ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ระบบการขนส่งสัมภาระและนักบินอวกาศ” สู่สถานีอวกาศนานาชาติของ NASA


Logo Thai PBS
แชร์

“ระบบการขนส่งสัมภาระและนักบินอวกาศ” สู่สถานีอวกาศนานาชาติของ NASA

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1124

“ระบบการขนส่งสัมภาระและนักบินอวกาศ” สู่สถานีอวกาศนานาชาติของ NASA
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในเดือนพฤษภาคมนี้ ยาน Boeing Starliner จะถูกปล่อยออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดีพร้อมกับนักบินอวกาศ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของสหรัฐฯ ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปประจำการที่สถานีอวกาศนานาชาติ ในบทความนี้ จะพาย้อนดูระบบขนส่งสัมภาระและนักบินอวกาศของ NASA ว่าในทศวรรษนี้ NASA เลือกใช้บริการในการขนส่งอย่างไรบ้าง

ภายหลังจากที่โครงการกระสวยอวกาศยุติลง ทาง NASA และชาติพันธมิตรในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติต้องพึ่งพายานโซยุสเพื่อขนส่งนักบินอวกาศขึ้นไปประจำการยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งระหว่างที่ทางสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้ยานโซยุสของทางรัสเซียในการขนส่งนักบินอวกาศ ทาง NASA ได้มีโครงการ Commercial Crew Program เพื่อให้ทางบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการสร้างยานอวกาศสำหรับส่งนักบินอวกาศกลับขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้ง ซึ่งทำให้เกิดยานอวกาศที่เราคุ้นเคยอย่าง Dragon 2 ของ SpaceX รวมถึงยานอวกาศที่กำลังจะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในเที่ยวบิน Demo อีกหนึ่งลำเร็ว ๆ นี้ คือ Boeing Starliner โดยบริษัท Boeing

ภาพถ่ายยานอวกาศ Dragon 2 ระหว่างกำลังเทียบเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ

โครงการ Commercial Crew Program นี้ได้ว่าจ้างทางบริษัท SpaceX และ Boeing ในการดำเนินการพัฒนายานอวกาศสำหรับนักบินอวกาศและขนส่งนักบินอวกาศกลับขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งทาง SpaceX ได้พัฒนายานอวกาศสำหรับการขนส่งนักบินอวกาศ Dragon 2 ขึ้นมาและได้เริ่มต้นทดสอบ Demo-1 ของยาน Dragon 2 ในการขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2019 และได้ทดสอบพร้อมกับนักบินอวกาศในการทดสอบ Demo-2 เพื่อเดินทางไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่ง SpaceX เป็นบริษัทแรกที่พัฒนาระบบยานอวกาศสำหรับขนส่งมนุษย์เพื่อเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติภายใต้โครงการ Commercial Crew Program เป็นรายแรก ซึ่งนำมาสู่ภารกิจ Crew-1 ที่ได้ให้บริการขนส่งนักบินอวกาศกลับขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศได้ในเดือนพฤศจิกายน 2020

ภาพยานอวกาศ Boeing Starliner ในเที่ยวบินทดสอบระหว่างกำลังเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ

ทาง Boeing ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีส่วนร่วมในโครงการ Commercial Crew Program นั้นได้พัฒนายานอวกาศ Boeing Starliner เพื่อใช้ในภารกิจการขนส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเช่นกัน สำหรับยาน Boeing Starliner นี้ถูกออกแบบให้มีการเดินทางกลับมาลงจอดยังพื้นโลกที่ทะเลทรายแอริโซนาในสหรัฐอเมริกาโดยใช้ร่มชูชีพและระบบ Airbag ที่จะกางออกเพื่อลดแรงกระแทก ซึ่งแตกต่างจากทาง SpaceX ที่ให้ยาน Dragon 2 กลับมาลงจอดบนพื้นโลกโดยอาศัยการลงจอดลงบนมหาสมุทร

การพัฒนายาน Boeing Starliner นั้นถึงจุดที่พร้อมสำหรับให้นักบินอวกาศบินขึ้นแล้วภายหลังจากการทดสอบที่ล่าช้าจากปัญหาของยานอวกาศที่ทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้สมบูรณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2019 และสถานการณ์โควิด

Boeing Starliner สามารถเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม 2022 และตอนนี้ทาง Boeing พร้อมทดสอบยาน Boeing Starliner กับนักบินอวกาศเพื่อเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 7 พฤษภาคม 2024 นี้ ซึ่งจะเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของ Boeing และสหรัฐอเมริกาในภารกิจสำรวจอวกาศ

นอกเหนือจากการขนส่งนักบินอวกาศ ทาง NASA ยังจำเป็นที่จะต้องขนส่งสัมภาระและเสบียงสำหรับนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วย ซึ่ง NASA ได้ว่าจ้างบริษัทต่าง ๆ ขนส่งสิ่งของเหล่านี้ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติอีกด้วยเช่นกันผ่านทางโครงการ Commercial Resupply Services โดยอาศัยบริษัทพันธมิตรที่สำคัญอย่าง SpaceX เจ้าเก่าและ Northrop Grumman ในการขนส่งสัมภาระขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ภาพถ่ายยานอวกาศ Cygnus ของ Northrop Grumman ขณะเดินทางเข้าไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ

Northrop Grumman ได้ให้บริการขนส่งสัมภาระไปยังสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่ปี 2013 ด้วยยานอวกาศ Cygnus จนถึงตอนนี้ทาง Northrop Grumman ได้ปฏิบัติภารกิจทั้งหมดไปแล้ว 20 ภารกิจ ยาน Cygnus นั้นเป็นยานขนส่งสัมภาระประเภทที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หลังจากสิ้นสุดภารกิจในการเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ยาน Cygnus จะบรรทุกขยะหลายร้อยกิโลกรัมและเผาไหม้มันภายในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งในระหว่างที่มันกำลังเดินทางกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ตัวยาน Cygnus จะสามารถทำภารกิจการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ในสถานีอวกาศได้ เช่น การทดลองจุดไฟในอวกาศเพื่อทดสอบพฤติกรรมการติดไฟของวัสดุในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ตลอด 8 ปีของการทดลองนำมาซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับการลุกไหม้ของวัสดุในอวกาศจำนวนมาก

ภาพถ่ายยานขนส่งสัมภาระ Dragon ของ SpaceX ระหว่างเดินทางเข้าไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ

อีกหนึ่งผู้ให้บริการในการขนส่งสัมภาระคือ SpaceX ซึ่งทาง SpaceX เองนั้นได้พัฒนายาน Dragon ขึ้นมาและได้ขนส่งสัมภาระไปยังสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งขณะนี้ทาง SpaceX สามารถทำภารกิจบรรทุกสัมภาระขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติได้มากถึง 30 ภารกิจแล้ว ยาน Dragon เป็นยานขนส่งสัมภาระที่ได้รับการออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ จึงสามารถบรรทุกผลการทดลองวิทยาศาสตร์ให้เดินทางกลับมายังโลกเพื่อให้ถึงมือของนักวิจัยเพื่อศึกษาต่อได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2021 ที่ SpaceX เปลี่ยนมาใช้ยาน Dragon 2 ในการขนส่งสัมภาระ ยาน Dragon 2 สามารถเดินทางกลับลงมายังบริเวณศูนย์อวกาศเคนเนดีมากกว่าเดิมจากแต่เดิมที่ลงจอดบริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนั่นการทดลองของนักวิจัยทั่วทุกมุมโลกที่เดินทางกับยาน Dragon2 นั้นสามารถเดินทางกลับมาถึงมือของนักวิจัยได้รวดเร็วมากขึ้น สามารถเห็นผลกระทบของการวิจัยจากสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในสภาพที่สมบูรณ์และชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ NASA ยังร่วมพัฒนายานอวกาศสำหรับการขนส่งนักบินอวกาศกับบริษัท Sierra Space ที่กำลังพัฒนายาน Dream Chaser เพื่อขนส่งสัมภาระไปยังสถานีอวกาศนานาชาติและพัฒนาต่อยอดเป็นยานอวกาศสำหรับขนส่งนักบินอวกาศ ยาน Dream Chaser นี้เป็นยานอวกาศที่สามารถร่อนกลับมาลงจอดบนรันเวย์ได้เหมือนกับกระสวยอวกาศ แต่มีขนาดที่เล็กกว่ามาก ซึ่งยานอวกาศ Dream Chaser จะสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ทางบริษัทได้เริ่มทดสอบยานอวกาศลำนี้ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาและกำลังอยู่ในขณะขั้นตอนการพัฒนาก่อนที่จะเข้าสู่การทดสอบต่อไป

เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร : ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล: NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Boeing Starlinerยานอวกาศนักบินอวกาศสถานีอวกาศนานาชาติสถานีอวกาศนาซาองค์การนาซาNASAอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด