ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับแอปพลิเคชัน BeautyCam-AI ที่มีฟีเจอร์ช่วยในการแต่งตัวด้วยชุดต่าง ๆ แต่ที่กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ไทยตอนนี้ คือการสวมใส่ชุด “ผีเสื้อ” อันสุดแสนเซ็กซี่ น่าชวนมอง
และชวนให้ย้อนนึกถึง “ผีเสื้อ” เหล่าแมลงที่มีปีกสีสันสวยงาม แต่ผีเสื้อไม่ได้มีความโดดเด่นแค่ในเรื่องความสวย แท้ที่จริง แมลงชนิดนี้ยังมีเรื่องอันน่าสนใจกว่านั้น เรารวบรวมมาบอกกัน…
1. สีสันอันสวยงามของผีเสื้อมาจากเกล็ดปีก
ผีเสื้อเป็นกลุ่มแมลงที่ได้รับการจัดไว้ในอันดับเลพิดอบเทอรา (Order Lepidoptera) โดย lepis แปลว่า เกล็ด และ pteron แปลว่า ปีก
แมลงในอันดับนี้มีแผ่นปีกปกคลุมด้วยเกล็ดสีเล็ก ๆ เรียงซ้อนกันแบบกระเบื้องมุมหลังคา ซึ่งเกล็ดปีกของผีเสื้อมี 2 ลักษณะ คือ เกล็ดที่ไม่มีเม็ดสีแต่เป็นสันนูนขึ้นมา เมื่อสะท้อนแสงจะเกิดสีรุ้งแวววาว และเกล็ดที่มีเม็ดสีอยู่ภายใน เม็ดสีภายในเกล็ดนี้เกิดได้ทั้งจากสารเคมีที่ผีเสื้อสร้างขึ้นเอง และสารเคมีที่แปรรูปจากสารอาหารที่หนอนผีเสื้อกินเข้าไป เกล็ดสีเมื่อมองเกล็ดด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นเพียงฝุ่นสี และบอบบางมากเพียงสัมผัสด้วยปลายนิ้วเบา ๆ ก็จะหลุดติดมือมา
2.ผีเสื้อมีทั้งประเภทกลางวัน และประเภทกลางคืน
ผีเสื้อมี 2 ชนิด คือ ผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน จุดสังเกตง่าย ๆ ผีเสื้อกลางวัน มีสีสันสดใสกว่า หากินในตอนกลางวัน ปากมีลักษณะเป็นงวง ส่วนผีเสื้อกลางคืน มักมีสีน้ำตาล และไม่มีลายเด่นชัด มักหากินกลางคืน แต่ก็มีบางชนิดออกหากินในเวลากลางวัน เช่น ผีเสื้อหญ้า
ในจำนวนผีเสื้อนับแสนชนิดในโลก พบว่าส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อกลางคืน มีผีเสื้อกลางวันประมาณ 10 % ของผีเสื้อทั้งหมดเท่านั้น
3.ผีเสื้อในประเทศไทยมีอย่างน้อย 40 วงศ์
เคยมีการสำรวจ และจำแนกผีเสื้อในประเทศไทย ว่ามีจำนวนอย่างน้อย 40 วงศ์ แบ่งเป็นผีเสื้อกลางวัน 11 วงศ์ ผีเสื้อกลางคืน 29 วงศ์ ในจำนวน 11 วงศ์ของผีเสื้อกลางวัน จำแนกชนิดได้กว่า 1,114 ชนิด
แม้จะมีผีเสื้อนับพันชนิดในประเทศไทย แต่ก็มีกลุ่มผีเสื้อที่จัดว่าหายาก และเข้าข่ายเป็นสัตว์คุ้มครอง ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 กำหนดแมลงคุ้มครองจำนวน 20 ชนิด ประกอบไปด้วย ผีเสื้อ 16 ชนิด ด้วงปีกแข็ง 4 ชนิด ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพหายากใกล้สูญพันธุ์เกือบทั้งหมด
เหล่าผีเสื้อไทยที่เข้าข่ายหายาก เช่น ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล, ผีเสื้อถุงทองป่าสูง, ผีเสื้อถุงทองปักษ์ใต้, ผีเสื้อนางพญาเมืองเหนือ, ผีเสื้อนางพญาเขมร, ผีเสื้อนางหญ้าพม่า ฯลฯ
4.ผีเสื้อมีวงจรชีวิต 4 ขั้นตอน
หลายคนอาจทราบว่า ผีเสื้อมีวงจรชีวิต 4 ขั้น นั่นคือ ระยะไข่ (Egg Stage) ระยะหนอนหรือยุ้ง (Caterpillar Stage) ระยะดักแด้ (Pupa Stage) และระยะเจริญวัย (Adult Butterfly) แต่สิ่งที่เป็นความพิเศษของพวกมัน คือตลอด 4 ช่วงวงจรชีวิต ล้วนมีสภาพเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกันเลยทั้งสิ้น
ผีเสื้อแต่ละชนิดมีอายุไม่เท่ากัน บางชนิดมีอายุเพียง 1 เดือน บางชนิดมีอายุถึง 1 ปี หน้าที่หลักของพวกมัน หากอยู่ในระยะเจริญวัย จะต้องการผสมพันธุ์เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ ดังนั้น ชีวิตประจำวันของพวกมัน จึงมักออกหาคู่เพื่อผสมพันธุ์ ขณะเดียวกันก็ออกหาอาหารไปด้วย
5.ผีเสื้อไม่ใช่แค่สวย บางตัวก็มีพิษ
แม้จะมีสีสันสวยงาม แต่ผีเสื้อบางชนิดมีพิษอยู่ในตัว เช่น วงศ์ผีเสื้อหนอนใบรัก (Danaidae) รวมไปถึงผีเสื้อกลางคืน หรือ มอธ Bernet (Zygaenidae) ที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งพิษของพวกมัน มีไว้เพื่อป้องกันภัยจากเหล่าบรรดาสัตว์นักล่านั่นเอง
6.ผีเสื้อมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกมากมาย
ผีเสื้อ ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิภาคประเทศไทย เช่น ภาษาเหนือ เรียกว่า แมงกำเบ้อ ส่วนในภาษาอีสาน เรียกว่า แมงกะเบื้อ หรือแมงกะเบี้ย และในภาษาใต้บางถิ่น เรียกว่า แมงบี้
นอกจากนี้ ผีเสื้อ ในภาษาต่างประเทศยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อาทิ ที่เกาหลีเรียกว่า นาบี หรือที่เอธิโอเปีย เรียกว่า Birabiro (บิราบิโร) ในออสเตรเลีย ชนพื้นเมืองเรียกผีเสื้อว่า Bindi (บินดี) หรือที่อเมริกา ชนพื้นเมืองที่นั่นจะเรียกผีเสื้อว่า Aponi (อโพนี)
7.ผีเสื้อ สัตว์ที่แฝงสัญลักษณ์มากมาย
มนุษย์มักหยิบยกเอาเหล่าบรรดา “สัตว์” เป็นสัญลักษณ์แทนความหมายต่าง ๆ แต่หนึ่งในสัตว์ที่มีความหมายมากเป็นลำดับต้น ๆ ต้องยกให้กับ ผีเสื้อ
จากอดีตสู่ปัจจุบัน ผีเสื้อ เป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนของสัญลักษณ์มากมาย เช่น เป็นตัวแทนของความงาม ความสุข อิสรภาพ ความหวัง จิตวิญญาณ รวมไปถึงการเกิดใหม่
อีกหนึ่งความหมายที่เชื่อมโยงกับผีเสื้อ คือคำว่า Butterfly Effect หรือเรียกว่า ทฤษฎีผีเสื้อขยับ เรื่องราวนี้เกิดขึ้นจากนักอุตุนิยมวิทยา นามวา Edward Lorenz เขาคิดค้นวิธีการพยากรณ์อากาศให้แม่นยำด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์
แต่ก่อนจะคิดค้นสูตรขึ้นมาได้ Edward ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในขณะที่กำลังป้อนชุดตัวเลข 0.506127 เพื่อสร้างแบบจำลองอีกครั้ง เขาเกิดความคิด ไม่ใส่ตัวเลข 127 ที่อยู่ข้างหลัง เพราะคิดว่าจำนวนทศนิยมนี้ แทบไม่มีมูลค่าทางสถิติ แต่กลับกลายเป็นว่า ทำให้เขาสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับพยากรณ์อากาศได้สำเร็จ
เรื่องราวนี้สะท้อนเป็นแนวคิดว่า แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่สามารถส่งผลที่ยิ่งใหญ่มหาศาล เฉกเช่นการกระพือปีกของผีเสื้อ ที่อาจก่อให้เกิดพายุขึ้นได้ ดังนั้น ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ อาจไม่ได้เกิดจากการกระทำเพียงแค่ครั้งเดียว แต่เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ลงมือทำในทุก ๆ วัน จนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสักวันหนึ่งนั่นเอง
ความสนุกสนานของการใช้แอปพลิเคชันแต่งตัวด้วยชุด “ผีเสื้อ” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เริ่มจากคนเพียงไม่กี่คน จนกลายเป็นไวรัลที่มีผู้คนมากมายทำตามเหมือน ๆ กัน ทั้งนี้ทั้งนั้น สีสันของผีเสื้อก็ยังคงเป็นเสน่ห์ที่มนุษย์ต่างหลงใหล ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม...