เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารในเมียนมา ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยจำนวนหนึ่งได้แชร์ภาพการชุมนุมพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่า เป็นภาพแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 700 บาท อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้เป็นภาพเก่าจากการชุมนุมประท้วงในปี 2564 และ 2567 นอกจากนี้ AFP ไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่ระบุว่าแรงงานเมียนมาในไทยได้ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องขึ้นค่าแรง 700 บาท
"วันนี้ แรงงานพม่าในไทยเหิมเกริมมากเกิน ทำการเดินขบวนชุมนุมที่หน้าสนง.ยูเอ็น" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายในโพสต์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
คำบรรยายโพสต์ระบุต่อว่า "ส่วนที่แรงงานพม่าเรียกร้อง 700 บาท เอกชนคนไหนรวยเชิญตามสบาย ไปหา สส.ที่เชียร์แรงงานพม่าน่าจ่ายไหว คนไทย 400 บาทยังยากเลย แรงงานอยู่ได้ เอกชนเจ๊งปิดโรงงาน"
โพสต์ดังกล่าวยังแชร์ภาพถ่ายการประท้วงที่มีธงชาติเมียนมาจำนวน 3 ภาพ

โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวได้รับการกดถูกใจมากกว่า 9,000 ครั้ง และถูกแชร์กว่า 15,000 ครั้ง ขณะที่โพสต์อื่นๆ ที่แชร์ภาพเหล่านี้พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันยังปรากฏที่นี่ และ นี่
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นักกิจกรรมชาวไทยและเมียนมาได้รวมตัวกันที่หน้าสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารในเมียนมา

ขณะเดียวกัน กลุ่ม "ไทยไม่ทน" ซึ่งเป็นกลุ่มทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมและชาตินิยม ได้ชุมนุมกันหน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) เพื่อต่อต้านข้อเรียกร้องของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา (ลิงก์บันทึก)
ผู้ประท้วงของกลุ่มไทยไม่ทนอ้างว่า แรงงานเมียนมาได้เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น "600-700 บาท" ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ 400 บาทต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกแชร์ทั้งหมดเป็นภาพเก่า และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในปี 2568
ภาพแรก
การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบว่า 2 ภาพแรกมาจากการประท้วงในปี 2564 และถูกเผยแพร่โดยกลุ่ม Milk Tea Alliance Thailand ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2563
บัญชี Milk Tea Alliance Thailand ได้เผยแพร่ภาพดังกล่าวในโพสต์ X เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมคำบรรยายว่า "สู้เพื่อประชาธิปไตย" (ลิงก์บันทึก)
ตัวแทนจากกลุ่ม Milk Tea Alliance Thailand ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ภาพดังกล่าวมาจากการประท้วงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งผู้ประท้วงเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
มีผู้ชุมนุมร่วมเดินขบวนราว 2,000 คน รวมถึงแรงงานเมียนมาที่ร่วมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐประหารในประเทศตนเองด้วย
ภาพที่ 2
ภาพที่ 2 ถูกเผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กของ Milk Tea Alliance Thailand เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 (ลิงก์บันทึก)
"ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ระหว่างการประท้วงต่อต้านเผด็จการไทยและเมียนมา" ตัวแทนจากกลุ่ม Milk Tea Alliance Thailand ยืนยันกับ AFP
ภาพดังกล่าวแสดงการประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 (ลิงก์บันทึก)
ภาพที่ 3
AFP พบว่าภาพที่ 3 ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในโพสต์ X เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 โดยโพสต์ดังกล่าวได้เขียนคำบรรยายพร้อมแฮชแท็ก #BangkokPride2024 (ลิงก์บันทึก)
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2658 มีการจัดงานบางกอกไพรด์ในกรุงเทพฯ โดยผู้เข้าร่วมขบวนได้ออกมาเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) สมรสเท่าเทียม รวมถึงการสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมาและดินแดนปาเลสไตน์
ผู้ใช้ X ดังกล่าวได้แชร์คำอธิบายชุดข้อมูล (Metadata) ของภาพกับ AFP ซึ่งยืนยันว่าภาพดังกล่าวถูกถ่ายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567
ไม่มีรายงานว่าแรงงานเมียนมาประท้วงเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท
AFP ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือใด ๆ ที่ยืนยันว่าแรงงานเมียนมาในประเทศไทยได้ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท
อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Worker Group) ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า "ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ" ว่าแรงงานเมียนมาในประเทศไทยรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท
วีระ แสงทอง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานเมียนมาในไทยจากกลุ่ม Bright Future ระบุกับ AFP ว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 เขาได้ยื่นจดหมายเรียกร้อง 6 ข้อต่อหน่วยงานสหประชาชาติในกรุงเทพฯ
ข้อเรียกร้องเหล่านี้รวมถึงการรับรองบัตรชมพู (บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย) การเร่งช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบริเวณชายแดนเมียนมา และการเรียกร้องให้สหประชาชาติคว่ำบาตรการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาปี 2568
วีระระบุว่า "ไม่มีข้อไหนเลยที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท"

AFP พบว่าคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ "ค่าแรง 600-700 บาท" มีที่มาจากคลิปสัมภาษณ์ของวีระ ระหว่างการชุมนุมวันแรงงานข้ามชาติสากลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 อย่างไรก็ตาม คำพูดดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการของแรงงานเมียนมาในประเทศไทย (ลิงก์บันทึก)
กระทรวงแรงงานของไทยระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ระหว่าง 337 - 400 บาทต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป (ลิงก์บันทึก)
ข้อมูลจาก : AFP
องค์กรสิทธิแรงงานสะท้อน แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบ
ด้าน นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.) ระบุว่า กระแสข่าวการเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรง 700 บาท ให้กับแรงงานชาวเมียนมานั้น ตนเองเชื่อว่า ไม่เป็นความจริง และแม้ว่าการชุมนุมที่จัดขึ้นล่าสุดจะเป็นชาวต่างชาติก็จริง แต่จุดประสงค์ของการออกมาเรียกร้องนั้น แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศก็ได้คาดการณ์ว่ามีหลายจุดประสงค์ อันดับแรกคือ ขณะนี้ทางฝั่งเมียนมาอยู่ในช่วงของการขาดกำลังทหาร และอาจจะมีการส่งกลุ่มคนของตนเองมายังประเทศไทย เพื่อที่จะสร้างกระแสปั่นป่วน ให้ไทยผลักดันแรงงานที่อยู่ในประเทศไทยออกนอกประเทศ เพื่อที่จะนำคนเหล่านี้ไปเป็นทหาร

ส่วนข้อสังเกตของตนเองนั้น มองว่าถ้าหากคนงานกล้าขนาดนั้น ก็คงจะตกงานไปแล้ว เพราะสำหรับคนงานเหล่านี้ แม้จะบอกให้ปกป้องสิทธิของตนเองพวกเขายังทำไม่ได้ ซึ่งผลกระทบจากข่าวที่ออกมาส่งผลชัดเจน เพราะทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไม่กล้าที่จะออกไปข้างนอก เช่น วันสำคัญต่าง ๆ ที่เคยมีการชักชวนแรงงานข้ามชาติไปร่วมกิจกรรม แต่ปัจจุบันแรงงานกลุ่มนี้ก็ไม่กล้าออกไปร่วมงาน เพราะกังวลว่าจะถูกมองในแง่ลบ
ทั้งนี้มองว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเพียงแค่ความเห็นของบางคน บางกลุ่ม ที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อจะปั่นป่วน เพื่อให้คนไทยมีความรู้สึกเกลียดชังมากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้จากการแสดงความคิดเห็น ที่มีผู้ออกมาแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่าง ๆ ออกมา
ส่วนตัวมองว่าค่าจ้าง 700 บาท ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมามีการวิจัยตั้งแต่ปี 2560 ที่พบว่าหากต้องการทำให้แรงงานในประเทศอยู่ได้ อาจต้องใช้เงินค่าจ้างถึง 712 บาทต่อวัน
นอกจากนี้หากเป็นคนงานจริง ๆ ก็เชื่อว่าคงไม่มีเวลาไปแสดงตนหรือชุมนุมเรียกร้องอะไรแบบนั้น เพราะแรงงานเหล่านี้ต้องมีคนพาไป เนื่องจากไปเองไม่ถูก อีกทั้งเรื่องการเรียกร้องสิทธิก็ถือเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับแรงงานกลุ่มนี้ เพราะแม้แต่เรื่องของสวัสดิการ การเข้าถึงหน่วยงานจัดหางานระดับจังหวัด หรือเข้าถึงสิทธิประกันสังคม แรงงานเหล่านี้ก็ไม่รู้จัก และพวกเขาส่วนใหญ่ก็จะอยู่แต่ในพื้นที่ และทำแต่งานเพียงเท่านั้น แม้ว่าเราจะพยายามปกป้องสิทธิให้เขา แต่พวกเขายังไม่สะดวกที่จะร่วมมือเลย ดังนั้นจึงมองว่า แรงงานที่แท้จริงคงไม่มีเวลาออกไปประท้วงหรือออกไปชุมนุมอย่างที่เห็น