“ดูไบน้ำท่วม" หลายพื้นที่ ไขสาเหตุทำไมประเทศตะวันออกกลาง เมืองทะเลทรายที่ขึ้นชื่อเรื่องอากาศร้อนจัด และแห้งแล้ง จึงเกิดฝนตกหนักครั้งใหญ่สุดในรอบ 75 ปี
สถานการณ์ฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมในตะวันออกกลาง ทั้งโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยในโอมาน มียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างน้อย 19 คน ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือเป็นการเผชิญฝนตกหนักครั้งใหญ่สุดในรอบ 75 ปีของประเทศ กระทบทั้งการเดินทางตามท้องถนนและการสัญจรทางอากาศ
จากข้อมูลพบว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 140-220 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งในนครดูไบปริมาณน้ำฝนจะอยู่ที่ 97 มิลลิเมตร ขณะที่ปริมาณเฉลี่ยในเดือนเมษายนจะอยู่ที่เพียงประมาณ 8 มิลลิเมตร แต่หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ รายงานว่า บางพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมีปริมาณน้ำฝนมากถึง 254.8 มิลลิเมตร ภายในช่วงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งฝนที่ตกลงมาอย่างหนักครั้งนี้ ถือเป็นฝนตกหนักครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 75 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกมา และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 1 คน
ผลกระทบจากเหตุดูไบฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้เกิดปัญหาการสัญจรทางอากาศ โดยสนามบินดูไบถือเป็นหนึ่งในสนามบินที่มีการจราจรคับคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีเที่ยวบินถูกยกเลิกมากกว่า 270 เที่ยวบิน และเที่ยวบินล่าช้าอีกกว่า 370 เที่ยวบิน ส่งผลให้ผู้โดยสารตกค้างอยู่ในสนามบินเป็นจำนวนมาก
พื้นที่แถบตะวันออกกลาง ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องทะเลทราย และสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้ง แต่ทำไมจึงเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมได้ ?
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS Sci & Tech ระบุว่า เหตุการณ์ฝนตกหนักในตะวันออกกลางจนทำให้เกิดน้ำท่วม น่าจะเป็นผลมาจากวิกฤตโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยก่อนหน้านี้มีรายงานสภาพอากาศของดูไบ บ่งชี้ว่าแม้แนวโน้มปริมาณน้ำฝน "รายปี" จะลดลง แต่มีโอกาสที่จะเผชิญฝนตกหนัก "รายสัปดาห์" จนทำให้เกิดน้ำท่วมได้มากขึ้น
“ถ้าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้น้ำระเหยมากขึ้น ฉะนั้น เมื่อน้ำระเหยเยอะก็รอเจอกับความเย็นที่พัดเข้ามา เจอกันเมื่อไรก็กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และตกเฉพาะพื้นที่บริเวณนั้น เฉพาะวันนั้น ฝนลักษณะแบบนี้ไม่ได้ตกเป็นรายฤดูกาล ต่างจากไทยที่เป็นร่องความกดอากาศ”
"ฝนเทียม" ทำฝนตกหนัก น้ำท่วม จริงหรือ ?
นักอุตุนิยมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศบางคนชี้ให้เห็นว่า การทำฝนเทียม (cloud seeding) อาจทำให้ฝนตกหนักในเมืองทะเลทรายแห่งนี้ โดยรายงานจากสำนักข่าว AP ระบุว่า มีการบินขึ้นไปทำฝนเทียม 6-7 เที่ยวก่อนฝนตก
แต่ในประเด็นนี้ นักอุตุนิยมวิทยาคนอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุของฝนมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ จะเกิดฝนที่สร้างความเสียหายในโอมานและดูไบจะหนักขึ้นอีก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะที่ ดร.เสรี ให้ความเห็นว่า การทำฝนเทียมขึ้นอยู่กับจังหวะธรรมชาติขณะนั้นด้วย หากมีกลุ่มเมฆก้อนใหญ่อยู่แล้ว เมื่อทำฝนเทียมจะเกิดการกระตุ้นทำให้มีกลุ่มเมฆเพิ่มมากขึ้น ก็มีโอกาสทำให้เกิดฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นได้ แต่หากขณะนั้นไม่มีกลุ่มเมฆ ก็ทำให้ได้ปริมาณน้ำฝนไม่มาก และก็อาจจะไม่เกิดน้ำท่วม ซึ่งปัจจัยทางธรรมชาติก็เป็นส่วนที่ต้องคำนึงเช่นกัน เพราะเมฆที่สร้างขึ้นมาจาก "ฝนเทียม" ไม่ได้มีปริมาณมหาศาลที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่
แปลกแค่ไหน ? ฝนตก น้ำท่วม ในประเทศที่มีทะเลทราย
สำหรับในภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ค่อยเกิดพายุมากนัก แต่เมื่อเกิดแต่ละครั้งก็มีขนาดใหญ่ ซึ่ง “ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากในตะวันออกกลาง” ซูซาน เกรย์ ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง กล่าวโดยอ้างถึงการศึกษาล่าสุดที่วิเคราะห์เหตุการณ์เกือบ 100 เหตุการณ์ทั่วคาบสมุทรอาหรับตอนใต้ระหว่างปี 2000-2020 โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและเมษายน และทำให้ดูไบมีน้ำท่วมสูงในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
การศึกษาในปี 2021 พบว่าในทางสถิติการเกิดพายุใหญ่เหนือคาบสมุทรอาหรับตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบ่งชี้ว่าเหตุการณ์ภัยธรรมชาติสุดขั้ว อาจส่งผลกระทบมากกว่าเดิมจากโลกที่ร้อนขึ้น
เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์ฝนตกน้ำท่วมดูไบ เป็นเรื่องแปลกหรือไม่แปลก ? ดร.เสรี มองว่าขึ้นอยู่กับการพิจารณาในแง่ของความเป็นไปได้ เพราะประเทศตะวันออกกลางที่ขึ้นชื่อเรื่องอากาศร้อนและความแห้งแล้งนั้น การเกิดฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วม ในอดีตมีความเป็นไปได้น้อย
แต่ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกไม่เหมือนเดิม "โลกร้อน" มากขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลในประเทศทางตะวันออกกลาง สูงมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้น้ำระเหยไป 7% เพราะฉะนั้นในอนาคตประเทศเหล่านี้ต้องติดตาม เฝ้าระวัง เพราะว่าเป็นเหตุการณ์ที่คาดการณ์ในระยะยาวไม่ได้ ต้องวิเคราะห์กันรายสัปดาห์
อุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้น ใครได้รับผลกระทบ
• แนวปะการัง อุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นและความเป็นกรดเป็นอันตรายต่อแนวปะการังเป็นอย่างมาก นำไปสู่ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) ซึ่งทำให้สาหร่ายซูซึ่งเป็นอาหารของปะการังอพยพออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง จนเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว ซึ่งเมื่อแนวปะการังไม่มีอาหาร จึงส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล
• หมีขั้วโลก อาศัยน้ำแข็งในทะเลในการล่าแมวน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลัก แต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำแข็งในทะเลละลายเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อฤดูกาลที่หมีขั้วโลกสามารถล่าแมวน้ำหรืออาหารได้ สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้หมีขั้วโลกเข้าถึงอาหารได้น้อยลงและอยู่ในสภาพหิวโหย
• เกิดภัยทางธรรมชาติมากขึ้นและถี่ขึ้น เช่น เอลนีโญ ลานีญา คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วม
• น้ำแข็งจากขั้วโลกละลายเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีถิ่นพักอาศัยอยู่ชายฝั่งทะเล อาจถูกคุกคามจากกัดเซาะผิวดิน น้ำท่วม และคลื่นซัดฝั่ง และน้ำใต้ดินตกอยู่ในอันตรายจากการรุกเข้ามาของน้ำเค็ม
โอกาสจะเกิด "ฝนตกหนักที่ดูไบ" อนาคตเป็นไปได้แค่ไหน ?
ดร.เสรี กล่าวว่า การศึกษาระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีมากขึ้น ไม่ใช่แค่ที่ดูไบเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่ตะวันออกกลางทั้งหมดด้วย ประเทศที่ติดทะเลมีโอกาสเจอฝนตกหนักอีกแน่นอน
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น จากสถิติการเกิดฝนตกในยูเออีน้อย ทำให้การออกแบบสาธารณูปโภค ไม่รองรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งอาจจะต้องปรับปรุง เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มาข้อมูล
• https://bit.ly/3Wme0bp
• https://bit.ly/3U1ez7r
• https://nsm.or.th/nsm/th/node/45034
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไขคำตอบ เอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว
Climate Change : เมื่อร้อนเปลี่ยนโลก
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech