ การแต่งกลอนเล่าถึงคุณลักษณะของไดโนเสาร์ หรือสัตว์ดึกดำบรรพ์ ลงไปประกอบกัน

“ปกติเวลามีงานวิจัยใหม่ ๆ ออกมา เขาจะจ้างนักวาดภาพให้วาดภาพสัตว์ที่ค้นพบ แล้วก็มีเนื้อหางานวิจัยประกอบลงไป จุดนี้เราคิดว่าทำยังไงให้แตกต่าง ให้คนอยากมาดูที่เพจเรา นอกจากทำภาพ ทำข้อมูลที่ครบถ้วนแล้ว เราแต่งกลอนใส่ลงไปด้วยดีกว่า ให้คนจำว่า ถ้ามาดูคอนเทนต์ไดโนเสาร์ที่เพจเรา จะมีกลอนที่เล่าคุณลักษณะของไดโนเสาร์ตัวนั้นด้วย”

โอ้ - ชัชรินทร์

โอ้เล่าอีกว่า ไอเดียนี้ ยังไม่มีเพจไหนเคยทำ และไม่คิดจะทำ พวกเขาจึงตัดสินใจลงมือทำ แถมยังเป็นที่มาของชื่อเพจอีกด้วย

“เพจไดโนเสาร์เล่าแบบไทย ๆ ก็คือ เล่าเรื่องไดโนเสาร์ เรื่องดึกดำบรรพ์ ในมุมมองที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ถ้าสนใจก็ไปอ่านเนื้อหา หรือถ้าอยากอ่านสรุปบทความย่อ ก็ให้ไปอ่านในกลอน”

จากจุดเริ่มต้น สู่การยกระดับทำสื่อในรูปแบบต่าง ๆ

เมื่อเพจเริ่มต้นขึ้น ถึงเวลาที่ต้องนำเสนอรูปแบบคอนเทนต์ให้มีความหลากหลาย ซึ่ง กษิดิศ หรือ เคน อีกหนึ่งในสมาชิกคนทำงาน ได้ช่วยเล่าถึงการทำงานในระยะต่อมาว่า หลังจากที่ใช้วิธีการนำเสนอด้วยภาพโปรไฟล์ไดโนเสาร์ พร้อมทั้งใส่เนื้อหาและบทกลอนลงไป ต่อมาพวกเขาเริ่มขยับไปสู่การนำเสนอที่ยากและท้าทายขึ้นอีก

“ปีแรกเรายังเล่าไดโนเสาร์ไทย ๆ ที่เน้นไปที่ภาพประกอบ แต่พอปีต่อ ๆ มา เราเริ่มคิดการใหญ่ (หัวเราะ) ลองเสนอเป็นรูปแบบแอนิเมชัน ซึ่งสัตว์ที่เล่าถึง ก็ไม่ใช่แค่ไดโนเสาร์ แต่หมายรวมไปถึง ช้าง ม้า วัว ควาย หรือสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบทั้งหมด”

เคน - กษิดิศ

เคนเล่าต่ออีกว่า ในเวลาต่อมา พวกเขาตัดสินใจทำสารคดีที่มีชื่อว่า The new killer หรือ รุ่งอรุณแห่งเพชฌฆาต ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับพวกเขามากเช่นกัน

“พวกเราไม่มีใครมีพื้นฐานทำสารคดีเป็นเลยสักคน” เคนบอก “แต่แพสชันเรามาเต็มมาก ซึ่งงาน The New Killer เป็นสารคดีชิ้นแรก ทำในรูปแบบแอนิเมชัน ความยาว 25 นาที ปัจจุบันยังอยู่ในยูทูบ คนดู 6 หมื่นกว่าวิว”

โอ้ช่วยเสริมถึงสารคดีแอนิเมชันชุดดังกล่าวว่า แม้พื้นฐานความรู้เรื่องโปรดักชันจะแทบเป็นศูนย์ แต่ความตั้งใจในการผลิตชิ้นงานนั้น มีเกินร้อย

“ผมเคยทำแอนิเมชันเล่นๆ ตอน ม.4 แต่ทำเป็นงานอดิเรกมากกว่า ไม่เคยลงลึก เพิ่งมาลงลึกตอนทำเพจนี่เอง (หัวเราะ) ก็อาศัยดูยูทูบ ศึกษาเอง ถามว่างานชิ้นแรกมันดูได้ไหม มันก็ดูได้ แต่มันก็ไม่ได้สวย (หัวเราะ) เป็นงานสารคดีที่ทำเมื่อปี 2020 ซึ่งทุกวันนี้พอย้อนกลับไปดู ผมชอบมาก คือมันสด ใหม่ และมีความตั้งใจมาก สารคดีที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ยังสู้ชิ้นแรกไม่ได้เลย”

 

นอกจากงานแอนิเมชัน พวกเขายังนำเสนอผลงานให้มากกว่าที่อยู่ในเพจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพวงกุญแจไดโนเสาร์ รวมไปถึงการทำหนังสือรวมสัตว์ดึกดำบรรพ์ออกมาจำหน่าย

“เราอยากทำให้ไดโนเสาร์มีความน่ารักและจับต้องได้ เราก็เลยทำเป็นไดโนเสาร์สแตนดี้ (Standy) แล้วลองโพสต์ขายดูในเพจ แต่ปรากฏว่าขาดทุน”  วงศ์เวชช หรือ จ๊อบ อีกหนึ่งสมาชิกในทีม ช่วยเล่าให้ฟัง แต่หลังจากนั้น พวกเขาก็ลองทำพวงกุญแจไดโนเสาร์พันธุ์ไทยออกมา ก่อนจะตามมาด้วยหนังสือเล่มแรก “ไดโนเสาร์แดนสยาม” ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“ด้วยความที่ตอนทำสารคดี เรามีข้อมูลไดโนเสาร์ไทยอยู่เยอะ เราจึงมีความคิดอยากรวบรวมไดโนเสาร์ไทยออกมาเป็นหนังสือ ปรากฏว่า ตอนประกาศพรีออเดอร์ มีคนแชร์กันไปเยอะพอสมควร เนื่องจากหนังสือไดโนเสาร์ไทย ส่วนใหญ่จะเป็นแนววิชาการ ตัวหนังสือเยอะ ๆ อ่านค่อนข้างยาก แต่ของเราเป็นแนวดูง่าย ภาพสวย คนจึงให้ความสนใจกันเยอะ”

จ๊อบ - วงศ์เวชช

หนังสือดึกดำบรรพ์พันธุ์ไทย

ปัจจุบัน เพจไดโนเสาร์เล่าแบบไทย ๆ ผลิตหนังสือออกมา 2 เล่ม คือ ไดโนเสาร์แดนสยาม และดึกดำบรรพ์พันธุ์ไทย ซึ่งทีมงานพร้อมจะผลิตผลงานออกมาอีก เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ ของไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ให้มีความร่วมสมัยอยู่เสมอ

“งานวิจัยวิทยาศาสตร์ หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ พอผ่านไปสัก 10-20 ปี ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างไดโนเสาร์ไทย เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน มีองค์ความรู้แบบหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไป มีงานวิจัยชิ้นใหม่ ๆ ออกมา ทำให้องค์ความรู้เปลี่ยน เราเลยมองเห็นความสำคัญว่า เราต้องมีข้อมูล หรือมีหนังสือที่คอยอัปเดตข้อมูลอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

รู้จัก “ไดโนเสาร์ไทย” บนดินแดนดึกดำบรรพ์ไทย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์ และซากสัตว์ดึกดำบรรพ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ปัจจัยที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบบนบก ทำให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์หลายชนิด

“จากงานวิจัยที่ออกมา ค้นพบว่า ดินแดนแถบอีสานบ้านเรา เป็นแหล่งที่มีไดโนเสาร์จำนวนมาก ผมยกตัวอย่างที่ขอนแก่น จากการสำรวจพบว่า มีชั้นหินทราย หินกรวดมน หินปูน และมีฟอสซิลหอยเต็มไปหมด จึงตีความกันว่า เมื่อก่อนบริเวณแถบนี้ น่าจะเป็นทางน้ำขนาดใหญ่ ไดโนเสาร์พวกคอยาวจึงอาศัยกันอยู่เยอะ” เคนบอก

“คือต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไดโนเสาร์เป็นสัตว์บก มันจะอาศัยอยู่บริเวณที่ราบ หรือบนบก ซึ่งเมื่อประมาณร้อยกว่าล้านปีก่อน ภาคอีสานเคยเป็นแผ่นดินมาก่อน ถามว่าเรารู้ได้ยังไง เรารู้จากหลักฐานทางตะกอน และหิน ซึ่งหินที่พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนบก เช่น หินทราย หินกรวดมน หินพวกนี้เป็นหินที่สะสมตัวบนบก ส่วนภาคอื่น ๆ เช่น ภาคกลาง เมื่อก่อนเป็นทะเล เพิ่งมาเป็นแผ่นดินหลังจากที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงเจอฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ภาคอีสาน และไม่ค่อยเจอในภาคกลางเท่าไรนัก”

เทียน - วรทย์

ส่วนลักษณะไดโนเสาร์ที่พบในเมืองไทย วรทย์ หรือ เทียน อีกหนึ่งสมาชิกในทีม เล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่ที่พบ เป็นไดโนเสาร์ในช่วงรอยต่อระหว่างยุคจูราสสิกกับครีเทเชียส

“ไดโนเสาร์ที่เจอในประเทศไทย อยู่ในยุคที่เรียกว่าเป็นรอยเชื่อมต่อ ระหว่างไดโนเสาร์ยุคกลางกับยุคใหม่ หรือเป็นช่วงปลายยุคจูราสสิก มาถึงยุคครีเทเชียส ซึ่งในยุคจูราสสิก ไดโนเสาร์ก็มีวิวัฒนาการแบบหนึ่ง จนมาในยุคครีเทเชียส ไดโนเสาร์ก็จะมีวิวัฒนาการอีกแบบหนึ่ง” เทียนบอก

“ดังนั้น ไดโนเสาร์ไทยที่เจอส่วนใหญ่ จึงมีลักษณะเป็นกึ่งกลางของสองยุค เรียกว่าเป็นเหมือนรอยต่อรอยผ่าน มีลักษณะผสม ๆ กัน ซึ่งถือเป็นความปวดหัวของพวกผมเหมือนกัน (หัวเราะ) เนื่องจากเวลาที่เราจะทำการีคอนสตรัคชัน (reconstruction) หรือจำลองรูปลักษณ์ของพวกมัน เราไม่อาจจะเทียบเคียงกับตัวอื่น ๆ ที่มีอยู่ได้ เพราะมันเป็นยุคกึ่งกลางที่ดูไม่ค่อยเหมือนใคร แล้วไหนจะจำนวนชิ้นส่วนที่ขุดค้นพบ ก็ไม่ได้มีจำนวนที่มากหรือสมบูรณ์เพียงพอ ทำให้การจำลองไดโนเสาร์ค่อนข้างเป็นไปได้ยากพอสมควร”

โอ้ช่วยเสริมต่อว่า ไม่ใช่แค่ไดโนเสาร์ที่แปลก แต่ระบบนิเวศบริเวณนี้เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ก็มีความแปลกเช่นกัน

“ประเทศไทยเป็นพื้นที่แปลก เหมือนแดนลับแลในยุคนั้น เหมือนเอายุคจูราสสิกมารวมกับยุคครีเทเชียส ความแปลกจึงไม่อยู่ที่ไดโนเสาร์ซะทีเดียว แต่อยู่ที่ระบบนิเวศของที่นี่ด้วย”

เคนเสริมอีกว่า แหล่งไดโนเสาร์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประเทศไทย และมีความน่าสนใจ เขายกให้กับประเทศจีน เนื่องจากเป็นประเทศเขตหนาว ทำให้การกัดกร่อนของฟอสซิลเกิดขึ้นได้น้อยกว่า เป็นเหตุให้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่ค่อนข้างมีความสมบูรณ์

“ที่จีนเคยขุดเจอในแบบที่เป็นรอยพิมพ์เซลล์ไดโนเสาร์ คือยังมีนิวเคลียส มีชิ้นส่วนต่าง ๆ อยู่เลย เนื่องจากประเทศเขาอยู่ในเขตหนาว ฟอสซิลเหล่านี้จึงถูกทำลายลงได้ช้ากว่า” เคนบอก

“อีกที่หนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ อาร์เจนตินา โซนนี้จะเจอไดโนเสาร์ขนาดบิ๊กๆ ทั้งนั้น พวกคอยาว ขนาดใหญ่ ตัวหนักเกิน 50 ตันขึ้นไป เช่น อาร์เจนติโนซอรัส ขุดเจอที่อาร์เจนตินา เลยตั้งชื่อตามประเทศอาร์เจนตินา ขนาดตัวหนักประมาณ 80 ตัน  สาเหตุที่ดินแดนแถบนี้เจอไดโนเสาร์ตัวใหญ่ เนื่องจากพวกนี้จะเป็นไดโนเสาร์กินพืช กินต้นสน แต่พอถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน จากต้นยุคจูลาสสิกมาถึงปลายยุคครีเทชียส ปริมาณต้นสนอาจจะลดน้อยลง เนื่องจากโลกร้อนขึ้น พวกไดโนเสาร์คอยาวเหล่านี้จึงอพยพมาอยู่แถบซีกโลกใต้ ก่อนจะเสียชีวิตลงในดินแดนแถบนี้”

สูญพันธุ์ไปกว่าร้อยล้านปี ไดโนเสาร์ยังมีปริศนาซ่อนอยู่อีกมากมาย

เคนเล่าว่า ปี 2024 เพิ่งจะครบรอบ 200 ปีที่โลกขุดค้นพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจำแนกไดโนเสาร์ ทำได้ไปเกือบ 2,000 สายพันธุ์ ดังนั้น พวกเขาเชื่อว่า ยังมีไดโนเสาร์ และสัตว์ดึกดำบรรพ์อีกมากมาย ที่ยังไม่ถูกค้นพบ และรอเวลาที่จะปรากฎขึ้นอยู่ตลอดเวลา

“โดยปกติ โอกาสการเกิดของฟอสซิล คือ หนึ่งในล้าน ส่วนไดโนเสาร์ทั้งหมดที่เราเจอกันบนโลก ตั้งแต่มีประวัติศาสตร์การค้นพบเป็นต้นมา เราเจอประมาณไม่เกิน 2,000 สายพันธุ์ ลองคิดดูว่า นี่คือ หนึ่งในล้านของความเป็นจริงทั้งหมด ดังนั้น มันเหมือนเราเพิ่งกระเทาะเปลือกองค์ความรู้ไดโนเสาร์เท่านั้นเอง ผมเชื่อว่ายังมีไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่อีกมากมาย แล้วไหนจะเรื่องพฤติกรรมอีกหลายๆ อย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน” เคนบอก

จ๊อบเสริมเรื่ององค์ความรู้ของไดโนเสาร์ให้ฟังต่อ “เพราะฟอสซิลไม่สามารถเก็บได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรม หลายอย่างไม่ถูกค้นพบในฟอสซิล ใครจะรู้ว่า ไดโนเสาร์บางพันธุ์อาจจะมีถุงลมพิเศษโป่งออกมา หรือมันอาจจะมีสีสันหน้าแปลก ๆ ที่ไม่เห็นในกระดูกก็เป็นได้”

“ไดโนเสาร์ที่เจอ ส่วนใหญ่อยู่ริมแม่น้ำ หรือตายบริเวณที่เป็นดินเหนียว ๆ ซึ่งที่ผ่านมา เรายังไม่เคยมีข้อมูล ไดโนเสาร์ที่ไปตายบนยอดเขา มันอาจจะมีที่ตายบนนั้นก็ได้ รวมไปถึงพื้นที่ที่เป็นป่าฝน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดฟอสซิลได้ค่อนข้างยาก แต่ผมเชื่อว่า จะต้องมีของแปลก ๆ อยู่ในนั้น ปัจจุบันยังไม่มีใครเข้าไปถึงพื้นที่เหล่านี้ เรายังไม่เจอฟอสซิลที่เป็นไดโนเสาร์ในป่าลึก ส่วนใหญ่เจอพวกที่อยู่ริมน้ำทั้งนั้น ในอนาคตถ้าเราเข้าถึงได้ การศึกษาเรื่องไดโนเสาร์อาจเปิดกว้างยิ่งขึ้น”

เสน่ห์ของ “เรื่องดึกดำบรรพ์” คืออะไร ?

กว่า 4 ปีของการปลุกปั้นเพจ ตลอดจนการศึกษาศาสตร์บรรพชีวินวิทยามาตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ทีมงานทั้ง 4 คนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า  เสน่ห์ของเรื่องดึกดำบรรพ์ อยู่ที่การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ

“เสน่ห์ของบรรพชีวินวิทยา คือ เราอยากรู้ว่าสิ่งที่ตายไปแล้วเมื่อหลายล้านปี มันเคยทำอะไรไว้บ้าง ยิ่งเรารู้ เราก็จะยิ่งอยากรู้เพิ่มขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะรู้ทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่มีงานวิจัยใหม่ ๆ เกิดขึ้น มันเหมือนเป็นก้าวที่เราเดินใกล้ความเป็นจริงไปเรื่อย ๆ” เคนบอก

“สำหรับผม สิ่งที่ได้รับจากเรื่องราวเหล่านี้ มันคือความเข้าใจโลก” จ๊อบบอก “ซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้บ่งบอกว่า โลกเราเป็นมาเป็นไปอย่างไร อย่างปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จริง ๆ มันเกิดมาหลายรอบแล้วในอดีตกาล ถามว่าเรารู้ได้ยังไง เรารู้จากในหลักฐานของซากดึกดำบรรพ์ กับผลการวิจัยทางธรณีวิทยา เช่น หินต่าง ๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า มันเคยเกิดภาวะโลกร้อนมาก่อนในยุคอดีต”

“ดังนั้น เป้าหมายปลายทางของการศึกษาเรื่องพวกนี้ มันจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจว่า โลกของเราเป็นมาเป็นไปอย่างไร และมันจะดำเนินต่อไปอย่างไร ซึ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต มันมีอะไรหลายอย่างที่เป็น pattern เหมือน ๆ กัน หากเราดูจากหลักฐาน เรารู้ว่าปลายทางโลกจะเป็นยังไงต่อไป”

เป้าหมายของนักบรรพชีวินอีกประการ นั่นคือ การส่งต่อเรื่องราวเฉพาะทางเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้ และสามาถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เหล่านี้ได้ต่อไป

“เรามักจะโดนถามประจำว่า เรียน (บรรพชีวินวิทยา) แล้วได้อะไร หรือเรียนไปทำไม เอาจริง ๆ เป็นคำถามที่ดีมาก เราจึงอยากบอกตรงนี้ว่า ถ้าเป็นด้านฟอสซิล สุดท้ายพอเราได้องค์ความรู้ทั้งหมด เราต้องคืนสู่ท้องที่ พูดง่าย ๆ คือ ให้ความรู้แก่คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เจอฟอสซิล ให้เขาได้เข้าใจว่า มันมีความสำคัญอย่างไร รวมทั้งได้เข้าใจที่มาที่ไปของประเทศไทย”

“มากไปกว่านั้น หากพื้นที่ใดที่พบฟอสซิลมากขึ้น จนกลายเป็นแหล่งทรัพยากรระดับประเทศ เราสามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงความรู้ หรืออาจจะพัฒนาเป็นอุทยานไดโนเสาร์ หรือไปต่ออีกขั้น คือเป็น Geopark หรืออุทยานธรณีวิทยา บ้านเราตอนนี้กำลังบูมมาก มีอุทยานธรณีวิทยาอยู่หลายแห่ง เช่น ที่ขอนแก่น โคราช สตูล ในอนาคตหากเจอแหล่งฟอสซิลเหล่านี้มากขึ้น สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จริงจังแบบนี้ได้ต่อไป”

เป้าหมายต่อไปของเพจ “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ” 

โอ้ จ๊อบ เคน และเทียน บอกว่า ช่วงกลางปีนี้ พวกเขาและเพจไดโนเสาร์เล่าแบบไทย ๆ กำลังจะมีโปรเจคท์ใหญ่ให้ได้ติดตามกัน และอนาคตอันไม่ไกลจากนี้ ทีมงานทั้งหมดจะพัฒนาเพจ ให้หลายเป็น “สื่อด้านบรรพชีวิน” ที่มีมาตรฐานต่อไป

“วันนี้พวกเราได้ทำเพจขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักได้แล้ว เป้าหมายต่อไปคือ พัฒนาให้กลายเป็นสื่อที่เป็นที่ยอมรับ และทำต่อไปเรื่อย ๆ เวลามีงานวิจัยใหม่ ๆ ออกมา พวกผมก็จะเผยแพร่คอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้คนได้รับรู้ต่อไป”

ทีมงานทั้ง 4 ฝากถึงผู้ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในด้านต่าง ๆ พวกเขายินดี หากว่าจะเป็นทางช่วยยกระดับองค์ความรู้ด้านบรรพชีวิน เพื่อส่งต่อถึงประชาชนต่อไป

“การที่เรามาทำตรงนี้ เราอยากทำตัวให้เป็นประโยชน์กับวงการบรรพชีวิน หรือถ้าจะดีกว่านี้ คืออยากให้ผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษา ได้ใช้ประโยชน์จากพวกผม มีอะไรที่คิดว่าความสามารถของพวกผม สามารถเป็นประโยชน์ หรือสามารถทำให้มันไปได้ไกลกว่าที่มันเคยเป็นได้ พวกผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง”

“ผมเชื่อว่ามีคนไทยที่เก่ง ๆ อยู่มากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปคือ โอกาส ในการแสดงฝีมือ เราสามารถสร้างผลงานที่ดี และเป็นเอกลักษณ์ของเราได้ และที่สำคัญ สามารถทำให้ทัดเทียมกับต่างประเทศได้อย่างแน่นอน”

ติดตามผลงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในนาม “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ” ได้ในช่องทางโซเชียลมีเดีย ยังมีเรื่องสนุก ๆ อีกมากมาย แถมยังเป็นความสนุกที่อยู่บนองค์ความรู้ สนุกได้อย่างไม่มีพิษภัย เป็นการใช้เทคโนโลยีให้มีประโยชน์เพื่อคนหมู่มากอย่างแท้จริง...

ภาพถ่ายโดย : สุภณัฐ รัตนธนาประสาน

อ่านข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
-พบ "ฟอสซิลไดโนเสาร์" สายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่ภูเวียง 
-ค้นพบรอยตีน "ไดโนเสาร์" อายุ 225 ล้านปี เก่าแก่ที่สุดในไทย-เอเชีย 
-หายาก ไดโนเสาร์จิ๋ว 60 ซม. "มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส" 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เพจไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆไดโนเสาร์ฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์บรรพชีวินธรณีวิทยา
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด