“ทอง” ถือเป็นสินทรัพย์ยอดนิยมที่คนมักหามาถือครองเพื่อหวังเพิ่มมูลค่า สร้างดอกไม้กำไรเพื่อความมั่นคงให้กับชีวิต ทว่าทองก็มีหลายแบบหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น “ทองคำ” "ทองเค" รวมถึง “ทองปลอม”
Thai PBS ชวนมาทำความรู้จักความแตกต่าง ทองคำ ทองเค และทองปลอม แตกต่างกันอย่างไร ? ทองคำที่สะสมกันเป็นอย่างไร ? ทองเคคืออะไรกันแน่ ? แล้วทองปลอมในยุคนี้ พอจะมีวิธีสังเกตได้อย่างไรบ้าง ?
ทองคำ สินทรัพย์ยอดนิยมสำหรับการลงทุน
ทองคำ ถูกมองว่าเป็นสิ่งมีค่ามาอย่างยาวนาน ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นทั้งความสวยงาม และการเป็นวัสดุที่มีความคงทน มีคุณสมบัติเฉพาะตัวของการไม่เป็นสนิมเมื่อถูกอากาศ อย่างไรก็ตาม มนุษย์ให้ค่ากับทองคำมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงยุคสมัยปัจจุบัน ทองคำก็ยังได้รับความสนใจในฐานะสินทรัพย์สำหรับการลงทุนอย่างหนึ่ง โดยมักจะมีราคาสูงขึ้นในช่วงวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ
ทองคำที่ใช้ซื้อ – ขายกันสำหรับการลงทุนจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ทองคำแท่ง จะมีค่าทองคำเป็นส่วนผสมของทองอยู่สูงถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ หรือมีค่าทองคำที่ประมาณ 24k และทองรูปพรรณ จะมีส่วนผสมของทองอยู่ที่ 96.5 เปอร์เซ็นต์ หรือค่าทองคำที่ประมาณ 23.16k ซึ่งเหมาะสำหรับการขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับ เป็นเหตุให้ทองทั้ง 2 ประเภท เป็นที่นิยมสำหรับการค้าขาย เป็นสื่อกลางในการลงทุน
ทองเค ทองประดับหลากหลายเกรด
ทอง จะมีหน่วยเรียกความบริสุทธิ์ โดยเรียกเป็น เค (k) ที่ย่อมาจากกะรัต (Karat) สะท้อนถึงการมีส่วนผสมของทองอยู่ปริมาณมากน้อยขนาดไหน ซึ่ง “ทองเค” ถือเป็นทองแท้แบบหนึ่ง แต่แบ่งได้หลายเกรด ตามตัวเลขนำหน้าตัวเค ยิ่งตัวเลขน้อย จะยิ่งมีส่วนผสมของทองน้อยลง ทองเคที่มีค่าเคน้อย มักจะเป็นทองตามร้านเพชรหรือเครื่องประดับต่าง ๆ เนื่องจากจะทำให้เครื่องประดับมีความแข็งแรงพอที่จะฝังอัญมณีเม็ดเล็ก ๆ ลงไปแล้วสามารถยึดเกาะได้ โดยส่วนใหญ่แล้วตามร้านเพชรจะมีค่าของทองเคอยู่ที่ 8k, 9k, 10k, 14k และ 18k
ทองปลอม ยิ่งทองพุ่งยิ่งระบาดหนัก
ปัจจุบันราคาทองมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหล่ามิจฉาชีพหากลวิธีหลอกขายทองซึ่งพบได้จากร้านค้าออนไลน์บางแห่งหลอกขายทองคำปลอมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทองเกรด A หรือทองโคลนนิ่ง เป็นทองปลอมที่ไว้ทำเครื่องประดับตกแต่ง อาจไม่มีส่วนผสมของทองอยู่เลย ทองไมครอน คือทองที่ผ่านการชุบแบบพิเศษ ทำให้สีสันเหมือนทองแท้ โดยทองเหล่านี้สามารถใช้วิธีตรวจสอบพื้นฐาน ได้แก่ การดูจากน้ำหนัก หยดกรด เผาไฟ รวมถึงใช้แม่เหล็ก ซึ่งทองแท้น้ำหนักจะแตกต่างจากทองปลอม และจะไม่เสียหายจากกรด ไม่ดำจากการเผาไฟ และไม่ถูกดูดด้วยแม่เหล็ก
ล่าสุดกับ “ทองยัดไส้” ที่ภายนอกดูเป็นทองคำ แต่ภายใช้ผงโลหะทังสเตนมาหลอมเป็นทอง ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างมาก ร้านค้าทองขนาดเล็กอาจตกเป็นเหยื่อได้ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือตรวจสอบแบบเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการต่อทอง โดยนำเอาทองที่มีตราสัญลักษณ์ร้านทองดัง มาต่อหัวต่อท้าย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จึงมีคำแนะนำสำหรับผู้สนใจทองในช่วงนี้ ให้ซื้อกับร้านทองที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น
ทองปลอม จัดการอย่างไรได้บ้าง ?
ทองปลอมที่มีการหลอกขายโดยมิจฉาชีพถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341 ที่ระบุว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง หรือหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ... มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในปัจจุบันมีการหลอกขายทองในหลายรูปแบบ ผู้ที่ถูกหลอกสามารถดำเนินการได้ดังนี้
- กรณีพบการขายทองปลอมออนไลน์สามารถติดต่อ สายด่วน 1441 เพื่ออายัดบัญชีได้ทันที
- รวบรวมหลักฐาน เช่น สลิปโอนเงิน แชทสนทนา เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.go.th
- การแจ้งความร้องทุกข์ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือน นับจากวันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด หากเลยวันดังกล่าวจะถือว่าขาดอายุความ
- กรณีการถูกหลอกขายทองปลอมถือเป็นคดีความเกี่ยวกับผู้บริโภคสามารถปรึกษาสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่สายด่วน 1502 หรือร้องเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/
ทองคำซื้อขายปลอดภัยได้ที่ไหนบ้าง ?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการหลอกซื้อขายทองคำเพิ่มมากขึ้น สภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีข้อแนะนำสำหรับการเลือกซื้อทองคำดังต่อไปนี้
1. เลือกซื้อทองคำจากร้านขายทองที่มีสถานที่ตั้งร้านชัดเจน
2. เลือกซื้อจากร้านทองที่ปรากฎสัญลักษณ์ ป้ายสมาชิกสมาคมค้าทองคำ (Gold Traders Association) โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านได้ที่เว็บไซต์ www.goldtraders.or.th
3. เลือกซื้อทองจากร้านที่มีใบรับประกัน การซื้อทองซึ่งเป็นสินค้าที่มูลค่าสูง ควรมีใบรับประกันสินค้าเพื่อเป็นเครื่องยืนยันการซื้อขายจากร้าน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ทองปลอมระบาดหนัก มิจฉาชีพใช้เทคนิคใหม่ยัดไส้โลหะ ยากตรวจสอบ