นักวิจัยเยอรมันพัฒนาหมวกกันน็อกที่มีเซนเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อลดการบาดเจ็บของคนขับรถขุด
งานขับรถเครื่องจักรที่ใช้งานบนทางขรุขระ เช่น รถขุดหรือรถตักดิน เสี่ยงอันตรายได้มากกว่าที่คิด การสวมหมวกนิรภัยเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งนักวิจัยจากประเทศเยอรมนีได้พัฒนาหมวกกันน็อกที่มีเซนเซอร์ช่วยตรวจวัดระดับการสั่นสะเทือนของผู้สวมใส่ขณะขับขี่รถขุดหรือรถตักดิน และจะส่งเสียงเตือนเมื่อมีการสั่นที่รุนแรงเกินไป เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำงาน
หมวกกันน็อกติดเซนเซอร์ภายนอกมีลักษณะคล้ายกับหมวกกันน็อกทั่วไป เพียงแต่มีการติดตั้งเซนเซอร์เพียโซอิเล็กเตรต ที่มีความยืดหยุ่นอยู่ในสายรัดที่พาดผ่านด้านบนศีรษะของผู้ใช้ ซึ่งเซนเซอร์จะอยู่ในรูปแบบของฟิล์มบาง ๆ ที่ทำจากโฟมโพรพิลีนเคลือบอะลูมิเนียม
เซนเซอร์จะทำงานด้วยเอฟเฟกต์ไฟฟ้าเพียโซ ซึ่งจะสร้างสัญญาณไฟฟ้าที่วัดได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทางกายภาพ ยิ่งมีการเสียรูปทรงมากเท่าไร แรงดันไฟฟ้าก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เช่น เมื่อผู้สวมใส่ได้รับการสั่นสะเทือนในขณะขับรถบนพื้นดินขรุขระ เซนเซอร์จะมีรูปร่างผิดปกติซ้ำ ๆ และสร้างสัญญาณขึ้นมา แรงดันไฟฟ้าและความถี่ของสัญญาณนั้นจะส่งไปยังโมดูลตัวส่งสัญญาณบนศีรษะ และส่งข้อมูลต่อไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์และแจ้งเตือนผู้ใช้งานถึงระดับการสั่นที่เป็นอันตราย
การได้รับการสั่นสะเทือนเป็นเวลานานอาจทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้ เช่น ทำลายสมอง กระดูกสันหลัง และดวงตา หมวกกันน็อกเซนเซอร์จึงถูกออกแบบมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยป้องกันการบาดเจ็บเหล่านั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ เซนเซอร์จะช่วยวัดการสั่นสะเทือนในการทำงานในแต่ละวันได้อย่างแม่นยำ และจะช่วยดูแลสุขภาพของผู้สวมใส่ได้
ที่มาข้อมูล: techxplore, newatlas, fraunhofer
ที่มาภาพ: fraunhofer
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech