MANPADS หรือ Man-portable Air-defense Systems คือระบบมิสไซล์ต่อต้านอากาศยานส่วนบุคคลสำหรับใช้งานในการป้องกันตนเองโดยบุคคลภาคพื้นต่อเครื่องบินรบที่บินอยู่ในระดับต่ำ
MANPADS ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในช่วงปี 1950 ปัจจุบัน นอกจากจะถูกใช้อย่างแพร่หลายในกองทัพของประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังถูกใช้งานโดยกลุ่มก่อการร้ายเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการยิงอากาศยานพาณิชย์เนื่องจาก MANPADS นั้นมีราคาถูกกว่าระบบมิสไซล์ต่อต้านอากาศยานอื่น ๆ เป็นอย่างมาก รวมทั้งยังมีการผลิตขายเป็นจำนวนมาก และหาได้ง่าย
MANPADS รุ่นแรกนั้นเริ่มถูกใช้งานในช่วงปี 1960 เช่น รุ่น FIM-43C Redeye โดยกองทัพสหรัฐฯ MANPADS ในยุคเริ่มแรกมีลักษณะเป็นระบบมิสไซล์แบบติดตามความร้อนผ่านรังสีอินฟราเรด เมื่อยิงออกไป มิสไซล์จะนำทางด้วยการตรวจจับความร้อนจากไอของเครื่องยนต์ของศัตรู ดังนั้นมิสไซล์เหล่านี้จึงมักจะเข้าหาเป้าหมายจากข้างหลัง
อย่างไรก็ตาม มิสไซล์เหล่านั้นอาจถูกรบกวนจากความร้อนพื้นหลังได้ เช่น ความร้อนจากดวงอาทิตย์ MANPADS รุ่นนี้จึงมีความแม่นยำต่ำ
ใน MANPADS รุ่นที่สองนั้น เซนเซอร์ติดตามความร้อนจะมีระบบหล่อเย็นเพื่อลดการรบกวนจากสัญญาณอินฟราเรดพื้นหลังและเพิ่มความไวต่อการตรวจจับสัญญาณความร้อน (Heat Signature) หรือความร้อนของเครื่องยนต์ของอากาศยานศัตรู ด้วยเซนเซอร์ที่มีความไวเพิ่มขึ้น มิสไซล์ในรุ่นนี้เริ่มสามารถติดตามเป้าหมายจากทางข้าง ๆ ได้แทนที่จะเป็นการติดตามจากข้างหลังเท่านั้น
ตัวอย่างของ MANPADS รุ่นที่สอง คือ Stinger ของกองทัพสหรัฐฯ และ Strela-3 ของกองทัพโซเวียต
MANPADS ในรุ่นที่สามและสี่นั้นใช้เซนเซอร์หลายชนิดในการตรวจหาเป้าหมาย นอกจากนี้ MANPADS รุ่นใหม่ยังใช้ระบบนำทางที่มีความสามารถมากกว่า MANPADS รุ่นอื่น ๆ ในการติดตามเป้าหมายอีกด้วย ทำให้ระยะมิสไซล์ยิงมาจากระยะที่ไกลขึ้นได้
นอกจากระบบมิสไซล์ MANPADS ที่นำทางด้วยระบบการติดตามอินฟราเรด ยังมีระบบมิสไซล์อย่าง Command Guidance (CLOS) ที่ไม่ใช้ระบบนำทางแบบอัตโนมัติแต่เป็นการนำทางด้วยการบังคับวิทยุโดยมนุษย์ หรือการนำทางด้วยการระบุเป้าหมายด้วยเลเซอร์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ระบบเหล่านี้อาศัยความสามารถของมนุษย์ผู้ใช้งาน ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน
เรียบเรียงโดย : โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech