เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนเมษายน 2567
1 เมษายน : วันแห่งการโกหก (April Fool's Day)
วันที่ 1 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันแห่งการโกหก (April Fool's Day)” ซึ่งเป็นการละเล่นที่ผู้คนนิยมเล่นมุกตลก รวมถึงเรื่องหลอกลวง ให้เพื่อน ๆ ได้สงสัยว่า มันจริงหรือไม่จริงกันแน่ ? ในโลกตะวันตก สำนักพิมพ์หรือสื่อต่าง ๆ อาจรายงานเรื่องหลอกลวงในวันนี้ และออกมาเฉลยในวันต่อมา
ที่มาของ “วันแห่งการโกหก (April Fool's Day)” เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากที่ “สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 (GREGORIUS Tertius Decimus)” ทรงปฏิรูประบบปฏิทินในปี ค.ศ. 1582 โดยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากเดิมคือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม แต่ด้วยการกระจายข่าวสารในยุคสมัยนั้น ไม่ได้สะดวกรวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน จึงมีชาวฝรั่งเศสบางกลุ่มไม่ทราบและถึงกับไม่เชื่อในข่าวนี้ด้วย จึงยังคงเฉลิมฉลองปีใหม่และส่ง ส.ค.ส. ให้กันในวันที่ 1 เมษายน ตามเดิม เรื่องนี้จึงกลายเป็นการแกล้งอำ เย้ยหยัน ล้อเลียนกัน ที่เรียกว่า “เมษาหน้าโง่” เริ่มเป็นที่นิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในแคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา ต่อมาจึงแพร่หลายไปทั่วโลกในที่สุด
ยังมีอีกหนึ่งความเชื่อว่า “วันแห่งการโกหก (April Fool's Day)” อาจเริ่มมาจากกลุ่มโรมันโบราณ ที่มีเทศกาล “Cerealia (ซีรีอัลเลีย)” ในช่วงเมษายน “ซีรีส (Ceres)” เทพปกรณัมของโรมัน ทรงได้ยินเสียงสะท้อนของพระธิดา “พรอเซอร์พีนา (Proserpina)” ตะโกนมาว่าถูก “เทพพลูโต (Pluto)” จับตัวไปอยู่ใต้ผืนดิน จึงตามเสียงลูกสาวไป และได้พบความจริงว่า นั่นเป็นเสียงสะท้อน ซึ่งทำให้ดูไม่ฉลาดและเหมือนว่าพระองค์ทรงถูกหลอก
นอกจากนี้ “วันแห่งการโกหก (April Fool's Day)” ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หนุ่มสาวจะออกตามหาความรัก และยังเป็นช่วงที่พืชพันธุ์เจริญเติบโต สัตว์ต่าง ๆ ก็ออกหาคู่เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ กลุ่มนักบวชจึงจะร่วมกันสวดมนต์ เพื่อหลอกล่อเหล่าวิญญาณของความชั่วร้าย ไม่ให้มาขัดขวางความรักของหนุ่มสาว พืช และสัตว์
1 เมษายน : วันฟอสซิลฟูลส์ (Fossil Fool's Day)
นอกจากวันที่ 1 เมษายน ของทุกปีจะเป็น “วันแห่งการโกหก (April Fool's Day)” แล้ว ยังเป็น “วันฟอสซิลฟูลส์ (Fossil Fool's Day)” ซึ่งเป็นการเล่นคำกันอีกด้วย โดยวันนี้กำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) คือ แหล่งพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น มุ่งเน้นให้ผู้คนได้เข้าใจถึงผลกระทบที่เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมหาศาล เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ที่มาของ “วันฟอสซิลฟูลส์ (Fossil Fool's Day)” เริ่มขึ้นในปี 2547 นักเรียนชาวแคนาดาและอเมริกัน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ผ่านการแสดงเชิงสัญลักษณ์ เช่น การแต่งกายเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีรูปร่างผิดปกติจากการรั่วไหลของก๊าซ การวางท่อสีดำตลอดแนวถนน เพื่อแสดงการต่อต้านท่อส่งน้ำมัน เป็นต้น
1 เมษายน : วันเลิกทาส
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลิกทาส และประกาศใช้ “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124” ทำให้ทาสทุกคนเป็นไทนับตั้งแต่วันนั้น นับเป็นการยุติระบบทาสในไทย โดยไม่เสียเลือดเนื้อเหมือนในประเทศอื่น ต่อมาจึงถือเอาวันที่ 1 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันเลิกทาส”
ที่มาของการเลิกทาสนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นจากการเลิกทาส (12 เมษายน 2404 - 9 พฤษภาคม 2408) โดยมีการสำรวจจำนวนทาสและตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2417 โดยแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ ให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุ 20 ปี เมื่อมีอายุได้ 21 ปี ทาสผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี 2411 เป็นต้นไป รวมทั้งออกพระราชบัญญัติให้ทาสในมณฑลต่าง ๆ มีโอกาสไถ่ถอนตัวเองได้ ทั้งห้ามไม่ให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปี เป็นทาสอีก ใช้เวลาในการเลิกทาสรวม 31 ปี
1 เมษายน 2524 : เกิดเหตุการณ์ “กบฏยังเติร์ก (กบฏเมษาฮาวาย)”
เกิดเหตุการณ์ “กบฏยังเติร์ก (กบฏเมษาฮาวาย)” โดยทหารกลุ่ม จปร.7 ก่อกบฏเพื่อยึดอำนาจ “พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คณะผู้ก่อการนำโดย “พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา” “พันเอกมนูญ รูปขจร” “พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์” “พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร” “พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล” “พันโทพัลลภ ปิ่นมณี” “พันเอกสาคร กิจวิริยะ” และ “พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ”
ทั้งหมดจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7 หรือรุ่นยังเติร์ก โดยได้ทำการจับตัวนายทหารฝ่ายตรงข้ามและออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ ต่างฝ่ายต่างมีการปลดตำแหน่งทางทหารกัน ส่วน “พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์” ได้เดินทางไปตั้งกองบัญชาการตอบโต้ที่จังหวัดนครราชสีมา และถวายอารักษ์ขาพระมหากษัตริย์ พระราชินี รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นจึงใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร การกบฏจึงสิ้นสุดลง โดยไม่ได้มีการปะทะกัน ต่อมาคณะผู้ก่อการจึงเดินทางออกนอกประเทศ และได้รับอภัยโทษในเวลาต่อมา
2 เมษายน : วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์”
พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการ อันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศ และพระราชอิสริยศักดิ์ เป็น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2520
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการ เฉลิมพระนามาภิไธย “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” เป็น “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” นับเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศที่ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า” โดยยังทรงพระอิสริยยศ “กรมสมเด็จพระ” และ “สยามบรมราชกุมารี” ตามที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ
2 เมษายน : วันอนุรักษ์มรดกไทย
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 กรมศิลปากรได้เสนอคณะรัฐมนตรี ให้กำหนดวันอนุรักษ์มรดกไทยขึ้น เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรม และพระมหากรุณาธิคุณในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย”
โดยในวันนี้ หน่วยงานราชการจะร่วมกันจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดการแสดง การฉายภาพยนตร์ ทัศนศึกษาโบราณสถาน รวมทั้งรณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะ ทำความสะอาดโบราณสถานและศาสนสถาน พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมอื่น ๆ เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย
2 เมษายน : วันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-Checking Day : IFCN)
เพราะโลกแห่งการสื่อสารอันรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันเต็มไปด้วยข่าวสารที่มากมาย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม! วันแห่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงถูกกำหนดขึ้น ให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-Checking Day : IFCN)” โดยการรณรงค์ของ “เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างประเทศแห่งสถาบันพอยน์เตอร์ (International Fact-Checking Network at Poynter)” ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ร่วมมือกับองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชนในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อทำภารกิจรับมือและต่อต้านกระแสการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเช็กข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และยังได้แนะนำวิธีการสังเกตเว็บข่าวปลอมผ่านเว็บไซต์ factcheckingday.com
ส่วนเหตุผลที่กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-Checking Day : IFCN)” ก็เพราะเป็นวันที่ถัดจาก “วันแห่งการโกหก (April Fool's Day)” ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เพื่อเตือนสติผู้คนและป้องกันไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงได้อีก
2 เมษายน : วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day)
องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN) ได้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day)” เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนเกิดความเข้าใจและการยอมรับบุคคลที่เป็นออทิสติก ส่งเสริมให้ผู้ป่วยออทิสติกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข
“โรคออทิสติก (Autistic Disorder)” หรือ “กลุ่มอาการออทิสติก (Autistic Spectrum)” เป็นความผิดปกติทางจิตเวชเด็กที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านภาษา สังคม และพฤติกรรม ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความบกพร่องทางพัฒนาการ
2 เมษายน : วันเฟอร์เร็ตแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Ferret Day)
“วันเฟอร์เร็ตแห่งชาติ (National Ferret Day)” ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการในปี 2557 โดย “แครอล โรช (Carol Roche)” สาวนิวยอร์ก ผู้หลงใหลในสัตว์เลี้ยงตัวใหม่อย่างเจ้าเฟอร์เร็ต ร่วมกับ “American Ferret Association, Inc. (AFA)” สมาคมเฟอร์เร็ตในอเมริกา เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้กับผู้คนเกี่ยวกับ “เฟอร์เร็ต (Ferret)” ที่เกือบ รวมถึงการดูแลที่ถูกต้อง โภชนาการ และสวัสดิการ
“เฟอร์เร็ต (Ferret)” เป็นสัตว์ในวงศ์พังพอน หนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอเมริกาเหนือที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าน้องเขากินเนื้อหรือไม่ ถ้าได้เห็นฟันอันคมกริบในปากแหลม ๆ นั้น “เฟอร์เร็ต (Ferret)” เริ่มรู้จักผู้คนและเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน ด้วยนิสัยที่มีชีวิตชีวา ชอบคุ้ยเขี่ย ฉลาดแสนรู้ และยังเป็นเจ้าของตำแหน่งนักล่าเจ้าเล่ห์อีกด้วย
2 เมษายน 2415 : “ซามูเอล ฟินเลย์ บรีส มอร์ส” ผู้ประดิษฐ์ “รหัสมอร์ส” เสียชีวิต
“ซามูเอล ฟินเลย์ บรีส มอร์ส (Samuel Finley Breese Morse)” นักประดิษฐ์และจิตรกรชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2334 เมืองชาร์ลส์ทาวน์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เขาคือผู้ประดิษฐ์เครื่องส่งสัญญาณไฟฟ้าทางไกล และผู้คิดค้น “รหัสมอร์ส (Morse Code)” ขึ้นจากความตั้งใจที่แน่วแน่ ในการหาวิธีการสื่อสารที่รวดเร็วยิ่งกว่าจดหมายขึ้นมาให้ได้ หลังจากที่เขาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาล่าช้าไปถึง 3 วัน
เขาทุ่มเทเวลาไปกับการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้า พร้อมกับเก็บเงินทีละเล็กทีละน้อย เพื่อซื้ออุปกรณ์สร้างเครื่องส่งโทรเลข และทำการทดลอง “รหัสมอร์ส (Morse Code)” โดยการส่งข้อความด้วยสัญญาณสั้น-ยาว ในรูปแบบของสัญลักษณ์หรือเสียง แทนตัวอักษรต่าง ๆ ที่กำหนดไว้เป็นสากล จนประสบความสำเร็จในที่สุด ต่อมาระบบโทรเลขของเขาก็ได้กลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่คนทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลายในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่โทรศัพท์ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และอินเตอร์เน็ตจะกำเนิดขึ้นในโลก
แม้ว่า “รหัสมอร์ส (Morse Code)” จะถูกใช้ในระบบโทรเลข เพื่อการสื่อสารระยะไกลแทนข้อความหรือตัวอักษร รวมถึงวงการวิทยุสมัครเล่น แต่ในหมู่ผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่เสี่ยง อาจใช้ “รหัสมอร์ส (Morse Code)” เพื่อส่งข่าวสารในยามคับขันด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น ไฟกะพริบ การเคาะจังหวะ หรือแม้แต่การกะพริบตา
“ซามูเอล ฟินเลย์ บรีส มอร์ส (Samuel Finley Breese Morse)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2415 ที่บ้านพักในเมืองนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ขณะมีอายุได้ 81 ปี
3 เมษายน : วันตามหาสายรุ้งแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Find A Rainbow Day)
วันที่ 3 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันตามหาสายรุ้งแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Find A Rainbow Day)” งานศิลปะจากธรรมชาติที่เป็นเหมือนแสงแห่งความหวังหลากสีที่สาดส่องไปทั่วท้องฟ้าหลังฝนตก
“สายรุ้ง (Rainbow)” หรือที่เราอาจรู้จักในอีกชื่อว่า “รุ้งกินน้ำ” คือสเปกตรัมของแสงในรูปโค้งหลากสีที่ปรากฏบนท้องฟ้า เกิดจากการสะท้อนและการหักเหของแสงในหยดน้ำในชั้นบรรยากาศโลก มักปรากฏตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ
ความสดใสหลากสีหลายเฉดของ “สายรุ้ง (Rainbow)” นั้น มีสูตรให้จดจำได้ง่าย ๆ เรียกว่าสูตร “ROYGBIV” ซึ่งย่อมาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของสีนั้น ๆ คือ
Red - แดง | Orange - ส้ม | Yellow - เหลือง | Green - เขียว | Blue - น้ำเงิน | Indigo - คราม | Violet - ม่วง
3 เมษายน 2440 : “โยฮันเนิส บรามส์” คีตกวีชาวเยอรมัน เสียชีวิต
“โยฮันเนิส บรามส์ (Johannes Brahms)” คีตกวีชาวเยอรมันยุคโรแมนติก เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2376 ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เขาเรียนดนตรีกับพ่อมาตั้งแต่เด็ก และเริ่มเป็นนักดนตรีอาชีพตั้งแต่อายุ 13 ปี ในปี 2405 เขาเดินทางไปกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่นั่นผู้คนเริ่มเห็นฝีมือของเขาและยกย่องให้เป็น “ทายาททางดนตรีของบีโธเฟน”
เขาแต่งซิมโฟนีบทแรกได้สำเร็จในปี 2419 และได้รับการขนานนามว่า “ซิมโฟนีบทที่ 10 ของบีโธเฟน” จากนั้นก็ได้ประพันธ์ดนตรีขึ้นอีกจำนวนมาก ชิ้นสำคัญ ได้แก่ ซิมโฟนี 4 บท เปียโนคอนแชร์โต 2 บท ไวโอลินคอนแชร์โต 1 บท ดนตรีแชมเบอร์ และเพลงขับร้องประสานเสียงหลายเพลง เช่น A German Requiem
ผลงานตอนหนุ่มของเขา มีลักษณะยืดเยื้อและแสดงอารมณ์รุนแรง แต่พออายุมากขึ้นจึงกระชับและเข้มข้น เขาได้รับการยกย่องจากผู้ที่ไม่ชอบดนตรีแผนใหม่ (Modernism) ตามแบบของวากเนอร์ (Wagner) ว่า เป็นผู้กอบกู้ดนตรีคลาสสิกตามแบบแผนดั้งเดิมเอาไว้
“โยฮันเนิส บรามส์ (Johannes Brahms)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2440 ที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย
3 เมษายน 2516 : โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกถูกผลิตขึ้น
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2516 โทรศัพท์มือถือ (Mobile / Cell Phone) เครื่องแรกของโลกได้ถูกผลิตขึ้นโดย “มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper)” ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท โมโตโตลา (Motorola) เขาได้ทดลองใช้โทรศัพท์มือถือโมโตโตลา (Motorola) รุ่น DynaTAC ซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบ โทรไปหา “โจเอล เอ็งเจล (Joel Engel)” หัวหน้านักวิจัยของบริษัท AT&T และ Bell Labs ก่อนที่โทรศัพท์มือถือโมโตโตลา (Motorola) รุ่น DynaTAC 8000X จะออกวางจำหน่ายในปี 2526 นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโทรศัพท์มือถือที่ปฏิวัติโลกแห่งการสื่อสารในยุคนั้น
4 เมษายน : วันทุ่นระเบิดสากล (International Mine Awareness Day)
องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN) ได้กำหนดให้วันที่ 4 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันทุ่นระเบิดสากล (International Mine Awareness Day)” เพื่อให้ความรู้ สร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้ทราบถึงปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีอยู่ในหลายประเทศ พร้อมทั้งรณรงค์ระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติ ในการร่วมขจัดปัญหาทุ่นระเบิดให้หมดไปอย่างเร่งด่วน
4 เมษายน : วันภาพยนตร์แห่งชาติ
วันที่ 4 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันภาพยนตร์แห่งชาติ (วันหนังไทย)” โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวันนี้ไว้ให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาพยนตร์ไทย ในฐานะงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี
โดยภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือ “นางสาวสุวรรณ (Suvarna of Siam)” เข้าฉายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2466 ซึ่งนักแสดงนำทั้งหมดมาจากกรมมหรสพหลวง ทั้งนางเอก “นางสาวสุวรรณ” รับบทโดย “นางสาวเสงี่ยม นาวีสเถียร” พระเอก “นายกล้าหาญ” รับบทโดย “ขุนรามภรตศาสตร์” ตัวร้าย “นายก่องแก้ว” รับบทโดย “หลวงภรตกรรมโกศล”
4 เมษายน 2492 : วันก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)”
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2492 ได้มีการรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ และโปรตุเกส โดยร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty) เพื่อก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation : NATO)” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2492
วัตถุประสงค์เริ่มแรกก่อตั้ง คือจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหาร ในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ
โดยปัจจุบัน “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation : NATO)” มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 32 ประเทศ (ล่าสุดคือ ประเทศสวีเดน - 7 มีนาคม 2567)
4 เมษายน 2511 : “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์” ถูกลอบสังหารเสียชีวิต
“มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.)” นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เกิดที่แอตแลนตา รัฐจอร์เจียเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2472 เขาเป็นผู้นำขบวนการเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของสีผิวในสหรัฐอเมริกา โดยใช้หลักอหิงสาแบบมหาตมะคานธี เขาได้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2506 เขาได้แสดงสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียง I Have a Dream ปีต่อมาเขาได้รับ รางวัลสันติภาพเคเนดี (Kendy Peace Prize) และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2507
“มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.)” ถูกลอบสังหาร ขณะนั่งพักผ่อนอยู่โรงแรมลอเรน เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2511 หลังจากนั้นชื่อของเขาก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติจวบจนทุกวันนี้
เขาเคยกล่าววาทะที่สร้างแรงบันดาลใจว่า
If you can’t fly, then run. If you can’t run, then walk. If you can’t walk, then crawl. But whatever you do, you have to keep moving forward.
From Speech at Barratt Junior High School in Philadelphia (1967)
ถ้าคุณบินไม่ได้ จงวิ่ง ถ้าคุณวิ่งไม่ได้ จงเดิน ถ้าคุณเดินไม่ได้ จงคลาน ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม คุณต้องก้าวต่อไปข้างหน้าให้ได้ (2510)
4 เมษายน 2567 : วันเช็งเม้ง 2567
“วันเช็งเม้ง” เป็นประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะมีประเพณีปฏิบัติ คือการทำความสะอาดปัดกวาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ มีพิธีเซ่นไหว้อาการแก่บรรพบุรุษ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ และไม่ให้อดอยากเมื่อไปอยู่อีกภพหนึ่ง มีพิธีเซ่นไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นการให้เกียรติ รวมถึงแสดงความขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแล โดยชาวจีนมักจะหยุดงานมาร่วมพิธีอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา จึงถือว่า “วันเช็งเม้ง” เป็นเหมือนวันพบญาติของชาวจีนด้วย
ความหมายของคำว่า “เช็งเม้ง” มาจากคำว่า “ชิงหมิง (qing-ming)” ซึ่งเป็นชื่อของสารท (1 ปี มี 24 สารท) โดยคำว่า “เช็ง” หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า “เม้ง” หมายถึง สว่าง เมื่อนำมารวมกันแล้ว “เช็งเม้ง” จึงหมายถึง “ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์”
ในปี 2567 “วันเช็งเม้ง” ตรงกับวันที่ 4 เมษายน 2567 ตามปฏิทินจีนน่ำเอี๊ยง 2567 โดย “เทศกาลเช็งเม้ง” จะนับตั้งแต่วันก่อนถึงวันเช็งเม้ง 3 วัน และวันถัดไปอีก 3 วัน ซึ่งในปัจจุบันเนื่องจากปัญหาการจราจร จึงทำให้มีการขยายช่วงเวลาเทศกาลเช็งเม้งในประเทศไทย ให้เร็วขึ้นอีก 3 สัปดาห์ คือช่วงระหว่างวันที่ 15 มีนาคม - 8 เมษายน 2567 สำหรับภาคใต้ เช่น จังหวัดตรัง จะจัด “เทศกาลเช็งเม้ง” เร็วกว่าที่อื่น 1 วัน คือ วันที่ 4 เมษายน ของทุกปี
5 เมษายน : วันคล้ายวันประสูติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2494 เวลา 23.28 น. ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับพระราชทานพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี”
โดยพระนามของพระองค์ มาจากพระนามและนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ อันได้แก่ สร้อยพระนาม “สิริ” มาจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สร้อยพระนาม “วัฒนา” มาจากพระนามาภิไธยเดิมของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ สว่างวัฒนา และพระนาม “อุบลรัตน์” มีความหมายว่า “บัวแก้ว” มาจากนามของหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระอัยยิกาฝ่ายพระราชชนนี ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตรัสเรียกว่า “เป้” อันเป็นคำลดรูปของคำว่า “ลาปูเป้ (La Poupée)” ในภาษาฝรั่งเศส
พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการในด้านการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจนเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิก “ใครติดยายกมือขึ้น” ตามแนวทางโครงการ TO BE NUMBER ONE ทรงให้การช่วยเหลือราษฎร และให้โอกาสผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ อีกทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง รวมทั้งทรงเป็นผู้ดำเนินรายการที่เป็นประโยชน์แก่สังคม “Talk To The Princess” ด้วย
5 เมษายน 2518 : “เจียง ไคเช็ค” หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง และผู้ก่อตั้งไต้หวัน เสียชีวิต
“เจียง ไคเช็ค (Chiang Kai-shek)” นักการเมืองและผู้ก่อตั้งไต้หวัน เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2430 ที่มณฑลซีเจียง (Zhejiang) จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยของญี่ปุ่น กลับมาเมืองจีนในปี 2454 เป็นหัวหน้าพรรค ก๊กมินตั๋ง (Kuomintang-KMT) หลังจาก ซุน ยัตเซน (Sun Yat-sen) เสียชีวิต เขาเป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งทำการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) แล้วก้าวขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลของสาธารณรัฐจีน (Republic of China : ROC) ในขณะนั้น
ระหว่างปี 2471 - 2518 หลังจากสงครามกลางเมืองของจีน พรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนของ “เหมา เจ๋อตง (Mao Tse-tung)” ประธานเหมาจึงเปลี่ยนจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์และเปลี่ยนชื่อเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน (People Republic of China : PRC)” ทำให้ “เจียง ไคเช็ค (Chiang Kai-shek)” ต้องหนีไปตั้งรัฐบาลแห่งชาติและสาธารณรัฐจีน ที่เกาะไต้หวันเมื่อปี 2493 และขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวัน (Republic of China : ROC)
“เจียง ไคเช็ค (Chiang Kai-shek)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2518 ด้วยอาการหัวใจวาย ที่ไทเป ไต้หวัน ขณะมีอายุได้ 87 ปี
6 เมษายน : วันจักรี (Chakri Memorial Day)
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (พระรามาธิบดีที่ 1) เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปตรีศูลในวงจักรสุทรรศน์ ซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์ เทวดาในศาสนาฮินดู ด้วยเหตุผลว่า คำว่า “จักร” และ “ตรี” สอดคล้องกับชื่อ “จักรี” ของราชวงศ์
ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานี จากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) มาที่ฝั่งตะวันออก (ฝั่งพระนคร) โดยทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 และทรงพระราชทานนามพระนครแห่งนี้ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว ๙ ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้” นับเป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้จัดให้มีพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ทั้ง 5 รัชกาล ทรงประกาศให้วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันจักรี” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
6 เมษายน : วันกีฬาสากลเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ (International Day of Sport for Development and Peace)
องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN) ได้กำหนดให้วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันกีฬาสากลเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ (International Day of Sport for Development and Peace)” เพื่อรำลึกถึงการจัดงานโอลิมปิก (Olympic) ยุคใหม่ครั้งแรกในปี 2439 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เนื่องจากเล็งเห็นว่า กีฬาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถและศักยภาพ ส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาคนในสังคม ส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนและเศรษฐกิจ
“โอลิมปิก (Olympic)” เป็นการแข่งขันกีฬาเกิดจากความร่วมมือของทุกประเทศทั่วโลก เป็นการสานสัมพันธ์และแสดงศักยภาพของบุคคลากรในแต่ละประเทศ โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
6 เมษายน 2475 : “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” เปิดใช้อย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์” หรือ “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งกรุงธนบุรี เพื่อเป็นอนุสรณ์และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ได้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร
“สะพานพระพุทธยอดฟ้า” สร้างขึ้นในปี 2472 ในโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี และพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี โดยใช้แบบของบริษัท ดอร์แมน ลอง (DORMAN LONG & CO.LTD) ประเทศอังกฤษ ตัวสะพานเป็นเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร สูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และสามารถยกตอนกลางของสะพานขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตร เพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2472 ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 4 ล้านบาท (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 2 ล้านบาท)
7 เมษายน : วันอนามัยโลก (World Health Day)
คณะมนตรีด้านสังคมและเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ ได้จัดให้มีการประชุมว่าด้วยสุขภาพระหว่างประเทศ เมื่อปี 2489 ที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยที่ประชุมได้เล็งเห็นว่า สุขภาพของประชาชนเป็นรากฐานของสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชาติทั้งมวล จึงได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อเตรียมการสถาปนาองค์การอนามัยโลก โดยจัดการร่างธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกแล้วเสร็จ และประกาศใช้ธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2491 พร้อมกันนี้ สมัชชาองค์การอนามัยโลก ได้พิจารณาให้เฉลิมฉลองวันที่ 7 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันอนามัยโลก (World Health Day)” และมีมติให้มีการฉลองพร้อมกันทั่วโลกตั้งแต่ปี 2492 โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดข้อปัญหาทางอนามัยขึ้นปีละ 1 เรื่อง สำหรับตั้งเป็นคำขวัญให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลก ใช้เป็นแนวทางในการให้สุขศึกษาแก่ประชาชน ซึ่งคำขวัญมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2493
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เป็นองค์การสาขาขององค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS : UN) ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพและอนามัยของประชาชนโลก ให้มีระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนิวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
7 เมษายน 2440 : รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก ร.ศ.116 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2440 โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ออกจากท่าราชวรดิฐ เสด็จพระราชดำเนินเยือนชาติต่าง ๆ อย่างเป็นทางการรวม 13 ประเทศ รวมเวลา 7 เดือน ซึ่งประมุขของประเทศต่าง ๆ ได้จัดการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ และได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์นานาชาติ นอกจากเป็นการเปิดตัวสยามแก่ชาวโลกแล้ว ยังทรงใช้เป็นโอกาสเรียนรู้การปกครองบ้านเมืองของนานาอารยประเทศ ศิลปวิทยาและชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุโรป ทั้งยังได้ทรงผูกมิตรกับเยอรมนีและรัสเซีย อันเป็นการสร้างดุลยภาพระหว่างประเทศให้แก่ไทย โดยหลังจากเสด็จนิวัติสยาม จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยเทียมเท่าต่างประเทศ
การเสด็จประพาสยุโรป มีที่มาจากนโยบายล่าอาณานิคมในเอเชียของประเทศแถบยุโรป ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ชาวตะวันตกใช้อำนาจรุกรานถือสิทธิ์เข้าปกครองประเทศต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักในภัยดังกล่าว ทรงเห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างแดน จึงเริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินประพาสสิงคโปร์ ชวา และอินเดียก่อน เพื่อทรงศึกษาระบบการปกครอง และวิทยาการของประเทศอาณานิคมยุโรป
8 เมษายน 2327 : รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “เสาชิงช้า”
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2327 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ “พระครูสิทธิชัย (กระต่าย)” สร้าง “เสาชิงช้า” บริเวณหน้าวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร โดย “เสาชิงช้า” ทำด้วยไม้สักทาสีแดงชาด สูงประมาณ 21 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกลมประมาณ 10.5 เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
“เสาชิงช้า” ใช้ใน “พิธีโล้ชิงช้า” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “พิธีตรียัมปวาย” เป็นการต้อนรับพระอิศวร หนึ่งในเทพเจ้าของของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งจะเสด็จลงมาสู่โลกในวันขึ้น 7 ค่ำเดือนยี่ โดยจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว
“พิธีโล้ชิงช้า” มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมจัดในเดือนอ้าย (ธันวาคม) ครั้นเมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้เปลี่ยนมาทำในเดือนยี่ (มกราคม) ต่อมาได้ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7
ทั้งนี้ “เสาชิงช้า” ได้ชำรุดและมีการซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง กรุงเทพมหานครได้ตรวจพบร่องรอยเสาชิงช้าที่ชำรุดเมื่อปี 2547 จึงทำการซ่อมแซมและเปลี่ยนเสาชิงช้าใหม่ โดยทำพิธีบวงสรวงเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2549 โดยนำไม้สักทองจำนวน 6 ต้น มาจากจังหวัดแพร่ จากนั้นกรุงเทพมหานครได้นำเนื้อเยื่อจากไม้สักทองไปเพาะชำเป็นกล้าไม้ 1 ล้านต้น เพื่อปลูกทดแทนที่จังหวัดแพร่
8 เมษายน 2516 : “ปาโบล ปิกัสโซ” ศิลปินเอกของโลก เสียชีวิต
“ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Ruiz Picasso)” ศิลปินเอกของโลก เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2424 ที่เมืองมาลากา (Malaga) ประเทศสเปน พ่อของเขาเป็นอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัย ทำให้เขาเริ่มฉายแววศิลปินอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก ด้วยการเปล่งเสียงคำแรกที่พูดได้คือ ‘piz (คำย่อของ Lapiz) ซึ่งแปลว่า “ดินสอ” จากนั้นพ่อของเขาก็เริ่มสอนศิลปะให้
ในปี 2443 เขาเดินทางไปปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงของศิลปะในสมัยนั้น ปีแรก ๆ เขาต้องทำงานหนักและอยู่อย่างยากลำบาก หลายครั้งเขาต้องเผางานศิลปะของตัวเองเพื่อผิงไฟ
จากนั้น “ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Ruiz Picasso)” ก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ รูปแบบงานศิลปะของเขาจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
- ช่วงแรกในปี 2444 - 2447 เน้นโทนสีน้ำเงิน เรียกว่ายุค “Blue Period”
- ช่วงปี 2448 - 2450 เน้นสีชมพู เรียกว่ายุค “Rose Period”
- ช่วงปี 2451 - 2452 ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะแบบแอฟริกัน ซึ่งจะเน้นสีดำ เรียกว่ายุค “Negro Period” หรือ “Black Period”
- ช่วงปี 2452 - 2455 เริ่มทดลองใช้รูปทรงเรขาคณิตในงานศิลปะ เรียกว่ายุค “Analytical Cubism”
- ช่วงปี 2455 - 2462 เรียกว่ายุค “Synthetic Cubism”
ผลงานของเขาในยุคคิวบิสม์ ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในแวดวงศิลปะ จนก่อให้เกิดเป็น “ศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art)” ขึ้นในเวลาต่อมา เขาเป็นศิลปินที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มีความหลากหลาย ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ เซรามิก กราฟฟิก ฯลฯ จึงไม่แปลกที่โลกจะยกย่องให้ “ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Ruiz Picasso)” เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20
8 เมษายน 2537 : “สะพานมิตรภาพไทย - ลาว” เปิดใช้อย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นประธานร่วมในพิธีเปิด “สะพานมิตรภาพไทย - ลาว” ข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมระหว่างอำเภอเมืองหนองคายกับนครเวียงจันทน์ โดยใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 30 ปี สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของ 4 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ลาว และไทย
“สะพานมิตรภาพไทย - ลาว” มีความยาว 1.20 กิโลเมตร กว้าง 15 เมตร มีช่องสำหรับเดินรถ 2 ช่องทาง ซึ่งตรงช่วงกลางสะพานออกแบบไว้สำหรับสร้างทางรถไฟ เชิงสะพานมีด่านตรวจคนเข้าเมือง สะพานแห่งนี้ได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ไทย - ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ชาวอีสานและชาวลาวเรียกสะพานนี้ว่า “ขัวมิดตะพาบ”
10 เมษายน 2455 : “ไททานิค” ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2455 “ไททานิค (RMS Titanic)” ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นับเป็นเรือที่หรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ถึงขนาดเชื่อกันว่าจะไม่มีวันอับปาง
แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น “ไททานิค (RMS Titanic)” ก็ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็ง เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 14 เมษายน 2455 และจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติคเหนือในเช้าวันต่อมา (15 เมษายน 2455) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คน เนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอ และมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก
“ไททานิค (RMS Titanic)” เป็นเรือเดินสมุทรของบริษัท The White Star Line (Oceanic Steam Navigation Company) มีความยาว 269 เมตร กว้าง 28 เมตร มีระวางความจุ 46,328 ตัน ลำเรือสูงจากระดับน้ำ 18 เมตร ขับเคลื่อนด้วยใบพัด 3 ใบ จากเครื่องจักรไอน้ำจากความร้อนของถ่านหิน กำลัง 50,000 แรงม้า (hp) สามารถทำความเร็วได้ 23 น็อท หรือ 43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีปล่องควัน 4 ปล่อง สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ถึง 3,547 คน พร้อมทั้งสามารถบรรจุสิ่งของไปรษณียภัณฑ์ได้อีกจำนวนมาก เรือไททานิคจึงมีชื่อนำหน้าว่า RMS (Royal Mail Steamer)
10 เมษายน 2513 : “เดอะบีทเทิลส์” แถลงข่าวยุบวงอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2513 “พอล แมคคาร์ทนีย์ (James Paul McCartney)” ออกแถลงข่าวว่า “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” ได้ตัดสินใจยุบวงอย่างเป็นทางการ หลายฝ่ายคาดเดาว่าน่าจะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งของสมาชิกในวง ระหว่าง “จอห์น เลนนอน (John Lennon)” กับ “พอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney)”
“เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” หรือวงสี่เต่าทอง ประกอบด้วย “จอห์น เลนนอน (John Lennon)” “พอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney)” “จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison)” และ “ริงโก สตาร์ (Ringo Starr : Richard Starkey Jr.)” ซึ่งจอห์นมักจะแต่งเพลงคู่กับพอลเสมอ เพลงส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและความหวัง ประกอบด้วยเมโลดี้ที่เรียบง่าย ไพเราะและสวยงาม แสดงถึงความเป็นคนมองโลกในแง่ดี ส่งผลให้ “เดอะบีทเทิลส์ (The Beatles)” โด่งดังจากฝั่งอังกฤษข้ามไปสู่อเมริกา กลายเป็นสัญลักษณ์ของบุปผาชนในยุคศตวรรษที่ 70 - 80 และบทเพลงมากมายยังคงเป็นอมตะจนถึงทุกวัน
11 เมษายน : วันพาร์กินสันโลก (World Parkinson's Day)
วันที่ 11 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันพาร์กินสันโลก (World Parkinson's Day)” ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงโรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบเป็นอันดับสองรองจากโรคอัลไซเมอร์
“โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease)” เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสารบางอย่างที่ชื่อว่า “โดพามีน (Dopamine)” ลดลง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการควบคุมและเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้มีอาการมือสั่น เคลื่อนไหวช้าลงหรือผิดปกติ ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ และมักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจใช้ชีวิตลำบากได้
11 เมษายน 2513 : “ยานอะพอลโล 13” ออกเดินทางไปดวงจันทร์
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2513 “ยานอะพอลโล 13 (Apollo 13)” ขององค์การนาซา (NASA) สหรัฐอเมริกา เดินทางไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ โดยมีลูกเรือ 3 คน ได้แก่ “เจมส์ โลเวลล์ (James A Lovell)” “จอห์น สวิกเกิร์ต (John L. Swigert)” และ “เฟรด ไฮส์ (Fred W. Haise)” อีกสองวันต่อมา ก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ พวกเขาต้องเผชิญสถานการณ์เฉียดตายในอวกาศ เมื่อถังออกซิเจนในยานบัญชาการเกิดระเบิด ทำให้ไม่สามารถนำยานอวกาศลงดวงจันทร์ได้ตามแผน พวกเขาต้องประคองยานที่อยู่ในสภาพเสียหายโคจรรอบดวงจันทร์เป็นเวลากว่า 90 ชั่วโมงจึงสามารถนำยานกลับสู่พื้นโลกได้สำเร็จในวันที่ 17 เมษายน 2513
11 เมษายน 2539 : “แสงชัย สุนทรวัฒน์” ถูกลอบสังหารเสียชีวิต
“แสงชัย สุนทรวัฒน์” อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2486 ที่จังหวัดปราจีนบุรี ประเทศไทย เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เมื่อปี 2535 ปฏิบัติหน้าที่อย่างมุ่งมั่น จนเป็นบุคคลสำคัญที่บริหาร อ.ส.ม.ท. ให้ประสบความสำเร็จ
จากการปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อตรง ทำให้ไปขัดผลประโยชน์กับกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่ม “แสงชัย สุนทรวัฒน์” จึงถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืน เสียชีวิตในวันที่ 11 เมษายน 2539
12 เมษายน : วันป่าชุมชนชายเลนไทย
วันที่ 12 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันป่าชุมชนชายเลนไทย” กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของผืนป่าชายเลน และร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนของไทย ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล รวมทั้งรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้สูญหายไป พร้อมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อนำมาพัฒนาให้ป่าชายเลนไทยดำรงอยู่สืบไป
“ป่าชายเลน (Mangroves)” คือ ระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หลายชนิด ดำรงชีวิตร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ โดย “ป่าชายเลน (Mangroves)” จะอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ ทะเลสาบ และรอบเกาะแก่งต่าง ๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล สำหรับพันธุ์ไม้ที่มีมากและมีบทบาทสำคัญที่สุดในป่าชายเลน คือ “ไม้โกงกาง” ป่าชายเลนจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ป่าโกงกาง” นั่นเอง
12 เมษายน : วันนักบินอวกาศ (Cosmonautics Day)
วันที่ 12 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันนักบินอวกาศ (Cosmonautics Day)” เพื่อรำลึกและเฉลิมฉลองการบินอวกาศครั้งแรกของมนุษย์ในวันที่ 12 เมษายน 2504 โดยนักบินอวกาศโซเวียต วัย 27 ปี “ยูริ กาการิน (Yuri Alekseyevich Gagarin)” ซึ่งถือเป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลกที่ออกเดินทางสู่อวกาศ เขาได้ปฏิบัติภารกิจโคจรรอบโลกด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 48 นาที บนยานอวกาศ “วอสตอค 1 (Vostok 1)”
“ยูริ กาการิน (Yuri Alekseyevich Gagarin)” กลับลงมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของสหภาพโซเวียต เขามีชื่อเสียงไปทั่วโลก ต่อมารัฐบาลโซเวียตก็ได้เปลี่ยนชื่อเมือง “กซาทสค์ (Gzhatsk)” บ้านเกิดของเขาเป็น “กาการิน (Gagarin)” และมีการสร้างอนุสรณ์สถานอีกหลายแห่งทั่วประเทศเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
“ยูริ กาการิน (Yuri Alekseyevich Gagarin)” ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิต เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2511 ขณะมีอายุเพียง 34 ปี
13 - 15 เมษายน : เทศกาลสงกรานต์
“เทศกาลสงกรานต์” เป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทย ถือเป็น “วันปีใหม่ไทย” ที่ทุกครอบครัวจะมีการรวมญาติ เพื่อพบปะ สังสรรค์ รวมถึงทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ทำบุญรับวันสงกรานต์ เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ไทย ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ รวมถึงการเล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อสืบสานและเฉลิมฉลองวัฒนธรรมไทยด้วย
13 เมษายน : วันผู้สูงอายุแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2525 ได้มีการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ (World Assembly on Aging) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา พร้อมกำหนดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุ (Elderly) ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
คณะรัฐมนตรีไทยจึงได้ลงมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” โดยกำหนดให้ “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวน หรือ หอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง เป็นพืชยืนต้นที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเสมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรม คุณงาม ความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป
13 เมษายน 2435 : วันเกิด “โรเบิร์ต วัตสัน-วัตต์” ผู้ประดิษฐ์ “เครื่องส่งเรดาร์”
“โรเบิร์ต วัตสัน-วัตต์ (Robert Watson-Watt)” นักประดิษฐ์ชาวสก็อต เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2435 ที่เมืองเบรชิน (Brechin) สหราชอาณาจักร เขาเป็นลูกหลานของ เจมส์ วัตต์ (James Watt) นักประดิษฐ์ผู้พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำ
ในปี 2484 เขาประดิษฐ์ “เครื่องส่งเรดาร์ (Radar)” ได้สำเร็จ เริ่มใช้ในภารกิจแรกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สถานีเรดาร์ของเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในหมู่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยคำว่า “เรดาร์ (Radar)” ย่อมาจาก “Radio Detection and Ranging” หมายถึง การตรวจจับเป้าระยะไกลด้วยคลื่นวิทยุ
“โรเบิร์ต วัตสัน-วัตต์ (Robert Watson-Watt)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2516 ที่เมืองอินเวอร์เนสส์ (Inverness) สหราชอาณาจักร ขณะมีอายุได้ 81 ปี
14 เมษายน : วันครอบครัว
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันครอบครัว” เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก ความสามัคคีที่ส่งผลต่อสังคม รวมถึงส่งเสริมให้ทุกครอบครัวมีสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน เพื่อให้สถาบันครอบครัวแข็งแรง
เหตุผลที่กำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันครอบครัว” ก็เพื่อให้สอดคล้องกับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งสมาชิกของทุกครอบครัวจะมีโอกาสมาพบปะ สังสรรค์ ในวันที่เป็นเหมือนวันรวมญาติ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
14 เมษายน : วันแบล็กเดย์ (Black Day)
“วันแบล็กเดย์ (Black Day)” เป็นวันที่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลี โดยเหล่าคนโสดที่ไม่ได้รับความรักในวันที่ “14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day)” และ “14 มีนาคม วันไวท์เดย์ (White Day)” จะออกมารวมตัวกัน เพื่อแสดงความเห็นใจกันและกันตามประสาคนโสด พร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ให้โลกรู้ว่า “ฉันคือผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง” เช่น ใส่ชุดสีดำ สวมเครื่องประดับสีดำ กิน “จาจังมยอน (Jajangmyeon) (บะหมี่ซอสดำ)” ด้วยกัน เป็นต้น
14 เมษายน : วันโลมาแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Dolphin Day)
วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันโลมาแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Dolphin Day)” เพื่อเฉลิมฉลอง ยกย่อง พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับ “โลมา (Dolphin)” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แสนใจดี ขี้เล่น เฉลียวฉลาด และชอบเข้าสังคม โดยคาดว่าการกำหนดวันสำคัญนี้ เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร “American Veterinary Medical Association (AVMA)”
“โลมา (Dolphin)” มีรูปร่างคล้ายปลา คือ มีครีบ มีหาง แต่ไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มปลา เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มักอยู่รวมกันเป็นฝูง มีสายตาและประสาทสัมผัสเป็นเลิศ สามารถได้ยินเสียงด้วยความถี่ที่สูงกว่าขีดจำกัดของมนุษย์มากกว่าสิบเท่า ทั้งยังส่งเสียงเพื่อการสื่อสารผ่านทางช่องจมูก โดยการดันอากาศในช่องจมูกทำให้เกิดเสียงได้
การกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำของ “โลมา (Dolphin)” มาได้จากหลายสาเหตุ เช่น เพื่อลดการเสียดสีใต้น้ำ เมื่อต้องเดินทางไกล เพื่อไล่ปรสิตที่เกาะตามตัว เพื่อสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ซึ่งหากมีสมาชิกในฝูงได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย จะมีการรวมฝูงเพื่อช่วยเหลือเพื่อนให้หายใจโดยพาขึ้นสู่ผิวน้ำเมื่อจำเป็น
15 เมษายน : วันยางลบแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Rubber Eraser Day)
วันที่ 15 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันยางลบแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Rubber Eraser Day)” คาดว่าริเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2313 เมื่อการประดิษฐ์เริ่มขึ้นครั้งแรกโดย “โจเซฟ พริสต์ลีย์ (Joseph Priestley)” นักเคมีชาวอังกฤษ ที่เขาได้ทดลองนำ “ยางผัก (Vegetable Gum)” มาลบรอยดินสอได้สำเร็จ และตั้งชื่อให้สิ่งประดิษฐ์นี้ว่า “ยางลบ (Rubber)”
นอกจากเพื่อรำลึกถึงต้นกำเนิดแล้ว “วันยางลบแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Rubber Eraser Day)” ยังถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของการปลอบใจ ว่าไม่เป็นไรที่คนเราจะทำผิดพลาดไปบ้าง ทุกสิ่งสามารถแก้ไขได้ เหมือนกับการลบคำผิดที่เป็นหน้าที่ของ “ยางลบ (Rubber)” นั่นเอง
15 เมษายน 1995 : วันเกิด “เลโอนาร์โด ดา วินชี” จิตรกรชาวอิตาเลียน
“เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)” จิตรกรชาวอิตาเลียน เจ้าของฉายา “ผู้รอบรู้จักรวาล (Universal Man)” แห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1995 ที่อันเชียโน (Anchiano) ประเทศอิตาลี
เขาเป็นผู้ที่มีความชำนาญหลากหลายด้าน เป็นทั้งจิตรกรเอก ประติมากร นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ รอบรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ สถาปัตยกรรม ดาราศาสตร์ พฤกษศาสตร์ เขาคือเจ้าของภาพวาดอมตะอย่าง “อาหารเย็นมื้อสุดท้าย (The Last Supper)” และ “โมนาลิซ่า (Mona Lisa)”
“เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2062 ที่ปราสาทโคลส ลูเซ่ (Château du Clos Lucé) เมืองแอมบอยซี (Amboise) ประเทศฝรั่งเศส ขณะอายุได้ 67 ปี
18 เมษายน : วันโบราณสถานสากล (International Day For Monuments and Sites)
ในปี 2526 การประชุมใหญ่สามัญขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ครั้งที่ 22 ได้มีการอนุมัติให้วันที่ 18 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันโบราณสถานสากล (International Day For Monuments and Sites)”
เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นและผู้คนทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีผลต่อชีวิต อัตลักษณ์ และชุมชน รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงความหลากหลายและความเปราะบางของมรดกทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งให้การปกป้องและอนุรักษ์สืบไป
18 เมษายน 2398 : การลงนาม “สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty)”
“สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty)” เป็นสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศสยามกับอังกฤษ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดย “เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir. John Bowring)” ได้เชิญพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาทำสนธิสัญญาทางไมตรี
“สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty)” ใช้บังคับอยู่นานกว่า 70 ปี จนกระทั่งมีการแก้ไขและค่อย ๆ ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง แต่กว่าไทยจะมีเอกราชสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อในปี 2482 ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการแก้ไขและลงนามในสนธิสัญญาใหม่กับโลกตะวันตกและญี่ปุ่น
“สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty)” ทำให้เกิด “การค้าเสรี” ถือเป็นการสิ้นสุดของการผูกขาดการค้าต่างประเทศ โดยพระคลังสินค้าของกษัตริย์และเจ้านายสยาม ในภายหลัง “สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty)” ได้กลายเป็นต้นแบบของการทำสนธิสัญญาทางการค้าของไทยกับประเทศต่าง ๆ
18 เมษายน 2498 : “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2422 ที่เมืองอูล์ม (Ulm) ประเทศเยอรมนี เขาคือเจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพและสูตรสมการก้องโลก E=mc2
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” ได้กวาดล้างชาวยิว ทำให้ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” ต้องอพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยพรินสตัน และร่วมสนับสนุนสหรัฐอเมริกาสร้างระเบิดอะตอมแข่งกับเยอรมัน
ในปี 2488 ระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำลายล้างชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเศร้าสะเทือนใจที่สุด เพราะไม่คิดว่าสมการและทฤษฎีของเขา จะถูกนำไปใช้เป็นแนวคิดในการพัฒนาระเบิดปรมาณู โดย “เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer)” นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการแมนแฮตตัน (The Manhattan Project) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” จึงอุทิศชีวิตให้กับการต่อต้านสงครามและส่งเสริมสันติภาพโลก จนวาระสุดท้าย เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2498 ที่เมืองพรินสตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ขณะมีอายุได้ 76 ปี
19 เมษายน 2425 : “ชาลส์ ดาร์วิน” นักธรรมชาติวิทยา เสียชีวิต
“ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)” เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2352 ที่บ้านสไตล์จอร์เจียน The Mount House เมืองโชว์สเบอรี่ (Shrewsbury) สหราชอาณาจักร เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ
เขาตีพิมพ์ข้อเสนอของเขาในปี 2402 ในหนังสือชื่อ “The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต)” ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา การเดินทางออกไปยังท้องทะเลทั่วโลกกับเรือบีเกิล (HMS Beagle) โดยเฉพาะการเฝ้าสำรวจที่หมู่เกาะกาลาปากอส เป็นทั้งแรงบันดาลใจ และให้ข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเขานำมาใช้ในทฤษฎีของเขา
ผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์ของเขา เป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งทางชีววิทยาและมนุษยวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยา
“ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)” เสียชีวิตในวันที่ 19 เมษายน 2425 ที่บ้านพัก Home of Charles Darwin - Down House เมืองดาวน์ (Downe) สหราชอาณาจักร โดยศพของเขาถูกฝังอยู่ที่วิหารเวสเตอร์
20 เมษายน : วันกัญชาโลก (World Cannabis Day)
เมื่อปี 2514 “เดอะ วอลโดส์ (The Waldos)” กลุ่มนักเรียน 5 คน ของโรงเรียนมัธยมปลายในเมืองซานราฟาเอล (San Rafael) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้นัดแนะกันเพื่อตามหาไร่กัญชาร้างในตำนาน โดยสถานที่นัดพบในโรงเรียนของพวกเขา คือบริเวณรูปปั้นหลุยส์ ปาสเตอร์ ในเวลา 16.20 น. (4.20 p.m.) พร้อมเรียกแผนการนี้ว่า “สี่ยี่สิบหลุยส์”
แม้ว่า “เดอะ วอลโดส์ (The Waldos)” จะไม่เคยพบไร่กัญชาร้างที่ว่า แต่พวกเขาก็ได้สร้างรหัสลับ “420 (โฟร์ ทเวนตี้ - Four Twenty)” ที่วัยรุ่นใช้เพื่อสื่อถึงการเสพกัญชา เมื่อเข้าสู่ยุค Green Rush ยุคแห่งการขับเคลื่อนกัญชาให้ถูกกฎหมาย มีการชุมนุมประท้วงโดยรวมตัวกันในที่สาธารณะ และจุดไฟเสพกัญชาพร้อมกันในเวลา 16.20 น. (4.20 p.m.) กลายเป็นที่มาของงานเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในหลายเมืองทั่วโลก และในปี 2557 กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ยกให้กัญชาถูกกฎหมาย และเริ่มถูกกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก
จากเวลา 16.20 น. (4.20 p.m.) และรหัส 420 ได้กลายมาเป็นการกำหนดให้ เดือน 4 วันที่ 20 หรือ วันที่ 20 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันกัญชาโลก (World Cannabis Day)”
20 เมษายน 2405 : ทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการ “พาสเจอร์ไรซ์เซชัน” ครั้งแรก
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2405 “หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)” นักวิทยาศาสตร์และนักเคมีผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศส และ “คล็อด เบร์นาร์ (Claude Bernard)” นักสรีรศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้ทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการ “พาสเจอร์ไรซ์เซชัน (Pasteurization)” เป็นครั้งแรก
โดยเขาค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ในระหว่างการศึกษาสาเหตุที่ทำให้ไวน์เสียรสขณะบ่ม เขาพบว่าหากนำไวน์ไปอุ่นให้ร้อน จะช่วยฆ่าแบคทีเรียที่จะเปลี่ยนไวน์ให้เป็นน้ำส้มสายชูได้ เขาจึงทดลอง โดยการนำของเหลวเช่น น้ำนม ไปต้มที่อุณหภูมิ 145 องศาฟาเรนไฮต์ แล้วทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้จุลินทรีย์ตายหมด ก่อนนำไปบรรจุใส่ขวด จากนั้นใช้สำลีอุดปากขวดเพื่อป้องกันไม่ใช้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไป ผลปรากฎว่านมสดอยู่ได้นานกว่าปกติ โดยที่ไม่เน่าเสีย
จากนั้น “หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)” ได้นำวิธีการดังกล่าวไปใช้กับเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น เหล้า เบียร์ และไวน์ ทำให้วิธีการพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurized) แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้
20 เมษายน 2454 : วันเกิด “ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” ปูชนียบุคคลของไทย
“พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับ หม่อมแดง (บุนนาค) เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่อวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง จากวิทยาลัยควีนส์ (The Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กลับมารับราชการที่กรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง
ท่านเป็นทั้งนักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ ปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย ทั้งยังเป็นน้องชายของ “ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช” (อดีตนายกในปี 2488 - 2519)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเข้าเป็นทหาร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรี ในปี 2531 เริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2488 โดยก่อตั้ง “พรรคก้าวหน้า” ต่อมาได้ยุบรวมกับ “พรรคประชาธิปัตย์” จากนั้นก่อตั้ง “พรรคกิจสังคม” ในปี 2517 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย เมื่อปี 2518
นอกจากบทบาททางการเมือง ท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านหนังสือพิมพ์และวรรณกรรมด้วย โดยก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ในปี 2493 นอกจากนี้ยังมีผลงานทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ เรื่องแปล สารคดี ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ สี่แผ่นดิน ไผ่แดง กาเหว่าที่บางเพลง เป็นต้น ท่านได้รับยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์” ในปี 2528
“พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538 ขณะอายุได้ 84 ปี
21 เมษายน 2325 : วันสถาปนา “กรุงเทพมหานคร”
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 เป็นวันสถาปนากรุงเทพมหานคร หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัดพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันนี้ด้วย
พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก
มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514 รัฐบาลได้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ซึ่งภายหลังในปี 2515 เปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร”
ทั้งนี้ “เสาหลักเมือง” มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 ซม. สูง 27 ซม. แต่ชำรุดจึงสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4 ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว ตั้งอยู่ภายในอาคารยอดปรางค์ ภายในศาลหลักเมืองยังมีเทวรูปสำคัญ คือ เทพารักษ์ เจ้าพ่อหอกลอง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี
22 เมษายน : วันคุ้มครองโลก (Earth Day)
“วันคุ้มครองโลก (Earth Day)” เริ่มขึ้นในปี 2512 รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ประสบภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ จากการรั่วไหลของน้ำมันในซานตาบาร์บารา ทำให้น้ำมันกว่า 3 ล้านแกลลอน รั่วไหลลงสู่ทะเลตามแนวชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย คราบน้ำมันกระจายไปไกลถึง 35 ไมล์
“เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson)” สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้ง Earth Day ได้พบเห็นและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ จึงได้ตัดสินใจผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร่วมกับนักเคลื่อนไหว “เดนิส เฮยส์ (Dennis Hayes)” เพื่อจัดการประท้วงทั่วประเทศ และเลือกวันที่ 22 เมษายน เป็นวันจัดงาน
ต่อมาจึงกำหนดให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันคุ้มครองโลก (Earth Day)” เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้ผู้คนดำเนินการต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ ปรับปรุง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของโลก โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2513 ซึ่งถือว่าเป็นจุดกำเนิดของการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย รวมทั้งช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
22 เมษายน 2413 : วันเกิด “วลาดิมีร์ อิลยิช เลนิน” ผู้นำคนแรกของโซเวียต
“วลาดิมีร์ อิลยิช เลนิน (Vladimir Ilyich Lenin)” ผู้นำคนแรกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (USSR) เกิดที่เมืองเมืองซิมเบิร์ซค์ (Simbirsk) ประเทศรัสเซีย ชื่อเดิมคืออุลยานอฟสค์ (Ulyanov) เขาเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคาซานและเซนปีเตอร์สเบิร์ก เขาเริ่มงานด้านกฎหมายในปี 2434 จากนั้นจึงศึกษาปรัชญามาร์กซิสม์และโฆษณาชวนเชื่อในการปฏิวัติ จนถูกจับขังคุกและถูกเนรเทศไปที่ไซบีเรีย เมื่อออกจากคุกก็ทำงานเคลื่อนไหวในขบวนการใต้ดินมาโดยตลอด
เขาก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค “บอลเชวิค (Bolshevik)” ทำการปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution) ล้มล้างระบอบกษัตริย์ในปี 2460 เลนินขึ้นเป็นผู้นำประเทศและเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบคอมมิวนิสต์ เป็นประเทศแรกในโลก จากนั้นเขาเจรจาสงบศึกกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อนำกองทัพแดง (คอมมิวนิสต์) เอาชนะกองทัพขาว (ฝ่ายนิยมกษัตริย์) ในสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War) เขาได้ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างถึงราก เพื่อล้มล้างระบบทุนนิยม
เขาเขียนหนังสือและบทความไว้จำนวนมากเพื่อเผยแพร่แนวคิดของเขา เช่น พัฒนาการของระบบทุนนิยมในรัสเซีย (The Development of Capitalism in Russia) รัฐและการปฏิวัติ (State and Revolution) แนวคิดของเลนินถูกเรียกว่า ลัทธิเลนิน (Leninsim)
“วลาดิมีร์ อิลยิช เลนิน (Vladimir Ilyich Lenin)” เสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดสมองอุดตัน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2467 เมืองกอร์กีเลนินสกีเย (Gorki Leninskie) ประเทศรัสเซีย ซึ่งภายหลังจากเสียขีวิตได้ 3 วัน รัฐบาลก็เปลี่ยนชื่อเมือง “เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg)” เป็น “เลนินกราด (Leningrad)” เพื่อเป็นเกียรติแก่เลนิน กระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 จึงเปลี่ยนชื่อกลับเป็น “เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg)” เหมือนเดิม ปัจจุบันศพเลนินอยู่ที่ Lenin Mausoleum สุสานเลนินในจัตุรัสแดง กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย
23 เมษายน 2107 : วันเกิด “วิลเลียม เช็คสเปียร์” กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่
“วิลเลียม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare)” กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2107 ที่เมืองสแตรตฟอร์ด (Stratford) ริมฝั่งแม่น้ำเอวอน (Avon) ประเทศอังกฤษ เขาแต่งงานตอนอายุ 18 ปี และย้ายไปอยู่ที่ลอนดอนในปี 2128 เขาทำงานเป็นนักแสดงและเขียนบทละคร ต่อมาเข้าร่วมงานกับคณะละคร Lord Chamberlain’s Men และได้เข้าแสดงประจำที่โรงละคร Globe Theatre
เขามีผลงานบทละครประมาณ 38 เรื่อง และโคลงขนาดยาว (Sonnet) อีกประมาณ 154 บท ทั้งโศกนาฏกรรม (Tragedy), สุขนาฏกรรมหรือตลกขบขัน (Comedy) และละครอิงประวัติศาสตร์ ผลงานที่โด่งดัง ได้แก่ Romeo and Juliet, King Lear, Hamlet, Othello, Macbeth, Midsummer Night’s Dream เป็นต้น
บทละครของเขาได้รับความนิยมอย่างมาก จนได้รับพระราชูปถัมภ์ในปี 2146 คณะละครของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้เขาสามารถซื้อบ้านหลังใหญ่และใช้ชีวิตอย่างสุขสบายจนวาระสุดท้ายของชีวิตที่เมืองสแตรตฟอร์ด (Stratford)
เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนบทละครผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่แท้ในจิตใจของมนุษย์ ผลงานของเขามักจะสะท้อนถึง ความโลภ ตัณหา ความรัก กิเลสในจิตใจของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้นวรรณะ ตั้งแต่กษัตริย์ นักรบ พระ พ่อค้า โจร ชาวบ้านไปจนถึงข้าทาส ได้อย่างถึงแก่น บทละครของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถูกนำไปแสดงตามโรงละครทั่วโลก และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาจนถึงทุกวันนี้
“วิลเลียม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare)” เสียชีวิตเมื่อ 23 เมษายน 2159 ที่เมืองสแตรตฟอร์ด (Stratford) ริมฝั่งแม่น้ำเอวอน (Avon) ประเทศอังกฤษ วันและสถานที่เดียวกันกับที่เขาเกิด ขณะอายุได้ 52 ปี
- #วันนี้ในอดีต 23 เมษายน 2107 วันเกิด “วิลเลียม เช็คสเปียร์” กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่
25 เมษายน : วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 25 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)” โดยมุ่งหวังให้ประชาชนร่วมใจต่อสู้โรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงวิธีการควบคุมและการรักษาโรคมาลาเรีย เนื่องจากไข้มาลาเรียมีผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน จนอาจกล่าวได้ว่า โรคไข้มาลาเรียเป็น “ราชาแห่งโรคเมืองร้อน”
25 เมษายน 2402 : เริ่มขุด “คลองสุเอซ” ในประเทศอียิปต์
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2402 เริ่มมีการขุด “คลองสุเอซ (The Suez Canal)” ในประเทศอียิปต์ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองพอร์ทเซด (Port Said) ฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน กับ เมืองสุเอซ (Suez) ที่ฝั่งทะเลแดง มีความยาว 162 กิโลเมตร กว้างประมาณ 60 - 300 เมตร ใช้เวลาขุด 10 ปี เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2412
“คลองสุเอซ (The Suez Canal)” ออกแบบโดย “แฟร์ดินองด์ เดอ เลซเซปส์ (Ferdinand de Lesseps)” นักการทูตชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอียิปต์ ต่อมารัฐบาลอังกฤษเข้าซื้อหุ้นกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ โดยคลองนี้ช่วยย่นระยะทางการเดินเรือระหว่างยุโรปกับเอเชียให้สั้นลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องแล่นเรืออ้อมแหลมกูดโฮปที่ทวีปแอฟริกา
“คลองสุเอซ (The Suez Canal)” แบ่งเป็นส่วนเหนือและใต้ โดยมีทะเลสาบเกรทบิทเทอร์ (Great Bitter) อยู่ตรงกลาง ในตอนแรก ๆ ต้องมีที่กั้นน้ำ (The Canal Lock) ให้เรือแล่นผ่านเข้าไปทีละช่วง ๆ เนื่องจากน้ำทะเลทั้งสองฝั่งมีระดับไม่เท่ากัน แต่ต่อมาถูกถอดออกไป เพราะระดับน้ำทะเลทั้งสองฝั่งใกล้เคียงกัน ปัจจุบันมีเรือเดินสมุทรแล่นผ่านปีละกว่า 20,000 ลำ และนับเป็นคลองขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
25 เมษายน 2496 : “เจมส์ วัตสัน” และ “ฟรานซิส คริก” ประกาศค้นพบ “โครงสร้างดีเอ็นเอ”
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2496 “เจมส์ วัตสัน (James Dewey Watson)” นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน และ “ฟรานซิส คริก (Francis Harry Compton Crick)” นักอณูชีววิทยาชาวอังกฤษ ประกาศการค้นพบ “โครงสร้างดีเอ็นเอ (DNA)” ว่าเป็นสายคู่ที่บิดพับเป็นเกลียวคล้ายบันไดเวียน แบบที่เรียกว่า “ดับเบิล เฮลิกซ์” (Double Helix) ในวารสาร Natute วารสารเก่าแก่และมีชื่อเสียงฉบับหนึ่ง
แม้บทความดังกล่าวจะมีความยาวเพียงหน้าเดียว แต่ส่งผลกระทบต่อวงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก เพราะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้คนในยุคสมัยนั้น หันมาสนใจจนยอมรับในที่สุดว่า “โครงสร้างดีเอ็นเอ (DNA)” น่าจะเป็นสารพันธุกรรมมากกว่าโปรตีน การค้นพบครั้งนี้ ยังส่งผลให้พวกเขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 2505 ร่วมกับ “มอริส วิลคินส์ (Maurice Wilkins)”
25 เมษายน 2517 : เกิดเหตุการณ์ “การปฏิวัติคาร์เนชัน” ที่เมืองลิสบอล ประเทศโปรตุเกส
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2517 เกิดเหตุการณ์ “การปฏิวัติคาร์เนชัน (Carnation Revolution)” ที่เมืองลิสบอล (Lisbon) ประเทศโปรตุเกส โดยทหารและพลเรือนร่วมกันทำรัฐประหารโค้นล้มรัฐบาลเผด็จการของ “ประธานาธิบดี มาร์เซโล แคทาโน (Marcelo Caetano)” เปลี่ยนประเทศจากสังคมนิยมฟาสซิสต์ เป็นระบอบประชาธิปไตย
การรัฐประหารครั้งนี้ นับเป็นการรัฐประหารแบบสันติ มีผู้เสียชีวิตเพียง 4 คน หลังจากทำการสำเร็จ ประชาชนหลายพันคนได้ออกมาให้กำลังใจทหาร และนำดอกคาร์เนชันสีแดงไปเสียบที่ปากกระบอกปืน ภาพเหล่านี้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก จนมีการเรียกรัฐประหารครั้งนี้ว่า “การปฏิวัติคาร์เนชัน (Carnation Revolution)”
ทั้งนี้ “โอลิเวียรา ซาลาซาร์ (Antonio de Oliveira Salazar)” ซึ่งเป็นสหายของนายพลฟรังโกและฮิตเลอร์ ได้ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2469 ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมฟาสซิสต์ มีการให้สิทธิพิเศษกับบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ แม้เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือชนชั้นนำไม่กี่คน อีกทั้งงบประมาณประเทศจำนวนมากก็ถูกใช้ไปในการควบคุมประเทศอาณานิคม ส่งผลให้ประชาชนยากจนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า มีการเดินประท้วงกันบ่อยครั้ง
ในปี 2511 “ประธานาธิบดี มาร์เซโล แคทาโน (Marcelo Caetano)” ก็สืบทอดอำนาจต่อจาก “โอลิเวียรา ซาลาซาร์ (Antonio de Oliveira Salazar)” ต่อมาแคทาโนขัดแย้งกับ “นายพลอันโตนิโอ สปิโนลา (General Antonio Spinola)” ซึ่งต้องการให้ยกเลิกระบบอาณานิคม หลังจากถูกสั่งปลด นายพลสปิโนลาได้ตั้งเครือข่ายลับ MFA (Armed Forces Movement) โดยมี “โอเทโล ซาราอิวา เดอ คาร์วาลโฮ (Otelo Saraiva de Carvalho)” เป็นผู้นำ แล้วรวบรวมทหารและประชาชนเข้าทำการรัฐประหารจากรัฐบาลของแคทาโนได้ในที่สุด
26 เมษายน 2529 : “เชอร์โนบิล” โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เกิดการระเบิด
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 เกิดเหตุการณ์ “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Power Plant)” ที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน (สมัยนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) เกิดการระเบิด หลังจากที่ทีมวิศวกรตรวจสอบการทำงานของระบบทำความเย็น โดยปิดระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อแรงดันไอน้ำภายในสูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติกลับไม่ทำงาน ส่งผลให้ให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ระเบิด
สารกัมมันตรังสีเกือบทั้งหมดแพร่กระจายสู่บรรยากาศ ในรัศมี 30 กิโลเมตร มีการเปรอะเปื้อนรังสีสูง ถูกประกาศเป็นเขตอันตราย (Zone of Alienation) สารกัมมันตภาพรังสีลอยออกไปปนเปื้อนทั้งในอากาศ แม่น้ำ ผืนดิน ทั่วทวีปยุโรปกว่า 3.9 ล้านตารางกิโลเมตร ต้องอพยพประชาชนประมาณ 336,000 คน
หลังอุบัติเหตุ รัฐบาลยูเครนพยายามปิดข่าว แจ้งเพียงแค่ว่ามีเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ดับเพลงเสียชีวิตจำนวน 31 คน มีผู้บาดเจ็บจากกัมมันตรังสี 203 คน แต่ด้วยความต้องการไฟฟ้าจำนวนมาก รัฐบาลยูเครนก็สั่งเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เหลือในปี 2534 ก่อนที่โรงงานแห่งนี้จะปิดตัว เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543
ในปี 2545 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้สรุปผลความเสียหายว่า มีผู้เสียชีวิตจากแรงระเบิดโดยตรง 47 ราย และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีก 9,000 คน จากจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดประมาณ 6.6 ล้านคน ซึ่ง 4,000 คน มีสาเหตุจากโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ที่เหลือจากโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ และโรคอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอีกจำนวนมาก นับว่าเป็นหายนะภัยจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หายนะภัยเชอร์โนบิลทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิถึง 200 เท่า
29 เมษายน : วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2548 เวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์ถวายพระประสูติโดยการผ่าตัด เมื่อแรกประสูติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานพระนามว่า “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548 และพระราชทานเสมาอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ทองคำ ทรงอธิบายพระนามของพระเจ้าหลานเธอ ว่า “ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง, ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง” ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็นภาษาอังกฤษ ว่า “His Royal Highness Prince Dipangkorn Rasmijoti”
มีพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ตามพระราชประเพณี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ขณะพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ มีพระชนมายุครบ 1 เดือน
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ในพระราชวังดุสิต ปัจจุบันทรงกำลังศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์และเฉลิมพระนาม “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร” ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
29 เมษายน : วันเต้นรำสากล (International Dance Day)
คณะกรรมการเต้นรำสากล (CID) ของสถาบันโรงมหรสพนานาชาติ สังกัดองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันเต้นรำสากล (International Dance Day)” เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันเกิดของ “ฌอง จอร์จ โนแวร์ (Jean- George Noverre)” นักเต้นรำชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นการเต้นบัลเล่ต์สมัยใหม่ และพัฒนาการเต้นบัลเล่ต์จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยพัฒนาบัลเลต์ให้เป็นแบบฉบับศิลปะและดึงดูดความสนใจของผู้คนในวงกว้างเกี่ยวกับศิลปะการเต้นรำ
30 เมษายน : วันชาไข่มุกแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Bubble Tea Day)
“ชาไข่มุก (Bubble Tea)” เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2523 จากไต้หวัน เป็นเครื่องดื่มที่มีวัตถุดิบพิเศษ นั่นก็คือไข่มุก (Bubbles) ซึ่งทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง โดย “ร้านชากังฟู (Kung Fu Tea)” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นผู้จุดประกายให้เริ่มต้น “วันชาไข่มุก” เป็นครั้งแรก และเป็นผู้เสนอไปยัง “National Day Calendar” ต่อมาจึงมีการยอมรับและประกาศลงหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการครั้งแรก ในปี 2562 โดยเหตุผลที่ต้องเป็นวันที่ 30 เมษายน ก็เนื่องจากเป็นวันก่อตั้งของทางร้าน
ใน “วันชาไข่มุกแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) (National Bubble Tea Day)” ชาวโซเชียลจะเฉลิมฉลอง ด้วยการโพสต์ภาพชาไข่มุกแก้วโปรด พร้อมติด #NationalBubbleTeaDay
30 เมษายน : วันแจ๊สสากล (International Jazz Day)
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้วันที่ 30 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันแจ๊สสากล (International Jazz Day)” เพื่อยกย่องดนตรีแจ๊สในฐานะดนตรีสากลแห่งเสรีภาพ ทั้งยังเสมือนทูตที่ช่วยหลอมรวมคนทั่วทุกมุมโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยดนตรีแจ๊ส
โดยดนตรีแจ๊ส กำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่เมืองนิวออลีนส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองแหล่งรวมของทาสผิวสีชาวแอฟริกันจำนวนมากที่มาใช้แรงงานและตั้งถิ่นฐาน หลังจากเลิกงาน เหล่าทาสผิวสีจะรวมตัวกันร้องเพลงเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ผ่านออกมาในเสียงเพลง
ลักษณะเฉพาะของดนตรีแจ๊ส คือ การร้องบรรเลงแบบด้นสด ผสานกับจังหวะขัด และการประสานเสียงอันมีเอกลักษณ์ ตามคำจำกัดความของอ๊อกฟอร์ด กล่าวว่า “แจ๊สเป็นดนตรีที่ถือกำเนิดจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งมีจังหวะชัดเจนที่เล่นอย่างอิสระโดยการประสานกันขึ้นเองของนักดนตรีในขณะที่กำลังบรรเลง”
30 เมษายน 2488 : “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” อดีตผู้นำเผด็จการชาวเยอรมัน เสียชีวิต
“อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” อดีตผู้นำเผด็จการชาวเยอรมัน เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2432 ที่เมืองเบราเนา (Braunau) ประเทศออสเตรีย เขาเข้าเป็นทหารนายสิบในกองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 2457 - 2461) จากนั้นได้เป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน ในปี 2464 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพรรคสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialist) หรือพรรคนาซี (NAZI)
เขาก้าวขึ้นเป็นผู้นำของเยอรมนีระหว่างปี 2476 - 2488 หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีต้องลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ (The Treaty of Versailles) ซึ่งบังคับให้ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก ถูกลดกำลังทหาร ประชาชนตกงาน เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำเป็นประวัติการณ์
เขาจึงละเมิดสนธิสัญญาฯ เริ่มสะสมอาวุธ สร้างกองกำลังทหาร ฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศครั้งใหญ่ จากนั้นก็เข้ายึดครองประเทศออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย พร้อมทั้งเคลื่อนทัพเข้าสู่โปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2482 ส่งผลให้ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอรมนี กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2482 - 2488)
จากนั้นเขาได้นำกองทัพเยอรมันและฝ่ายอักษะ ยึดครองยุโรปได้เกือบทั้งทวีป โดยใช้นโยบายด้านเชื้อชาติฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปอย่างน้อย 11 ล้านคน เป็นชาวยิวประมาณ 6 ล้านคน ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2
จนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2488 “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ในวัย 56 ปี พร้อมภรรยา “เอวา บราวน์ (Eva Braun)” ในหลุมหลบภัยที่กรุงเบอร์ลิน เพื่อหนีการถูกจับเป็นเชลย